xs
xsm
sm
md
lg

"รัตมา พงศ์พนรัตน์" คำตอบของชีวิตการทำงานอยู่ที่มิวเซียม สยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>พาคุณไปรู้จักกับ"สาวทำงานยุคใหม่" ที่ไม่ได้มองถึงตัวเงินหรือค่าตอบแทนเป็นหลักในการทำงาน แต่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการที่อยากเห็นสังคมไทยเติบโตได้จากการเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์จากในอดีตและพัฒนาไปสู่หนทางแห่งอนาคตที่ดีกว่าเดิม

เส้นทางชีวิตที่หล่อหลอมตัวตนให้กลายมาเป็น "รัตมา พงศ์พนรัตน์" ในวันนี้ มีจุดพลิกพันครั้งใหญ่ในช่วงที่เธอเดินทางไปศึกษาปริญญาตรีที่ต่างแดน ทำให้เธอเติบโตมากลายเป็นคนช่างคิด ช่างวิเคราะห์ และรักในการค้นคว้า หาข้อมูล อย่างในทุกวันนี้ จากเด็กเรียนดีธรรมดาๆ อดีตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่เรียนได้เพียง 1 เทอม คุณแม่ของเธอต้องไปทำงานที่ฝรั่งเศส เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่นด้วย

“ตอนอยู่เมืองไทย ไปเรียน ตกเย็นก็สังสรรค์ ชอปปิ้ง เที่ยวเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่เราอย่างเต็มที่ เพราะมันไม่ได้มีโอกาสให้เราได้คิด ชีวิตสบายก็ไหลไปตามกระแสสังคม..

แต่พอไปอยู่นู่น ทั้งภาษา การเรียนต่างๆ มันทำให้เราต้องตั้งใจ ขยัน เพราะเรียนแบบค้นคว้า เน้นให้คิด เราก็สนุกและอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ ตัดสินใจเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะมันเหมือนเป็นองค์รวมในทุกเรื่อง เรียนสารพัดตั้งแต่ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคม เป็นเรื่องของความสมดุลย์ เหตุผล ที่มันสามารถไปต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ได้มากมาย

ส่วนปริญญาโทเลือกเรียนการวางผังเมือง เพราะจากทฤษฎีจับต้องไม่ได้ ก็อยากเห็นอะไรที่ สามารถเห็นภาพได้จริง ก็มาจบลงที่นี่ ได้เรียนเอาความรู้พวก เศรษฐศาสตร การเมือง ที่เรียนมาผสมกับ ภูมิศาสตร์ ได้ลงมือทำ”

หลังเรียนจบเธอกลับมาเมืองไทย เธอเข้ารวมงานกับการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดูแลโครงการรถไฟใต้ดิน วางแผนโครงการส่วนขยาย ทำรีเสิร์จ ผลกระทบ วางนโยบาย ทำอยู่ 5 ปีก็เริ่มอิ่มตัวบวกกับการเบื่อในข้อแม้บางประการของงาน เธอจึงมองหางานใหม่

“ปอมเบื่อเรื่องงานเอกสาร และการเปลี่ยนนโยบายบ่อย เหมือนงานเรามันถูกผูกกับการเมือง พอทางโน้นเปลียนฝ่ายที่ ก็แก้โครงการกันที ปวดหัว ทำงานไม่ได้ต่อเนื่อง ซึ่งทั้งที่คุณแม่ปอมก็เป็นข้าราชการ เราโตมากับระบบงานแบบนี้ น่าจะชินนะแต่มันก็ไม่ชินสักที เลยมองหางานอื่นที่เราน่าจะแฮปปี้กว่า โดยพิจารณาจากการที่ชอบเรื่องสนุก ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ชอบเอนเตอร์เทนคน และยังแอบชอบเรื่องวิชาการความรู้นิดๆ ก็มาลงตัวที่มิวเซียม สยาม

โดยปัจจุบันนี้ เธอทำงานที่นี่มาเกือบ 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ในช่วงเตรียมงานเปิด 3 ปี โดยช่วยทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสถานที่แห่งนี้ เธอเริ่มทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ก่อนเปิด สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายคือเด็กๆ เริ่มจากบริเวณโดยรอบ มีกิจกรรมนอกสถานที่ปูทางให้รู้ว่ามีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ ตอนนี้เปิดมาได้ 3 ปีแล้ว เธอหันมาดูในเรื่องกิจกรรมพิเศษ ที่จัดเพื่อดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ อย่างกลุ่มวัยรุ่น และครอบครัวให้เข้ามามากขึ้น

“กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่จัดไป คืองาน “หลงเวลา ลั้นลาพาชาติเจริน” มีคนมาร่วมหลายพันเลย เป็นงานที่จำลองบรรยากาศของยุคอดีตสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมาไว้ ทั้งในเรื่องแฟชั่น ดนตรี อาหาร กิจกรรมฮิตในสมัยนู่น...

ไอเดียของการจัดงานเริ่มจาก ดูว่าคนสมัยนี้ชอบและสนใจอะไร ก็สิ่งนั่นมาดึงดูดเขา คนชอบเรื่องย้อนยุค ชอบแต่งตัว ถ่ายรูปแชร์ในเฟซบุ๊ค ก็เลยได้ธีมว่าจะทำเป็นบรรยากาศย้อนยุค ทำให้คนมาร่วมงานเหมือนเดินทางผ่านการเวลาไปอยู่ในอดีต”

แม้จะได้แนวคิดแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือการจะพาย้อนไปยังอดีตยุคไหน เพราะการเป็นพิพิธภัณฑ์ เหมือนจะทำอะไรแล้ว ข้อมูลต้องเป๊ะ ตรงยุค จะมาผสมมั่วๆ เหมารวมเป็นเรโทรทั้งหมดไม่ได้ เธอเลยต้องทำการรีเสิร์จหนักมาก จนกระทั่งมาลงตัวที่สมัย จอมพล ป.

“ต้องคำนึงว่างานเราไม่ได้ทำเพื่อที่จะสนุกอย่างเดียว แต่เราเป็นพิพิธภัณฑ์มันต้องให้ความรู้ด้วย ดังนั้น รายละเอียดทุกอย่างต้องตรงกับข้อมูลจริง ตอนเตรียมงาน สนุกและหัวหมุนมาก ได้รู้อะไรที่น่าสนใจเยอะ ที่ตัดสินใจทำยุคนี้ เพราะมันมีอะไรหลายอย่างสะท้อนถึงยุคปัจจุบันได้ ในสมัยนั้นเป็นช่วงฟื้นฟูประเทศ สร้างชาติ ต้องการความสามัคคี เน้นระเบียบ มันเลยดูเข้มงวด มีกฎรัฐนิยม อย่างสวมหมวก, ต้องมีเวลาให้ครอบครัว, ตัดบรรดาศักดิ์หน้าชื่อ, ชื่อต้องตรงกับเพศ ซึ่งที่จริงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กฏหมายเพียงแต่เขาขอความร่วมมือ ซึ่งมันก็มีเหตุมีผลเมื่อนึกถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น

ซึ่งพอมาดูสมัยนี้ เราเสรีมาก ไม่มีระเบียบ ไม่เคารพกฏหมาย วุ่นวาย เราก็อยากให้คนได้สะท้อนความคิดกันบ้าง เรามีนิทรรศการควบคู่ไปด้วย บางคนสนใจก็จะได้กลับไปหาความรู้เพิ่ม ช่วยจุดประกายให้เขาสนใจเอาไปต่อยอด ไปค้นคว้าซึ่งคนไทยไม่ค่อยมี” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ รัตมา อยากเห็นที่สุดในสังคมไทย การต่อยอดความคิด การศึกษาเพิ่มเติม

“สังคมบ้านเรามันไม่มีสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ คนไม่ได้เห็นค่าตรงนี้ อย่างตอนที่ทำงานที่ รฟม. มีตอนหนึ่งขณะทำอุโมงค์รถไฟใต้ดิน เขาขุดไปเจอระเบิดเก่าสมัยสงครามโลก เราเห็นแล้วก็เกิดไอเดียอย่างในต่างประเทศที่เขาจะมีรูปปั้น จุดสำคัญต่างๆ คิดว่าน่าจะเอามาทำเป็น Land mark อย่างหนึ่ง หรือเป็นอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นเล็กๆ ทำให้ที่สถานีนั้นมีลูกเล่น แทนที่จะเป็นแบบโครงสร้างเรียบๆ น่าเบื่อ ในอนาคตมันอาจจะเป็นจุดนัดพบ จุดเด่นของสถานีอย่างหนึ่ง

รวมทั้งมีรายละเอียดอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ ว่าในแถบนี้สมัยโบราณมีผลกระทบต่อสงครามโลกนะ สอนประวัติศาสตร์ไป ช่วยให้สังคมมีการเรียนรู้ แทนที่จะปล่อยทิ้งไปเฉยๆ เป็นที่ว่างๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร”

จากจุดแห่งการไม่รู้จักใช้ไอเดียในการต่อยอด หรือการใช้การคิด วิเคราะ เธอสะท้อนต่อไปถึงว่าเรื่องราวเหล่านี้ มันส่งผลถึงปัญหาใหญ่ของเมืองไทย มันเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างการที่คนไทยเน้นการใช้หูมากกว่าใช้หัว

“สังคมไทยเราเป็นสังคมป้อน สังเกตุได้ตั้งแต่ระบบการศึกษา เราเรียนแบบท่องจำ จำชื่อคน ปีพ.ศ. แต่ไม่ได้เรียนถึงเหตุผล ที่มาที่ไป ทำให้เราไม่ค่อยคิด ไม่ได้วิเคราะห์ ซึ่งมันส่งผลไปถึงทุกเรื่อง โตมาเวลารับอะไรมาเราจะมีวิจารณญาณว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งไหนมันดูไม่มีเหตุผล ไม่ใช่ว่าเชื่อตามๆ กัน เชื่อตามคำบอก..

อย่างตอนปอมไปเรียนต่างประเทศ รายงานแต่ละชิ้นที่ส่งเนี่ย ต้องอ่านหนังสือเป็นตั้ง ค้นข้อมูลกันเยอะมากแล้วเอาทั้งหมดมาวิเคราะห์ เขียนสรุปความคิดเราออกมาโดยมีเหตุผล ที่มาที่ไปรองรับจากแหล่งข้อมูลที่เราศึกษามา การเขียนเชิงอรรถนี้ต้องเป๊ะ เขาให้ความสำคัญกับเจ้าของไอเดีย ให้เครดิต แต่สำหรับบ้านเราตรงนี้ไม่สำคัญ

ขนาดปอมเคยเขียนบทความให้นิตยสารบางเล่ม ปอมใส่เครดิต ใส่รายละเอียดหมดว่า ข้อมูลส่วนไหนมาจากใคร จากตำราเล่มไหน แต่พอถึงเวลาตีพิมพ์เขาตัดส่วนนั่นออกหมดเลย เพราะเขาไม่ได้มองว่ามันสำคัญ บ้านเราถึงเลียนแบบเก่ง ก๊อปเก่ง แต่ไม่รู้จักครีเอท ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ”

และการทำงานตรงจุดนี้ของเธอ แม้จะเป็นการรับราชการ ที่ผลตอบแทนแสนน้อยนิดแต่เธอก็ทำอย่างมีความสุข เพราะจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ให้ความรู้กับคนจำนวนไม่กี่หยิบมือที่สนใจในเรื่องการเรียนรู้และประวัติศาสตร์ แต่เธอก็ดีใจที่ได้เป็นแรงหนึ่งที่ช่วยสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในอนาคต :: Text by FLASH

Profile
ชื่อเล่น :: ปอม
อายุ :: 34 ปี
การศึกษา ::
- ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์การเมือง ระหว่างประเทศ จาก American University of Paris ฝรั่งเศส
- ปริญญาโทวางแผนผังเมือง จาก London School of Economics & Political Sciences อังกฤษ
การทำงาน ::
- ฝ่ายวิชาการ แผนกสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธา ของ รฟม.
- เจ้าหน้าที่จัดการองค์ความรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียม สยาม)

Did you know??
ตอนอยู่กับ รฟม. หนึ่งในงานที่เธอทำ คือ Enterer ตำแหน่งที่เธอถูกแซวจากเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากเธอเป็นคนเตรียมข้อมูลในการทำโครงการต่างๆ จึงรู้ดีว่าช่วงไหนจะโชว์ข้อมูลอะไร ดังนั้นเธอจึงเป็นคนทำหน้าที่กดแป้นคีย์บอร์ดปุ่ม Enter เวลาโชว์ Slide Presentation อันเป็นที่มาของชื่อตำแหน่ง Enterer !!!!!!!
 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น