xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้ครบ 10 ปีสงครามต้านก่อการร้าย “อัฟกัน” ยังอันตรายไม่เปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารสหรัฐฯ ยิงเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มม. ถล่มเป้าหมายในจังหวัดคูนาร์ พื้นที่สีแดงในอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - สงครามต่อต้านการก่อการร้ายยาวนานเกือบ 10 ปี ได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และผลาญเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ ก่อนจะหลงเหลือไว้เพียงรัฐบาลคอร์รัปชันในอัฟกานิสถาน ทหารตะวันตกที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหู และแสงเลือนลางแห่งสันติภาพ

วันที่ 7 ตุลาคม 2001 กองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษเปิดฉากถล่มอัฟกานิสถานทางอากาศ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ไม่ถึงเดือน ตามด้วยการรุกรานภาคพื้นดิน ซึ่งมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลตอลิบาน และทำลายแหล่งกบดานของอัลกออิดะห์ ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการเสรีภาพอันยั่งยืน” (Operation Enduring Freedom)

ช่วงแรก ชาวอัฟกันที่ถูกข่มเหงมานานต่างปลาบปลื้มกับการกระทำของชาติตะวันตก จากข้อห้ามอันเข้มงวดต่างๆ ของตอลิบาน เช่น ห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียน, ห้ามผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ดนตรีและกีฬาส่วนใหญ่ก็กลายเป็นของต้องห้าม ทว่า หลังผ่านมาเกือบ 10 ปี ชาวอัฟกันจำนวนมากกลับมองทหารต่างชาติกว่า 140,000 นาย ภายใต้การนำของสหรัฐฯ เป็น “ผู้ยึดครอง” มากกว่า “ผู้ปลดแอก”

มิหนำซ้ำ ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ก็ออกโรงวิจารณ์ชาติตะวันตกอย่างดุเดือดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของพลเรือน ขณะที่รัฐบาลของคาร์ไซเองก็เต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

หลังจากถูกโค่นล้ม ตอลิบานหนีตายไปยังปากีสถาน เพื่อรวมกลุ่มกันใหม่ และกลับมาทวงอัฟกานิสถานคืน ความรุนแรงที่เงียบหายไปช่วงหนึ่งก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จนกระทั่งปี 2011 กำลังจะกลายเป็นช่วงเวลาที่มีการนองเลือดของพลเรือนเลวร้ายที่สุด

“ตอนที่ตอลิบานถูกโค่น เราเชื่อว่า พันธมิตรนานาชาติจะนำความมั่นคงมายังประเทศของเรา แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น กลับกัน ทหารต่างชาติฆ่าพลเรือนของเรา แทนที่จะไปฆ่าพวกตอลิบาน” ชารีฟ ซิดดิกี วิศวกรชาวกรุงคาบูลวัย 35 ปี เปิดใจ

ขณะที่ทหารนานาชาติกำลังจะถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 ผู้เชี่ยวชาญยังคงกังวลว่า ประเทศนี้กำลังถอยกลับไปสู่ยุคสงครามกลางเมือง ซึ่งมีการฆ่าฟันและขับไล่ประชาชนจำนวนมาก เหมือนสงครามปี 1992-96

ผลการศึกษาของ มหาวิทยาลับบราวน์ ชี้ว่า พลเรือน กลุ่มหัวรุนแรง ทหารอัฟกัน และกองกำลังต่างชาติ เสียชีวิตรวมกันแล้วอย่างน้อย 33,877 ราย ส่วนสหรัฐฯ ผลาญงบประมาณทางการทหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 444,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท)

ปัจจุบัน กองกำลังสนับสนุนความมั่นคงนานาชาติ (ไอซาฟ) ของนาโต ยืดอกยอมรับว่า การผละจากอัฟกานิสถานไปยังสงครามอิรักเร็วเกินไป อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ตอลิบานสามารถกลับมารวมตัวโดยง่าย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ใช้เวลาแกะรอยตามล่าตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน ซึ่งหลบซ่อนอยู่ใต้ชายคาปากีสถาน นานนับ 10 ปี ก่อน ก่อนการสังหารผู้ก่อตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์รายนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

การกบดานของ บิน ลาดิน ในปากีสถานแสดงให้เห็นว่า แผนกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรงอัฟกานิสถาน กลับเป็นการผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้หลบนีไปยังปากีสถาน โดยความรุนแรงในอัฟกานิสถานกลับมาระอุดุเดือดอีกครั้งช่วงปี 2007-2008 หลังจากตอลิบานรวมกลุ่มกันได้บริเวณตะเข็บชายแดนปากีสถาน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ iCasualties.org รายงานว่า เมื่อปี 2002 มีทหารต่างชาติเสียชีวิตเพียง 70 นาย ทว่า ปี 2008 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 295 นาย และเป็น 521 นาย ในปีต่อมา ปี 2009 นี้เองที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เขาบรรจุเรื่องการยุติสงครามอัฟกานิสถาน เป็นนโยบายต่างประเทศที่เร่งด่วน

โอบามาส่งทหารเพิ่มเติมอีก 50,000 นาย เข้าอัฟกานิสถาน หวังกวาดล้างตอลิบานให้สิ้นซาก และแต่งตั้ง ริชาร์ด โฮลบรูก เป็นทูตพิเศษประจำอัฟกานิสถานและปากีสถาน

การเพิ่มกำลังทหารครั้งนั้นทำให้ปี 2010 กลายเป็นปีที่มีการนองเลือดสูงสุด จากการพลีชีพของทหาร 711 นาย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ คือ การส่งมอบความรับผิดชอบให้ทหารและตำรวจอัฟกัน ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภายในปี 2012 อัฟกานิสถานจะมีตำรวจ-ทหารท้องที่ ประมาณ 352,000 นาย ผ่านโครงการฝึกอบรมที่มีมูลค่า 11,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 360,000 ล้านบาท)

พลโท วิลเลียม คาลด์เวลล์ หัวหน้าภารกิจฝึกกองกำลังความมั่นคง ยอมรับว่า ทหารชุดครูฝึกอีกราวๆ 3,000 นาย อาจต้องประจำการในอัฟกานิสถานไปจนกระทั่งปี 2020

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า กำลังทหารเพียงอย่างเดียวไม่อาจนำความมั่นคงมาสู่อัฟกานิสถาน หากยังไม่มีการแก้ปัญหาการโกงกินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น