xs
xsm
sm
md
lg

“ยุโรป” พ้นวิบัติอีกครั้ง สภาเยอรมนีรับรองแผนเพิ่มอำนาจกองทุนเงินกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีแองเจลา แมร์เคิล ถูกห้อมล้อมด้วยสมาชิกสภา หลังบรรดาส.ส.หนุนหลังเธอ ด้วยการออกเสียงอนุมัติการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกองทุนกู้ภัยยูโรโซนให้มีอำนาจเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น
เอเจนซี/เอเอฟพี - ยุโรปรอดพ้นจากความวิบัติอย่างหวุดหวิดอีกครั้งหนึ่งวันพฤหัสบดี (29) เมื่อสมาชิกสภาล่างของเยอรมนี พากันสนับสนุนนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล โดยออกเสียงอนุมัติการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกองทุนกู้ภัยยูโรโซนให้มีอำนาจเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น

แต่กระนั้นปัญหาท้าทายอันใหญ่โตยิ่งกว่าเสียอีกก็กำลังรอคอยยูโรโซนและตลาดการเงินอยู่ข้างหน้าแล้ว แถมยังกำลังเรียกร้องให้ต้องมีมาตรการรับมือคลี่คลายซึ่งใหญ่โตกว้างไกลมากขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตที่เริ่มต้นขึ้นในกรีซนี้ แผ่ขยายลามไปทั่วยุโรปหรือกระทั่งไกลยิ่งกว่านั้น

สมาชิกสภาบุนเดสตาก (สภาล่าง) ของเยอรมนี ลงคะแนนด้วยเสียงท่วมท้น 523 ต่อ 85 รับรองการให้อำนาจใหม่ๆ แก่กองทุนเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) เพื่อให้กองทุนที่มีมูลค่า 440,000 ล้านยูโรนี้ สามารถปล่อยเงินกู้ในลักษณะระวังป้องกันก่อนที่ปัญหาจะปะทุ, เข้าช่วยเหลือการเพิ่มทุนของพวกธนาคารต่างๆ ที่กำลังมีฐานะย่ำแย่จากการถือครองพันธบัตรของกรีซและชาติยูโรโซนที่อ่อนแอรายอื่นๆ, ตลอดจนสามารถเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศยูโรโซนที่ประสบความลำบาก ในตลาดรอง

ถึงแม้มีสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลที่ก่อกบฎออกเสียงคัดค้านเป็นจำนวน 15 คน ทว่า แมร์เคิลก็ยังคงได้เสียงโหวต 315 เสียงจากพวกพรรคร่วมรัฐบาลของเธอ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เธอไม่ต้องอับอายขายหน้า ด้วยการต้องขอพึ่งพาพวกพรรคฝ่ายค้าน เพื่อผลักดันให้แผนการนี้ผ่านออกไปได้

“ผลของการโหวตคราวนี้ คือการส่งสัญญาณอันแข็งแรงแสดงถึงการสนับสนุนยุโรป ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างกว้างขวางในสภาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เยอรมนีมีความยึดมั่นแน่นเหนียวต่อสกุลเงินยูโร และต่อการพิทักษ์ป้องกันสกุลเงินตรานี้ของเรา” เฮอร์มานน์ กรือเฮอ เลขาธิการพรรคคริสเตียน เดโมแครต ของแมร์เคิล กล่าวภายหลังการลงคะแนน

สิ่งที่ออกเสียงในบุนเดสตากคราวนี้ก็คือ การรับรองข้อตกลงวันที่ 21 กรกฎาคม ของพวกผู้นำชาติยูโรโซน ความตกลงในคราวนั้นมุ่งหมายที่จะแก้วิกฤตหนี้สินภาคสาธารณะของยูโรโซน ด้วยการจัดหาเงินกู้ช่วยไม่ให้ล้มละลายก้อนที่สองแก่กรีซ, กำหนดให้แบงก์ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซอยู่ส่วนหนึ่ง ต้องร่วมแบกรับภาระด้วยการยอมแลกตราสารหนี้ใหม่ ซึ่งเนื้อแท้แล้วก็คือการยอมลดภาระหนี้ให้กรีซเป็นบางส่วน, ตลอดจนทำให้เครื่องมืออย่างกองทุนอีเอฟเอสเอฟ มีสมรรถนะมากขึ้นในการป้องกันไม่ให้วิกฤตแผ่ขยายท่วมท้นพวกชาติอียูที่มีเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่าง สเปน และอิตาลี

ไม่น่าแปลกใจที่คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความยินดีที่เยอรมนีรับรองการเพิ่มอำนาจให้กองทุนอีเอฟเอสเอฟ และบอกด้วยว่า มีความเชื่อมั่นว่าชาติที่ใช้สกุลเงินยูโรทั้ง 17 รายจะกระทำกระบวนการให้สัตยาบันรับรองจนนี้จนครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม

จวบจนถึงขณะนี้มี 11 ประเทศยูโรโซนแล้วที่ให้การรับรอง สำหรับรายที่เหลืออยู่มีเพียง สโลวาเกีย เท่านั้น ที่เสียงต่อต้านในรัฐสภายังอุ่นหนาฝาคั่ง

อย่างไรก็ดี ในขณะที่มีความหวังกันเพิ่มขึ้นมากว่ามาตรการคราวนี้จะสามารถผ่านออกมาบังคับใช้ได้ แต่ความเป็นจริงอันโหดร้ายก็ปรากฏขึ้นมาด้วยว่า ข้อตกลงในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้อาจจะยังไม่เพียงพอรับมือวิกฤต ดังเห็นได้จากการที่ตลาดการเงินยังแสดงความไม่เชื่อมั่น จนทำให้การออกพันธบัตรรุ่นใหม่ๆ ของรัฐบาลสเปนและรัฐบาลอิตาลี ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพงลิ่วๆ บังคับให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องเข้าแทรกแซงในเดือนสิงหาคมด้วยการรับซื้อพันธบัตรของประเทศทั้งสอง นอกจากนั้น สถานการณ์ในชาติยูโรโซนที่โงนเงนก่อนเพื่อน นั่นคือ กรีซ ก็ยังอยู่ในอาการปั่นป่วนยุ่งเหยิง โดยที่กรีซไม่สามารถทำตามเป้าหมายการลดการขาดดุลที่ได้ให้สัญญาเอาไว้ ทำให้หลายๆ ฝ่ายต่างเล็งว่าในที่สุดแล้วกรีซคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการหยุดพักชำระหนี้ได้

“กำลังมีการตระหนักถึงความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่เคยสงวนท่าที ว่าแพกเกจมาตรการ 21 กรกฎาคม เป็นสงครามของเมื่อวานนี้ และเราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้ากันต่อไป” เจ้าหน้าที่อาวุโสของอียูผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์ โดยขอให้สงวนนาม

พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า ทั้งตลาดการเงินและมหาอำนาจภายนอกยุโรป อย่างเช่นสหรัฐฯ ต่างยังคงต้องการให้อียูจัดทำแผนการที่รอบด้านยิ่งกว่าในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขรับมือกับวิกฤตยูโรโซน ทั้งนี้ในทางเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่อียูก็มีการหารือดำเนินการในเรื่องนี้อยู่อย่างเงียบๆ แล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องการรอให้สภาเยอรมนีอนุมัติข้อตกลงเดือนกรกฎาคมไปเสียก่อน เพื่อไม่ให้สถานการณ์ยิ่งสับสนยุ่งเหยิง
กำลังโหลดความคิดเห็น