เอเยนซี - พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของไต้หวันเสนอ “ไช่ อิงเหวิน” ซึ่งได้ปรับแนวนโยบายของพรรคจากที่เคยสนับสนุนอิสรภาพดินแดนสู่ทางสายกลางมากขึ้น ให้เป็นผู้แทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้า ซึ่งเธอเป็นสตรีคนแรกของไต้หวันที่ถูกเสนอชื่อ ขณะที่ผลโหวตชี้ว่าเธอมีแนวโน้มได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีด้วย
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พรรคดีพีพีของไต้หวันจะประกาศให้ ไช่ อิงเหวิน เป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พ.ค. นี้ โดยกฎฯ ของพรรคฯระบุ ผู้ที่ชนะตามโพลสำรวจก็จะได้เป็นตัวแทนของพรรคโดยอัตโนมัติ
ขณะที่วันนี้ (27 เม.ย.) ไช่แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า เธอจะเป็นตัวแทนพรรคดีพีพีลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอย่างแน่นอน ก่อนที่พรรคฯจะประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ
ไช่เป็นผู้นำหญิงพรรคดีพีพีวัย 54 ปี โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนม.ค. ปีหน้า (2555) เธอจะต้องชิงเก้าอี้กับประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ผู้สมัครคนเดียวของพรรคก๊กมินตั๋ง ทั้งนี้การประกาศชื่อผู้สมัครจากฝั่งก๊กมินตั๋งจะประกาศอย่างเป็นทางการวันพุธถัดไป
ผลโหวตทางโทรศัพท์เกี่ยวกับผู้แทนสองพรรคฯ ซึ่งมีผู้โหวต 15,000 คน ระบุว่า ไช่ได้คะแนนสนับสนุนเหนือหม่า 42.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 35 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักการเมืองอาวุโสพรรคดีพีพี ซู เจิงชาง ก็ทำคะแนนมากกว่าหม่าแบบเฉียดฉิว 41.1 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 33.8 เปอร์เซ็นต์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไช่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านจีนของพรรคดีพีพีแบบสุดขั้ว แต่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนกับแผ่นดินใหญ่ในบางกรณี ทั้งนี้จีนและไต้หวันแบ่งแยกการปกครองนับแต่เกิดสงครามกลางเมืองปี 2492 และจีนยังคงอ้างเสมอว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่รอการรวบรวม
จุดเน้นหลักของการเมืองไต้หวันเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์กับจีน” ขณะที่ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งของหม่าเน้นสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ขณะที่พรรคดีพีพีชูนโยบายอิสรภาพไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมการลงสนามชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปีหน้า ผู้นำดีพีพีได้ปรับนโยบายของพรรคสู่แนวทางสายกลางกับจีนมากขึ้น
ตลอดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลา 3 ปี หม่า ได้ทำให้ระดับความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันที่คั่นกลางด้วยช่องแคบไต้หวันห่างไม่ถึง 160 กม. นั้นลดลงไปมากที่สุด ตั้งแต่ไต้หวันแยกตัวมาจากจีน 60 ปี โดยเน้นการผูกสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีระดับสูงกับตลาดใหญ่ของจีน มีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปบางส่วนเมื่อปีที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสัญญะของสัมพันธภาพที่ดีขึ้นทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ไช่ไม่เห็นด้วยกับความร่วมมือดังกล่าว โดยชี้ว่า ความร่วมมือฯ ได้ทำให้ประชาชนไต้หวัน 23 ล้านคนนั้นต้องพึ่งพิงจีนมากขึ้น และบั่นทอนอธิปไตยไต้หวันไปในที่สุด
แต่เธอก็ยังคงยอมรับสัมพันธ์ทางการค้าที่เฟื่องฟูกับจีน กอปรกับสัมพันธ์ที่มั่นคงกับชาติอื่น ๆ ว่าเป็นสิ่งสำคัญทำให้ไต้หวันเจริญรุ่งเรืองในระยะยาว ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่แปลกแยกไปจากนโยบายของนายเฉิน สุยเปี่ยนอดีตประธานาธิบดีและผู้นำพรรคดีพีพีคนก่อน ที่มีนโยบายไม่เป็นมิตรกับจีนในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2543-2551
ไช่จบปริญญาเอกจากแอสเอสอี (London School of Economics) เริ่มเข้าสู่เวทีการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย เธออยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน
ในระหว่างปี 2543-2547 ไช่เคยเดินทางลับ ๆ ไปสหรัฐฯ หลายครั้งเพื่อลดความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายที่มุ่งแต่จะเรียกร้องเอกราชของเฉิน ซึ่งขณะนั้นไช่ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรด้านสัมพันธภาพกับจีนแผ่นดินใหญ่
ต่อมา เธอได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยที่ซู เจิงชางเป็นนายกฯ