xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์‘อียู-จีน’มาถึงช่วงเวลาสำคัญยิ่ง (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เคอร์รี บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

EU, China at moment of truth
By Kerry Brown
16/11/2011

ยุโรปที่ติดหนี้ติดสินรุงรัง กำลังต้องการจีนมาช่วยเหลือให้หลุดออกจากบ่วง ด้วยการเข้าลงทุนในยุโรป และเปิดตลาดแดนมังกรให้กว้างๆ ต้อนรับผลิตภัณฑ์ของยุโรป อย่างไรก็ดี รายการช็อปปิ้งของฝ่ายจีนเองกลับอยู่ในลักษณะอุดมคติน้อยกว่า, เรียบง่ายกว่า, และเป็นสิ่งที่สามารถผลิดอกออกผลได้ในระยะสั้นๆ การที่ปักกิ่งแสดงท่าทีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งกว่าและมุ่งหวังผลในทางปฏิบัติมากกว่าเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่ในขณะนี้มองเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

สำหรับสหภาพยุโรป (อียู) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาติสมาชิกอียูที่เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ด้วยแล้ว ระยะเวลา 3 เดือนหลังมานี้ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งการถูกทดสอบอย่างสุดหินชนิดไม่รู้จบรู้สิ้นเสียจริงๆ การประชุมซัมมิตฉุกเฉินครั้งแล้วครั้งเล่าถูกจัดขึ้นมาแทบจะไม่เว้นสัปดาห์ ตามนครต่างๆ ที่ถือเป็นภูมิประเทศแห่งอำนาจของอียู อันได้แก่ บรัสเซลส์, ปารีส, เบอร์ลิน, และโรม ความผันผวนวุ่นวายคราวนี้ยังประสบความสำเร็จในการทำให้ประธานคณะมนตรีแห่งยุโรป (European Council president) เฮอร์มานน์ ฟาน รอมปุย (Hermann Van Rompuy) ต้องยอมเลื่อนการเดินทางไปประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตระดับสูงที่จัดขึ้น 2 ปีครั้ง และในตอนต้นกำหนดวางแผนกันที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม

นับเป็นครั้งแรกที่การเลื่อนออกไปมิได้สืบเนื่องมาจากฝ่ายจีนโกรธกริ้วที่มีประมุขของรัฐสมาชิกอียูรายหนึ่งไปพบปะหารือกับองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต แบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2007 สำหรับในคราวนี้ ฟาน รอมปุย “ไม่สามารถเดินทางมาประเทศจีนได้ ... เพราะเขาจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการประชุมที่จัดกันขึ้นมาอย่างต่อเนื่องของอียู” มีรายงานข่าวว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีนได้รับแจ้งเรื่องการขอเลื่อนระหว่างการสนทนากันทางโทรศัพท์ เขาได้ตอบฟาน รอมปุย ดังนี้ “วิกฤตยูโรโซนไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาวะการฟื้นตัวอย่างไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางภูมิหลังที่ได้เกิดวิกฤตทางการเงินระหว่างประเทศขึ้นมา (เมื่อปี 2008) เท่านั้น หากแต่วิกฤตยูโรโซนยังเป็นผลลัพธ์ของการที่ปัญหาต่างๆ ภายในยูโรโซนเองได้เกิดการสั่งสมพอกพูนเป็นระยะยาวนานอีกด้วย”

วิกฤตยูโรโซนกำลังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหักเหอย่างรุนแรงในพลวัตเชิงอำนาจระหว่างอียูกับจีน นอกจากนั้นยังทำให้ฝ่ายจีนและฝ่ายอื่นๆ เกิดคำถามฉกรรจ์ๆ ขึ้นมาว่าอียูมีความสามัคคีเป็นเอกภาพกันหรือไม่ในการดำเนินการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ทางการเมือง แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยความสามัคคีดังกล่าวอย่างมากมายมหาศาลเหลือเกิน วิกฤตคราวนี้ยังทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนว่าจีนมีความคาดหมายอะไรใหม่ๆ จากยุโรป และในทางกลับกันก็ทำให้ฝ่ายยุโรปต้องขบคิดพิจารณาอย่างหนักว่า พวกเขาต้องการอะไรจากฝ่ายจีนแน่ๆ และพร้อมที่จะยอมจ่ายในราคาเท่าใดเพื่อให้ได้มา

สุดท้ายแล้ว วิกฤตคราวนี้ยังได้เผยให้เห็นความจำเป็นอันเร่งด่วนในการปฏิรูปเชิงสถาบันในยุโรป หลังจากที่ได้ถูกปกปิดอำพรางเรื่อยมาภายใต้ภาษาอันโอ่อ่าสูงสง่าของอียู เวลานี้ปักกิ่งดูเหมือนจะเกิดความรู้สึกว่า ตนเองสามารถวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างเปิดเผย สืบเนื่องจากมีหลักฐานชัดๆ ว่าโครงสร้างของอียูจำนวนมากประสบความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังแผ่ขยายออกไปกว้างขวางขึ้นทุกทีคราวนี้

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ บรรดาผู้นำของกลุ่ม จี-20 (จี-20 เป็ฯการรวมกลุ่มบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งที่เป็นพวกชาติพัฒนาแล้วและพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่) ได้ประชุมกันที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่จะประกาศการเดินหน้าอีกคำรบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤต อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ยากลำบากยังดูเหมือนไม่มีทีท่าจะยุติลง ก่อนหน้านั้น แผนการให้เงินกู้ช่วยเหลือไม่ให้ล้มละลายก้อนมหึมา (ซึ่งมุ่งหมายที่จะเอาไว้ใช้รับมือกับความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจกรีซ ตลอดจนภาวะไร้ความสามารถของประเทศนั้นในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้สินอันมากมายของตน) ที่ตกลงกันได้ในวันที่ 27 ตุลาคม ก็มีความสามารถสร้างความสงบขึ้นมาได้เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน จอร์จ ปาปันเดรอู (George Papandreou) นายกรัฐมนตรีของกรีซในขณะนั้น ได้ประกาศออกมาว่า เขากำลังจะจัดการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนผู้ออกเสียงชาวกรีกได้รับสิทธิที่จะอนุมัติ –หรือปฏิเสธ- เงื่อนไขต่างๆ ของแผนการเงินกู้ช่วยเหลือ ปรากฏว่าแผนการของเขาคราวนี้ ได้กลายเป็นการจับเอาทั้งยูโรโซน, ตลาดการเงิน, และคณะผู้นำทางการเมืองของอียู ตลอดจนบรรดารัฐสมาชิกอียู โยนลงสู่ความผันผวนวุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง มาถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปาปันเดรอูก็ต้องออกมาประกาศอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ยกเลิกการจัดลงประชามติเท่านั้น หากแต่การลาออกจากตำแหน่งของตัวเขาเองด้วย

สำหรับการตอบสนองของฝ่ายจีนต่อวิกฤตยูโรโซนคราวนี้ สามารถที่จะจำแนกออกได้เป็น 2 ระดับ ระดับแรกเป็นเรื่องของการยอมรับความจริงในเชิงปฏิบัติที่ว่า การมองเห็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของตน –ยอดปริมาณการค้าระหว่างกันในเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับ 49,400 ล้านดอลลาร์-- กำลังใกล้ที่จะล่มจมนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีอะไรเลย ในระดับนี้ พวกเจ้าหน้าที่จีนต่างออกมาแสดงความมั่นอกมั่นใจอย่างใหญ่โตว่าคณะผู้นำอียูสามารถที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน

เกา หู่เฉิง (Gao Hucheng) ผู้แทนการค้าระหว่างประเทศของจีน (China's International Trade Representative) แถลงว่า “จีนมีความมั่นใจว่ายุโรปนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตในปัจจุบัน” ขณะที่ หลิว เหว่ยหมิน (Liu Weimin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมากล่าวทำนองเดียวในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อเขาแถลงว่าจีนสนับสนุน “โรด แมป” (Road Map) เพื่อเสถียรภาพของเงินยูโร ตามที่ โชเซ มานูเอล บาร์โรโซ (Jose Manuel Barroso) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (president of the European Commission) ได้เสนอออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน

อย่างไรก็ตาม ในอีกระดับหนึ่ง ปักกิ่งตระหนักได้ดีว่านี่เป็นโอกาสอันงดงามที่จะบอกกล่าวแถลงไขความจริงสองสามประการในระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์กับหุ้นส่วนรายที่พวกเขาพบว่าบางครั้งบางคราวก็ชอบวางก้ามคุกคามในประเด็นทางหลักการ แต่ขณะเดียวกันก็ไร้ซึ่งความสามัคคีภายใน และทำตัวซับซ้อนเกินความจำเป็น ตัวนายกรัฐมนตรีเวินเองกล่าวย้ำว่า วิกฤตเงินยูโรคราวนี้สะท้อนให้เห็นถึง “การสั่งสมตัวในระยะยาวของปัญหาภายในด้านต่างๆ ทั้งภายในอียู และภายในยูโรโซน” ซึ่งจำเป็นที่จะต้อง “ทำการปฏิรูปทางการเงินในระดับพื้นฐาน นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการทางด้านให้เงินกู้ช่วยเหลือฉุกเฉินแล้ว”

เวินยังเพิ่มน้ำหนักให้แก่ประเด็นนี้ด้วยการประกาศว่า “จีนพร้อมอยู่แล้วที่จะปรับปรุงเพิ่มพูนการประสานงานและความร่วมมือกับอียู และร่วมส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก” ทว่า “ไม่ควรที่จะมองบรรดาชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณาพร้อมช่วยเหลือเกื้อกูลอียู โดยที่ในท้ายที่สุดแล้ว อียูนั่นแหละจะต้องเป็นผู้ที่ดึงตัวเองออกมาให้พ้นจากวิกฤต”

บทบรรณาธิการของสื่อจีนชิ้นที่ระบุถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีเวินดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวันเดียวกับที่พวกผู้นำยุโรปสามารถเข็นเอาข้อตกลงสร้างเสถียรภาพของพวกเขาออกมาจนได้ในที่สุด และก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เคลาส์ เรกลิง (Klaus Regling) ประธานผู้บริหารของกองทุนเสถียรภาพการเงินแห่งยุโรป (European Financial Stability Fund หรือ EFSF) กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปยังประเทศจีน ปัญหาระยะยาวต่างๆ ที่ฝ่ายจีนได้พบเห็นมาจากตลาดภายในที่ไร้เอกภาพภายในอียู, อัตราภาษีศุลกากรซึ่งฝ่ายจีนกล่าวหามานานแล้วว่าอยู่ในลักษณะลัทธิกีดกันการค้าและไม่เป็นธรรม, ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี, และการที่โดยภาพรวมแล้วยุโรปถูกมองว่าเชื่องช้าขาดเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดเหล่านี้ต่างก็ปรากฏออกมาเบื้องหน้าอีกคำรบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จีนมุ่งรวมศูนย์โฟกัสเจาะจงไปที่ประเด็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประเทศต่างๆ 81 ประเทศในโลกให้สิทธินี้แก่แดนมังกรเรียบร้อยแล้ว ทว่าสำหรับอียูแล้วจวบจนถึงเวลานี้ก็ยังคงปฏิเสธ ระหว่างที่เจ้าชายฟิลิปป์ (Prince Philippe) มกุฏราชกุมารแห่งเบลเยียม เสด็จเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีหวัง ฉีซาน (Wang Qishan) ได้ร้องเรียนว่า “จีนหวังว่าเบลเยียมจะแสดงอิทธิพลของตนเพื่อผลักดันให้จีนได้รับฐานะเต็มของการเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจแบบตลาด (จากอียู) กันตั้งแต่เนิ่นๆ” ประเด็นนี้ถือเป็น 1 ในประดาปัญหาอันใหญ่โตและยืดเยื้อมานานในความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีน เป็นประเด็นปัญหาซึ่ง (อย่างน้อยที่สุดในสายตาของฝ่ายจีน) จะสามารถทำหน้าที่เป็น “การแสดงท่าทีฉันมิตรต่อกัน” อย่างเหมาะเหม็ง และเป็นประเด็นปัญหาอันมีคุณค่าควรแก่การรื้อฟื้นหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในเวลานี้ ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ยุโรปกำลังอยู่ในจุดยืนที่อ่อนแอกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก

เคอร์รี บราวน์ เป็นหัวหน้าโครงการเอเชีย (Asia Program) ที่สถาบันแชตแธม เฮาส์ (Chatham House) และเป็นผู้นำของ เครือข่ายการวิจัยและการให้คำแนะนำว่าด้วยยุโรป-จีน (Europe China Research and Advice Network หรือ ECRAN) ดร.บราวน์ยังเป็นทำงานให้ สถาบันนโยบายจีน (China Policy Institute) แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) และศูนย์เพื่อการระหว่างประเทศศึกษาและการทูต (Centre for International Studies and Diplomacy) แห่งสถาบันตะวันออกศึกษาและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies) เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ลอนดอน, และ ลีดส์ และเคยทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศและกิจการเครือจักรภพของอังกฤษ (British Foreign and Commonwealth Office) ระหว่างปี 2000 – 2005 รวมทั้งในสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปักกิ่ง หนังสือที่เขาเขียนชื่อ Hu Jintao: China's Silent Leader กำหนดตีพิมพ์จำหน่ายในเดือนมีนาคม 2012
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น