xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่คิดว่าการพัฒนาปท.ของตนจะเป็น‘แนวทาง’สำหรับชาติแอฟริกา (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยน จวินโป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The myth of the 'China model' in Africa
By Jian Junbo
13/09/2011

สหรัฐอเมริกากำลังออกมารณรงค์โจมตีสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาประเทศด้วย “แนวทางจีน” ซึ่งลักษณะเด่นของมันก็คือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่นำโดยรัฐและเป็นเผด็จการรวบอำนาจ วอชิงตันระบุว่าพวกประเทศในแอฟริกากำลังสนอกสนใจแนวทางพัฒนาเช่นนี้ พร้อมกันนั้นก็กล่าวหาปักกิ่งอย่างอ้อมๆ ว่ากระทำตัวเป็นนักล่าอาณานิคมยุคใหม่ เป็นความจริงอยู่หรอกที่หลายๆ ชาติแอฟริกาต้องการลอกเลียนแบบการก้าวผงาดขึ้นมาของประเทศจีน ทว่าเนื้อแท้แล้วพวกเขาไม่ได้มีระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจและประวัติศาสตร์แห่งการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่แดนมังกรมี ส่วนการที่โลกตะวันตกเกิดวิตกจริตในเรื่องนี้ขึ้นมาในตอนนี้นั้น เพียงเพราะรู้สึกหมดปัญญาไม่สามารถแก้ไขสภาพการณ์ที่อิทธิพลของพวกเขาในกาฬทวีปกำลังหดหายลงไปเรื่อยๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ลอนดอน – จีนกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในแอฟริกา ภายหลังที่แดนมังกรดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขันเพิ่มขึ้นทุกทีในทวีปนั้น และเรื่องนี้ก็กำลังตกเป็นเป้าวิพากษ์โจมตีจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ ในระยะหลังๆ มานี้ การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวดูจะมุ่งเน้นหนักไปในประเด็นการถกเถียงว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “แนวทางจีน” (China model) นั้น ประเทศในแอฟริกาสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่

สิ่งที่ถูกเรียกขานว่า “แนวทางจีน” นี้ ฝ่ายตะวันตกบรรยายว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการเมืองที่เป็นลัทธิเผด็จการรวบอำนาจ (authoritarianism) กับระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งตรงกันข้ามกับ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus)

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่า การโจมตีของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับที่ฝ่ายจีนกำลังออกมาโต้แย้งมากขึ้นๆ ว่า “แนวทางจีน” เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงๆ ทั้งนี้ ถ้าหากพิจารณาจากมุมมองเช่นนี้แล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ระลอกล่าสุดของฝ่ายตะวันตก ก็อาจจะเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่ก่นด่าอะไรลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนแซมเบียในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอได้พูดพาดพิงอย่างอ้อมๆ ถึงการปรากฏตัวของจีนในทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน ว่าเป็น “ลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่” (new colonialism) โดยเธอกล่าวว่า “พวกเราเคยพบเห็นมาแล้วว่า ในยุคล่าอาณานิคมนั้น เป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินที่จะเข้ามา แล้วก็ขนเอาทรัพยากรธรรมชาติออกไป จ่ายค่าตอบแทนให้พวกผู้นำเสียหน่อยแล้วก็ทอดทิ้งผละจากไป แต่ในตอนที่พวกคุณผละจากไปนั้น พวกคุณไม่ได้เหลืออะไรสักกี่มากน้อยให้กับประชาชนผู้ซึ่งยังต้องอยู่กันที่นั่น พวกเราไม่ต้องการที่จะเห็นลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่เกิดขึ้นในแอฟริกา”

ครั้นเมื่อถูกถามว่าจีนคือแบบอย่างแนวทางการพัฒนาที่ดีสำหรับแอฟริกาหรือไม่ ฮิลลารี คลินตัน ก็ตอบว่า “ในระยะยาว, ระยะกลาง, หรือแม้แต่ระยะสั้น ไม่หรอกค่ะ ดิฉันไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้นหรอก” [1]

ทางด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ฉบับวันที่ 2 กันยายน ก็รายงานเอาไว้ดังนี้

“... เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางรายกล่าวว่า มีรัฐบาลของประเทศในแอฟริกาจำนวนหนึ่ง บังเกิดความชื่นชอบเส้นทางการพัฒนาของจีน จึงสนับสนุนให้พวกกิจการของจีนได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่เป็นบริษัทของสหรัฐฯ เรื่องนี้ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในทางยุทธศาสตร์ของปักกิ่งต่อทวีปนี้

“เป็นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนมากว่า แนวทางการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมที่ชี้นำโดยรัฐเช่นนี้ กำลังถูกจีนใช้ในฐานะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของอำนาจละมุน (soft power) ของตน” โรเบิร์ต ดี ฮอร์แมตส์ (Robert D Hormats) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ (US State Department's Under Secretary for Economic Affairs) ระบุ “มันเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดกว้างๆ ที่ว่า แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของจีนนั้นประสบความสำเร็จ และสามารถนำเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้” [2]

สิ่งที่อ้างอิงมาให้ได้อ่านกันทั้งหมดเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างกระจะว่า วอชิงตันเกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่จีนกำลังมีความสามารถในการแข่งขันกับสหรัฐฯในแอฟริกาสูงขึ้นทุกที อันที่จริงแล้ว การที่ในตอนนี้มีการออกมากล่าวหาจีนว่าเป็นลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ (neo-colonialism) ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ย้อนหลังไปจนถึงประมาณสักปี 2006 กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ (British Foreign Office) ก็ได้เคยเปรียบเทียบกิจกรรมต่างๆ ในแอฟริกาของจีน ว่าไม่แตกต่างจากสิ่งที่ฝ่ายตะวันตกได้เคยกระทำในช่วงประมาณสัก 150 ปีก่อน ทว่าการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จีนกำลังพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนเผยแพร่ “แนวทาง” ด้านเศรษฐกิจ-การเมืองของตนเองนั้น ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่ เป็นอะไรที่เพิ่งปรากฏขึ้นมา

ปักกิ่งนั้นได้ออกมาปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อข้อกล่าวหาที่ว่า แดนมังกรวางแผนที่จะป่าวร้องโฆษณา “แนวทางจีน” ในทวีปแอฟริกา แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังคงจะถูกฝ่ายตะวันตกใช้เป็นตราประทับอันน่าชัง ให้แก่การเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับกาฬทวีปของจีน ตลอดจนภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นต่อโลกตะวันตกจากการที่แดนมังกรเข้าสู่แอฟริกาดังกล่าว

มีผู้นำในทวีปแอฟริกาบางรายแสดงความนิยมชื่นชอบแนวทางการพัฒนาแบบของจีน เป็นต้นว่า อาเธอร์ มูตัมบารา (Arthur Mutambara) รองนายกรัฐมนตรีซิมบับเว และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคฝ่ายค้านในประเทศนั้น ได้กล่าวเอาไว้ว่า “แนวทางของจีนกำลังบอกพวกเราว่า คุณสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องเดินตามตัวอย่างของฝ่ายตะวันตก” เขาพูดอีกว่า “จีนคือประเทศที่ผมนิยมชื่นชอบ” [3]

การอภิปรายถกเถียงกันทั้งหมดนี้ บังเกิดขึ้นรอบๆ แบบอย่างแนวทางการพัฒนา ซึ่งบรรดานักวิจัยและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายจีน รวมไปทั้งนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าของจีนด้วย ต่างรู้สึกว่า แท้ที่จริงแบบอย่างแนวทางการพัฒนาดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงความคิดความเข้าใจที่ผิดๆ เท่านั้น

ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นวาระการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) ของจีนเมื่อกลางเดือนมีนาคมปีนี้ นายกฯเวินกล่าวเอาไว้ว่า “เรายังคงดำเนินการพิสูจน์ตรวจสอบการปฏิรูปด้านต่างๆ และการก่อสร้างต่างๆ ของเรา และไม่เคยเลยที่จะถือว่าการพัฒนาของเราเป็นแนวทางเป็นแบบอย่างที่ควรแก่การก้าวเดินตามแล้ว”

ในการประชุมสัมมนาใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ที่จัดขึ้นโดยโรงเรียนพรรคส่วนกลาง (Central Party School) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับท็อปของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีหน้าที่อบรมบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสนั้น พวกเจ้าหน้าที่และนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ หลายหลากของจีน ได้อภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่าแนวทางจีน ความคิดเห็นของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร “การปฏิรูปของจีน” (China's Reform) ที่เป็นวารสารทางการเงินซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา [4]

มีผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาคราวนี้สองสามคน ที่แสดงความเห็นด้วยกับฝ่ายตะวันตกที่ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าแนวทางจีน เป็นต้นว่า ซุน หลี่ผิง (Sun Liping) อาจารย์คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) กล่าวว่า “ผมคิดว่ามีแนวทางการพัฒนาแบบจีนอยู่จริงๆ ครับ มันไม่เพียงดำรงอยู่หากมันกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการปรับปรุงแก้ไขอีกด้วย” ขณะที่ อู่ ซี (Wu Si) รองประธานและบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร เหยียนหวง ชุนชิว (Yanhuang Chunqiu) ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่ดำเนินการโดยผู้อาวุโสของพรรคจำนวนหนึ่งที่ปัจจุบันปลดเกษียณแล้วและมีความคิดมุ่งผลักดันการปฏิรูป ก็แสดงความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมส่วนข้างมากต่างปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดนี้

จู หลี่เจีย (Zhu Lijia) อาจารย์จากสถาบันการบริหารจัดการแห่งชาติ (National Administrative Institution) แสดงความคิดเห็นว่า การพูดถึงเรื่องแบบอย่างแนวทางการพัฒนาของจีน เป็นการพูดด้วยความเข้าใจที่ไขว้เขว เนื่องจากบรรดาสถาบันทางสังคมยุคใหม่ ตลอดจนค่านิยมทางสังคมยุคใหม่ของจีนนั้น ล้วนแต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา หรือกระทั่งอยู่ในขั้นตอนเพิ่งกำเนิดเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ส่วน ไช่ เซี่ย (Cai Xia) อาจารย์จากโรงเรียนพรรคส่วนกลาง บอกว่า ถ้าหากแบบอย่างแนวทางจีน หมายถึงเศรษฐกิจตลาดที่ครอบงำและผลักดันโดยรัฐบาลแล้ว จีนก็เพียงแต่กระทำซ้ำในสิ่งประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากได้เคยกระทำมานั่นเอง

เมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าวนี้ “แท้ที่จริงแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ขึ้นมาเลย” ไช่ สรุป ส่วน เซี่ย เย่เหลียง (Xia Yeliang) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โต้แย้งว่าสิ่งที่เรียกกันว่า แนวทางจีน นั้น ความเป็นจริงแล้วไม่เห็นจะมีอะไรแปลกใหม่ไปจาก “แนวทางเอเชียตะวันออก” (East Asian Model) ของ 4 ประเทศและดินแดน ที่ถูกขนานนามเป็น สี่เสือเอเชีย (Four Asian Tigers) ซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, และฮ่องกง “คำจำกัดความของคำว่าแนวทางจีน ไม่ว่าจะนำมาใช้โดยคนจีนหรือชาวต่างประเทศ ก็ล้วนแต่มีความหมายที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเอาเลย” เซี่ย กล่าว

หลี่ จวินรู่ (Li Junru) อดีตรองประธานของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง ได้เคยเขียนบทความไว้ตั้งแต่ปี 2009 เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เสวียสี ซื่อเป้า (Xuexi Shibao) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ออกโดยทางโรงเรียน โดยเขาเตือนว่าเป็นเรื่องอันตรายที่จะนิยามการพัฒนาของจีนว่าเป็นแนวทางจีน เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่การมองการพัฒนาของประเทศอย่างมีความเชื่อมั่นมากเกินไป และมองการณ์ในแง่ดีจนมืดบอด ซึ่งจะเป็นภยันตรายต่อการปฏิรูปต่างๆ ในอนาคต

การที่การอภิปรายถกเถียงทำนองนี้ ยังคงดำเนินอยู่จวบจนกระทั่งบัดนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า “แนวทางจีน” เป็นแนวความคิดที่รัฐบาลจีนตลอดจนนักวิชาการจีนจำนวนมากทีเดียวไม่ยอมรับว่ามีอยู่จริงๆ

หมายเหตุ

1. Clinton Chastises China on Internet, African ‘New Colonialism', Bloomberg, Jun 12, 2011.
2. In Africa, U.S. Watches China's Rise, Ayyaantoo Online News, Sep 2, 2011.
3. อ้างแล้ว
4. ดูเนื้อความที่เป็นภาษาจีนได้ที่ http://magazine.caing.com/2011-08-30/100296415.html

ดร.เจี่ยน จวินโป เป็นรองศาสตราจารย์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา (Institute of International Studies Institute of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) มหานครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน ปัจจุบันเขาเป็นผู้เยี่ยมเยียนทางวิชาการ (academic visitor) ณ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิติคอล ซายซ์ (London School of Economics and Political Science) สหราชอาณาจักร
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น