xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ละเมิดข้อตกลงกับ‘ปากีสถาน’จากการสังหาร‘บินลาดิน’

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US broke deal with Osama hit
By Syed Saleem Shahzad
11/05/2011

กรณียุ่งเหยิงวุ่นวายอันสืบเนื่องจากสายลับของสหรัฐฯผู้หนึ่งที่ปฏิบัติการอยู่ในปากีสถาน ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองอยู่ในภาวะตึงเครียด ถึงขนาดต้องหาคนกลางระหว่างประเทศมาไกล่เกลี่ยคลี่คลาย จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ออกมาฉบับหนึ่ง จุดสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการตกลงกันใหม่นี้ก็คือ สหรัฐฯได้รับไฟเขียวให้ไล่ล่าติดตามเป้าหมายที่มีคุณค่าสูงในดินแดนปากีสถาน โดยที่ปากีสถานคอยให้ความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้ในทางเปิดเผยต่อสาธารณชน จะต้องยกเครดิตทั้งหมดให้เป็นผลงานของฝ่ายปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในกรณีการสังหารอุซามะห์ บิน ลาดิน กลับไม่ได้มีการปฏิบัติตามนี้เลย ปล่อยให้ฝ่ายปากีสถานต้องอับอายเสียหน้าและรู้สึกโกรธกริ้วมาก แต่ถึงกระนั้น ก็คาดหมายกันว่าการปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าวนี้น่าจะยังคงดำเนินต่อไป

อิสลามาบัด, ปากีสถาน – แวดวงฝ่ายทหารและฝ่ายข่าวกรองของปากีสถาน ต่างรับทราบป็นอันดี และก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่การดำเนินภารกิจของสหรัฐฯ ในการไล่ล่า “เป้าหมายที่มีคุณค่าสูง” (high-value target) รายหนึ่งในเมืองอับบอตตาบัด (Abbottabad) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาไม่ทราบเลยก็คือว่า ผู้ที่กำลังถูกทีมทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯเล็งเขม็งรายนี้ คือ อุซามะห์ บิน ลาดิน และสิ่งที่ทำให้พวกนายทหารใหญ่ของปากีสถานรู้สึกโกรธเกรี้ยวหนักขึ้นไปอีก ก็คือ การที่วอชิงตันอ้างว่าสหรัฐฯเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการคราวนี้แต่เพียงผู้เดียว เพราะท่าทีเช่นนี้ย่อมเป็นการละเมิดสิ่งที่สหรัฐฯกับปากีสถานได้ตกลงทำความเข้าใจกันไว้

ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีตั้งแต่ที่ปากีสถานเข้าร่วมกับสหรัฐฯใน “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ภายหลังจากกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯได้เข้ารุกรานอัฟกานิสถานในปี 2001 เพื่อขับไสโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบานแล้ว ฝ่ายอเมริกันได้เคยดำเนินปฏิบัติการชนิดปิดลับลึกเข้ามาภายในดินแดนปากีสถานหลายครั้งหลายระลอก ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องพูดถึงการส่งอากาศยานไร้คนขับ (drone) รุ่นเพรเดเตอร์ (Predator) เข้ามาปล่อยจรวดใส่เป้าหมายต่างๆ ที่เป็นพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง

ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2008 ว่า “ในหลายๆ โอกาสทีเดียว ทีมทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯได้ถูกส่งเข้าไปในปากีสถาน (เป็นต้นว่า) เมื่อปี 2006 หน่วยซีลส์ทีม 6 (Seal Team 6) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับแนวหน้าที่สุดของสหรัฐฯ ได้บุกจู่โจมกลุ่มอาคารน่าสงสัยของพวกอัลกออิดะห์ ณ ตำบลดามาโดลา (Damadola)” ตำบลดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเขตบาจาอูร์ เอเจนซี (Bajaur Agency) ของ ดินแดน “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารโดยรัฐบาลส่วนกลาง” (Federally Administered Tribal Areas ใช้อักษรย่อว่า FATA) ของปากีสถาน

ในการปฏิบัติการเช่นนี้ สหรัฐฯกับปากีสถานได้ทำความตกลงกันไว้ว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้ดำเนินการโจมตีที่มุ่งเล่นงานพวกเป้าหมายที่มีคุณค่าสูงทั้งหลาย ส่วนปากีสถานก็จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่างๆ แต่เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นที่จะต้องไม่ให้มีใครมาตั้งคำถามได้ว่าปากีสถานยินยอมสูญเสียอธิปไตยของตน ดังนั้น ปากีสถานจะอ้างความรับผิดชอบว่าเป็นผู้ลงมือทำการโจมตีเหล่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามปรากฎว่าภายหลังการสังหารบิน ลาดิน ผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯก็ได้ออกมาแถลงต่อชาวอเมริกันทั่วประเทศ โดยระบุว่าหน่วยซีลส์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินปฏิบัติการคราวนี้แต่เพียงผู้เดียว

ก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงต้นปีนี้เอง ได้เกิดกรณีของ เรย์มอนด์ เดวิส (Raymond Davis) ผู้รับเหมารับจ้างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) รายหนึ่ง กรณีนี้ได้สร้างความตึงเครียดบาดหมางขึ้น สืบเนื่องจากปากีสถานกับสหรัฐฯมีความเข้าใจกันไปคนละทาง เกี่ยวกับการปฏิบัติการแบบปิดลับ

เดวิสได้สังหารชาย 2 คนที่มีอาวุธครบมือ ที่เมืองละฮอร์ ของปากีสถาน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และถึงแม้สหรัฐฯออกมาแถลงว่าเขามีเอกสิทธิ์ทางการทูตคุ้มครอง จึงไม่ควรที่จะถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของปากีสถาน แต่เดวิสก็ถูกฝ่ายปากีสถานจับตัวเข้าคุกและถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ได้รับการปล่อยตัวในเดือนมีนาคม หลังจากที่ครอบครัวของชายที่ถูกฆ่าตายทั้งสองคน ยอมรับเงินค่าทำขวัญตามประเพณีที่เรียกกันว่า blood money เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คณะผู้พิพากษาได้ตัดสินยกฟ้องเขาในทุกๆ ข้อหา และเดวิสก็รีบเดินทางออกจากปากีสถานในทันที

ถัดจากนั้นปากีสถานได้เรียกร้องให้สหรัฐฯมาทำข้อตกลงกันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เป็นประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์แก่ตนเองมากยิ่งขึ้นอีก โดยที่ปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความสนับสนุนในเรื่องอาวุธจากสหรัฐฯเป็นมูลค่าสูงลิ่วอยู่แล้ว นั่นคือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในส่วนของฝ่ายอเมริกันนั้นก็มีความต้องการที่จะได้รับสิทธิดำเนินการโจมตีภายในปากีสถานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นงานพวกเป้าหมายที่มีคุณค่าสูง อย่างเช่น มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ผู้นำตอลิบาน, บิน ลาดิน, น.พ.อัยมาน อัล ซอวาฮิรี (Dr Ayman al-Zawahiri) รองหัวหน้าของอัลกออิดะห์ถัดจากบิน ลาดิน, ตลอดจน ซิราจุดดีน ฮักกอนี (Sirajuddin Haqqani) ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งในขบวนการต่อต้านของฝ่ายตอลิบานในอัฟกานิสถาน

สหรัฐฯได้ส่งจดหมายเตือนรวม 4 ฉบับมาถึงกองทัพบกปากีสถานผ่านช่องทางการทูตต่างๆ สาระสำคัญของจดหมายเหล่านี้ได้แก่การแสดงความสงสัยข้องใจว่าปากีสถานให้ความร่วมมืออย่างจริงจังเพียงใดในการค้นหาแหล่งซุกซ่อนหลบภัยของพวกเป้าหมายที่มีคุณค่าสูง ทางฝ่ายปากีสถานได้ตอบจดหมายโดยเรียกร้องขอให้ได้รับข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนขอให้ได้มีบทบาทมากมายกว่านี้ในการปิดเกมสงครามอัฟกานิสถาน

ข้อเรียกร้องที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความตึงเครียดถึงขนาดที่ต้องขอให้มีเพลเยอร์ระหว่างประเทศมาทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย คนกลางเหล่านี้มีทั้งพวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของซาอุดีอาระเบีย และ เจ้าชาย คาริม อากา ข่าน (Prince Karim Aga Khan) ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ เพลเยอร์เหล่านี้ได้แสดงบทบาทอันสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ฉบับหนึ่งขึ้นมา ซึ่งกรณีการปฏิบัติการที่อับบอตตาบัด ก็อยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ด้วย สาระสำคัญของข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า ปากีสถานให้ความร่วมมือสนับสนุนสหรัฐฯ แต่จะถูกปิดบังไม่ให้ทราบว่าเป้าหมายคือใคร ขณะที่เป็นที่เข้าใจกันโดยนัยว่า ปากีสถานจะเป็นผู้อ้างความรับผิดชอบอ้างผลงานในการปฏิบัติการ

สำหรับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดีอาระเบียที่มาช่วยไกล่เกลี่ยนั้น คนหนึ่งก็คือ เจ้าชายบันดาร์ บิน สุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) อดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงวอชิงตัน แต่ได้ออกนอกแวดวงแห่งอำนาจมาหลายปีแล้ว สืบเนื่องจากอาการเจ็บป่วยและเรื่องลับลมคมในภายในราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย เขาได้ช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหากรณีเดวิส และกำหนดขนาดขอบเขตสำหรับการโจมตีร่วมภายในปากีสถานซึ่งมุ่งเล่นงานพวกผู้นำอัลกออิดะห์และตอลิบานที่ยังไม่ยอมหันมาให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ก็เพื่อแผ้วถางทางไปสู่การปิดเกมในอัฟกานิสถาน

ในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้เผยแพร่รายงานว่าด้วยการก่อการร้ายฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโทษปากีสถานว่ามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง อีกไม่นานต่อมา พล.ท.อาหมัด ชูจา ปาชา (Ahmad Shuja Pasha) อธิบดีกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence ใช้อักษรย่อว่า ISI) ของปากีสถาน ก็ได้เดินทางไปสหรัฐฯเพื่อการเยือนเป็นช่วงระยะเวลาสั้นมากๆ ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (Associated Press หรือ AP) ระบุว่า มุ่งเน้นไปที่เรื่อง “ความร่วมมือทางด้านข่าวกรอง” ทั้งนี้แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงหลายรายได้ยืนยันกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า วาระสำคัญมากในการไปสหรัฐฯของปาชาคราวนี้ คือ การทำความตกลงด้านความมั่นคงฉบับใหม่

หลังออกจากสหรัฐฯแล้ว ปาชาแทนที่จะเดินทางตรงกลับมายังปากีสถาน เขากลับหยุดแวะที่กรุงปารีส ที่นั่นเขาได้พบหารือกับเจ้าชายอากา ข่าน จากนั้นยังเดินทางต่อไปยังตุรกี เพื่อเข้าพบหารือกับประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) แห่งปากีสถาน ซึ่งกำลังอยู่ในประเทศนั้นเพื่อการเยี่ยมเยียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ก็เพื่อรายงานและประเมินค่าข้อตกลงฉบับใหม่นี้ให้ประธานาธิบดีรับทราบ

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน พล.อ.เดวิด เพรเทอัส (David Petraeus) บุคคลสำคัญที่สุดของสหรัฐฯที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน ได้พบปะหารือกับ พล.อ.อัชฟาก ปาร์เวซ คิอานี (Ashfaq Parvez Kiani) ผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน และแจ้งให้เขาทราบถึงการปฏิบัติการของหน่วยซีลส์แห่งกองทัพเรืออเมริกัน ซึ่งมุ่งที่จะเล่นงานเป้าหมายที่มีคุณค่าสูงรายหนึ่ง และทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันให้เดินหน้าเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้เอง ปากีสถานจึงมีความรู้สึกทั้งตื่นตะลึงและเสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อโอบามาระบุในคำประกาศสะท้านโลกของเขา ด้วยการอ้างเครดิตในการสังหารอุซามะห์ไปเป็นของอเมริกันฝ่ายเดียว

ระหว่างกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เดือนนี้ นายกรัฐมนตรี ยูซุฟ ราซา กิลานี (Yousuf Raza Gilani) ของปากีสถาน บอกว่าการลงมือกระทำการตามอำเภอใจฝ่ายเดียวเฉกเช่นการปฏิบัติการสังหารบิน ลาดิน ของสหรัฐฯนั้น มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องที่ร้ายแรง แต่เขาก็กล่าวย้ำจุดยืนของเขาก่อนหน้านี้ที่ว่า หน่วยทหารปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯหน่วยนี้เข้าไปจนถึงที่พักของบิน ลาดิน ในเมืองอับบอตตาบัดได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือของ ISI

ในอีกด้านหนึ่ง เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว เจย์ คาร์นีย์ (Jay Carney) ก็ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากปากีสถานต้องการจะให้สหรัฐฯแสดงการขอโทษแล้ว ก็จะไม่ได้ดังที่ปรารถนาอย่างแน่นอน “เราพิจารณาคำแถลงต่างๆ ตลอดจนความวิตกกังวลทั้งหลายของรัฐบาลปากีสถานอย่างจริงจัง แต่เราก็จะไม่ขอโทษสำหรับสิ่งที่เราลงมือกระทำไป” คาร์นีย์บอก

ถึงแม้ประสบกับการถอยหลังกลับเช่นนี้ พวกสายข่าวของเอเชียไทมส์ออนไลน์ก็บอกว่า การกระทบกระทั่งคราวนี้ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติการต่างๆ ในลักษณะนี้จะยุติปิดฉากลง หากแต่จะยังคงเดินหน้าต่อไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยที่จะต้องให้ปากีสถานเป็นผู้อ้างความรับผิดชอบรับเครดิตทั้งหมดไป

ทางฝ่ายอเมริกันเองก็ดูจะมีท่าทีต้องการเดินหน้าต่อไปเช่นเดียวกัน ดังที่คาร์นีย์พูดเอาไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า “ความสัมพันธ์นี้มีความสำคัญมากเกินกว่าที่จะผละหนีถอยออกมา”

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น