xs
xsm
sm
md
lg

Focus: 10 ปีที่ถูกรุกราน-ขับไล่ “ตอลิบาน” กำลังปรับตัว-รอคอยอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักรบตอลิบานในจังหวัดวอร์ดัค หนึ่งในพื้นที่อิทธิพลของตอลิบาน ภาพนี้บันทึกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2008 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - 10 ปีให้หลังการรุกรานและขับไล่ของทัพสหรัฐฯ ตอลิบานได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากมุสลิมที่เหนียมอายต่อการออกสื่อ กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และอาจกลับมายึดอำนาจปกครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง หลังทหารต่างชาติกว่าแสนนายถอนทัพกลับประเทศ

ไม่กี่สัปดาห์หลังทัพต่างชาติเปิดฉากสงครามในวันที่ 7 ตุลาคม 2001 ตอลิบานก็ล่าถอยไปยังปากีสถาน ทหารชาติตะวันตกต่างมองตอลิบาน ว่า เป็นเพียงกลุ่มก้อนที่ง่อยเปลี้ยเสียขาไปแล้ว ทว่า ตอลิบานได้สร้างฐานอำนาจใหม่ จนนำไปสู่เหตุร้ายรุนแรงขึ้นทุกขณะ ด้วยนักรบรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ต้องการขับไล่ทหารต่างชาติ 140,000 นาย ออกจากมาตุภูมิ

มุลเลาะห์ นอร์-อุล อะซิซ เป็นแกนนำตอลิบานอาวุโสที่สุดที่แปรพักตร์มาเข้ากับรัฐบาล เขาเคยเป็นหัวหน้านักรบที่มีกำลังพล 300 คน ประจำการในจังหวัดเฮลมานด์

“ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักรบรุ่นเก่า ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักรบหน้าใหม่ทั้งหมด” มุลเลาะห์ นอร์-อุล อะซิซ เปิดเผยกับเอเอฟพี “นักรบรุ่นใหม่จำนวนมากเข้ากับตอลิบาน เพราะการปกครองของรัฐบาล เพราะการเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ด้วยน้ำมือทหารต่างชาติ”

กลุ่มนักรบตอลิบานรุ่นใหม่เหล่านี้มีความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นเดียวกับมุสลิมหัวรุนแรงรุ่นใหญ่ แต่มุมมองต่อการใช้สื่อของพวกเขาไม่เข้มข้นเท่าในอดีต ช่วงครองอำนาจระหว่างปี 1996-2001 ตอลิบานห้ามประชาชนดูโทรทัศน์ ขณะที่นักรบรุ่นใหม่ได้รับแรงจูงใจจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อ อาทิ วิดีโอบนโลกอินเตอร์เน็ต ทั้งการโจมตีทหารชาติตะวันตก หรือการตัดศีรษะ
เว็บไซต์ “Voice of Jihad” ของตอลิบาน
อาห์เหม็ด ซอเยดี นักวิเคราะห์อัฟกานิสถาน แสดงทรรศนะไว้ว่า “กลุ่มเยาวชนพวกนี้ก็มีแนวคิดหัวรุนแรงพอๆ กับรุ่นเก่า แต่พวกเขาเป็นกลุ่มหัวรุนแรงในยุคอินเตอร์เน็ต” ตัวอย่าง เช่น ตอลิบานใช้ทวิตเตอร์ และโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ เพื่อติดต่อกับสื่อมวลชนสำนักต่างๆ รวมทั้ง “Voice of Jihad” เว็บไซต์ตอลิบานที่มีตัวเลือกเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ซอเยดี ยังมองว่า ตอลิบานอาจยอมลดราวาศอกความเข้มงวดลง โดยหวังให้ชาวอัฟกันหันมาสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความยึดมั่นในศาสนาชนิดสุดโต่งจะเปลี่ยนแปลงไป “พวกเขาอ่อนข้อลง พวกเขาไม่ดุด่าคุณที่ไม่ไว้หนวดเครา พวกเขาไม่สนว่าคุณแต่งตัวอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีการรบของตอลิบานก็เปลี่ยนไปเช่นกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมมา

ความรุนแรงกลับมาระอุดุเดือดอีกครั้งช่วงปลายปี 2007-2008 หลังจากตอลิบานล่าถอยไปยังชายแดนปากีสถาน และสร้างขุมกำลังขึ้นมาใหม่ ขณะที่ชาติตะวันตกกำลังเบนความสนใจไปยังการยึดครองอิรัก

ตอลิบานหันมาเน้นการลอบสังหารเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิธีระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งก็มีพลเรือนอัฟกันตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

พลจัตวา คาร์สเตน จาคอปสัน โฆษกกองกำลังนาโต กล่าวว่า “(ปีนี้) เรายังไม่เห็นตอลิบานออกมาสู้กับเราในสนามรบ ... พวกเขากำลังสู้กับประชาชนอัฟกัน”

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ตอลิบานจะหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง หลังจากทหารต่างชาติถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน ภายในสิ้นปี 2014
กำลังโหลดความคิดเห็น