เอเอฟพี - การก่อความไม่สงบกลางเมืองหลวงอัฟกานิสถานอาจสร้างความเสียหายไม่มากนัก แต่ถือเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของตอลิบาน ซึ่งแสดงให้ประจักษ์อีกครั้งว่าสามารถก่อเหตุร้ายได้ตามอำเภอใจ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถาน ดูแคลนการโจมตีกรุงคาบูล เมื่อวันอังคาร (13) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 15 ราย ทหารนานาชาติบาดเจ็บ 6 นาย ว่า “ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย” แม้กองกำลังความมั่นคงต้องใช้เวลานานกว่า 19 ชั่วโมง ในการระงับเหตุดังกล่าว
ทว่า โจชัว เฟาสต์ จากโครงการอเมริกัน โซไซตี วิเคราะห์สถานการณ์นี้ว่าเป็น “หายนะ” ต่อสภาพจิตใจของกองกำลังนาโตและอัฟกานิสถาน
เฟาส์เขียนบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าว “เรจิสถานดอตเน็ต” (Registan.net) แสดงความเห็นไว้ว่าเหตุร้ายที่ดึงกรุงคาบูลกลับสู่ความโกลาหลนี้เป็นสัญญาณล่าสุด ซึ่งแสดงว่าทหารอัฟกันและกองกำลังนานาชาติ “หมดปัญญาตอบโต้การก่อความไม่สงบที่เจตนาคุกคามเมืองหลวง”
สำหรับกลุ่มตอลิบาน “ปฏิบัติการครั้งนี้อาจล้มเหลว แต่ประสบความสำเร็จในด้านการสื่อสารและทางยุทธศาสตร์” แหล่งข่าวภายในทัพทหารตะวันตกเปิดเผยกับเอเอฟพี “จุดประสงค์การก่อเหตุครั้งนี้ คือ การแสดงอำนาจ ... และประกาศว่าไม่มีพื้นที่ใดในอัฟกานิสถานที่อยู่นอกเหนือระยะทำการ (ของตอลิบาน)”
ปีนี้ อัฟกานิสถานเกิดเหตุความไม่สงบครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ทั้งการระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณศูนย์บริติช เคาน์ซิล เมื่อเดือนสิงหาคม และการบุกโจมตีโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อเดือนมิถุนายน
โจชัว เฟาสต์ ระบุว่าตั้งแต่เริ่มปี 2011 “การก่อเหตุในกรุงคาบูลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กินระยะเวลานานขึ้น แสดงถึงการพัฒนาข่าวกรองและยุทธวิธีในการก่อความไม่สงบ” ยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีของตอลิบานเสมือนเป็น “การส่งข้อความถึงคนอัฟกันว่า คุณไม่มีความปลอดภัย คุณไม่มีความมั่นคง และพวกตะวันตกปกป้องคุณไม่ได้”
นอกจากนี้ มีความสงสัยว่าอาจเกิดกรณี “เกลือเป็นหนอน” ภายในหน่วยงานความมั่นคงอัฟกานิสถาน หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการรั่วไหลของข้อมูล และการแทรกซึมเข้าหน่วยความมั่นคงมากขึ้น
การที่นักรบตอลิบานสามารถขนจรวด, ปืนครก 82 มม. และปืนกล เข้าประจำการใกล้กับสถานทูตสหรัฐฯ และกองบัญชาการนาโตในเมืองหลวงอัฟกานิสถานชี้ให้เห็นว่าอาจมี “การสมรู้ร่วมคิด” นักการทูตตะวันตกอีกรายหนึ่งแสดวทัศนะผ่านเอเอฟพี
ฟาบริซิโอ ฟอสชินี จากองค์กรเครือข่ายวิเคราะห์อัฟกานิสถาน มองว่าเหตุร้ายกลางเมืองหลวงอาจกระทบต่อการประจำการของกองกำลังนานาชาติที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ
“ประชาชนอัฟกันอาจเข้าใจว่าการประจำการของทหารต่างชาติเป็นแรงขับให้เกิดเหตุร้าย นั่นอาจนำไปสู่ข้อสรุปว่าการมีทหารต่างชาติอยู่เป็นปัญหาเสียมากกว่าประโยชน์”