ค.ศ. 2011 ถือเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง หรือที่เรียกกันตามปีปฏิทินจีนว่า “การปฏิวัติซินไฮ่” (辛亥革命) โดยในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 นายทหารของราชวงศ์ชิงจำนวนหนึ่งได้ก่อการลุกฮือขึ้นที่เมืองอู่ชาง มณฑลหูเป่ย จนนำไปสู่การลุกฮือขึ้นแบบเดียวกันในมณฑลต่างๆ และมีการสถาปนา “สาธารณรัฐจีน” (中华民国) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ณ กรุงนานกิง โดยมี ดร. ซุนยัตเซ็น เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรก
การปฏิวัติซินไฮ่ถือได้ว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เพราะนอกจากจะปิดฉากการปกครอง 267 ปีของราชวงศ์ชิงที่สถาปนาโดยชนชาติแมนจูแล้ว ยังเป็นการปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีอีกด้วย และยังถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก เพราะสาธารณรัฐจีนเป็นสาธารณรัฐแห่งแรกในทวีปเอเชียที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยได้รับการรับรองจากนานาอารยประเทศ
แต่กระนั้น สาธารณรัฐจีนก็ใช่ว่าจะมีเสถียรภาพ และความมั่นคง เพราะในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1916 ถึง ค.ศ. 1928 ก็มีสงครามกลางเมืองระหว่างขุนศึก และต่อมาในทศวรรษ 1930 และ 1940 ก็มีสงครามกับญี่ปุ่น และสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคกั๋วหมินตั่ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเมื่อถึง ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตงเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ และประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (中华人民共和国) ณ กรุงปักกิ่ง ขณะที่เจียงไคเช็คได้นำพลพรรคกั๋วหมินตั่งย้ายที่มั่นไปยังกรุงไทเปบนเกาะไต้หวัน โดยที่ยังคงใช้ชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐจีน” เหมือนเมื่อครั้งที่ยังตั้งมั่นบนแผ่นดินใหญ่
แน่นอนว่า ในมุมมองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่ชื่อ “สาธารณรัฐจีน” ได้ล่มสลายไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1949 และรัฐบาลจีนที่ชอบธรรมนั้นมีเพียงรัฐบาลเดียว คือ รัฐบาลกรุงปักกิ่ง ส่วนเกาะไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะต้องกลับมารวมกับมาตุภูมิในที่สุด
แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศที่ชื่อว่า “สาธารณรัฐจีน” ก็ยังคงมีตัวตนอยู่ โดยมีรัฐบาล ดินแดน ประชากร และอธิปไตยเป็นของตนเอง และยังเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาจนถึง ค.ศ. 1971 ก่อนที่จะสูญเสียสมาชิกภาพให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่กระนั้น ในปัจจุบันก็ยังมีประเทศที่ให้การรับรองสาธารณรัฐจีนอยู่ราว 23 ประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ แม้จะรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน และยึดหลักการจีนเดียว แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันเป็นหน่วยการเมืองที่แยกเป็นเอกเทศจากแผ่นดินใหญ่
สิ่งที่เป็นปัจจัยท้าทายต่อสถานะของ “สาธารณรัฐจีน” บนเกาะไต้หวันหาใช่ปัจจัยที่มาจากภายนอก หากแต่เป็นปัจจัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสังคมของไต้หวันในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาเสียมากกว่า หลังการอสัญกรรมของประธานาธิบดีเจี่ยงจิงกั๋วแห่งพรรคกั๋วหมินตั่งใน ค.ศ. 1988 การเมืองไต้หวันได้เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่อำนาจเปลี่ยนมือจากนักการเมืองที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1949 มาสู่มือของนักการเมืองที่เกิดและเติบโตในไต้หวัน นักการเมืองกลุ่มนี้รวมทั้งคนไต้หวันรุ่นใหม่มีความผูกพันกับแผ่นดินใหญ่ และสำนึกของ “ความเป็นจีน” น้อยลง การสำรวจของมหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน (国立政治大学) เมื่อ ค.ศ. 2004 พบว่ามีประชาชนเพียงร้อยละ 6.1 ที่บอกว่าตนเองเป็น “จีน” (Chinese) ขณะที่ร้อยละ 43.7 บอกว่าตนเองเป็น “ไต้หวัน” (Taiwanese) และยังพบว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 2 ที่ต้องการรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วแห่งไต้หวันดูจะตระหนักดีถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังที่เขาได้เปลี่ยนคำขวัญของงานฉลอง 100 ปี การปฏิวัติซินไฮ่จากเดิมที่ว่า “สาธารณรัฐจีน สร้างชาติ 100 ปี” (中华民国, 建国一百) ไปเป็น “สาธารณรัฐจีน สง่างาม 100 ปี” (中华民国, 精彩一百) เพราะใน ค.ศ. 1911 ที่เกิดการปฏิวัตินั้น ไต้หวันยังมีสถานะเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (ค.ศ. 1895) จึงมิได้มีส่วนร่วมในทางตรงกับการก่อตั้งสาธารณรัฐจีนแต่อย่างใด ต้องรอจนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 ไต้หวันจึงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน
ในอนาคตอันใกล้นี้ การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สาธารณรัฐจีน” ไปเป็นอย่างอื่นคงยังไม่เกิดขึ้น เพราะการทำเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการประกาศเอกราชอย่างชัดแจ้ง และนำมาซึ่งการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน แต่กระนั้น คำว่า “สาธารณรัฐจีน” ก็คงจะมีความหมายและความสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ ในสายตาของชาวไต้หวันรุ่นใหม่
ชื่อของ “สาธารณรัฐจีน” จึงเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ในยามเย็น และกำลังจะลับขอบฟ้าไปในไม่ช้า
________________________________________________________________
(บทความโดย - สิทธิพล เครือรัฐติกาล โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)