xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: อิตาลี-กรีซ ผลัดใบผู้นำคนใหม่ หวังนายกฯ “เทคโนแครต” นำชาติพ้นวิกฤตหนี้สิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ดูเหมือนไม่มีประเทศไหนในยุโรปหลีกเลี่ยงผลกระทบระลอกนี้ได้ กรณีดังกล่าวทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดที่กลายเป็นชนวนความไม่พอใจจากภาคประชาชน โดยในบรรดาผู้ใช้เงินสกุลยูโร 17 ประเทศ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส เป็น 3 ประเทศที่ยอมรับสภาพและขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว ขณะที่ทุกสายตาจับจ้องสถานีต่อไปของวิกฤตยูโรโซน อิตาลี ชาติเศรษฐกิจอันดับ 8 ของโลก กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเดินย้ำรอยทางของกรีซมากที่สุด โดยแนวทางที่ทั้งกรีซและอิตาลีเดินเคียงกันไป ณ เวลานี้ คือ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หวังสร้างความเชื่อมั่น เพื่อหาทางปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านมาตรการตัดลดงบประมาณต่างๆ
ลูคัส ปาปาเดมอส อดีตรองประธานธนาคารกลางยุโรป หนึ่งเทคโนแครตผู้ขันอาสานำพาดินแดนเทพนิยายพ้นภัยหนี้สิน
ในการกอบกู้สถานการณ์ของกรีซ จอร์จ ปาปันเดรอู ได้กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อย โดยยื่นใบลาออกเมื่อวันพุธ ที่ 9 พฤศจิกายน ปูทางสำหรับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้สามารถผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มข้นยิ่งขึ้น แลกกับเงินช่วยเหลือก้อนต่อไปจากบรรดาเจ้าหนี้

รายจ่ายมหาศาลของภาครัฐประกอบกับค่าแรงที่พุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตามนโยบาย “ประชานิยม” ของพรรครัฐบาล ก่อตัวเป็นหนี้สาธารณะ 340,000 ล้านยูโร สำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 11 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้ว ประชาชนกรีซมีหนี้ติดตัวคนละ 31,000 ยูโร กระทั่งรัฐบาลของจอร์จ ปาปันเดรอู จนตรอก ต้องบากหน้าขอเงินช่วยเหลือซึ่งได้รับอนุมัติก้อนแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 มูลค่า 110,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังไม่สามารถพยุงให้กรีซยืนบนขาตัวเองได้ ก่อนมีการอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนที่ 2 อีก 109,000 ล้านยูโร เงินเหล่านี้จะแบ่งจ่ายตามการประเมินสถานการณ์และการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนด

ลูคัส ปาปาเดมอส ที่ปรึกษาของปาปันเดรอู เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไร้ข้อกังขา ด้วยภาพลักษณ์เทคโนแครตด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความนับหน้าถือตา ประกอบกับตำแหน่งรองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในอดีต ปาปาเดมอสจึงเป็นเสมือนความหวังสุดท้ายที่จะเข้ามาฉุดประเทศให้ลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง

เขาเคยนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติกรีซ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจของเอเธนส์เข้มแข็งพอที่จะร่วมสกุลยูโรเมื่อปี 2002 โดยทิ้งสกุลเงินดราชมา (drachma) ที่ใช้มาตั้งแต่โบราณกาลไว้เป็นเพียงอดีต อนึ่ง การเข้าร่วมยูโรโซนมีเงื่อนไขเข้มงวดมากมาย เช่น อัตราการขาดดุลงบประมาณ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ที่ต้องสอดคล้องกับชาติอื่นๆ ที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน เมื่อกรีซเข้าสู่ภาวะวิกฤต ลูคัส ปาปาเดมอส ก็สละตำแหน่งรองประธานธนาคารกลางยุโรปในปีที่แล้ว เพื่อเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของจอร์จ ปาปันเดรอู นำการเจรจากับไอเอ็มเอฟ อียู และอีซีบี จนกระทั่งกรีซได้อนุมัติเงินกู้ต่อลมหายใจ ตอนนี้ เขามีโอกาสได้นำความรู้ทางวิชาการแปรเป็นการปฏิบัติอย่างเต็มตัว ในฐานะผู้นำรัฐบาลกรุงเอเธนส์

ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีรัฐบาลสมานฉันท์ คือ การเรียกความเชื่อมั่นจากภาคสาธารณะให้เห็นพ้องกับมาตรการรัดเข็มขัดที่จำเป็นต้องประกาศออกมาเพิ่มเติม เพื่อควบคุมรายจ่ายของภาครัฐให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ (default)

ตั้งแต่ปี 2009 กรีซถูกหั่นเครดิตมาแล้ว 7 ครั้ง จากอันดับ A ลงมาจนถึง CC อันดับต่ำสุดของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ซึ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงสุดในโลก
มาริโอ มอนติ “ซูเปอร์มาริโอ” อดีตคณะกรรมาธิการยุโรป อีกหนึ่งเทคโนแครตผู้แบกรับหน้าที่กู้วิกฤตเศรษฐกิจเมืองมักกะโรนี
ด้านอิตาลี เรื่องฉาวโฉ่ต่างๆ นานาไม่เคยทำให้ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรี สะทกสะท้าน ทว่า ความอยู่รอดของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา มิหนำซ้ำยังมีสัดส่วนหนี้สาธารณะเป็นรองเพียงกรีซ ก็บีบบังคับให้แบร์ลุสโกนียอมลงจากเก้าอี้นายกฯ ขณะที่รัฐสภาผ่านแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ตัดลดรายจ่ายของภาครัฐ ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อัตราตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปี ถีบตัวขึ้นสูงเป็นประวัติกาล ก่อนแตะระดับ 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ กลายเป็นสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ซึ่งส่งผลให้อิตาลีต้องเร่งออกมาตรการรัดเข็มขัด โดยตั้งเป้าควบคุมการคลังให้กลับสู่เสถียรภาพภายในปี 2013 ทว่า ข้อวิตกสำคัญ คือ หนี้สาธารณะของกรุงโรมมูลค่า 1.9 ล้านล้านยูโร ซึ่งคิดเป็น 120 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หากเทียบในยูโรโซน หนี้อิตาลีมีสัดส่วนเป็นรองเพียงกรีซที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 180 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี

เมื่อปี 1995 อันดับความน่าเชื่อถือในพันธบัตรของอิตาลีเคยอยู่ในระดับ AAA ก่อนถูกหั่นเรตติ้งลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ A จากมุมมองของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส

ทันทีที่แบร์ลุสโกนียื่นจดหมายลาออก เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 13 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโน ก็แต่งตั้งให้มาริโอ มอนติ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคัดสรรรัฐมนตรีเข้าแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สิน มอนติมีภาพของเทคโนแครตเช่นเดียวกับลูคัส ปาปาเดมอส ผู้นำใหม่แกะกล่องของกรีซ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือ และมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในยูโรโซน

ก่อนหน้านี้ มาริโอ มอนติ เคยนั่งเก้าอี้คณะกรรมาธิการยุโรป และได้รับการกล่าวขานถึงในนาม “ซูเปอร์ มาริโอ” จากวีรกรรมการเข้าสอบสวนการควบรวมระหว่างบริษัท เจเนรัล อิเล็กทริก ที่มีกิจการทั้งด้านการเงิน, พลังงาน และเทคโนโลยี กับ บริษัทฮันนีย์เวลล์ เจ้าของธุรกิจด้านวิศวกรรมและอากาศยาน เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า ซึ่งเป็นผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำสั่งห้ามการควบรวมกิจการดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น เขายังผู้นำการสืบสวนคดีผูกขาดการค้าของบริษัทไมโครซอฟต์ที่ยึดครองตลาดซอฟต์แวร์วิดีโอ-ออดิโอ จนนำไปสู่การสั่งปรับเงินไมโครซอฟต์ มูลค่า 497 ล้านยูโร เมื่อปี 2004

ประธานสภาผู้แทนราษฎรอิตาลีให้คำนิยาม มาริโอ มอนติ ไว้ว่า “มีประสบการณ์กว้างขวางในยุโรป และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ชาวอิตาลีเคารพมากที่สุด”

*** เงื่อนไข 3 ประการ เพื่อความอยู่รอดของยูโรโซน ***

1) ธนาคารเจ้าหนี้กรีซ (ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสและเยอรมนี) ต้องยอมลดหนี้ให้กรุงเอเธนส์ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ และสามารถจัดการสัดส่วนหนี้ให้เหลือ 120 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีภายในปี 2020

2) ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มเงินเข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility) เป็น 1 ล้านล้านยูโร รองรับวิกฤตการณ์ในอนาคต

3) การเพิ่มเงินทุนให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านี้มีงบประมาณเพียงพอที่จะแก้ปัญหาการผิดชัดชำระหนี้ของประเทศต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น