xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหายังสาหัสแม้‘ปากีสถาน’ยอมคืนดี‘สหรัฐฯ’หลังการสังหาร‘บินลาดิน’(ตอนต้น)

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Trouble ahead in Pakistan’s new US phase
By Syed Saleem Shahzad
17/05/2011

จอห์น เคร์รี ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน ดูเหมือนจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับปากีสถานกลับคืนเข้าร่องเข้ารอย ถึงแม้เขาเพียงแค่ใช้ท่าทีอันตรงไปตรงมาโดยมิได้แสดงกลเม็ดเด็ดพรายอะไรเลย ในระหว่างการเดินทางเยือนกรุงอิสลามาบัดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังความคลี่คลายเช่นนี้แล้ว ในเวลานี้สมรถูมิสงครามอัฟกานิสถานจึงกำลังย่างเข้าสู่ “ระยะใหม่” และปากีสถานก็เข้าร่วมวงด้วยอีกคำรบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พวกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยกับการทำข้อตกลงใหม่ๆ ใดๆ ก็ตามระหว่างวอชิงตันกับอิสลามาบัด ก็คือ บรรดานายทหารระดับกลางๆ ในกองทัพปากีสถานที่เป็นพวกหัวรุนแรง และนี่จะกลายเป็นปัญหาอันสาหัสในเวลาต่อไป

*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

อิสลามาบัด, ปากีสถาน – ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับปากีสถาน กำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องเลือกเอา ระหว่าง “เดินหน้า หรือไม่ก็ แตกหัก” จอห์น เคร์รี (John Kerry) ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวเช่นนี้ในระหว่างการเดินทางมาเยือนปากีสถานเมื่อวันจันทร์ (16) ที่ผ่านมา เพื่อหาทางคลี่คลายความหมางเมินแตกร้าวระหว่างประเทศทั้งสอง

เมื่อพิจารณาจากภาพสถานการณ์ในเวลานี้แล้ว ดูเหมือนว่าสหรัฐฯกับปากีสถานจะสามารถหลีกเลี่ยงการ “แตกหัก” ไปได้ สัญญาณเครื่องบ่งชี้ในเรื่องนี้ก็คือ การเปิดฉากการปฏิบัติการ “ระยะใหม่” ของฝ่ายอเมริกันในอาณาบริเวณแถบนี้ ภายใต้ความตกลงครั้งใหม่สดซิงระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงอิสลามาบัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าเพื่อยังความปราชัยให้แก่กลุ่มตอลิบานและอัลกออิดะห์ โดยในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งที่นำออกเผยแพร่ในกรุงอิสลามาบัดระบุว่า ทั้งสองประเทศได้ตกลงเห็นพ้องกันเมื่อวันจันทร์ (16) ว่า ต่อจากนี้ไปการลงมือต่อ “บรรดาเป้าหมายที่มีคุณค่าสูง” ใดๆ ก็ตามในปากีสถาน ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน

รายละเอียดของข้อตกลงคราวนี้ ก็เหมือนๆ กับข้อตกลงครั้งอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหลาย ที่มิได้มีการเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน และผู้แทนสหรัฐฯที่รับผิดชอบดูแลเรื่องปากีสถานและอัฟกานิสถาน มาร์ก กรอสแมน (Mark Grossman) จะมาเยือนปากีสถานในเร็วๆ นี้ เพื่อตระเตรียมสภาพแวดล้อมทางการเมืองให้เอื้ออำนวยสำหรับการเปิดการปฏิบัติการระยะต่อไปดังกล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาตินี้ต้องมีอันตึงเครียดอย่างหนักในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐฯส่งหน่วยทหารรบพิเศษบุกเข้าไปสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ในบ้านพักที่เขาหลบซ่อนตัวอยู่ในเมืองอับบอตตาบัด (Abbottabad) อันเป็นเมืองเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยทหารสำคัญของปากีสถาน แถมยังอยู่ห่างจากเมืองหลวงอิสลามบัดไปทางเหนือเพียง 60 กิโลเมตร ปากีสถานรู้สึกเสียหน้าและโกรธกริ้วมาก เมื่อสหรัฐฯแถลงระบุว่าสหรัฐฯเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการปฏิบัติการคราวนี้ เพราะท่าทีเช่นนี้ย่อมเท่ากับการล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับหนึ่งที่ประเทศทั้งสองเคยเอออวยเห็นพ้องกัน

ถึงแม้ระหว่างวาระการประชุมร่วมของรัฐสภาปากีสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บุคคลสำคัญในกองทัพปากีสถานหลายนาย ได้มาให้ปากคำและบรรยายสรุปสถานการณ์ในเรื่องการปฏิบัติการของสหรัฐฯที่อับบอตตาบัด ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ แต่คำแถลงร่วมที่ออกมาในวันจันทร์ดังกล่าวกลับมีเนื้อหาซึ่งขัดแย้งตรงกันข้ามกับโวหารถ้อยคำทั้งหลายทั้งปวงของนายทหารใหญ่เหล่านั้น โดยที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปากีสถานมีความพรักพร้อมอยู่ตลอดมาที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และคำพูดคำแถลงของพวกบุคคลสำคัญของฝ่ายทหารก็เป็นเพียงการแสดงท่าทีไปอย่างนั้นเอง

ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์(13)สัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.อัชฟาก เปอร์เวซ คิอานี (Ashfaq Pervez Kiani) ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ท.อาเหม็ด ชูจา ปาชา (Ahmed Shuja Pasha) อธิบดีกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence ใช้อักษรย่อว่า ISI) ได้ไปปรากฏตัวที่ต้องถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ณ การประชุมร่วมของ 2 สภา เนื่องจากเป็นครั้งแรกเป็นรอบ 63 ปีที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพบก และบุคคลเบอร์หนึ่งของหน่วยข่าวกรองระดับท็อปของประเทศ เดินทางไปแถลงให้ปากคำต่อฝ่ายนิติบัญญัติด้วยตัวเอง

คำแถลงร่วมระหว่างสหรัฐฯกับปากีสถานในวันจันทร์ระบุออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างสหรัฐฯกับปากีสถานในทุกๆ เส้นทาง จำเป็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า ประเทศทั้งสองยังสามารถที่จะร่วมมือประสานงานต่อไปได้ในเรื่องการต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ทว่าปัญหาที่หลบเร้นอยู่ลึกลงไปทั้งหลายก็ยังคงดำรงอยู่ โดยปัญหาที่โดดเด่นน่าจับตามองที่สุดก็คือ ความรู้สึกไม่พอใจในหมู่นายทหารระดับกลางของกองทัพ

ประเด็นนี้ก็ได้รับการตอกย้ำจาก พล.อ.คิอานี ผู้ซึ่งบอกกับวุฒิสมาชิกเคร์รีว่า ภายในกองทัพปากีสถานมี “ความรู้สึกอันแรงกล้าหลายๆ ประการ” ต่อเรื่องที่สหรัฐฯบุกโจมตีสังหารบิน ลาดิน ทั้งนี้ตามเนื้อหาของคำแถลงฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยกองทัพบก

บุคลากรจำนวนมากในกองทัพปากีสถาน ยังคงต้องการที่จะผูกพันเป็นพันธมิตรกับพวกนิยมอิสลามเคร่งครัด (อิสลามิสต์) ที่เป็นสายนิกายสุหนี่ในภูมิภาคแถบนี้ โดยมองว่านี่จะเป็นประโยขน์สำหรับการต้านทานอินเดียที่มิได้เป็นมุสลิม และอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชิอะต์ ผลลัพธ์ก็คือ เกิดปฏิกิริยาคัดค้านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภายในสถาบันทหาร ต่อการที่ปากีสถานเข้าร่วมมือกับสหรัฐฯเพื่อเปิดฉากระยะใหม่แห่งการทำสงครามต่อต้านพวกตอลิบานฝ่ายชาวอัฟกานิสถาน (Afghan Taliban) ในเร็ววันนี้ นี่จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปากีสถานจะต้องตกอยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐฯกับพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง โดยที่ปากีสถานมีผลประโยชน์ร่วมอยู่กับทั้งสองข้าง

วุฒิสมาชิกเคร์รีนั้น เป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาอเมริกันที่ริเริ่มผลักดันให้สหรัฐฯออกกฎหมายที่เรียกกันว่า รัฐบัญญัติเคร์รี-ลูการ์ (Kerry-Lugar) สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การพิจารณาจัดสรรความช่วยเหลือแก่ปากีสถานปีละประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเวลา 5 ปี โดยที่ปากีสถานได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ก่อนที่จะมายังกรุงอิสลามาบัดคราวนี้ เคร์รีเดินทางจากสหรัฐฯไปแวะกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานเมื่อวันอาทิตย์(15) โดยที่เขาแสดงท่าทีอันชัดแจ้งว่า สารที่เขานำมาจากวอชิงตันก็คือ ต้องการให้สงครามต่อสู้ปราบปรามพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงเข้าถึงบทสรุปปิดฉากลงเสียที และทุกๆ คำแถลงของเขาในเที่ยวนี้ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงแนวคิดหลักอันเด็ดขาดกระจ่างแจ้ง และจุดยืนอันไม่ยินยอมอ่อนข้อประนีประนอมเช่นนี้

“ใช่ครับ มีพวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังเคลื่อนไหวข้ามไปข้ามมาตรงชายแดน (ระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน)” วุฒิสมาชิกเคร์รีกล่าวเช่นนี้ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ “ใช่ครับ พวกเขากำลังปฏิบัติการจากที่มั่นในเขตนอร์ท วาซิริสถาน (North Waziristan เขตปกครองที่เป็นพื้นที่ชนเผ่าเขตหนึ่งในปากีสถาน) ตลอดจนแหล่งหลบภัยแห่งอื่นๆ และใช่ครับ มีหลักฐานบางประการที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปากีสถานก็ทราบเป็นอันดีเกี่ยวกับกิจกรรมเหล่านี้บางอย่างบางประการ ในลักษณะที่ทำให้เรารู้สึกปั่นป่วนขุ่นเคืองเป็นอย่างยิ่ง”

วุฒิสมาชิกอเมริกันคนสำคัญผู้นี้ ยังชี้นิ้วเจาะจงตรงไปที่การปรากฏตัวของเครือข่ายฮักกอนี (Haqqani network) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามมิสต์หัวรุนแรงทรงอำนาจมากกลุ่มหนึ่ง ในเขตนอร์ท วาซิริสถานเวลานี้ เขาระบุว่าเครือข่ายนี้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ผลักดันบงการรายสำคัญ ของการก่อความไม่สงบที่นำโดยพวกตอลิบานเพื่อต่อต้านรัฐบาลในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะเพิ่มความกดดันเล่นงานเครือข่ายฮักกอนีให้แน่นหนายิ่งขึ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่แล้วได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่อ บัดรุดดีน ฮักกอนี (Badruddin Haqqani) บุตรชายคนรองของ จาลาลุดดีน ฮักกอนี (Jalaluddin Haqqani) หัวหน้าของเครือข่ายนี้ การลงโทษคราวนี้อยู่ในรูปของการบรรจุชื่อของ บัดรุดดีน ฮักกอนี เพิ่มเข้าไปในบัญชีรายชื่อ “ผู้ก่อการร้ายระดับโลกซึ่งเป็นที่ต้องการตัวมากเป็นพิเศษ” (Specially Designated Global Terrorists) ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯสามารถอายัดทรัพย์สินต่างๆของเขา, ป้องกันขัดขวางไม่ให้เขาใช้สถาบันการเงินต่างๆ, และกล่าวโทษฟ้องร้องเขาในความผิดฐานดำเนินกิจกรรมก่อการร้าย

เคร์รีบอกว่า มีสมาชิกรัฐสภาอเมริกันบางรายซึ่งมี “ข้อระแวงสงสัยอย่างล้ำลึก” ในเรื่องที่ว่าปากีสถานมีวัตถุประสงค์ในภูมิภาคแถบนี้ตรงกันกับของวอชิงตันจริงๆ หรือเปล่า แต่เขาก็บอกว่า “ปากีสถานนั้นได้ให้การสนับสนุนความพยายามของเราในการทำลายศักยภาพของอัลกออิดะห์ในตลอดระยะหลายๆ ปีหลังมานี้ ปากีสถานยังอนุญาตให้เรามีบุคลากรด้านข่าวกรองมาปฏิบัติการอยู่ในปากีสถาน ในลักษณะที่ได้ช่วยเหลือจนทำให้เราสามารถเล่นงานอุซามะห์ บิน ลาดิน ได้สำเร็จ”

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
ปัญหายังสาหัสแม้‘ปากีสถาน’ยอมคืนดี‘สหรัฐฯ’หลังการสังหาร‘บินลาดิน’(ตอนจบ)
จอห์น เคร์รี ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน ดูเหมือนจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับปากีสถานกลับคืนเข้าร่องเข้ารอย ถึงแม้เขาเพียงแค่ใช้ท่าทีอันตรงไปตรงมาโดยมิได้แสดงกลเม็ดเด็ดพรายอะไรเลย ในระหว่างการเดินทางเยือนกรุงอิสลามาบัดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังความคลี่คลายเช่นนี้แล้ว ในเวลานี้สมรถูมิสงครามอัฟกานิสถานจึงกำลังย่างเข้าสู่ “ระยะใหม่” และปากีสถานก็เข้าร่วมวงด้วยอีกคำรบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พวกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยกับการทำข้อตกลงใหม่ๆ ใดๆ ก็ตามระหว่างวอชิงตันกับอิสลามาบัด ก็คือ บรรดานายทหารระดับกลางๆ ในกองทัพปากีสถานที่เป็นพวกหัวรุนแรง และนี่จะกลายเป็นปัญหาอันสาหัสในเวลาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น