xs
xsm
sm
md
lg

“อาเซียน” ลงขัน $500 ล.ตั้งกองทุนให้สมาชิกกู้ทำ “โครงสร้างพื้นฐาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานเอดีบี ฮารุฮิโกะ คุโรดะ (ซ้าย), ขุนคลัง อากุส มาร์โตวาร์โดโจ แห่งอินโดนีเซีย (ที่2จากซ้าย), รัฐมนตรีคลังคนที่ 2 ของมาเลเซีย อาหมัด ฮุสนี ฮานัดซเลาะห์ (ที่ 3 จากซ้าย), และ เลขาธิการอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ขวา) กำลังแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตันเมือวันเสาร์(24) เรื่องอาเซียนจะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
เอเอฟพี - บรรดารัฐมนตรีคลังสมาคมอาเซียน เมื่อวันเสาร์ (24) ลงนามในข้อตกลงจัดตั้งกองทุนมูลค่าเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะให้กู้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้นว่า ถนน, ทางรถไฟ, ตลอดจนโครงการอื่นๆ ในประเทศสมาชิก โดยถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเดินหน้าสู่เป้าหมายแห่งการบูรณาการภูมิภาคแถบนี้เข้าด้วยกันในทางเศรษฐกิจภายในปี 2015 นอกจากนั้น ยังมุ่งหมายให้เป็นมาตรการสำคัญในการลดช่วงห่างระหว่างอาเซียน กับพวกเศรษฐีมั่งคั่งยักษ์ใหญ่ของโลก

บรรดารัฐมนตรีคลังของชาติสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมกันลงนามข้อตกลงฉบับสำคัญนี้ที่กรุงวอชิงตัน ในพิธีซึ่งจัดขึ้นนอกรอบการประชุมประจำปีช่วงฤดูใบไม้ร่วงของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

“บัดนี้เรากำลังสร้างประชาคมของเราด้วยอัตราที่เร็วยิ่ง นี่คือ หลักหมายอันสำคัญ” เลขาธิการอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ แถลงภายหลังการลงนามของบรรดารัฐมนตรี และเนื่องจากเงินที่ลงในกองทุนนี้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชาติภายนอกอาเซียน เขาจึงกล่าวสำทับด้วยว่า “วันเวลาสำหรับการรอบริจาค วันเวลาสำหรับการรอของขวัญ บัดนี้ได้จบสิ้นลงแล้ว เราจะต้องมีนวัตกรรมอย่างสูงมากๆ เราจะต้องร่วมมือประสานงานกันให้มากๆ ในการดำเนินการของเรา”

ถึงแม้อาเซียนมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งมีสิ่งที่น่าตื่นใจ อย่างเช่น อาคารระฟ้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทว่า กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ล้าหลังพวกชาติที่เจริญก้าวหน้าแล้ว โดยเฉพาะเมื่อวัดด้วยอัตราส่วนของจำนวนทางหลวง, ทางรถไฟ และไฟฟ้า ต่อประชากรแต่ละคน

สำหรับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนนี้ จะเริ่มต้นด้วยวงเงิน 485.2 ล้านดอลลาร์ และตั้งจุดมุ่งหมายที่จะให้เงินกู้ปีละ 6 โครงการ เมื่อถึงปี 2020 อาเซียนตั้งความหวังว่าโครงการนี้จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ความสามารถในการให้ความสนับสนุนทางการเงินด้านต่างๆ โดยรวมทั้งหมดแล้วจะเป็นมูลค่าสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์

กองทุนนี้จะตั้งสำนักงานใหญ่ในมาเลเซีย ซึ่งก็เป็นชาติที่ร่วมลงเงินทุนเบื้องต้นสูงที่สุดคือ 150 ล้านดอลลาร์ สำหรับอินโดนีเซีย เป็นผู้ใส่เงินทุนในฐานะประเทศมากเป็นอันดับสอง คือ 120 ล้านดอลลาร์

ทางด้าน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินให้เงินกู้ด้านการพัฒนาในทวีปเอเชีย และมีญี่ปุ่น กับสหรัฐฯเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดนั้น จะลงร่วมลงขัน 150 ล้านดอลลาร์ในเงินทุนขั้นแรกของกองทุนนี้ โดยที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินในสัดส่วน 70% ของกองทุน

นอกจากนั้น เอดีบียังจะเป็นผู้บริหารกองทุนนี้ และเป็นผู้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนทั้งหลายทั้งปวงของกองทุน จะดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลในทางการเงิน ทั้งนี้ตามคำแถลงของ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานของเอดีบี

ในส่วนของประเทศไทย เลขาธิการอาเซียน บอกว่า ยังไม่ได้เข้าร่วมในตอนนี้ทันที เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการภายในประเทศให้เรียบร้อยก่อน แต่เป็นที่คาดหมายว่าไทยจะเข้าร่วมด้วยแน่นอน

สำหรับพม่า ในเบื้องต้นก็จะไม่เข้าร่วมกองทุนนี้ แต่น่าจะเข้าร่วมต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาเซียนหลายราย

พวกเจ้าหน้าที่อาเซียน เปิดเผยด้วยว่า จีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกองทุนนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ทว่า อาเซียนตัดสินใจว่าอย่างน้อยในตอนแรกๆ นี้จะให้ถือเป็นเรื่องภายในอาเซียน ยังไม่รับเงินทุนจากชาติภายนอก

ทางด้าน อากุส มาร์โตวาร์โดโจ รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซีย ที่เป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน แถลงว่า พวกสมาชิกอาเซียนได้ศึกษาบทเรียนของพวกชาติพัฒนาแล้ว และมีความเข้าใจดีว่า “ส่วนประกอบหลักประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ, เชื่อถือได้, ถูกต้องเหมาะสม และมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น