xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา: ‘ผู้นำ’หรือ‘คนป่วย’แห่งเอเชีย-แปซิฟิก? (ตอนสอง)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

America: The new sick man of Asia?
By Peter Lee
18/11/2011

จีนถูกกีดกันออกจาก “ข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก”ซึ่งได้รับการป่าวร้องว่าเป็นความมุ่งมั่นไปสู่เขตการค้าเสรีอันใหญ่โตมหึมาแห่งอนาคต แต่กระนั้นผู้นำปักกิ่งก็ยังคงดูองอาจเก็บอาการและสามารถต้านรับการโบยตีจากสหรัฐฯ ขณะที่อเมริกาใช้ฐานะความเป็นเจ้าภาพเที่ยวโอ้อวดว่ามีหนทางแก้ไขปัญหาสำหรับอเชีย-แปซิฟิก อยู่ ณ การประชุมซัมมิตประจำปีของกลุ่มเอเปก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่มลรัฐฮาวาย อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่วอชิงตันกำลังพยายามบีบคั้นปักกิ่งให้ “เล่นตามกฎกติกา” และยินยอมปรับค่าเงินหยวนเสียใหม่ ตลอดจนเปิดตลาดแดนมังกรให้กว้างมากขึ้นอยู่นั้น ปัญหาของแดนอินทรีกลับอยู่ตรงคุณสมบัติของตนเอง โดยกำลังเป็นที่สงสัยข้องใจมากขึ้นทุกทีว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้นำในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ หรือเป็นเพียงผู้แพร่ความป่วยไข้ที่กำลังลุกลามอยู่ในจักรวรรดิของพวกเขากันแน่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 2 *

(ต่อจากตอนแรก )

**เกมจริงๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ**

สหรัฐฯกำลังส่งสัญญาณคลื่นแรงเข้มไปถึงปักกิ่งอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะว่า อเมริกามองเอเชียเป็นผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของตน เนื่องจากอเมริกาต้องการได้รับส่วนแบ่งจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

อย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ระบุเอาไว้ในความเรียงของเธอว่าด้วยศตวรรษแปซิฟิกของอเมริกา “การกุมบังเหียนใช้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตและพลวัตของเอเชีย คือใจกลางแห่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ของอเมริกัน … พันธสัญญาอันกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมในการยกระดับการทูตทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศอเมริกัน ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกำลังพึ่งพาอาศัยสายสัมพันธ์ทางการทูตอันแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และความก้าวหน้าทางการทูตจักเกิดขึ้นได้ก็กำลังต้องพึ่งพาอาศัยสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งยิ่งขึ้นทุกทีเช่นเดียวกัน และย่อมเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว การเน้นหนักในเรื่องการส่งเสริมเพิ่มพูนความมั่งคั่งไพบูลย์ของชาวอเมริกัน หมายถึงต้องเพิ่มการเน้นหนักขึ้นอีกมากมายนักในเรื่องการค้าและการเปิดเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” [4]

ปริศนาอันน่าอิหลักอิเหลื่อของเรื่องนี้ดูเหมือนจะอยู่ตรงที่ว่า แท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯนั้นปรารถนาเหลือเกินที่จะจับมือเป็นหุ้นส่วนกับจีน แต่ก็รู้สึกว่าหนทางเดียวที่จะสร้างความสัมพันธ์เช่นนั้นขึ้นมาได้ก็คือการใช้วิธีข่มขู่บังคับจีน – ด้วยการจัดทำโครงข่ายแห่งกลุ่มพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงขึ้นมาหลายๆ กลุ่มซึ่งจะกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วม จนกว่าจีนจะยินยอมปรับค่าสกุลเงินตราและเปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น ทั้งนี้สองอย่างนี้แหละก็คือสิ่งที่สหรัฐฯพิจารณาเห็นว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่สุดสำหรับการพลิกฟื้นศรษฐกิจของตนเองให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่

คณะรัฐบาลโอบามานั้นรู้สึกผิดหวังจีนในฐานะของการเป็นคู่เจรจามาพักใหญ่แล้ว โดยสามารถสาวย้อนไปจนกระทั่งถึงการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ปี 2009 ซึ่งยุติลงด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่าทามกลางบรรยากาศแห่งความขมขื่นอย่างเข้มข้น

ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ทีมงานโอบามามีความรู้สึกว่า ฝ่ายจีนชอบเล่นเกมแบบใครชนะก็คว้าเดิมพันกองกลางไปทั้งหมดแต่ผู้เดียว (zero-sum game) โดยมุ่งแต่จะสนองผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเท่านั้น และจะไม่อ่อนข้อยอมถอยยอมเสียสละอย่างชนิดที่มีความหมายและมีประโยชน์เลย เว้นเสียแต่จะถูกกดดันบีบคั้นอย่างหนักหน่วงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ฮิลลารี คลินตันและทีมงานของเธอจึงเดินทางออกไปเพื่อทำให้เกิดวิกฤตด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียขึ้นมา เป็นต้นว่า อาศัยข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้ที่ยืดเยื้อมานมนานหลายสิบปี, ทำการชักจูงหว่านล้อมพม่าและเกาหลีเหนือให้ถอยออกมาจากการพึ่งพิงอาศัยจีน, ปลุกใจให้เวียดนามเกิดความกล้าด้วยการป่าวประกาศวิสัยทัศน์ของการจับมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯและอินเดีย, ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนแนวความคิดแบบเหยี่ยวอย่างโจ่งแจ้งในบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, หรือออสเตรเลีย

ข้อความที่สหรัฐฯกำลังส่งออกไปก็คือ แรงกดดันบีบคั้นเหล่านี้จะยังคงอยู่ ตราบจนกระทั่งจีนยอม “เล่นตามกฎกติกา”

เราอาจจะคาดเดาเอาว่า การที่ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกเหล่านี้สนใจที่จะกระทำตามความต้องการของสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขามีความมั่นใจว่า เบื้องหลังการวางมาดอวดกล้ามทางการทหารเหล่านี้ จะมีการปิดเกมทางด้านเศรษฐกิจซึ่งผ่านการขบคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาสำคัญอย่างยิ่งอยู่ข้อหนึ่ง

ชื่อเสียงเกียรติภูมิของอเมริกาในฐานะการเป็นตำรวจโลกนั้นไม่ได้เป็นที่กังขา ทว่าคุณสมบัติของอเมริกาที่จะเป็นผู้นำของบรรดาชาติเศรษฐกิจตลาดเสรีทั่วโลกนั้น กลับเป็นที่สงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ

วันเวลาที่อเมริกาแสดงบทบาทเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกได้อย่างแท้จริง ด้วยการเข้ารับหน้าที่เป็นเครื่องจักรสร้างอุปสงค์ของโลก ตลอดจนเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองสกุลเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองของโลกนั้น ดูเหมือนกำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ความสำคัญอันแท้จริงของการประชุมซัมมิตกลุ่มเอเปกที่โฮโนลูลูคราวนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ “การหวนกลับคืนสู่เอเชีย” ของอเมริกาหรอก

แต่อยู่ที่การถดถอยลงมาของสหรัฐฯจนกระทั่งเข้าสู่ระดับที่เป็นเพียงแค่ “ชาติผู้ส่งออกอีกรายหนึ่ง” ในโลกแห่งการแข่งขันทางการค้า และการชิงชัยทางการค้านั้นเป็นเกมการต่อสู้ประเภทที่ใครชนะก็เป็นผู้กวาดเดิมพันกองกลางไปหมด

สหรัฐฯต้องการที่จะเป็นผู้ส่งออกที่ผอมเพรียว ไม่ต้องการเป็นผู้นำเข้าที่อ้วนฉุมีความสุขสบายอีกแล้ว

มาถึงตอนนี้สหรัฐฯคาดหมายทึกทักเอาว่าจีนจะต้องเป็นผู้แบกความรับผิดชอบในการทำให้อุปสงค์ของโลกขยายตัวไปเรื่อยๆ และสหรัฐฯก็ยังคาดหมายทึกทักเอาว่าตนเองจะแข่งขันกับบรรดาพันธมิตรของตนในการสนองอุปสงค์ดังกล่าวของแดนมังกร

โอบามาเพิ่งประกาศเจตนารมณ์ของเขาที่จะเพิ่มยอดการส่งออกของสหรัฐฯขึ้นไปอีกเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยจุดประสงค์ที่จะสร้างงาน งาน งาน ขึ้นในอเมริกา นั่นหมายความถึงการเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น 1.57 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีภายในปี 2015 ทั้งนี้ตามแผนการริเริ่มการส่งออกแห่งชาติ (National Export Initiative หรือ NEI) ของเขา เป้าหมายความทะเยอทะยานในเรื่องการส่งออกของสหรัฐฯนี้ได้รับการจารึกเอาไว้อย่างสูงส่งในเว็บไซต์ของ NEI [5] โดยประเทศที่อยู่ในอันดับแรกสุดของรายชื่อนี้ก็คือ จีน (ประเทศไทยก็ติดอันดับอยู่ในบัญชีนี้ด้วย โดยอยู่ในอันดับ 5 รองลงมาจาก จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน -ผู้แปล)

แกรี ล็อก (Gary Locke) รัฐมนตรีพาณิชย์ผู้รับผิดชอบการพัฒนาแผนการริเริ่มดังกล่าว เวลานี้ได้รับการโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนเรียบร้อยแล้ว

บางทีสหรัฐฯอาจจะพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จีนควรที่จะแสดงความกตัญญูรู้คุณจากการที่สหรัฐฯได้เปิดตลาดให้อย่างชนิดอ้าซ่าเป็นเวลานานถึง 30 ปี การตอบแทนคุณที่สหรัฐฯปรารถนาจะได้จากจีนก็คือ การปรับขึ้นค่าเงินหยวน และการยอมคายเงินทองสักสองสามแสนล้านดอลลาร์กลับคืนมาให้สหรัฐฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ดึงเอาไปจากอเมริกาด้วยผลกำไรจากการค้าอันสะท้อนได้เห็นที่ตัวเลขการได้เปรียบดุลการค้า

แต่เมื่อมองจากทัศนะมุมมองของจีนแล้ว ประโยชน์ของการทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรสร้างอุปสงค์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเหลือของทั่วทั้งโลกนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้จีนต้องมีภาระรับผิดชอบในการปรับค่าเงินหยวนเพื่อเป็นการปลอบขวัญทดแทนให้แก่สหรัฐฯ ผู้ซึ่งต้องประสบความสูญเสียอย่างสาหัสจากช่วงเวลา 1 ทศวรรษแห่งการบริหารจัดการทางการเงินอย่างผิดพลาด ตามการคำนวณของปักกิ่งแล้ว จีนมีพันธกรณีที่จะต้องยกระดับการเข้าถึงตลาดของตน ต่อเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นในการต่อรองทางด้านตลาดและด้านความมั่นคง

จีนจะมีความยินดีปรีดาเป็นอันมากที่จะทำข้อตกลงชนิดเดี่ยวๆ กับสหรัฐฯ ผู้เป็นทั้งมิตรและศัตรูที่ทรงสำคัญมากที่สุดของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากการทำข้อตกลงดังกล่าวมองดูแล้วเหมือนกับเป็นการที่อเมริกาทรยศหักหลังบรรดาพันธมิตรในเอเชีย และทำให้กลุ่มพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐฯในเอเชียเกิดความอ่อนแอ

ทัศนะมุมมองเช่นนี้แหละที่ควรต้องนำมาทำความเข้าใจในเรื่อง “ข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก” (ทีพีพี)

ความเคลื่อนไหวเพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับนี้ เป็นการสะท้อนคำมั่นสัญญาของอเมริกาที่ว่า ไม่ว่าคณะรัฐบาลโอบามาจะต้องยากลำบากดิ้นรนหาทางเพิ่มพูนการส่งออก, เพิ่มพูนการสร้างงาน, และต้องการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งมากมายแค่ไหน อเมริกาจะไม่ไปทำข้อตกลงแบบ “จี-2” (Group of Two) อย่างลับๆ กับจีน ชนิดที่จะสร้างความสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่บรรดาพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐฯ

ข้อตกลง ทีพีพี ถือได้ว่าเป็นการหวนกลับไปสู่ “นโยบายเปิดประตู” (Open Door Policy) ของยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามนโยบายดังกล่าว สหรัฐฯประกาศยืนกรานว่า ถ้าหากรัฐจีนที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในอาการอ่อนแอปวกเปียกเต็มที ยินยอมให้สิทธิผลประโยชน์เป็นพิเศษแก่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมรายหนึ่งรายใดแล้ว ให้ถือว่าจีนได้ให้สิทธิผลประโยชน์ดังกล่าวแก่มหาอำนาจรายอื่นๆ ทุกๆ รายโดยอัตโนมัติ

คุณน่ะไม่ต้องการถอนตัวออกไปจาก ทีพีพี หรอก หลังจากข้อตกลงนี้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความเป็นปรปักษ์กันระหว่างสหรัฐฯกับจีน แท้ที่จริงเป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ (โดยที่เรื่องความมั่นคงเป็นเพียงการฉาบหน้า) ก็ต้องถือว่า พันธมิตร ทีพีพี เป็นสิ่งที่เน่าในที่ตรงบริเวณแกนกลางทีเดียว

มันเป็นเรื่องของเลขคณิตธรรมดาๆ นี่เอง ซึ่งบรรดาพันธมิตรแปซิฟิกของอเมริกาจะเข้าใจชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การต่อสู้เรื่องทางการค้าเปิดเผยโฉมที่แท้จริงปรากฏออกมาให้เห็น

ในปัจจุบัน สหรัฐฯมีส่วนแบ่งประมาณ 10% ในการค้าส่งออกทั้งที่เป็นตัวสินค้าและที่เป็นบริการของทั่วทั้งโลก สหรัฐฯประกาศชัดเจนว่าส่วนแบ่งของตนจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แจาถ้าหากเศรษฐกิจโลกไม่เติบโตขยายตัวล่ะ ในทางเป็นจริงเศรษฐกิจโลกน่าจะยังมีการเจริญเติบโตอยู่หรอก แต่จะโตสักแค่ไหนกันแน่

เมื่อเดือนมีนาคม 2010 องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือWTO) ทำนายว่าจะต้องรอกันไปจนถึงปี 2012 นั่นแหละ การค้าของโลกจึงจะกระเด้งกลับขึ้นสู่ระดับที่เคยทำได้ในช่วงก่อนหน้าเศรษฐกิจถดถอยสืบเนื่องจากวิกฤตภาคการเงินในปี 2008 การพยากรณ์นี้ใช้สมมุติฐานที่ว่าการค้าของโลกมีการเติบโตขยายตัวในอัตรา 6.5% แต่ในเดือนตุลาคม 2011 ขณะที่ยุโรปเริ่มต้นมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดจนท้องกิ่วเพื่อลดทอนโอกาสที่จะต้องเผชิญกับการล้มะลายทางการคลัง WTO ก็ได้ลดประมาณการอัตราเติบโตของการค้าโลกลงมาเหลือ 5.8% [6]

มาลองตีความจากตัวเลขข้อมูลเหล่านี้ดู ก้อนเค้กการค้าโลกจะไม่สามารถขยับขยายเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปีอย่างแน่นอน นั่นย่อมหมายความว่าสหรัฐฯกำลังจะต้องกินส่วนที่เป็นของคนอื่นๆ ด้วย จึงจะสามารถเพิ่มพูนการส่งออกของตน และชุบชีวิตเศรษฐกิจของตนได้

ทว่าในเมนูอาหารไม่ได้มีหมีแพนดาอยู่ด้วย (นั่นคือจีนไม่ได้เป็นสมาชิกของ ทีพีพี) สิ่งที่มีอยู่ในเมนูอาหารกลับเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม และชาติอื่นๆ ที่เข้าร่วมการเจรจา ทีพีพี ด้วยความใฝ่ฝันถึงอนาคตทางเศรษฐกิจและความทะเยอทะยานระดับภูมิภาค ประเทศเหล่านี้ต่างอยู่รายล้อมจีน และปรารถนาเหลือเกินที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดแดนมังกร

*หมายเหตุ*

4. US plants a stake at China's door, Asia Times Online, Oct 22, 2011.

5. ดูเว็บไซต์ของNEI ได้ที่ http://export.gov/nei/eg_main_033266.asp

6. WTO G-20 report: Weak growth and imbalances "testing" government resolve against protectionism, WTO, Oct 26, 2011.

ปีเตอร์ ลี เขียนบทความว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความเกี่ยวพันของภูมิภาคเหล่านี้กับนโนบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
(อ่านต่อตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น