xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐีจีนซื้อเรือยอชต์และเป็นสมาชิกรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Money buys a yacht and a rubber stamp
By Francesco Sisci
10/03/2011

ข้อตกลงในทางสังคมที่ช่วยสร้างชนชั้นเศรษฐีใหม่ของจีนขึ้นมา อนุญาตให้ผู้มั่งคั่งเหล่านี้สามารถเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ตราบเท่าที่พวกเขายังไม่ได้แตะต้องเข้ากุมอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง การที่เศรษฐีใหม่จำนวนไม่ใช่น้อยต่างมีความยินดีปรีดาที่ได้เข้าไปนั่งใน “สภาตรางยาง” แห่งนี้ ซึ่งมีบทบาทในทางเป็นที่ปรึกษา มากกว่าการตัดสินใจกำหนดนโยบายของประเทศ จึงทำให้พอคิดเปรียบเทียบได้ว่า พวกเขามีทัศนคติต่อเก้าอี้ในสภาทำนองเดียวกับการที่พวกเขาพากันควักกระเป๋าจ่ายเงิน เพื่อซื้อเรือยอชต์หรูหราแพงลิบ ทว่าต้องเอามาจอดนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยสามารถใช้งานได้จริงๆ

ปักกิ่ง – มีข่าวเกี่ยวกับจีนที่ชวนให้เซอร์ไพรซ์ประหลาดใจเพราะผิดแผกจากปกติวิสัยเป็นอย่างมากอยู่ชิ้นหนึ่ง ออกมาจากอิตาลีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวดังกล่าวระบุว่าเรือยอชต์และเรือยนต์ระดับแพงลิบลิ่วที่สุดของอิตาลีนั้น ในปีที่แล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียวเป็นการขายให้แก่จีน

ทั้งๆ ที่ในประเทศจีน เราก็ได้พบเห็นกันอยู่ว่า มีบางคนเป็นเจ้าของเครื่องบิน (ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินแบบกัลฟ์สตรีมราคาระดับล้านดอลลาร์ ที่จอดนิ่งสนิทบนที่ดินซึ่งมีราคาพอๆ กับค่าเช่าอพาร์ตเมนต์) โดยที่ไม่ได้นำมันขึ้นบิน มีพวกที่เป็นเจ้าของเรือ (ซึ่งอาจจะเป็นเรือยนต์อิตาเลียนราคาหลายล้านดอลลาร์ ที่ค่าธรรมเนียมจอดในท่าเรือ ก็สิ้นเปลืองพอๆ กับค่าเช่าอพาร์ตเมนต์) โดยไม่ได้นำมันออกท่องทะเล

เหตุผลก็คือกองทัพอากาศและกองทัพเรือของจีนมีระเบียบกฎเกณฑ์มากมายเหลือเกิน ซึ่งคอยเป็นอุปสรรคลิดรอนกิจกรรมบนท้องฟ้าและในทะเลของภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีน เครื่องบินเอกชนและเรือยนต์เอกชนกลับกำลังขายดิบขายดียิ่งกว่าที่อื่นใดในโลกใบนี้ ภายในกรอบของความแย้งขัดกันอย่างน่าขันเช่นนี้เอง ได้เปิดเผยให้เรามองเห็นรูปร่างโครงสร้างโดยรวมๆ ของพวกชนชั้นเศรษฐีใหม่ชาวจีน พวกเขามีเงินสดอยู่มากมายมหาศาล พวกเขามีความปรารถนาที่จะเร่งรีบสะสมรวบรวมสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความร่ำรวยทั้งหลาย ซึ่งในส่วนอื่นๆ ของโลกต้องใช้เวลากันหลายๆ ชั่วอายุคนกว่าจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ทว่าจุดที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ พวกเขาไม่ได้มีความตระหนักสำนึกในเรื่องที่ว่า การกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมานั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ยากลำบากขนาดไหน

เศรษฐีจีนรุ่นใหม่เป็นนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอันแข็งแกร่ง ทว่าพวกเขาเองไม่ได้เป็นนักการเมือง พวกเขารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนสามารถที่จะบรรลุได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพียงเมื่อสัก 20 ปีมานี้เอง พวกเขายังอยู่ในสภาพอดอยากไม่พอกินอยู่เลย มาถึงเวลานี้พวกเขาคือผู้ที่อยู่บนยอดสุดของความมั่งคั่งล้นเหลือของโลก ดังนั้นพวกเขาจึงมีความรู้สึกอย่างล้ำลึกชนิดแฝงฝังเข้าไปถึงเลือดเนื้อและกระดูกของพวกเขาว่า การหาเงินหาทองเป็นเรื่องแสนจะง่ายดาย และดังนั้นพวกเขาจึงสามารถใช้จ่ายเงินทองที่หามาได้ด้วยความปลอดโปร่งง่ายดายยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี คนจีนนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือไม่ ต่างไม่ชื่นชอบความสิ้นเปลืองความสุรุ่ยสุร่าย พวกเขาทราบดีว่าข้าวของชั้นดีชั้นเลิศนั้นมีราคาแพง นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงกระตือรือร้นที่ได้ข้าวของชั้นดีชั้นเลิศมาครอบครองเมื่อคิดว่ามันกำลังมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทันทีที่พวกเขามองเห็นอะไรสักอย่างที่คุ้มค่าเงินแล้ว พวกเขาก็จะเข้าไปซื้อ และดังนั้น จึงสามารถตอบสนองสร้างความพึงพอใจให้แก่รสนิยมที่ทั้งต้องการกำไรและก็ต้องการจับจ่ายใช้สอย

ตัวอย่างเช่น การหาซื้อเรือยนต์เรือยอชต์ซึ่งกำลังกลายเป็นความนิยมเฟื่องฟูขึ้นมาในตอนนี้ เนื่องจากเรือเหล่านี้เป็นสินค้าที่คงทนยืนยาวมาก โดยที่ยิ่งเวลาผ่านไปราคาไม่ได้ลดน้อยถอยลง หากกลับเพิ่มพูนขึ้นด้วยซ้ำ

พวกเขามีอารมณ์ความรู้สึกผูกพันอย่างมหาศาลกับเรื่องของวัฒนธรรม และเป็นปลื้มที่จะได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ru shang” หรือนักธุรกิจผู้มีภูมิรู้ดุจนักปราชญ์ พวกเขาหลงรักดนตรี, ภาพเขียน, ละคร, และประวัติศาสตร์ ทว่าการเมืองคือของต้องห้าม ข้อตกลงในทางสังคมที่ทำให้พวกเขาสามารถร่ำรวยขึ้นมานั้นได้ วางอยู่บนความตระหนักรับรู้ที่ว่า พวกเขาจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงในสิ่งที่ “ไม่ใช่ธุระของพวกเขา”

รัฐบาลยินยอมเปิดทางให้พวกเขาทำมาหากินร่ำรวย และแม้กระทั่งหลบเลี่ยงหลบหนีไม่เสียภาษี ตราบเท่าที่พวกเขายังไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เป็นที่แน่นอนทีเดียวว่า ในการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมไปนั่งอยู่ใน “รัฐสภา” ของจีนแห่งนี้ด้วย แถมยังได้เข้าไปเป็นจำนวนไม่น้อยอย่างชนิดน่าจับตาทีเดียว

มีรายงานข่าวระบุว่า ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาของจีนชุดนี้ซึ่งมีกันทั้งสิ้นเกือบ 3,000 คนนั้น ผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด 70 อันดับแรก มีทรัพย์สมบัติรวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 493,100 ล้านหยวน (ราว 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยที่สุด 70 อันดับแรกของประดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯที่มีกันทั้งสิ้น 535 คนนั้น เป็นเจ้าของทรัพย์สินรวมประมาณ 4,800 ล้านดอลลลาร์เท่านั้น อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบเช่นนี้กำลังนำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐสภาของจีนนั้นไม่ได้มีการกำหนดนโยบายหรือการตัดสินใจลงมติในประเด็นสำคัญๆ อะไรมากมายเลย บทบาทของมันส่วนใหญ่แล้วอยู่ในลักษณะขององค์กรที่ปรึกษาเสียมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยุติธรรมอยู่หรอกที่พวกผู้เสียภาษีรายใหญ่ที่สุดของภาคเอกชน ได้เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันอย่างน้อยก็บางส่วน กับระบบการเมืองที่วางอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติ ไม่ใช่การลงมติโดยถือเสียงข้างมาก

ยิ่งกว่านั้น องค์ประกอบของรัฐสภาจีนก็บ่งชี้ให้เห็นว่า พวกสมาชิกนั้นเป็นผู้แทนของกลุ่มคนต่างๆ อันหลากหลายยิ่ง

โดยในจำนวนสมาชิกรัฐสภาร่วมๆ 3 พันคนเหล่านี้ มีทั้งอภิมหาเศรษฐี, นักเขียน, นักประวัติศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์, ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง, และนักแสดงชื่อก้อง รวมตลอดถึงนักการศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา ในสภาผู้แทนแห่งนี้ ทุกๆ คนต่างก็ถูกรวบรวมเก็บกวาดเข้ามาหมด หรืออย่างน้อยที่สุด ทุกๆ คนซึ่งมีอำนาจบารมีอยู่ในแวดวงของตน และมีความยินดีมีความปรารถนาที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ต่างได้เข้ามานั่งอยู่ในสภา

เงินทองของพวกเศรษฐีรุ่นใหม่ของจีน จึงกำลังตอบสนองวัตถุประสงค์เช่นนี้ด้วย นั่นคือเป็นใบเบิกทางทำให้ได้รับการแนะนำเข้าสู่ “ห้องรับแขก” (salon) เพื่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองระดับดีเลิศที่สุด ถึงแม้พวกเขาจะเป็นได้อย่างมากที่สุดก็ในฐานะที่เป็นท่านผู้ชมผู้ทรงอภิสิทธิ์ เปรียบเทียบไปแล้วมันก็เหมือนๆ กับการเป็นเจ้าของเครื่องบินหรือเรือใบ โดยที่ในความเป็นจริงแล้วไม่เคยนำมันออกมาใช้งานเลย

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้แก่ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี ที่อยู่อีเมล์ของเขาคือ fsisci@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น