xs
xsm
sm
md
lg

EU-IMF กดดัน “กรีซ” รีบลดรายจ่าย - S&P หั่นเครดิตอิตาลีลงหนึ่งขั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี/เอเอฟพี - กระแสหวาดวิตกต่อวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนเพิ่มทวีขึ้น หลังจากที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทรงอิทธิพลของโลก ลงดาบหั่นเครดิตเรตติ้งตราสารหนี้ของรัฐบาลอิตาลีลงหนึ่งขั้น พร้อมกับคงภาพรวมทิศทางในอนาคตเป็น “ติดลบ (Negative)” สืบเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมักกะโรนีกำลังทรุดตัวลง อีกทั้งยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเข้ามาบั่นทอน ขณะเดียวกันสถานการณ์ในกรีซก็ยังไม่สู้ดี เมื่อสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมากดดันให้รัฐบาลเอเธนส์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ รีบลดรายจ่ายภาครัฐลงด่วนจี๋ ก่อนที่เงินในคลังจะร่อยหรอหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เมื่อวันจันทร์ (19) สถาบัน S&P ได้ตัดสินใจปรับลดเครดิตความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของรัฐบาลอิตาลีลงหนึ่งขั้นจากระดับ A+/A-1+ เป็น A/A-1 รวมทั้งยังคงภาพรวมแนวโน้มเป็น “ติดลบ” เช่นเดิม ทั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจอิตาลีกำลังเป็นที่น่าวิตก สืบเนื่องจากเกิดการชะลอตัวเสื่อมถอยลง นอกจากนี้ รัฐบาลแนวกลาง-ขวาของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ยังส่งสัญญาณด้วยว่าจะไม่สามารถแก้ไขจัดการกับวิกฤตการคลังภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“พวกเราเชื่อว่าการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิตาลีที่เป็นอยู่ในตอนนี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล” S&P กล่าวในคำแถลง

แหล่งข่าวในอิตาลีเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลโรมเตรียมจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในปี 2011 เหลือเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.1 เปอร์เซ็นต์ที่ทำนายไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2012 ว่าจะขยายตัวเหลือเพียง “1 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่านั้น”

ทั้งนี้ หลังจากที่อิตาลีถูกกดดันอย่างหนักให้ต้องลดภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล 1.9 ล้านล้านยูโรลง ทางรัฐบาลของแบร์ลุสโกนี ก็ได้ผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดมุ่งตัดลดรายจ่ายมูลค่า 59,800 ล้านยูโร จนผ่านรัฐสภาได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลโรมยังให้คำมั่นว่าจะทำให้งบประมาณรายรับ-รายจ่ายของประเทศมีความสมดุลภายในปี 2013 อีกด้วย

สำหรับสัดส่วนจำนวนหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินตราสกุลยูโร (ยูโรโซน) นั้น ถูกกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทว่า หนี้สินภาครัฐของอิตาลี ประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซนนี้ กลับมีสัดส่วนสูงถึง 120 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลแดนมะกะโรนีตั้งเป้าไว้ว่าจะลดระดับหนี้ลงเหลือ 119.4% ภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เวลานี้รัฐบาลผสมของแบร์ลุสโคนีกำลังเผชิญวิกฤตความยุ่งยากภายในอันเนื่องมาจากการต่อสู้ประจัญหน้าและความไม่ลงรอยในการกำหนดนโยบาย ขณะที่ตัวนายกฯ เองก็กำลังถูกมรสุมรุมเร้าอย่างหนักจากปัญหาข่าวอื้อฉาวที่ว่าเขาไปซื้อบริการทางเพศหญิงโสเภณีหลายครั้ง ซึ่งสั่นคลอนทั้งตัวรัฐบาล ตลอดจนทำลายความน่าเชื่อถือของแบร์ลุสโคนีอย่างร้ายแรง

ผลจากการที่ S&P ปรับลดเครดิตอิตาลีครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกวิตกกังวลในวิกฤตหนี้ยูโรโซนเพิ่มขึ้นไปอีก โดยฉุดให้ค่าเงินยูโรอ่อนยวบลงมากกว่าครึ่ง 1 เซ็นต์ เทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สองเจ้าหนี้รายใหญ่ของกรีซซึ่งออกมากดดันให้เอเธนส์รีบดำเนินการลดรายจ่ายภาครัฐนั้น ก็ยิ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลมากขึ้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอียู และไอเอ็มเอฟ ได้เรียกร้องในระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีคลัง อีวานเกลอส เวนิเซลอส ของรัฐบาลเอเธนส์ เมื่อวันจันทร์ว่า กรีซจำเป็นจะต้องลดรายจ่ายภาครัฐลงอย่างเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่รัฐบาลจะไม่เหลือเงินใช้จ่าย ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนของกองทุนไอเอ็มเอฟซึ่งอยู่ในกรีซได้เสนอแนะขั้นตอนที่รัฐบาลเอเธนส์จำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อแลกกับเงินกู้ช่วยเหลืองวดถัดไปมูลค่า 8,000 ล้านยูโร ซึ่งกรีซจำเป็นต้องได้มาเพื่อนำไปจ่ายเงินเดือนและบำนาญให้แก่ข้าราชการในเดือนหน้า

“ลูกบอลตอนนี้กระเด้งลงในคอร์ตของกรีซแล้ว การนำนโยบายไปปฏิบัติถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด” บ็อบ ทรา กล่าวในการแถลงข่าว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกระทรวงการคลังกรีซเปิดเผยว่า รัฐบาลเอเธนส์ใกล้ที่จะได้รับเงินกู้ก้อนนี้แล้ว หลังจากกรีซตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะระดมมาตรการรัดเข็มขัดชนิดเข้มงวดที่จำเป็นทุกอย่างมาบังคับใช้

ตามกำหนดการนั้น การพูดคุยระหว่างรัฐบาลกรีซกับเจ้าหน้าที่อียูและไอเอ็มเอฟ จะมีขึ้นอีกครั้งในวันอังคาร (20) หลังจากที่คณะผู้เชี่ยวชาญประชุมหารือกันแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น