xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิต จี-20 เปิดฉากที่ “ฝรั่งเศส” หนักใจปัญหาหนี้กรีซ-ยูโรโซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส จับมือให้การต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางมาถึงสถานที่จัดประชุมซัมมิต จี-20 ณ เมืองคานส์
เอเยนซี / เอเอฟพี - การประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 เปิดฉากขึ้น ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวานนี้ (3) โดยวาระสำคัญในการถกหารือ ก็คือ การแสวงหาแนวทางแก้ไขวิกฤตหนี้สินยูโรโซน โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดการเงินเพิ่งเกิดความปั่นป่วนระลอกใหม่ สืบเนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนกรณีที่รัฐบาลกรีซเตรียมจะจัดให้มีการลงประชามติเห็นชอบต่อแพกเกจเงินกู้ฉุกเฉินรอบใหม่จากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่รวม 20 ชาติ เดินทางมาร่วมประชุมกันอย่างครบครัน ในเมืองตากอากาศชื่อดังของแดนน้ำหอม เมื่อวานนี้ (3) ท่ามกลางบรรยากาศความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซน ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่ภาคธนาคารและสถาบันการเงิน

ก่อนหน้าการประชุมจะเริ่มต้นขึ้นหนึ่งวัน ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ได้ขอให้นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ เดินทางมาพบปะหารือกันฉุกเฉิน 3 ฝ่าย หลังจากผู้นำกรีซได้สร้างความตื่นตระหนกในตลาดเงินทั่วโลก จากการที่เขาประกาศเมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่า กรีซจะจัดให้มีการลงประชามติต่อแพกเกจเงินกู้ฉุกเฉินรอบที่ 2 ของอียูและไอเอ็มเอฟ ทั้งที่การเจรจาต่อรองเงื่อนไขอย่างยากลำบากระหว่างเจ้าหนี้เพิ่งบรรลุข้อสรุปไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

นอกจากนี้ ผู้นำกรีซ ยังส่งหนังสือถึงบรรดาผู้นำอียู เพื่อขอเปิดการเจรจาต่อรองในรายละเอียดเงื่อนไขของแพกเกจเงินกู้รอบสองนี้อีกครั้งก่อนหน้าการลงประชามติ ซึ่งคาดว่าน่าจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้บรรดาชาติยุโรปโกรธกริ้ว อีกทั้งยังทำให้พวกเขาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลเอเธนส์มากขึ้นด้วย

นายกรัฐมนตรี แมร์เคิล กล่าวหลังการหารือสามฝ่ายเมื่อวันพุธ (2) ว่า “พวกเราต้องการจะสร้างเสถียรภาพให้แก่ค่าเงินยูโรด้วยกันกับกรีซ มากกว่าที่จะทำมันโดยที่ปราศจากกรีซ”

ขณะที่ ซาร์โกซี ก็กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับผู้นำหญิงของเยอรมนี ว่า “เพื่อนชาวกรีกของพวกเราจำเป็นต้องตัดสินใจแล้วว่า พวกเขาต้องการจะเดินทางร่วมกับพวกเราต่อไปหรือไม่”

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังเตือนกรีซด้วยว่า พวกเขาจะไม่ได้รับเงิน “แม้แต่เซนต์เดียว” จากทั้งอียูและไอเอ็มเอฟ หากเอเธนส์ไม่ยอมปฏิบัติตามกรอบเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซาร์โกซี และ แมร์เคล เผยด้วยว่า ขุนคลังจากยูโรโซน หรือ กลุ่มประเทศที่ใช้เงินตราสกุลยูโรซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 17 ประเทศ จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันจันทร์หน้า (7) เพื่อเร่งหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับกองทุนช่วยเหลืออันเป็นเสมือนกำแพงปกป้องสมาชิกที่มีฐานะการคลังอ่อนแอ

ขณะเดียวกัน อียูและไอเอฟ ระบุในวันพุธ ว่า กรีซจะยังไม่ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินก้อนแรกงวดถัดไปเป็นจำนวน 8,000 ล้านยูโรภายในเดือนนี้ โดยที่อาจต้องรอไปจนกระทั่งผ่านพ้นการลงประชามติเสียก่อน เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้ต้องการให้แน่ใจก่อนว่ารัฐบาลเอเธนส์จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัด

แหล่งข่าวในอียู เปิดเผยด้วยว่า โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ส่งสารข้างต้นให้แก่นายกฯ ปาปันเดรอู ก่อนหน้าที่บาร์โรโซจะเดินทางถึงเมืองคานส์เพื่อเข้าร่วมประชุมซัมมิต จี-20

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องกรีซและวิกฤตหนี้ยูโรโซนซึ่งคาดว่าจะครอบงำการประชุมคราวนี้แล้ว สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งและสองของโลกก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องเร่งจัดระเบียบความเรียบร้อยภายในบ้านของตนเองเช่นกัน หลังจากที่รายแรกกำลังประสบปัญหาหนักเรื่องการขาดดุลงบประมาณและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่รายหลังกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง

สำหรับบรรยากาศอื่นๆ ก็ปรากฏว่า ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการประชุมจี-20 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น บรรดาผู้นำจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (บริกส์) ประกอบด้วย ประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ ของบราซิล, ประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย, นายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย, ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา แห่งจีน และประธานาธิบดี จาคอป ซูมา ของแอฟริกาใต้ ได้หารือร่วมกันนอกรอบที่โรงแรมคาร์ลตัน ในเมืองคานส์ เพื่อกำหนดจุดยืนร่วมกันก่อนการประชุมซัมมิตด้วย

ทั้งนี้ อียูพยายามตามจีบกลุ่มชาติบริกส์ซึ่งกำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก ให้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือขยับขยายฐานะของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) โดยหวังจะให้ประเทศเหล่านี้ซื้อพันธบัตรที่ตนออกมา เพื่อที่ว่าตนจะสามารถนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่ประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ประสบปัญหาด้านการคลังในอนาคตได้

ล่าสุด จีนแสดงท่าทีพร้อมจะให้ความช่วยเหลือยุโรปในเรื่องนี้ แต่ก็ยื่นเงื่อนไขว่า ยุโรปจะต้องรับประกันเสียก่อนว่าแนวทางแก้ไขปัญหาในกรีซจะได้ผล โดยหลี่ เต้าขุย หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เลอ ฟิเกโรของแดนน้ำหอมเมื่อวานนี้ (3) ว่า รัฐบาลจีนอาจซื้อบอนด์เป็นจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์ (73,000 ล้านยูโร)

ขณะที่บราซิลแสดงท่าทีก่อนหน้านี้ว่า ไม่ต้องการซื้อบอนด์ที่ออกให้โดยยุโรป ทว่า อาจจะมอบความช่วยเหลือผ่านทางกองทุนที่บริหารจัดการโดยไอเอ็มเอฟแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น