ASTV สุดสัปดาห์ - ขณะที่สหรัฐฯ และทั่วโลกเพิ่งจะร่วมรำลึกวันครบรอบ 10 ปีเหตุวินาศกรรม 11 กันยายนผ่านพ้นไปได้เพียง 2 วัน ก็เกิดเหตุการณ์โจมตีโดยกลุ่มคนร้าย ที่สังกัดอยู่ในเครือข่ายซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ตอลิบาน” กลางกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ยาวนานที่สุด และบ้าบิ่นที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่ระบอบปกครองตอลิบานถูกขับออกจากอำนาจ และยังถือว่าเป็นการโจมตีที่ร้ายแรงที่สุดเป็นลำดับ 3 ที่เกิดขึ้นกับเมืองหลวงแห่งนี้ นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อคนร้าย 6 คนแต่งกายในชุดคลุมยาวของหญิงสาวชาวมุสลิม หรือบุรกา ที่เปิดให้เห็นแต่ดวงตา บุกเข้าไปยึดอาคารสูง 13 ชั้นหลังหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นที่มั่นในการก่อเหตุ พร้อมอาวุธหนักครบมือ ไม่ว่าจะเป็นจรวดอาร์พีจี ปืนอาก้า เข็มขัดระเบิดฆ่าตัวตาย และระเบิดอีกเต็มคันรถ โดยเริ่มเปิดฉากโจมตี ระดมยิงใส่สถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ตลอดจนกองบัญชาการของกองทหารต่างชาติ ที่นำโดยนาโต ในช่วงประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันอังคาร (13)
ขณะที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน ซึ่งมีนาโต้คอยให้การสนับสนุน พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์โจมตีหลายลำ ได้ปฏิบัติการไล่ล่ากลุ่มคนร้ายไปทีละชั้นในอาคารดังกล่าว โดยมือปืนเหล่านั้นพากันซ่อนตัวตามช่องลิฟต์ และห้องเล็กๆ ที่ซับซ้อนสับสน โดยเหมือนว่าพวกเขาจะวางระเบิดกับดักเอาไว้หลายจุดด้วย ซึ่งกว่าที่กองกำลังของอัฟกานิสถาน และชาติตะวันตกจะสามารถยุติการยิงถล่มย่านสำนักงานทูตานุทูตในกรุงคาบูลแบบมาราธอน โดยคนร้ายกลุ่มนี้ได้นั้น ต้องกินเวลานานถึงเกือบ 20 ชั่วโมงทีเดียว แม้จะปลิดชีพมือปืนไดัทั้งหมด แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจคือ มีพลเรือนไม่ต่ำกว่า 11 คน และตำรวจ 3 นายต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์นองเลือดนี้ด้วย และยังคาดว่าตัวเลขเหยื่อของความรุนแรงน่าจะสูงขึ้นอีก
สำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีอย่างอุกอาจบ้าระห่ำครั้งนี้ หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูต ไรอัน คร็อกเกอร์ ของสหรัฐฯ หรือแม้แต่กระทรวงมหาดไทยของอัฟกานิสถานเองก็เชื่อว่าคือ เครือข่ายฮักกอนี ในสังกัดตอลิบาน โดยน่าจะเป็นกลุ่มที่รับผิดชอบต่อการโจมตีครั้งใหญ่ที่ผ่านมาอีกหลายครั้ง เช่น เหตุบุกถล่มโรงแรมชื่อดังในกรุงคาบูลเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้มีทั้งพลเรือน นายตำรวจ และชาวต่างชาติเสียชีวิตรวม 10 คน การลอบสังหารประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซของอัฟกานิสถาน การระเบิดฆ่าตัวตายที่สถานทูตอินเดีย ตลอดจนเหตุคาร์บอมบ์ที่ทำให้ทหารอเมริกันบาดเจ็บ 77 นายเมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา
เครือข่ายฮักกอนี ซึ่งตั้งตามชื่อผู้นำคือ จาลาลุดดีน ฮักกอนี นี้ เป็น 1 ใน 3 เครือข่ายสำคัญ และบางทีอาจเป็นเครือข่ายที่น่าเกรงขามมากที่สุดของตอลิบาน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตวาซีรีสถานเหนือของปากีสถาน และเป็นต้นตอใหญ่ของความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างวอชิงตัน และอิสลามาบัด นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าฮักกอนีเป็นพวกที่นำวิธีระเบิดฆ่าตัวตายเข้ามาใช้ในอัฟกานิสถานด้วย
จาลาลุดดีนมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้บัญชาการนับรบมูจาฮีดีนในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่ช่วงปี 1980 ทั้งความกล้าหาญ และความสามารถในการควบคุมดูแลเหล่านักต่อสู้ของเขาทำให้เขาได้รับเงินทุน และอาวุธสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และปากีสถาน รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ทว่า เมื่อสหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานเพื่อโค่นรัฐบาลตอลิบานในปี 2001 เขาจึงหันปลายปืนไปสู้รบกับกองกำลังชาติตะวันตกแทน นั่นทำให้ชื่อเขาถูกขึ้นบัญชีดำของซีไอเอในอันดับต้นๆ ไปพร้อมกับเพื่อนเก่าอย่าง อุซามะห์ บิน ลาดิน และแม้ว่าในปัจจุบันเขาจะมีอายุล่วงเข้าวัย 70 ปีแล้ว ซ้ำยังมีปัญหาสุขภาพอีก ทว่า เขายังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักรบของฮักกอนีร่วม 4,000 ชีวิต เช่นเดียวกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่เคารพนับถือเขาเป็นไอดอล ขณะที่ สิรัจ ลูกชายของเขา ซึ่งมีนิสัยโหดเหี้ยมกว่า เป็นผู้ดำเนินกิจการประจำวันของเครือข่ายแทน
สถานการณ์ความรุนแรงในอัฟกานิสถานนั้นมาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดแล้ว นับตั้งแต่กองกำลังอัฟกัน ซึ่งมีสหรัฐฯ หนุนหลังโค่นล้มรัฐบาลตอลิบานในปี 2001 โดยมีตัวเลขการเสียชีวิตของทหารต่างชาติ และพลเรือนอัฟกันสูงเป็นประวัติการณ์ บวกกับจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยิงจรวดถล่มสำนักงานการทูตของชาติตะวันตกครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบภายในประเทศ และย้ำเตือนว่าพวกเขามีทรัพยากร และแผ่อิทธิพลบารมีไปได้กว้างไกล ในขณะที่กองกำลังนานาชาตินำโดยสหรัฐฯ เริ่มทยอยถอนทัพกลับบ้านกัน และยิ่งไปกว่านั้น วุฒิสภาสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะเห็นชอบการตัดลดงบประมาณให้ความช่วยเหลือกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถานลง 1,600 ล้านดอลลาร์ โดยจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และติดอาวุธให้กับกองทัพ และนายตำรวจของอัฟกานิสถานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จึงไม่พ้นคำถามที่ใครๆ ต่างต้องคลางแคลงสงสัยถึงความพร้อม และความสามารถในการดูแลความสงบเรียบร้อย และการปกป้องประเทศโดยกองกำลังของอัฟกานิสถานเอง รวมถึงความเป็นไปได้ที่กองกำลังเสริมของชาติตะวันตกอาจต้องขยายเวลาประจำการอยู่ในประเทศนี้ต่อจากเส้นตายภายในสิ้นปี 2014.