xs
xsm
sm
md
lg

คลังอียูได้ข้อสรุปเพิ่มทุนแบงก์ คาดบีบเอกชนลดหนี้กรีซ 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ถ่ายรูปร่วมกันก่อนเริ่มการประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ วันนี้ (23)
เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีคลังอียูร่างข้อตกลงเพิ่มทุนแบงก์ยุโรป โดยผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสแสดงความคาดหวังว่าจะสามารถผ่าทางตันวิกฤตยูโรโซนในซัมมิตกลางสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มว่านักลงทุนเอกชนอาจถูกบีบให้ลดหนี้ให้เอเธนส์เพิ่มเป็น 50%

หลังเจรจานาน 10 ชั่วโมงเมื่อวันเสาร์ (22) รัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู) สามารถฝ่าด่านการต้านทานของสเปน อิตาลี และโปรตุเกส โดยตกลงอัดฉีดเงินราว 100,000 ล้านยูโรให้แก่ธนาคารในยุโรปเพื่อปกป้องธนาคารเหล่านี้จากการคุกคามของการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่ปัญหาการเงินจะลุกลามสู่ประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน

เหล่ารัฐมนตรีส่งร่างข้อตกลงนี้เข้าสู่ที่ประชุมผู้นำอียูในวันถัดมา นั่นคือวันอาทิตย์ (23) เพื่อหารือแนวทางการแก้วิกฤตหนี้ที่ครอบคลุม ซึ่งต้องรวมถึงโปรแกรมความช่วยเหลือรอบสองแก่กรีซ การขยายกองทุนฟื้นฟูยูโรโซน และการเสริมฐานะเงินทุนของพวกแบงก์ยุโรป

แม้คาดว่าการประชุมซัมมิตในวันอาทิตย์ (23) จะไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา แต่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี เชื่อว่าพวกผู้นำเฉพาะของยูโรโซนที่กำหนดหารือซัมมิตกันอีกในวันพุธ (26) จะได้วิธีแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนและเด็ดขาด

ระหว่างการประชุมวันเสาร์ สำนักงานการธนาคารยุโรปแถลงต่อขุนคลังอียูว่า หากแบงก์ในภูมิภาคต้องเพิ่มสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเป็น 9% และหากลงบัญชีพันธบัตรคลังที่ถืออยู่ที่เป็นปัญหา ณ ราคาปัจจุบัน ระบบการธนาคารจะต้องการเงินอัดฉีด 110,000 ล้านยูโร

อิตาลี สเปน และโปรตุเกส ซึ่งเนื่องจากอันดับเครดิตเรตติ้งถูกลด และตลาดการเงินไม่ค่อยไว้ใจ จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงเพื่อระดมเงินมาเพิ่มทุนแบงก์ของตนเอง ดังนั้น พวกเขาจึงลังเลที่จะตกลงด้วยเพราะมองว่าทำให้ตนต้องรับผิดชอบมากกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนีที่จริงๆ แล้วคือผู้ที่ถือครองพันธบัตรคลังกรีซอยู่จำนวนมาก

แต่หลังถูกกดดันอย่างหนักจากสมาชิกอีก 24 ชาติ ในที่สุดที่ประชุมก็สามารถบรรลุร่างข้อตกลง กระนั้น ข้อเสนอที่ผู้นำอียูได้รับจากรัฐมนตรีคลังอาจไม่ได้ระบุตัวเลขในการเพิ่มทุน เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาผู้นำได้ต่อรองกันอีกรอบ

หากผู้นำอียูตกลงกันได้ในประเด็นนี้ภายใน 2-3 วันนี้จะถือเป็นก้าวย่างสำคัญของความพยายามในการควบคุมวิกฤตที่เรื้อรังมาเกือบสองปี และคุกคามเศรษฐกิจอียูและเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่หาข้อสรุปไม่ได้ และต้องเจรจากันอย่างเคร่งเครียดระหว่างวันอาทิตย์จนถึงวันพุธเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่จะโน้มน้าวตลาดการเงินและคู่ค้าสำคัญของอียูให้เชื่อว่า ยุโรปสามารถควบคุมวิกฤตไว้ได้แล้ว

ประเด็นที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ วิธีการที่ดีที่สุดในการขยายกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) มูลค่า 440,000 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว และเคยอัดฉีดเพื่อช่วยเหลือไอร์แลนด์และโปรตุเกส

ทั้งนี้ ตลาดการเงินไม่เชื่อว่าอีเอฟเอสเอฟมีขนาดใหญ่พอที่จะจัดการการคุกคามจากภาวะตลาดพันธบัตรคลังซบในสเปนและอิตาลี ดังนั้น บรรดาผู้นำจึงต้องศึกษาวิธีการเพิ่มศักยภาพของกองทุนโดยที่ประเทศของพวกตนไม่ต้องสมทบเพิ่ม

ข้อเสนอหนึ่งคือ ใช้อีเอฟเอสเอฟเพื่อรับประกันผู้ซื้อพันธบัตรคลังสเปน อิตาลี และประเทศอื่นที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน เพื่อโน้มน้าวนักลงทุนประเภทสถาบันว่าพันธบัตรของประเทศเหล่านี้ยังปลอดภัย

การรับประกันทำให้ต้องใช้เงินเพียงบางส่วน คือราว 20% ดังนั้นจึงทำให้อีเอฟเอสเอฟสามารถเข้ารับประกันพันธบัตรได้ถึง 5 เท่าตัวของกองทุนที่อีเอฟเอสเอฟมีอยู่

อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสและสมาชิกชาติอื่นๆ กลับเชื่อว่าวิธีการที่ดีกว่าคือ การเปลี่ยนอีเอฟเอสเอฟเป็นธนาคารเพื่อให้สามารถเข้าถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะอัดฉีดสภาพคล่องให้ได้แบบไม่จำกัด

เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และอีซีบีคัดค้านแนวคิดนี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าอาจละเมิดสนธิสัญญาหลายฉบับของอียู

ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ วิธีจัดการกับกรีซที่มีหนี้สินรุงรังและความพยายามแก้ไขเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้ประเทศนี้กลับไปสู่วิกฤตอีก

เอเธนส์ได้เงินช่วยเหลือก้อนแรกไปแล้ว 110,000 ล้านยูโรจากอียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และตอนนี้กำลังรอเงินช่วยเหลือรอบใหม่

วันที่ 21 กรกฎาคมมีการบรรลุข้อตกลงเชิงหลักการสำหรับเงินช่วยเหลือรอบสองนี้ โดยที่ผู้ถือพันธบัตรภาคเอกชนของกรีซสมัครใจลดหนี้ให้ 21% เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ของเอเธนส์ ขณะที่อีเอฟเอสเอฟและไอเอ็มเอฟตกลงอัดฉีดกรีซเพิ่มอีก 109,000 ล้านยูโร

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซที่เลวร้ายลง ยอดขาดดุลงบประมาณสูงกว่าเป้าหมาย และการเติบโตหดตัวรุนแรง ทำให้ต้องแก้ไขข้อตกลงดังกล่าว และมีแนวโน้มว่าภาคเอกชนอาจต้องลดหนี้ให้เอเธนส์ 50% ขณะที่ภาครัฐต้องสมทบทุนเพิ่ม

ความที่แบงก์ฝรั่งเศสอยู่ในหมู่ผู้ถือครองพันธบัตรกรีซรายใหญ่ ปารีสจึงลังเลที่จะผลักดันภาคเอกชนมากเกินไป แต่ต้องการให้ข้อตกลงนี้อิงกับความสมัครใจเช่นเดิม ที่สำคัญฝรั่งเศสกลัวว่าตนจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากแบงก์บางแห่งต้องขอให้รัฐช่วยอัดฉีดเงินทุนให้

แม้กรีซเป็นเพียงชาติสมาชิกที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่การหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นที่ยอมรับได้กลับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ภาคเอกชนที่มีอินสติติวท์ ออฟ อินเตอร์เนชันแนล ไฟแนนซ์ (ไอไอเอฟ) คัดค้านการทบทวนข้อตกลงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากกลัวว่าการลดหนี้เพิ่มจะบีบให้แบงก์บางแห่งขาดทุนอย่างหนัก

ชาร์ลส์ ดัลลารา กรรมการผู้จัดการไอไอเอฟที่เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีคลังอียูที่บรัสเซลส์ด้วย กล่าวว่านักลงทุนเอกชนยังเปิดกว้างในการค้นหาทางเลือกต่างๆ บนแนวทางของความสมัครใจที่อยู่บนแนวโน้มเศรษฐกิจที่เป็นจริงของกรีซ และการฟื้นฟูการเข้าถึงตลาดของกรีซ

ขณะที่เจนส์ ไวด์มานน์ ประธานบุนเดสแบงก์ แสดงความเห็นว่าการลดหนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ให้กรีซได้ ซ้ำยังอาจทำให้ความพยายามในการปรับโครงสร้างหย่อนยานลง และชักนำให้ประเทศอื่นเลียนแบบ กลายเป็นการกระตุ้นวิกฤตความเชื่อมั่นที่มีต่อความสามารถของภาครัฐในการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการช่วยประเทศที่มีหนี้ก้อนใหญ่ เพียงแต่ควรต่อเวลาสำหรับประเทศที่เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยวิธีการที่เด็ดขาด ปรับปรุงงบประมาณและศักยภาพการแข่งขัน กรณีกรีซนั้นต้องดำเนินการโปรแกรมที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้

ขณะเดียวกัน ผู้นำยูโรโซนกำลังเพิ่มความกดดันกับอิตาลีและสเปนให้พยายามควบคุมการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการเติบโต

ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสเปนและอิตาลีถูกดันขึ้นไปเกือบถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ต้นทุนการอัดฉีดการขาดดุลจึงพุ่งขึ้นอย่างมาก กลายเป็นปัญหาสภาพคล่องที่ยูโรโซนยากจะแก้ไขได้
กำลังโหลดความคิดเห็น