เอเจนซี - นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ ฝ่าฟันเสียงวิจารณ์จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของตนเมื่อวันพุธ(2) เพื่อเดินหน้าจัดทำประชามติรับรองมาตรการอัดฉีดจากต่างชาติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เอเธนส์จะต้องการเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ ขณะที่เย็นวันเดียวกัน ปาปันเดรอูได้หมายนัดด่วนจากผู้นำเยอรมนี-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแกนนำของยูโรโซน
ปาปันเดรอูกล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ใช้เวลายาวนานถึง 7 ชั่วโมงวานนี้ว่า การทำประชามติจะกลายเป็นอาณัติจากประชาชน อีกทั้งเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนทั้งสำหรับภายในและภายนอกประเทศกรีซ เกี่ยวกับเงื่อนไขของยุโรปและการมีส่วนร่วมของกรีซในระบบสกุลเงิน “ยูโร”
ขณะที่ เอเลียส มอสเซียลอตส์ โฆษกรัฐบาลกรีซ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด หลังจากที่ได้วางพื้นฐานข้อตกลงให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งด้วยความที่ยังต้องมีการตกลงกันในรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลง เจ้าหน้าที่รัฐบาลจึงเชื่อว่า การลงประชามติไม่มีแนวโน้มเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ แต่น่าจะเป็นกลางเดือนมกราคมมากกว่า
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวกรีกส่วนใหญ่คิดว่าข้อตกลงดังกล่าวเลวร้าย กระนั้น ขึ้นอยู่กับว่าปาปันเดรอูจะวางกรอบโครงการลงประชามติอย่างไร ทั้งในส่วนข้อตกลงรับความช่วยเหลือซึ่งรวมถึงมาตรการตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะตามมา ตลอดจนในเรื่องการเป็นสมาชิกยูโรโซนที่ชาวกรีซส่วนมากยังปรารถนาที่จะเข้าร่วมต่อไป
ทั้งนี้ อุปสรรคเฉพาะหน้าที่สุดสำหรับปาปันเดรอู ก็คือ การโหวตมติไว้วางใจในรัฐสภาในวันศุกร์ (4) ที่แองโจโลส์ โทลแคส โฆษกรัฐบาลอีกคนหนึ่ง เชื่อว่ารัฐบาลจะได้รับความเห็นชอบเพื่อเดินหน้าแผนการกู้ฟื้นประเทศ
มีรายงานว่า สมาชิกอาวุโส 6 คนของพรรครัฐบาล PASOK ไม่พอใจที่ปาปันเดรอูเปิดให้มีการลงประชามติมาตรการช่วยเหลือมูลค่า 130,000 ล้านยูโร โดยก่อนหน้านั้น ส.ส. PASOK คนหนึ่งได้ลาออกจากพรรค ทำให้เสียงข้างมากที่มีอยู่น้อยนิดของปาปันเดรอูคือ 152 จาก 300 เสียงในสภา ยิ่งหมิ่นเหม่ และส.ส. ฟากรัฐบาลหลายคนเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นเอกภาพ ด้วยการประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวเผยว่า ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีคราวนี้ มีรัฐมนตรีบางคนตั้งคำถามเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการลงประชามติ และวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่าง ที่แม้กระทั่งรัฐมนตรีคลังยังไม่รู้เรื่อง และหลายคนคัดค้านการทำประชามติอย่างเปิดเผย เนื่องจากเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสถานะสมาชิกภาพยูโรโซน อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้ว คณะรัฐมนตรีประกาศสนับสนุนแผนการทำประชามติของปาปันเดรอู
กระนั้น ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้นำกรีซจะต้องเผชิญหน้ากับประมุขฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ขอนัดพบฉุกเฉินที่เมืองคานส์, ประเทศฝรั่งเศส ก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ในวันที่ 3-4 เพื่อผลักดันให้ข้อตกลงช่วยเหลือบรรลุผลโดยเร็ว
อนึ่ง ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาอย่างไร การเดิมพันของปาปันเดรอูจะทำให้เกิดสภาพที่ไร้ความแน่นอนยาวนานหลายสัปดาห์ ในขณะที่ 17 ชาติในยูโรโซนต้องการช่วงเวลาแห่งความสงบ เพื่อดำเนินมาตรการเยียวยาตามที่ตกลงกันไว้สัปดาห์ที่แล้วเพื่อจัดการวิกฤตหนี้สาธารณะ
ความเคลื่อนไหวของปาปันเดรอูยังทำให้ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โคซี เจ้าภาพการประชุมซัมมิตจี 20 ที่กำลังพยายามโน้มน้าวตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่อย่างจีน ให้ร่วมอัดฉีดยูโรโซน เกิดความลำบากเพิ่มขึ้นอีก โดยผู้นำฝรั่งเศสวิจารณ์ว่าปาปันเดรอูทำทั้งยุโรปเซอร์ไพรส์
นอกจากนั้น การเปิดทำประชามติของกรีซอาจบ่อนทำลายการสนับสนุนทางการเมืองที่เสื่อมลงอยู่แล้วในยุโรปเหนือเพื่อให้ความช่วยเหลือกรีซ
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานรัฐมนตรีคลังยูโรโซน เตือนว่าเอเธนส์อาจล้มละลาย หากประชาชนคัดค้านแผนการช่วยเหลือ
ด้านวูล์ฟกัง ชาออยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี แสดงความเชื่อมั่นว่า ชาวกรีซจะสนับสนุนมาตรการปฏิรูปของรัฐบาลเพื่อให้ประเทศคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป
ความไม่มั่นใจในความสามารถของยุโรปในการจัดการวิกฤตหนี้ ทำให้ตลาดการเงินเกิดความปั่นป่วนขึ้นอีกรอบหนึ่ง โดยที่นักลงทุนพากันทิ้งสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและค่าเงินยูโรร่วงหนัก ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาบ้างเมื่อวันพุธ(2)
ทั้งนี้ กรีซมีกำหนดรับความช่วยเหลืองวดต่อไปของเงินกู้ก้อนแรกจากไอเอ็มเอฟ/อียูกลางเดือนนี้ แต่มีแนวโน้มว่าการพิจารณาจะยืดเยื้อออกไปจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่ากรีซจะเปิดทำประชามติ ดังนั้น ถ้าหากประชาชนชาวกรีกโหวตออกมาว่า “ไม่รับ” รัฐบาลกรีซในตอนนั้นก็อาจจะตกอยู่ในสภาพไม่มีเงินชำระหนี้’