xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์‘อียู-จีน’มาถึงช่วงเวลาสำคัญยิ่ง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เคอร์รี บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

EU, China at moment of truth
By Kerry Brown
16/11/2011

ยุโรปที่ติดหนี้ติดสินรุงรัง กำลังต้องการจีนมาช่วยเหลือให้หลุดออกจากบ่วง ด้วยการเข้าลงทุนในยุโรป และเปิดตลาดแดนมังกรให้กว้างๆ ต้อนรับผลิตภัณฑ์ของยุโรป อย่างไรก็ดี รายการช็อปปิ้งของฝ่ายจีนเองกลับอยู่ในลักษณะอุดมคติน้อยกว่า, เรียบง่ายกว่า, และเป็นสิ่งที่สามารถผลิดอกออกผลได้ในระยะสั้นๆ การที่ปักกิ่งแสดงท่าทีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งกว่าและมุ่งหวังผลในทางปฏิบัติมากกว่าเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่ในขณะนี้มองเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

การไปเยือนปักกิ่งของเคลาส์ เรกลิง ประธานผู้บริหารของกองทุนเสถียรภาพการเงินแห่งยุโรป (European Financial Stability Fund หรือ EFSF)ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทันทีทันควันใดๆ เลย ข่าวลือแพร่สะพัดที่ว่าจีนน่าจะควักกระเป๋าออกมาระหว่าง 50,000 ล้าน ถึง 100,000 ล้านยูโร (68,000 ล้าน ถึง 136,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อสมทบเข้าไปในกองทุนช่วยเหลือยุโรปนี้ กลับถูกตีแตกกระจายไปโดย จู กวงเย่า (Zhu Guangyao) รองรัฐมนตรีคลังของแดนมังกร ผู้ซึ่งออกมาแถลงอย่างตรงไปตรงมาว่า “ในเฉพาะหน้านี้ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ” ถึงแม้ “จีนจะคอยเปิดกว้างนึกถึงกองทุนนี้เอาไว้เสมอ”

การปฏิเสธเช่นนี้บังเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีรายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส ได้เอ่ยปากขอร้องประธานาธิบดีหู จิ่นเทาด้วยตนเองให้จีนช่วยร่วมสมทบเงินเข้ากองทุน ในระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ฝ่ายจีนอาจจะพูดออกมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่ามีความศรัทธาเชื่อมั่นในอียู เห็นว่าอียูมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของตนเอง แต่เมื่อมาถึงตอนที่ต้องควักเงินสดออกมาวางกันบนโต๊ะ ความหวาดกลัวที่ว่าพันธบัตรสกุลเงินยูโรอาจจะราคาทรุดฮวบลงต่อไปอีก ก็ยังใหญ่โตจนเกินกว่าที่แดนมังกรจะขจัดปัดทิ้งไปได้

ทางฟากฝั่งยุโรปเอง ก็มีความไม่สบายใจอย่างมหาศาลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้มั่งคั่งร่ำรวยอย่างพวกตน กำลังจะต้องไปแบมือขอเงินช่วยเหลือจากประเทศที่ยากจนกว่าโดยเปรียบเทียบ ถ้าหากคำนวณกันเป็นสัดส่วนต่อประชากรแต่ละคน

ขณะที่ถ้อยคำสวยหรูอย่างวลี “โอกาสครั้งประวัติศาสตร์” ระหว่างอียูกับจีน ส่งเสียงก้องสะท้อนอยู่รอบๆ ราวระเบียงแห่งอำนาจทั้งในยุโรปและในจีน ก็ยังคงปรากฏประเด็นปัญหาระยะยาวอื่นๆ 2 ประเด็นโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วรี่ของสถานการณ์ในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังมานี้ ประเด็นแรกได้แก่ข้อเท็จจริงๆ ง่ายๆ ชัดๆ ที่ว่า ขณะที่ทั้งสองฝ่ายพูดกันถึง “ความเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (a comprehensive strategic partnership) –ถ้าหากเราจะหยิบเอาคำพูดที่ใช้โดย เจี่ย ชิ่งหลิง (Jia Qingling) สมาชิกกรมการเมือง (Politburo) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่กล่าวขณะไปเยือนกรีซระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 ตุลาคม—ก็ยังคงมีคำถามอยู่ว่า อะไรคือหัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนกันแน่

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม แคเธอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ผู้แทนระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศของอียู (EU High Representative for Foreign Affairs) ได้พบปะหารือในกรุงปักกิ่งกับรัฐมนตรีกลาโหม เหลียง กวงเล่ย (Liang Guanglie) ของจีน โดยได้อภิปรายกันเกี่ยวกับแผนการที่จะเพิ่มสายสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อพูดกันถึงเรื่องความร่วมมือกันในด้านอำนาจกระด้าง (hard power) แล้ว ก็ดังที่ หยาง หยู่จุน (Yang Yujun) โฆษกกระทรวงกลาโหมแดนมังกรต้องยอมรับในอีกสองสามวันต่อมาว่า การปฏิบัติงานทางการทหารร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างจีนกับอียู มีน้อยมากๆ จนแทบจะต้องปล่อยก๊าก กล่าวคือมีเพียงแค่การร่วมกันคุ้มกันเส้นทางเดินเรือทางทะเลในอ่าวเอเดน บริเวณน่านน้ำใกล้ๆ ประเทศโซมาเลีย

พื้นที่หลักของการมีปฏิสัมพันธ์กันอันแท้จริงระหว่างจีนกับอียู ก็คือทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่เกิดประเด็นปัญหาระยะยาวประเด็นที่สอง กล่าวคือ ความเชื่อมโยงทางการค้าแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับรัฐสมาชิกอียูแต่ละราย อยู่ในลักษณะที่ไร้ความสม่ำเสมอจนกระทั่งใครๆ ก็ต้องเกิดข้อกังขาขึ้นมา ขณะที่อียูกำลังอยู่ในอาการปั่นป่วนผันผวนหนักอยู่นี้ อู่ หงโป (Wu Hongbo) เอกอัครราชขทูตจีนประจำเยอรมนีแถลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมว่า การค้าระหว่างเยอรมนีกับจีนมีมูลค่าสูงลิ่วถึง 142,000 ล้านยูโร (193,000 ล้านดอลลาร์) ในปี 2010 และเฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2011 นี้ ตัวเลขก็ขึ้นมาอยู่ที่ 127,000 ล้านยูโร (172,000 ล้านดอลลาร์) แล้ว

เมื่อตอนที่ เจี่ย ชิ่งหลิง เดินทางไปเยือนกรีซ จุดศูนย์กลางของความปั่นป่วนผันผวนในยูโรโซนคราวนี้ เหตุการณ์ระดับข่าวพาดหัวก็คือการที่เขาเข้าร่วมทำพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจทวิภาคี ซึ่งยังยังมีมูลค่า 537 ล้านยูโรเท่านั้น พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือว่า จีนสามารถที่จะหาประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ดีกับรัฐสมาชิกอียูเป็นรายๆ ไป แทนที่จะเป็นความสัมพันธ์กับทั่วทั้งอียูโดยรวม อย่างไรก็ดี ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ว่าอียูโดยองค์รวมจะสามารถแสวงหาประโยชน์ให้แก่รัฐสมาชิกตลอดทั้ง 27 รายได้อย่างไร ในเมื่อการกระจายการลงทุน, การค้า, และการเงิน อยู่ในลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอกันอย่างรุนแรงถึงขนาดนี้

ด้วยเหตุผลข้อนี้เอง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมเสียงแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการในจีนจึงเป็นเรื่องของการให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการบูรณาการของอียู, การมีความศรัทธาเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร และความสามารถของบรรดารัฐสมาชิกอียูในการรับมือกับวิกฤตหนี้สิน แต่ขณะเดียวกันก็บอกกล่าวด้วยว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างแรงกดดันเพื่อให้อียูตระหนักถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้าง

ภายหลังจากหลายๆ ปีที่ต้องรับฟังการที่อียูเที่ยวเล็กเชอร์สั่งสอนจีนในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างลึกซึ้ง, การปฏิรูปทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันหลากหลาย, และ การพิจารณาอียูในฐานะเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการมีธรรมาภิบาลและการดำเนินงานด้วยความร่วมมือกันของหลายๆ ฝ่ายแบบพหุภาคี (multilateralism) สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนคงต้องรู้สึกเป็นช่วงขณะแห่งความหอมหวานเสียนี่กระไร ที่ได้ระบุในข่าวนำของตนว่า “ความร่วมมือกันระหว่างจีนกับยุโรปกำลังประสบกับโอกาสครั้งประวัติศาสตร์” อย่างไรก็ตาม “สืบเนื่องจากความจำกัดต่างๆ จากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างของการบูรณาการ ตลอดจนการเจริญเติบโตอย่างไม่สม่ำเสมอกันของบรรดารัฐสมาชิกต่างๆ รวมไปถึงการทรุดตัวของเศรษฐกิจโลก อียูจะต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายจำนวนมาก”

หากจะพูดอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้อารมณ์ว่าเป็นข้อความอันค่อนข้างโหดเหี้ยมที่ส่งไปให้แก่อียูแล้ว ก็คงจะออกมาดังนี้ “ต่อไปในวันข้างหน้า จัดบ้านของคุณให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้ได้ก่อนเถอะ แล้วคุณค่อยมาเล็กเชอร์สั่งสอนเรา”

ในภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้ หุ้นส่วนสำคัญ 2 รายนี้คาดหวังอะไรจากอีกฝ่ายหนึ่ง? สำหรับฝ่ายจีนแล้ว พวกเขาต้องการเรื่องง่ายๆ ที่สามารถผลิดอกออกผลได้ภายในระยะสั้นๆ อย่างเช่น การรับรองให้จีนมีฐานะเป็นชาติที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และการให้สิทธิจีนในการเข้าถึงตลาดยุโรปอย่างสมน้ำสมเนื้อ และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างระยะยาวขึ้นมาหน่อย ก็คืออะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กับการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างสองฝ่ายที่มีฐานะเท่าเทียมกัน อันที่จริงแล้ว พวกเขาต้องการความสัมพันธ์ที่เน้นการปฏิบัติจริงๆ เป็นอย่างยิ่ง โดยที่พวกเขาสามารถเน้นไปยังสิ่งที่สามารถผลิดอกออกผลได้ทั้งหลาย – โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ส่วนสำหรับฝ่ายยุโรป นี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องรู้สึกระสับกระส่ายไม่สบายใจ ดังที่หนังสือพิมพ์ชั้นนำฉบับหนึ่งบรรยายเอาไว้อย่างเห็นภาพว่า สำหรับผู้คนจำนวนมากในยุโรป ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการรับเม็ดเงินทุนจากจีน ในบางแง่บางมุมแล้วมันคือการต้องทนถูกสบประมาทโดยพื้นฐาน เป็นการถูกสบประมาทต่อค่านิยมและต่อความภาคภูมิใจ น่าติดตามว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะสามารถกลายเป็นแรงผลักดันซึ่งในที่สุดแล้วจะเปิดทางให้พวกชนชั้นนำทางการเมืองที่กำลังบริหารรัฐอียูรายสำคัญที่สุดอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส อย่างน้อยที่สุดก็จะพยายามหาทางลงมือปฏิบัติร่วมกันเพื่อเสนอทางเลือกอีกทางหนึ่งได้หรือไม่?

อียูนั้นต้องการได้เงินลงทุนของฝ่ายจีนเพื่อสร้างงาน, ต้องการให้จีนเปิดตลาดภายในประเทศเพื่อต้อนรับผลิตภัณฑ์ของอียู, และต้องการจีนเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อฟังในประเด็นปัญหาทางด้านความมั่นคงและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำหรับในขณะนี้แล้ว ดูเหมือนว่าความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายจีน ดูจะเป็นหนทางที่จะก้าวเดินไป หาใช่ความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายอียูไม่

เป็นอีกครั้งหนึ่งแล้ว ขณะที่อียูอาจจะเป็นฝ่ายมีชัยในเรื่องวิสัยทัศน์ที่ห้าวหาญและอุดมคติต่างๆ ทางฝ่ายจีนกลับเป็นผู้ที่กระทำสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าและมุ่งหวังผลในทางปฏิบัติมากกว่า บางคนอาจจะบอกว่าแท้ที่จริงมันก็เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพียงแต่ในขณะนี้มองเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

เคอร์รี บราวน์ เป็นหัวหน้าโครงการเอเชีย (Asia Program) ที่สถาบันแชตแธม เฮาส์ (Chatham House) และเป็นผู้นำของ เครือข่ายการวิจัยและการให้คำแนะนำว่าด้วยยุโรป-จีน (Europe China Research and Advice Network หรือ ECRAN) ดร.บราวน์ยังเป็นทำงานให้ สถาบันนโยบายจีน (China Policy Institute) แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) และศูนย์เพื่อการระหว่างประเทศศึกษาและการทูต (Centre for International Studies and Diplomacy) แห่งสถาบันตะวันออกศึกษาและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies) เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ลอนดอน, และ ลีดส์ และเคยทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศและกิจการเครือจักรภพของอังกฤษ (British Foreign and Commonwealth Office) ระหว่างปี 2000 – 2005 รวมทั้งในสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปักกิ่ง หนังสือที่เขาเขียนชื่อ Hu Jintao: China's Silent Leader กำหนดตีพิมพ์จำหน่ายในเดือนมีนาคม 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น