ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการรั้วจุฬา ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ของสภาพัฒน์เวทีสุดท้ายอย่างหวุดหวิด โดยชาวบ้านสงขลา-สตูล ที่ได้รับผลกระทบจากโครงพัฒนาที่แยกส่วนกันทำให้เกิดอุตสาหกรรม พร้อมลงสัตยาบันร่วมกันไม่ตอบรับแผนพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิตและสิทธิชุมชน
วานนี้( 27 ก.ค.)ณ โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ จ.สงขลา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษาโครงการเพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ในพื้นที่ จ.สตูล สงขลา และบางส่วนของปัตตานีซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย ก่อนที่จะสรุปรายงานผลการศึกษาให้แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ในเดือนก.ย.นี้
ในช่วงแรก สถาบันวิจัยสังคม โดย ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย เป็นผู้นำเสนอสาระสำคัญที่ได้จากพื้นที่และตั้งเวทีย่อย 25 ครั้ง ในด้านต่างๆ ก่อนที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีชาวบ้านจาก จ.สตูล และสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย และการเกิดขึ้นของโรงแยกก๊าซ-โรงไฟฟ้าจะนะ และนำไปสู่การร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบ แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ว่า การทำงานของสถาบันจุฬาที่ผ่านมาไม่ได้สอบถามชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยตรง อีกทั้งไม่ได้เชิญชาวบ้านกลุ่มนี้เข้าร่วมเวทีสัมมนา แต่ชาวบ้านที่ติดตามความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนารับทราบและเดินทางมาร่วมงานกันเอง
นอกจากนี้ การจัดเวทีครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความไม่ชอบธรรมที่ฝืนมติ ครม. ที่เห็นชอบให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้สภาพัฒน์ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักการที่สำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่สภาพัฒน์กลับนำเงินภาษีว่าจ้างบริษัทเอกชน และนักวิชาการรั้วมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ศึกษาแบบฉาบฉวยอีกครั้ง
จากนั้น นายวิโชค รณรงค์ไพรี เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ได้ออกมาแถลงการณ์ให้สัตยาบันร่วมกันกับพี่น้องชาวสงขลาว่า จะต่อต้านแผนการพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิตและสิทธิชุมชน เนื่องจากขณะนี้ภาครัฐได้แยกส่วนดำเนินการแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้โดยไม่ให้ข้อมูลรอบด้านแก่ประชาชน ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ซึ่งผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเข้า ครม.เท่านั้น, แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล, การปรับผังเมืองรองรับพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่, ท่าเรือน้ำลึกจะนะ, โรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 รองรับนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสงขลา-สตูล ไม่ได้ขัดขวางการจัดเวทีและการศึกษาในครั้งนี้ และยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่มีความโปร่งใส ชัดเจน ในการสอบถามความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และภาคประชาชนจะเคารพในการทำงานของทุกฝ่ายที่ยึดถือหลักการสิทธิชุมชน
ด้านนายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยผู้สื่อข่าวภายหลังว่า สศช.มิได้ฝืนมติ ครม. เพราะก่อนหน้านี้ ADB คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลโดยที่ยังไม่ได้เกิดแผนพัฒนาเสียด้วยซ้ำ แต่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ออกมาคัดค้าน ซึ่งกลายเป็นมติที่ไม่ชอบ สภาพัฒน์จึงขับเคลื่อนการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง แต่ผลจะออกมาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน
ทั้งนี้ เบื้องต้นในแต่ละเวทีพบว่าเสียงของชาวบ้านมีทิศทางพัฒนาที่เน้นด้านเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว แต่ไม่เอาอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้ทั้ง สภาพัฒน์จะนำข้อมูลที่ทั้งบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้เปิดเวทีรับ 7 แห่งในภาคใต้ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเวทีอีก 25 ครั้ง มาศึกษาอีกครั้งเพื่อกำหนดเป็นทิศทางการพัฒนาภาคใต้ต่อไป โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาอ้าง และเป็นข้อวิตกกังวล ล
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่าการดำเนินงานของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งนี้ เป็นการว่าจ้างพร้อมกับการศึกษาความเหมาะสมในเชิงพื้นที่ของ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งถูกชาวบ้านที่ร่วมเวทีคัดค้านมาแล้วในหลายเวที เช่น พัทลุง, นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อไม่ให้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้เกิดขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมเฟส 3 มาจากภาคตะวันออกนั่นเอง