xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา: ‘ผู้นำ’หรือ‘คนป่วย’แห่งเอเชีย-แปซิฟิก? (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

America: The new sick man of Asia?
By Peter Lee
18/11/2011

จีนถูกกีดกันออกจาก “ข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก”ซึ่งได้รับการป่าวร้องว่าเป็นความมุ่งมั่นไปสู่เขตการค้าเสรีอันใหญ่โตมหึมาแห่งอนาคต แต่กระนั้นผู้นำปักกิ่งก็ยังคงดูองอาจเก็บอาการและสามารถต้านรับการโบยตีจากสหรัฐฯ ขณะที่อเมริกาใช้ฐานะความเป็นเจ้าภาพเที่ยวโอ้อวดว่ามีหนทางแก้ไขปัญหาสำหรับอเชีย-แปซิฟิก อยู่ ณ การประชุมซัมมิตประจำปีของกลุ่มเอเปก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่มลรัฐฮาวาย อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่วอชิงตันกำลังพยายามบีบคั้นปักกิ่งให้ “เล่นตามกฎกติกา” และยินยอมปรับค่าเงินหยวนเสียใหม่ ตลอดจนเปิดตลาดแดนมังกรให้กว้างมากขึ้นอยู่นั้น ปัญหาของแดนอินทรีกลับอยู่ตรงคุณสมบัติของตนเอง โดยกำลังเป็นที่สงสัยข้องใจมากขึ้นทุกทีว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้นำในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ หรือเป็นเพียงผู้แพร่ความป่วยไข้ที่กำลังลุกลามอยู่ในจักรวรรดิของพวกเขากันแน่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนที่ 2 )

ในสภาพการณ์ดังกล่าวมา บรรดาเมืองหลวงของชาติเอเชีย-แปซิฟิกจึงต้องขบคิดพิจารณาเพื่อตอบคำถามหลายๆ คำถาม เป็นต้นว่า

ใช่แน่หรือที่เส้นทางไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์ที่ดีที่สุดคือการเข้าร่วมกับสหรัฐฯ และต่อสู้อย่างหนักจวบจนกระทั่งทำให้จีนต้องยอมทำการปฏิรูปกลายเป็นตลาดเสรี?

ควรหรือไม่ที่จะถือว่าการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเรื่องของความจำเป็นทางด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจอะไรหรอก หากแต่เป็นความพยายามอันเห็นแก่ตัวของสหรัฐฯที่จะขูดรีดฉวยใช้ประโยชน์จากความจงรักภักดีของบรรดาพันธมิตรของตน เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งไม่เช่นนั้นแล้วผลประโยชน์ดังกล่าวก็อาจจะตกเป็นของพันธมิตรเหล่านี้ก็ได้?

หรือคำถามที่ว่า ใช่หรือไม่ว่า ทีพีพี เป็นเพียงการเสี่ยงลงทุนที่ยังน่าสงสัย ดังนั้นจึงควรหาทางประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นถ้าข้อตกลงนี้มีอันต้องล้มเหลวลงไป เป็นต้นว่า การหาหนทางติดต่ออย่างลับๆ บางอย่างบางประการกับจีน?

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น พบว่าตัวเองถูกบังคับให้ต้องประกาศว่ามีเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ทีพีพี ด้วย ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าสมาชิกภาพดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อมาตรการตั้งกำแพงกีดกันการค้าอย่างสูงลิ่วชนิดเป็นตำนาน เพื่อคุ้มครองผลผลิตทางเกษตรของแดนอาทิตย์อุทัยเอง นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ว่า สิ่งสุดท้ายที่ญี่ปุ่นต้องการภายหลังจากต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ น่าจะเป็นแผนการริเริ่มด้านการค้าเสรีที่จะคุกคามผลประกอบการของบรรดาผู้ผลิตภายในประเทศของญี่ปุ่น และก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างอุตลุดในตลาดต่างๆ ของเอเชีย

มีพวกอนุรักษนิยมและธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นจำนวนมากมายทีเดียว ที่ออกมาป่าวร้องสนับสนุนการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น ตลอดจนยกย่องคุณงามความดีในด้านการค้าเสรีของ ทีพีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อดีในแง่ของการเป็นมาตรการตอบโต้แผนการริเริ่มทางด้านการค้าของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี ดังที่ ฟิลิป บราเซอร์ (Philip Brasor) แห่ง แจแปน ไทมส์ (Japan Times) รายงานเอาไว้ ยังคงมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงบางคนที่ส่งเสียงคัดค้านความคิดเห็นเหล่านี้ รายงานชิ้นนี้เขียนเอาไว้อย่างนี้:

“ทาเกชิ นากาโนะ (Takeshi Nakano) รองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เป็นผู้มีรายการข่าวและสิ่งพิมพ์จำนวนหนึ่งไปสัมภาษณ์ขอทราบความคิดเห็น นากาโนะบอกว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถวาดหวังได้ว่าจากการเข้าร่วม ทีพีพี จะทำให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมายในเรื่องการส่งออกสู่เอเชีย เนื่องจากสมาชิกทั้งหมดของ ทีพีพี ยกเว้นอเมริกาเท่านั้น ต่างก็เป็นชาติผู้ส่งออกสุทธิ และสำหรับความวาดหวังในระยะยาวที่ว่าในที่สุดแล้ว ทีพีพี จะสามารถชักจูงให้จีนยอมเปิดตลาดของตนนั้น เขากล่าวว่าจีนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าดูหมิ่นหยามเหยียดการค้าเสรี ด้วยการดำเนินการปั่นค่าเงินหยวน ยิ่งกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ราคาถูกกว่าที่มาจากสหรัฐฯ ยังจะทำให้ภาวะเงินฝืด (ในญี่ปุ่น) ยิ่งเลวร้ายลง ดังนั้นมันยังจะกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันขาลงต่อค่าจ้างอีกด้วย” [7]

หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุง (Yomiuri Shinbun) หนังสือพิมพ์ขายดีที่สุดของญี่ปุ่น ออกมาเรียกร้องกันตรงๆ ให้ญี่ปุ่น … หาทางกระจายความเสี่ยง ไม่ควรทุ่มสุดตัวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“เวลานี้มีความหวังกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญเติบโตนั้น จะเพิ่มความแข็งแกร่งในการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และแสดงบทบาทหน้าที่เป็นหัวรถจักรที่ฉุดลากเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนกำลังมีความระแวงภัยมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อยู่รายล้อมข้อตกลง ทีพีพี จีนเองแสดงท่าทีถอยห่างจาก ทีพีพี และกลับตั้งจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ระหว่างจีน กับสมาคมอาเซียน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้

การเป็นคู่แข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยที่ทั้งคู่ต่างก็ปรารถนาที่จะแสดงบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วชาติใดจะผงาดขึ้นมาเป็นฝ่ายเหนือกว่าอย่างชัดเจน ในสภาพการณ์ดังที่กล่าวมานี้ มีความจำเป็นสำหรับญี่ปุ่น ซึ่งยืนอยู่ข้างสหรัฐฯ จะต้องเดินหน้านโยบายการค้าเชิงยุทธศาสตร์กับจีนด้วย [8]

จีนนั้นดูจะตั้งความหวังเอาไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติในแนวทางพหุภาคีอันอุ้ยอ้ายเทอะทะเฉกเช่น ทีพีพี นี้ จะค่อยๆ โซซัดโซเซลับหายไปในหลืบมืดๆ แห่งประวัติศาสตร์ และเปิดโอกาสให้จีนกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการค้าระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของข้อตกลงแบบทวิภาคีที่แดนมังกรทำกับแต่ละประเทศ โดยไม่ให้สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยว

คุณงามความดีของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้นมา มักมีการโฆษณาโหมประโคมเกินความจริงเสมอ เป็นต้นว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นเป็นแบบอย่างอยู่มากนั้น ปรากฏว่าสิ่งเดียวที่พวกนักวิชาการสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ก็คือ ยังไม่สามารถคำนวณออกมาอย่างชัดเจนว่า มันมีผลกระทบอย่างแท้จริงต่อการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากน้อยแค่ไหน ข้อตกลงทวิภาคีที่ประเทศเอเชียต่างๆ ทำกับจีนเมื่อดูจากผลรวมแล้วอาจจะให้ผลดีต่อการเจริญเติบโตของทั่วทั้งภูมิภาค ทัดเทียมกับเป้าหมายอันใหญ่โตมโหฬารของ ทีพีพี ก็เป็นได้

คำถามสำคัญที่สุดก็คือ สหรัฐฯสามารถทำได้หรือไม่ที่จะรักษามายาภาพแห่งความเป็นผู้นำทางด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจผู้ไม่นำพาผลประโยชน์ส่วนตัว และประคับประคอง ทีพีพี ให้อยู่คงยงกระพันได้นานพอจนกระทั่งทำให้จีนยอมกระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย

มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจาณาในบริบทของการที่เขตยูโรโซนกำลังซวนเซ, เศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตอย่างเชื่องช้า, และความรับรู้เข้าใจที่ว่าศูนย์กลางแห่งแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจอันแท้จริงของเอเชียตะวันออกนั้น น่าจะเป็นประเทศจีนที่มั่งคั่งด้วยเงินสดและมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่สหรัฐฯซึ่งทั้งอยู่ห่างไกล, ทั้งวอกแวกสับสน, ไร้สมรรถภาพ, และพิกลพิการทางด้านการคลัง

ถ้าหากชาติพันธมิตรทั้งหลายเกิดมีความรับรู้เข้าใจกันว่า สหรัฐฯที่กำลังเล่นไพ่ความมั่นคงระดับภูมิภาค แท้จริงเป็นผู้เล่นทางทางด้านเศรษฐกิจที่เห็นแก่ตัวต่างหาก ก็น่าที่จะคาดหมายต่อไปได้ว่า ถึงแม้ชาติพันธมิตรเหล่านี้โดยเปลือกนอกจะพากันออกมาแถลงแสดงความสนับสนุนสหรัฐฯ ทว่าภายในใจกลับมีความลังเลอย่างล้ำลึก และต้องแอบๆ ไปเจรจาทำความตกลงเอาไว้อีกทางหนึ่งกับจีน เหมือนอย่างที่บทบรรณาธิการโยมิอูริข้างต้น เสนอแนะเอาไว้เป็นนัยๆ

เมื่อเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯก็จะต้องเสื่อมเสียเกียรติภูมิ เนื่องจากถูกลดชั้นลดระดับจาก “ผู้นำ” มาเป็นเพียง “หุ้นส่วน” ทางเศรษฐกิจรายหนึ่งเของจีนและชาติเอเชียอื่นๆ เท่านั้น ถึงแม้อาจจะยังคงเป็นหุ้นส่วนหมายเลขหนึ่งในบรรดาหุ้นส่วนผู้เท่าเทียมกันก็ตามที

ดังนั้น นโยบายจีนของอเมริกาจึงไม่ได้สร้างขึ้นบนรากฐานอันมั่นคงแข็งแกร่งแห่งแสนยานุภาพเกริกไกรสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทหาร, ขีปนาวุธ, เรือบรรทุกเครื่องบิน, และเหล่าพันธมิตรผู้ภักดีเหนียวแน่น หากแต่สร้างขึ้นบนพื้นดินอันน่ากังขาแห่งการมุ่งหน้ากำราบคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ และการใช้แผนการอันน่าระแวงเพื่อบีบคั้นปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสของอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียให้หันออกจากจีน กลับมายังอเมริกา

การฉวยโอกาสหยิบยกเอาข้อพิพาทระดับท้องถิ่นมาป่าวร้องโฆษณาให้เห็นประโยชน์ของระบอบความมั่นคงที่นำโดยสหรัฐฯ และข่มขู่กดดันเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์เป็นพิเศษจากจีน อาจจะดูเหมือนเป็นการกระทำที่เฉลียวฉลาด แต่ต้องไม่ลืมว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ต่อเมื่อมันได้ผลเท่านั้น

เหมือนดังที่ผู้ปราดเปรื่องรอบรู้ผู้หนึ่งเคยพูดเอาไว้ ระหว่างความฉลาด … กับความโง่เขลา มีเส้นแบ่งเพียงบางๆ เท่านั้น และสหรัฐฯอาจจะได้ข้ามเส้นนั้นไปแล้วด้วยนโยบายแปซิฟิกของตน

*หมายเหตุ*
7. Media takes both sides of TPP debate, Japan Times, Nov 13, 2011.

8. Japan's TPP participation key to Asia-Pacific economic integration, Yomiuri, Nov 15, 2011.

ปีเตอร์ ลี เขียนบทความว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความเกี่ยวพันของภูมิภาคเหล่านี้กับนโนบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น