เอเอฟพี - มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย และพื้นที่อื่นๆ ของเอเชียเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางรับมือผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุ
ทวีปเอเชียมีเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงกัลกัตตา ซึ่งล้วนเป็นจุดเสี่ยงต่ออุทกภัย รัฐบาลจึงต้องหาแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว เดวิด แม็คคอลีย์ ผู้ชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจาก เอดีบี เตือน
ผลการวิจัยชี้ว่า อุทกภัยร้ายแรงเช่นที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 600 ราย และกระทบต่อวิถีชีวิตของประชากรอีกนับล้าน อาจเป็นผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
“ผมคิดว่า ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคหันมาใส่ใจกับภัยธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นนับจากนี้” แม็คคอลีย์ ให้สัมภาษณ์ที่สิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางไปร่วมการประชุมสภาพอากาศที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้
ผลการวิจัยร่วมระหว่าง เอดีบี, ธนาคารโลก และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำนายไว้ว่าจะเกิดอุทกภัยขึ้นในประเทศไทย ทว่าไม่ได้ระบุวันเวลาเท่านั้น
“อุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทยสอดคล้องกับสิ่งที่เราพยากรณ์ไว้ว่าจะต้องเกิด ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” แม็คคอลีย์ กล่าว
“งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษากรณีกรุงเทพมหานคร, โฮจิมินห์ซิตี้ และ มะนิลา รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 40-50 ปีข้างหน้า ซึ่งผลการศึกษาก็ทำนายว่า จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนเช่นที่เกิดในกรุงเทพมหานครปีนี้”
แม็คคอลีย์ เตือนว่า ประเทศแถบนี้ไม่เพียงต้องเตรียมการรับมือน้ำท่วมเท่านั้น แต่ต้องระวังภัยธรรมชาติในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภัยแล้ง หรือคลื่นความร้อน ด้วย
หลังจากอุทกภัยในปีนี้ “ปีหน้าเราอาจเจอภัยแล้ง และเจอคลื่นความร้อนในปีถัดไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือผลของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะต้องเกิด” เขากล่าว
“ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรหาวิธีป้องกันเฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่ความเสี่ยงทั้งหมดจะต้องถูกนำไปพิจารณาร่วมกับการวางแผนพัฒนาเมืองและป้องกันสังคม”
“ทั่วเอเชียมีเมืองใหญ่ๆ ที่ติดชายฝั่งทะเลมากมาย และพลเมืองจำนวนมหาศาลกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง”
คำเตือนดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ต้องพิจารณาการวางผังเมืองอย่างรอบคอบ และเข้มงวดในการออกใบอนุญาตสำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
แม้จิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมจะเริ่มแทรกซึมเข้าสู่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชีย แต่กรอบนโยบายที่เข้มแข็งจำเป็นต้องถูกนำมาใช้เร็วๆ นี้ แม็คคอลีย์ ระบุ
ปัจจุบัน เอเชีย กลายเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน และอินเดีย และการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่องในอินโดนีเซีย และในอีก 20 ปีข้างหน้า โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะถูกสร้างขึ้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ในทวีปเอเชีย
“หากเราไม่แก้ไขมันให้ถูกต้อง หากระบบขนส่งและโรงไฟฟ้ายังไม่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และปลดปล่อยคาร์บอนน้อยลง เราจะต้องติดอยู่กับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนที่มาพร้อมกับคาร์บอนจำนวนมหาศาลต่อไปอีก 40-50 ปี” แม็คคอลีย์ เตือน
หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ธุรกิจพลังงานของเอเชียจะกลายเป็นผู้ปลดปล่อยคาร์บอน 40-45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ หากนับรวมคาร์บอนที่เกิดจากการใช้ที่ดินและตัดไม้ทำลายป่าร่วมด้วย