xs
xsm
sm
md
lg

‘อัลกออิดะห์’มองเห็นโอกาสที่จะฉกฉวยจาก‘สันติภาพ’

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Al-Qaeda sees opportunity in peace
By Syed Saleem Shahzad
12/04/2011

อัลกออิดะห์กำลังเฝ้าจับตาติดตามการประชุมเตรียมการที่จะจัดขึ้นในตุรกีเดือนหน้า เพื่อหาทางให้มีการเปิดเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตอลิบาน เหตุผลของความสนใจเช่นนี้ก็เป็นดังที่นักยุทธศาสตร์ระดับสูงที่โยงใยเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์ผู้หนึ่ง กล่าวเอาไว้ดังนี้ “ถ้าหากในอัฟกานิสถานเกิดมีการผ่าทางตันใดๆ ได้สำเร็จขึ้นมา มันก็ย่อมเป็นการแผ้วถางทางให้แก่อัลกออิดะห์ ในการที่จะสามารถจัดกำลังผู้ปฏิบัติงานของตนเสียใหม่ แล้วเดินหน้าไปสู่สมรภูมิอันสำคัญที่สุดของตน ซึ่งก็คือ ตะวันออกกลางนั่นเอง”

อิสลามาบัด – ขณะที่ “การลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ของอาหรับปี 2011” ยังคงคุกรุ่นเดือดระอุอยู่นี้ พวกผู้นำฝ่ายตะวันตกก็กำลังวิ่งพล่านหาทางยุติปิดฉากสงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งแม้ดำเนินยืดเยื้อมาได้ 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่อาจปราบปรามการก่อความไม่สงบที่นำโดยพวกตอลิบานให้ราบคาบไปได้ เป็นที่คาดหมายกันว่า ในการหารือเตรียมการอย่างลับๆ ว่าด้วยความมั่นคงและการฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถาน ที่กำหนดจัดขึ้นในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกีในเดือนหน้า น่าที่จะมีการขยับเดินหน้าไปสักก้าวหนึ่ง ในทิศทางแห่งการปิดเกมโดยอาศัยกระบวนการปรองดองทางการเมือง

กลุ่มตอลิบานเพิ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตุรกีให้เปิดสำนักงานขึ้นแห่งหนึ่งในแดนเติร์ก นี่เป็นสิ่งที่ อาร์ซอลา เราะห์มานี (Arsala Rahmani) ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐบาลตอลิบาน แถลงต่อสื่อมวลชนในสหรัฐฯ

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่อาวุโสชาวอัฟกานิสถาน โมฮัมหมัด มัสซูม สตาเนคไซ (Mohammad Massoom Stanekzai) ผู้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยสันติภาพของอัฟกานิสถาน (Afghan High Peace Council) อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถานด้วย ได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ทางคณะกรรมการ ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องการหาทางเปิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตอลิบาน ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯระบุว่ามุ่งหวังที่จะให้การสนับสนุนความพยายามขององค์กรแห่งนี้ในการสร้างความปรองดองขึ้นในอัฟกานิสถาน

บรรยากาศเช่นนี้ทำให้มองกันว่า นี่กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการและอย่างเปิดเผยชัดเจนกับกลุ่มตอลิบาน หลังจากในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้กระทำกันแบบแอบๆ ซ่อนๆ

อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการที่ตัดแย้งอย่างเต็มเหนี่ยวกับความวาดหวังเช่นนี้ของสหรัฐฯบังเกิดขึ้นมาด้วย ดังที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า พวกอัลกออิดะห์กำลังค่อยๆ หวนกลับมายังจังหวัดนูริสถาน (Nuristan) และจังหวัดคูนาร์ (Kunar) ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน โดยที่กำลังพยายามจัดตั้งฐานต่างๆ ขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายๆ ปี สืบเนื่องจากกองทหารสหรัฐฯได้มีการถอนกำลังออกจากอาณาบริเวณดังกล่าว ไปยังพื้นที่เขตเมืองใหญ่

ก่อนหน้านั้นไปอีก เอเชียไทมส์ออนไลน์ก็ได้เป็นสื่อมวลชนรายแรกที่รายงานข่าวว่า หลังจากหยุดพักนิ่งเงียบไปหลายๆ ปี เวลานี้ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์กำลังกลับมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในพื้นที่แถบเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ทั้งส่วนที่อยู่ในจังหวัดคูนาร์ และนูริสถาน ของอัฟกานิสถาน และในบริเวณต่างๆ ของเขตบาจาอูร์ (Bajaur) ในปากีสถาน (ดูเรื่อง Bin Laden sets alarm bells ringing, Asia Times Online, March 25, 2011) ตลอดจนเรื่องที่ว่าอัลกออิดะห์กำลังขยายพื้นที่อิทธิพลของตนเข้าไปในเขตสูญญากาศซึ่งกองทหารสหรัฐฯทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า อัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นจอมบงการตัวจริงของสมรภูมิสงครามเอเชียใต้ วางแผนการอะไรอยู่ จึงกำลังเคลื่อนเข้าไปในภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่ตนเองก็มี กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน (Qari Ziaur Rahman) หัวหน้านักรบท้องถิ่นผู้ทรงอำนาจอยู่แล้วทั้งคน (ดูเรื่อง A fighter and a financier Asia Times Online, May 23, 2008 and the video, The Taliban's new breed of leader.) โดยที่การเคลื่อนไหวเช่นนี้บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่กระบวนการเจรจาสันติภาพกำลังจะเริ่มต้นขึ้นมาเสียด้วย?

เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้สนทนาสอบถามจากนักยุทธศาสตร์ผู้โยงใยเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์ผู้หนึ่ง ในเงื่อนไขที่ขอสงวนนามบุคคลผู้นี้เอาไว้ เนื่องจากในสถานการณ์ของเขาในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้ออกชื่อออกนามของเขาได้

“มีสิ่งที่สำคัญมาก 2 อย่างที่จะต้องทำความเข้าใจ อย่างแรก พันธมิตรตะวันตกนั้นกำลังเข้าเกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้นมากในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สถานการณ์ที่นั่นก็สลับซับซ้อนมากจนกระทั่งไม่เปิดทางให้ฝ่ายตะวันตกเลิกพัวพันแล้วจัดแจงถอนตัวออกจากที่นั่นได้ ในเยเมนนั้นได้เริ่มเกิดการกบฎแข็งข้อขึ้นภายในหมู่ทหารแล้ว ทั้งนี้สำหรับอัลกออิดะห์แล้ว เยเมนคือพื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับสองทีเดียว” นักยุทธศาสตร์ผู้นี้แจกแจง

“นี่เป็นแค่หนึ่งในปัญหาชนิดหลายเชิงหลายชั้นซ้อนๆ กันอยู่ ซึ่งกำลังปรากฏให้เห็นอยู่ในโลกอาหรับเวลานี้ และมันก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายตะวันตกก็เกิดอาการประสาทหลอนที่ทำให้พวกเขาเข้าใจไปว่า ด้วยการอาศัยวิธีการเจรจาสันติภาพ พวกเขาจะสามารถทำให้กลุ่มตอลิบานอยู่ในสภาพยุ่งเหยิงวุ่นวาย ขณะที่พวกเขาสามารถหันหน้าไปแก้ไขคลี่คลายวิกฤตในโลกอาหรับ แนวความคิดของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้จะไม่มีทางกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้หรอก

“แน่นอนทีเดียวว่า กลุ่มตอลิบานจะใช้โอกาสสำหรับหยุดพักหายใจนี้ไปในการจัดวางยุทธศาสตร์ของสมรภูมิสงคราม (เอเชียใต้) นี้ และผมมีลางสังหรณ์ที่ชัดเจนมากๆ ทีเดียวว่า (จากการเจรจาสันติภาพ) ในครั้งนี้ตอลิบานจะสามารถผ่าทางตันอย่างสำคัญมากได้สำเร็จในอัฟกานิสถาน ในความเห็นของตัวผมแล้ว เรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาไม่ใช่ภายในระยะเวลาเป็นปีๆ หรอกนะ เวลานี้มันดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้น ในช่วงเวลาแค่เป็นแรมเดือนเท่านั้น”

ท่าทีเช่นนี้ดูออกจะน่าประหลาดใจทีเดียว เนื่องจากเท่าที่ผ่านมา การเมืองแห่งสันติภาพและสงครามคือวิภาษวิธี (dialectic) ของอัลกออิดะห์ ในช่วงเวลาแห่งการทำสงครามต่อต้านกองทหารต่างชาติและปากีสถานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อัลกออิดะห์มักใช้การทำความตกลงสันติภาพ เพื่อไปแผ่ขยายยุทธศาสตร์แห่งสงครามของตนเสมอมา

แม้กระทั่งระยะหลังๆ มานี้เอง ขณะที่กิจกรรมเพื่อสันติภาพต่างๆ ยังส่งเสียงสะท้อนกังวานอยู่ในอากาศ อัลกออิดะห์ก็ได้เปิดแนวรบขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของเขตโมห์มันด์ (Mohmand) และเขตบาจาอูร์ ซึ่งเป็นเขตของชาวชนเผ่าในปากีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เทือกเขาฮินดูกูช ในอีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้านี้อัลกออิดะห์ยังได้ใช้ท่าทีมุ่งทำลายกระบวนการแห่งการสนทนากับฝ่ายตรงข้ามเรื่อยมา เป็นต้นว่า กระบวนการ Grand Peace Jirga (การประชุมมหาสภาชาวชนเผ่าเพื่อสันติภาพ) ซึ่งประกาศจัดขึ้นมาอย่างใหญ่โตในกรุงคาบูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2007

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า อัลกออิดะห์มักใช้ปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งแห่งการจัดวางแผนการใหญ่สำหรับภูมิภาคแถบนี้ สำหรับในคราวนี้ก็ดูจะเป็นเช่นนั้นอีก โดยนักยุทธศาสตร์ผู้โยงใยเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์ผู้นี้อธิบายว่า “ปากีสถานกำลังดิ้นรนอย่างหนักเพี่อทำให้เกิดกระบวนการปรองดองระหว่างตนเองกับพวกหัวรุนแรงที่อยู่ตามบริเวณชายแดน (ปากีสถาน-อัฟกานิสถาน) ทางฝั่งของปากีสถาน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า สมมุติว่าพวกอเมริกันเกิดสามารถทำข้อตกลงสันติภาพกับตอลิบานได้สำเร็จ และสมมุติว่าพวกเขาถอนตัวออกจากสมรภูมินี้ไป ปากีสถานก็ย่อมจะถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว โดยที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ เลย

“คลังทรัพยากรณ์เพื่อการสู้รบทำสงครามของปากีสถานนั้น กำลังอยู่ในสภาพถูกบีบเค้นจนเหือดแห้งเต็มทีแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมมองไม่เห็นสูตรใดๆ เลยที่จะทำให้ปากีสถานสามารถตกลงในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่กับพวกหัวรุนแรงได้ ผมจึงคิดว่าพวกหัวรุนแรงจะยังคงติดตามหลอกหลอนปากีสถานต่อไป

“ผมก็ไม่คิดว่าสถานการณ์ในโลกอาหรับจะระเหยหายไปในอากาศภายในช่วงระยะเวลาหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป ดังนั้นถ้าหากในอัฟกานิสถานเกิดมีการผ่าทางตันใดๆ ได้สำเร็จขึ้นมา (โดยผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพ) มันก็ย่อมเป็นการแผ้วถางทางให้แก่อัลกออิดะห์ ในการที่จะสามารถจัดกำลังผู้ปฏิบัติงานของตนเสียใหม่ แล้วเดินหน้าไปสู่เขตสมรภูมิอันสำคัญที่สุดของตน ซึ่งก็คือ ตะวันออกกลางนั่นเอง” นักยุทธศาสตร์ผู้นี้บอก

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น