เอเจนซี--ก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่กำลังเปิดหีบหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงวันเสาร์นี้(14ม.ค.)แล้ว ผู้นำชาติอมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา จะเชียร์ใครหรือ? ระหว่างประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคกั๋วมินตั๋ง หรือก๊กมินตั๋ง หรือผู้นำพรรคฝ่ายค้านไช่ อิงเหวิน แห่งพรรคประชาธิปไตยดีก้าวหน้า (ดีพีพี) ขณะที่ทั้งสองมีคะแนนนิยมสูสีแบบหายใจรดต้นคอกันทีเดียว แน่นอนไม่มีผู้นำรัฐคนไหนออกโรงบอกว่า อยากให้ใครเป็นประมุขเกาะซึ่งเป็นจุดร้อนของความขัดแย้งช่องแคบไต้หวัน แต่อาการหลายอย่างของวอชิงตันในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็ดูจะบ่งบอกว่า อยากให้หม่า อิงจิ่ว อยู่ในทำเนียบผู้นำในไทเปต่อไป
ผู้นำก๊กมินตั๋ง หม่า อิงจิ่ว กำลังเดินหน้ากระชับสัมพัธ์ที่หวานชื่นกับจีน ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้าน ไช่ อิงเหวิน มาจากดีพีพีซึ่งมีนโยบายสนับสนุนอิสรภาพไต้หวัน ดังนั้น ปักกิ่งก็ต้องแอบลุ้นหม่าแน่นอน และอาการของผู้นำในวอชิงตัน ก็สะท้อนว่าไม่ต้องการให้ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ลุกร้อนเป็นไฟขึ้นมาอีก
“ผมได้ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันมา 20 ปี และก็พบว่าผู้นำสหรัฐฯอยู่เฉยไม่ได้กับการเลือกตั้งครั้งนี้” Edward Chen I-hsin อาจารย์สอนเรื่องอเมริกาศึกษาใน Tamkang University กล่าว พร้อมชี้ว่า สหรัฐฯได้กระทำบางอย่าง เพื่อประกันว่า หม่า จะชนะการเลือกตั้งฯ
การเข้ามาแวะข้องกับศึกเลือกตั้งไต้หวันของสหรัฐฯปรากฏชัดเจน หลังจากที่สถาบันอเมริกันศึกษาในไต้หวันประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไต้หวันได้รับการเสนอชื่อในโครงการยกเว้นวีซ่าสหรัฐฯ (United States' visa-waiver programme) แต่รักษาการผู้อำนวยการารสถาบันฯ Eric Madison ก็ไม่ยอมรับว่าการประกาศฯนี้เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งประมุขเกาะไต้หวัน
แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ก็ชี้ว่า ไช่ ผู้นำพรรคดีพีพี ได้พยายามผลักดันการยกเว้นวีซ่ากับสหรัฐฯมาหลายปี แต่ก็ไม่เป็นผลเสียที
“การประกาศฯในช่วงจังหวะไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง หมายถึงว่าสหรัฐฯกำลังรับรองการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศแก่ไต้หวันแล้ว เป็นการช่วยหม่าและก๊กมินตั๋ง
“ดังนั้น เมื่อพวกเขาพูดว่าไม่ได้แทรกแซง ก็คือ การแทรกแซงนั่นเอง” ดร. June Teufel Dreyer อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี
นอกไปจากนี้ แต่ไหนแต่ไรมา ผู้นำจากสหรัฐฯไม่ค่อยมาปรากฏตัวในไต้หวัน เนื่องจากไม่อยากมีเรื่องวิวาทะกับจีน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้นำระดับรัฐมนตรีจากวอชิงตันมาเยือนไต้หวัน คือ Daniel Poneman ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน Poneman ได้ประชุมพูดคุยกับประธานาธิบดีหม่า และยังได้แถลงว่าวอชิงตันต้องการขยายคู่หุ้นส่วนทวิภาคีกับไต้หวัน ก่อนหน้าที่โพนแมนจะมาเยือน ก็ยังมีนายใหญ่ของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ดร. Rajiv Shah มาเยือนไทเป
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Arthur Waldron ผู้สอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเพนซิลล์วาเนีย ชี้ว่าการออกโรงแทรกแซงที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ รายงานคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในไฟแนนเชียลไทส์ม เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2554 โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกล่าวว่า ไช่ได้ออกจากสำนักงานของโอบามา ด้วย “ท่าทีวิตกอย่างเห็นได้ชัด” เกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบฯ
กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าสหรัฐฯได้บทเรียนจากอดีตประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน ซึ่งมักหาเรื่องให้ผู้นำในปักกิ่งโมโห ทำให้อุณหภูมิในอาณาบริเวณก็ร้อนระอุ โดยเคลื่อนไหวอิสรภาพไต้หวัน
แม้ว่าสหรัฐฯยืนยันเป็นเสาหลักปกป้องไต้หวันและขายอาวุธให้ไต้หวัน แต่ผู้นำในวอชิงตันก็ตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงผันผวนในการเมืองไต้หวัน จะนำไปสู่การเผชิญหน้าในช่องแคบฯ และขัดแย้งกับปักกิ่ง ที่มีแต่เปลืองตัวเปล่าๆ
กลุ่มนักวิเคราะห์มองว่าผู้นำอเมริกันกลัวว่าพญามังกรจะไม่ฟังคำเตือนจากสหรัฐฯ และลุยไต้หวัน หากผู้นำดีพีพีกลับมานั่งเก้าอี้ประมุขเกาะ และใช้มาตรการยั่วยุ.