xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เน้นดูแลเศรษฐกิจของตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China looks to its own
By Robert M Cutler
19/06/2012

ปักกิ่งกำลังแสดงท่าทีอย่างถนัดชัดเจน ณ การประชุมของกลุ่ม จี-20 ว่า ขณะที่ตนเองเตรียมตัวที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของแดนมังกรนั้น จุดโฟกัสในคราวนี้จะอยู่ที่ความจำเป็นภายในประเทศ ไม่ใช่ความจำเป็นของส่วนอื่นๆ ของโลก และอันที่จริงแม้กระทั่งการจำกัดวงเน้นหนักเพียงเท่านี้ ก็จัดว่าเป็นงานอันสาหัสสากรรจ์แล้ว

มอนทรีออล, แคนาดา–– นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน กำลังบอกกับบรรดาผู้นำคนอื่นๆ ณ การประชุมสุดยอดของกลุ่ม จี-20 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ที่เมืองโลส กาโบส (Los Cabos) อันอยู่ติ่งปลายใต้สุดของรัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย (Baja California) ประเทศเม็กซิโก ว่าพวกเขาจะต้องเป็นผู้หาทางส่ง “สัญญาณแห่งความเชื่อมั่น” ต่อตลาดการเงินทั่วโลก ท่าทีเช่นนี้แปลได้ว่า เหล่าผู้นำของชาติอื่นๆ ไม่ควรวาดหวังว่าแดนมังกรจะดำเนินมาตรการกระตุ้นการเจริญเติบโตอย่างใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งจะส่งผลเป็นการกอบกู้ช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นภัยไปด้วย เหมือนกับที่ปักกิ่งได้เคยกระทำมาในปี 2008

ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ก่อนหน้านี้ รองรัฐมนตรีคลัง จู กวงเย่า (Zhu Guangyao) ของจีน ก็ได้พูดเอาไว้ตั้งแต่ช่วงการเตรียมการก่อนจะเข้าสู่การประชุมสุดยอดคราวนี้ว่า จีน “มีความเชื่อมั่นศรัทธา” ใน “ยูโรโซนที่แข็งแรงและมั่งคั่งรุ่งเรือง” และ “เชื่อว่าอียูนั้นมีศักยภาพและมีสติปัญญาที่จะเอาชนะวิกฤตหนี้สินภาคสาธารณะได้สำเร็จ”

เป็นที่คาดหมายกันว่า เมื่อการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี-20 คราวนี้เสร็จสิ้นลงในเย็นวันอังคาร (19) ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับตอนเช้าวันพุธที่ 20 ตามเวลาในแถบเอเชีย) ก็จะมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของการประชุม อย่างไรก็ตาม บรรดา “เชอร์ปา” (Sherpa ชนเผ่าในเนปาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นลูกหาบของทีมนักปีนเขาพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ต่อมามีการนำคำนี้มาใช้ให้หมายถึงพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยเตรียมงานหรือคอยช่วยเหลือตัวแทนของรัฐบาลหรือผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม ในการประชุมต่างๆ –ผู้แปล) ของท่านผู้นำเหล่านี้ ยังกำลังเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับถ้อยคำที่ควรจะใช้ในแถลงการณ์ ขณะที่เหล่าเจ้านายของพวกเขากำลังล่องลอยอยู่ในห้องประชุม ทั้งนี้ ระหว่างช่วงเวลา 2 วันของการประชุมสุดยอดคราวนี้ เหล่าผู้นำทั้งหลายก็มีการหยิบยกจุดสำคัญๆ มาเจรจาหารือในระหว่างพวกเขากันเองเช่นกัน

กระนั้น ก็ดังที่ถ้อยแถลงของรองรัฐมนตรีจู พูดเอาไว้อย่างชัดเจน มาตรการกระตุ้นที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับส่วนกลางในกรุงปักกิ่งกำลังจัดทำออกมาจนเสร็จเรียบร้อยเพื่อใช้เดินหน้าดำเนินการกันต่อไปนั้น จะตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่กรอบโครงแห่งการดำเนินการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีนเอง

มาตรการเหล่านี้มีเจตนาออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ภายในประเทศ แทนที่จะจัดทำขึ้นมาเพื่อให้ส่งผลกระทบเชิงระบบต่อวิกฤตการเงินระหว่างประเทศโดยองค์รวม ถ้าหากความยากลำบากต่างๆ ที่เศรษฐกิจของต่างชาติกำลังเผชิญอยู่ เกิดได้รับการบรรเทาผ่อนคลายไปด้วย มันก็จะไม่ใช่ผลลัพธ์โดยตรงของแผนการเชิงยุทธศาสตร์อันผ่านการขบคิดพิจารณาอย่างรอบคอบมาล่วงหน้าก่อนแล้วแต่อย่างไร

ขณะเดียวกัน มาตรการต่างๆ เหล่านี้ในคราวนี้ ไม่มีอันไหนเลยที่จะมีขนาดใหญ่โตมหึมาทำนองเดียวกับของเมื่อ 4 ปีก่อน เวลานี้จีนไม่ได้มีช่องทางที่จะยักย้ายจัดกระบวนได้อย่างเหลือเฟือเหมือนก้บที่เคยทำได้ในตอนโน้น ภาวการณ์ทรุดตัวทางเศรษฐกิจของแดนมังกรในตอนแรกเคยคาดหมายกันว่าจะลงมาถึงจุดต่ำสุดได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทว่าเวลานี้กำลังถูกเลื่อนออกไปว่า อาจจะถึงจุดต่ำสุดกันได้ในไตรมาส 2

กระนั้นก็ตามที รายงานการสำรวจทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกของธนาคารโลก ซึ่งนำออกมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ ได้มีการระบุถึง “การชะลอตัวซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ (กำลังแสดงฤทธิ์เดชออกมาแล้ว) ในประเทศจีน” รวมทั้งยืนยันรับรองด้วยว่า ถึงแม้มีโอกาสความเป็นไปได้กว่ากันมากที่จะเกิดภาวะซอฟต์แลนดิ้ง (soft landing หมายถึงเศรษฐกิจถดถอยลงมาอย่างเป็นระเบียบไม่วุ่นวายโครมคราม -ผู้แปล) แต่กระนั้น ก็ยังคง “มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชะลอตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยคาดหมายกัน”

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานคำพูดของ เจิ้ง ซินหลี่ (Zheng Xinli) แห่งศูนย์จีนเพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (China Center for International Economic Exchanges) ซึ่งออกมากล่าวเตือนว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรในช่วงไตรมาส 1 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ปีนี้ “อาจจะตกลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 7%”

ข้อเท็จจริงที่ว่าการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏออกมาทีแรกสุดในสื่อมวลชนจีนที่เป็นเอดิชั่นภาษาต่างประเทศนั้น บางทีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสารสนเทศแบบมุ่งการร่วมมือประสานงาน ซึ่งใช้กันอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด จี-20 ที่เม็กซิโก แต่กระนั้น จู เป่าเหลียง (Zhu Baoliang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งศูนย์สารสนเทศแห่งรัฐ (State Information Center) ยังคงแสดงความคาดหมายอย่างไม่มีความสดใสว่า เศรษฐกิจจีนในรอบไตรมาส 2 ของปีนี้จะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 7.5% ในเวลาเดียวกัน เผิง เหวินเซิง (Peng Wensheng) แห่ง ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป (China International Capital Corp) ที่เป็นวาณิชธนกิจแห่งหลักของประเทศ ทำนายตัวเลขไตรมาส 2 นี้เอาไว้ต่ำกว่านั้นอีก นั่นคือที่ 7.3%

ภายหลังจากเติบโตขยายตัวไปได้อย่างไม่หวือหวาอะไรนักในเดือนเมษายน และอยู่ในอาการแปรปรวนไม่แน่นอนในเดือนพฤษภาคม ผลประกอบการทางเศรษฐกิจของจีนเดือนมิถุนายน จึงถูกจับตามองอย่างมากมายเป็นพิเศษ สำหรับเดือนพฤษภาคมนั้น ความอ่อนแอของเศรษฐกิจยังไม่ได้ออกมาในทางเลวร้ายหนักแบบที่คิดกลัวกันไปล่วงหน้า ขณะที่ข้อมูลสถิติของการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ในประเทศจีน ซึ่งประกาศออกมาโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็อยู่ในลักษณะที่มีการขัดแย้งกันเองตามแบบฉบับของตัวเลขในเดือนพฤษภาคมนี้เหมือนกัน

กล่าวคือ เมื่อมองภาพรวมตลอด 5 เดือนแรกของปี 2012 ปรากฏว่า FDI ที่ไหลเข้าสู่จีนอยู่ที่ 47,100 ล้านดอลลาร์ ลดต่ำลง 1.9% หากเปรียบเทียบกับระยะเดือนมกราคม-พฤษภาคมของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ตัวเลข 9,200 ล้านดอลลาร์ที่เข้ามาเฉพาะในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กลับสูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ทำได้ในเดือนพฤษภาคม 2011 อีกทั้งเดือนพฤษภาคมยังถือเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่ FDI เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

สำหรับตลอดทั้งปีปฏิทิน 2011 FDI ที่ไหลเข้าสู่จีนได้พุ่งแรงสร้างสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 116,000 ล้านดอลลาร์ กระทรวงพาณิชย์นั้นตั้งเป้าที่จะให้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยที่จะให้คงเป้าหมายนี้ในอีก 3 ปีต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กับ FDI ก็คือ ควรต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่า มูลค่าการส่งออกโดยรวมของจีนนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า FDI มากมายนัก เปรียบเทียบตัวเลขกันแล้วก็สูงกว่า 16 เท่าทีเดียว

เวลานี้กำลังมีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารของจีน (China Banking Regulatory Commission) ให้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ข้อกำหนดในการที่ธนาคารจะปล่อยกู้ให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งรวมไปถึงพวกแฟลตราคาถูกและมีขนาดเล็ก) และการที่ธนาคารจะเข้าทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินให้แก่พวกรัฐบาลระดับท้องถิ่นซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีประวัติการชำระคืนที่น่าเชื่อถือ

ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นกำลังประสบภาวะชะลอตัว รวมทั้งเผชิญภาวะระดับราคาลดต่ำลง ขณะที่พวกรัฐบาลท้องถิ่นก็ต้องการให้ต่ออายุเงินกู้จะได้ยืดกำหนดเวลาชำระหนี้คืนออกไปในอนาคต ถ้าหากมีการเดินหน้าดำเนินตามนโยบายนี้ ก็ดูจะสอดคล้องตรงกันกับเป้าหมายของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนตั้งเอาไว้ นั่นคือมุ่งไปที่ตลาดภายในประเทศ, มุ่งไปที่พวกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน, และมุ่งไปที่พวกสินค้าหลักสำหรับผู้บริโภค

“ถ้าหากไม่มีการฟื้นตัวในเรื่องสินเชื่อแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถกระเตื้องขึ้นมาอย่างสำคัญ” ชาร์ลีน ชู (Charlene Chu) หัวหน้าแผนกเรตติ้งจีน แห่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิตช์ (Fitch) ให้ความเห็น ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ (China Daily) ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ หน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนก็ได้ประกาศเลื่อนเวลาบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับอัตราส่วนเงินทุนของพวกธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีความเข้มงวดยิ่งกว่าเดิม โดยกำหนดเวลาใหม่จะเป็นต้นปี 2013 ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรับประกันว่าพวกผู้ปล่อยกู้เหล่านี้จะยังมีสภาพคล่อง และการชะลอออกไปก่อนคราวนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ทางด้านหนังสือพิมพ์ ทะเวนตี้เฟิร์สต์ เซนจูรี บิสซิเนส เฮรัลด์ (21st Century Business Herald) รายงานข่าวว่า คณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารของจีน จะส่งเสริมสนับสนุนให้พวกธนาคารปล่อยกู้เป็นพิเศษแก่โครงการทางรถไฟและถนน รายงานกล่าวด้วยว่าอุปสรรคเพียงประการเดียวที่ยังขัดขวางไม่ให้มีการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ ก็คือจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกันในทางการเมืองแล้ว กรณีของป๋อ ซีไหล ที่ตกกระป๋องถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง ได้สร้างความยุ่งเหยิงเป็นอันมากให้แก่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่คณะผู้นำทางการเมืองชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นตอนปลายปีนี้ หลังจากที่เคยคาดหวังกันเอาไว้ว่าจะต้องพยายามทำให้การถ่ายโอนดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่น แล้วมาถึงตอนนี้พวกผู้นำรุ่นเก่าก็ยังดูจะตกลงภายในหมู่พวกเขากันเองไม่ได้ เกี่ยวกับฝีก้าวที่เหมาะสมในการดำเนินการปฏิรูป

ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น