xs
xsm
sm
md
lg

สยบ(อุทก)ภัยที่น่ากลัว แค่ปรับตัว ย่อม “อยู่ รอด ปลอดภัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนั่น ชูสกุล
สยบ(อุทก)ภัยที่น่ากลัว แค่ปรับตัว ย่อม “อยู่ รอด ปลอดภัย”

โดย กมลรัตน์ อู่อรุณ

ในวันที่หลายชีวิตของคนไทยต้องแขวนอยู่กับวิกกตน้ำท่วมนั้น หลายคนสับสนจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทว่า ท่ามกลางความอลหม่านนี้ยังมีอีกมุมมองการอยู่รอดด้วยแนวคิดแบบชาวบ้านที่สอนให้รู้จักใช้ชีวิตบนพื้นฐานธรรมชาติอย่างแท้จริงซึ่งไม่ถึงกับทำตามกฎทุกข้อ แต่ต้องไม่ฉีกเกณฑ์บางอย่างจนยับเยิน

โดย สนั่น ชูสกุล นักพัฒนาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านลำดับแรกที่คนประสบภัยต้องรู้ คือ การปรับตัวอยู่กับน้ำไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ลำดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน คนในต่างจังหวัดจะมีบริเวณพื้นที่มากกว่าคนในเมืองกรุง ฉะนั้นเมื่อมีน้ำหลากมาท่วมที่อยู่อาศัยก็สามารถย้ายไปอาศัยที่อื่นก่อนได้ หรือก่อนสร้างบ้านจะต้องดูภูมิประเทศที่ตั้งก่อน ซึ่งสมัยก่อนถ้าบ้านอยู่ติดแม่น้ำจะนิยมสร้างบ้านให้มีใต้ถุนสูง และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นเสา แต่หากในสภาวะที่มีน้ำมากเช่นนี้ถ้าน้ำไม่ไหลเชี่ยวจนเกินไปอาจจะย้ายบ้านมาอยู่บนแพคล้ายกับแพที่ใช้ล่องแม่น้ำตามสถานที่ท่องเที่ยว หากน้ำไหลเชี่ยวควรจะใช้เรือไม้ขนาดใหญ่และหาโซ่หรือเชือกที่แข็งแรงยึดกับหลักที่คิดว่ามั่นคงและแข็งแรงไว้กันกระแสน้ำพัดแต่ถ้ายังกังวลว่าจะไม่มีอาหาร สิ่งแรกที่หาได้ในตอนนั้นคือสัตว์น้ำ เช่น ปลาชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั่งการปลูกข้าวก็สามารถทำได้ เป็นการปลูกข้าวในกระชังโดยใช้ผักตบชวาแทนดิน แต่สำหรับคนกรุงแล้วขอบของพื้นที่มีจำกัด เมื่อมีน้ำมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตื่นตระหนกและยิ่งผนวกกับเป็นพื้นที่เมืองหลวงจึงได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นพิเศษ

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายเกินกว่า รัฐจะควบคุมก็ทำให้ประชาชนยิ่งมีภาวะเครียดเพิ่มขึ้นวิธีการที่ช่วยลดความเครียดในสถานการณ์เช่นนี้ คือพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเช่นในต่างจังหวัดก็หาอาชีพใหม่ในช่วงน้ำท่วมดีกว่าอยู่เฉยๆให้สภาพจิตใจย่ำแย่ บางครั้งตั้งชมรมพูดคุยปรับทุกข์กัน นอกจากจะช่วยลดความเครียดในช่วงนี้แล้วยังทำให้มีมิตรเพิ่มขึ้นอีก ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองกรุงควรจะต้องดูแลตัวเองก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีฐานอยู่ที่ชนบท เมื่อสถานการณ์แย่ลงควรจะรักษาชีวิตตนเองไว้ ดังนั้นการเดินทางกลับต่างจังหวัดคงจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ดูแลด้วย

และหากย้อนถามประสบการณ์จากผู้คุ้นเคยการใช้ชีวิตกับสายน้ำ แล้วนั้น มณีรัตน์ อ่อนทรัพย์ ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เผยว่า อ.ปากเกร็ดจะมีน้ำท่วมทุกปี จึงทำให้ทราบว่าน้ำจะมาจากทางทิศใดมากเป็นพิเศษ แล้วควรจะเตรียมพนังกั้นน้ำจากทางใดบ้าง จึงทำให้พื้นที่ที่เป็นบ้านเรือนยังไม่ท่วม แต่ตนก็ได้มีการเตรียมรับมือไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น คือทำตามข้อปฏิบัติการรับมือน้ำท่วม แต่สิ่งที่ทำให้มีสติและไม่สร้างความเครียดให้เราคือ ไม่บริโภคข่าวมากจนเกินไป และตรวจเช็คสถานการณ์น้ำเอง หากสามารถทำได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่นอนจะได้ไม่ตื่นตระหนกตามข่าว คิดว่าต้องช่วยตนเองก่อน เพราะเราต้องรู้จักบ้านเราดีที่สุด

เช่นเดียวกับ อมรา พลายมี ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง เขตมีนบุรี เล่า ว่า ขณะนี้พื้นที่รอบนอกที่อยู่อาศัยเริ่มมีน้ำเออขึ้นมา การสัญจรเดินทางค่อนข้างลำบาก เนื่องจากตนยังต้องไปทำงานอยู่

“ที่บ้านน้ำยังไม่ท่วม จึงไม่กังวลเท่าไร ถ้าน้ำท่วมมาถึงบ้าน ก็เตรียมตัวรับมือไว้แล้ว และอาจกลับไปอาศัยบ้านที่ต่างจังหวัดชั่วคราว อาจจะมีผลกระทบเรื่องงานบ้าง แต่คิดว่าเจ้านายคงเข้าใจสถานการณ์ขณะนี้” นางอมรากล่าว

การช่วยเหลือตนเอง ก่อนรอให้ผู้อื่นมาช่วยในสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประสบภัยสามารถทำได้ เพราะขณะนี้ทุกคนย่อมได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน และควรทำความเข้าใจว่า สมัยบรรพบุรุษเราชีวิตคนไทยอยู่กับแม่น้ำลำคลองมาตลอด ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกค่อยๆ ปรับตัวและอยู่ร่วมกับมันเหมือนเช่นในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น