xs
xsm
sm
md
lg

‘ความไว้วางใจกัน’คือสิ่งที่ต้องมีใน‘การประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-จีน’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Trust is a must for superpower summit
By Francesco Sisci
12/01/2011

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ พบปะเจรจากับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในวันอังคาร (18 ม.ค.) ที่กรุงวอชิงตัน สิ่งท้าทายที่กำลังเผชิญหน้าผู้นำทำเนียบขาวอยู่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องจะใช้วิธีการใดมารับมือกับอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างแดนมังกรเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรมาเริ่มต้นรับมือกับโลกซึ่งกำลังปรากฏศูนย์กลางแห่งอำนาจมากแห่งเกินไปแล้ว ในอนาคตข้างหน้า สหรัฐฯกับจีนจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำในการถอดชนวนความตึงเครียดแทบทุกเรื่องที่กำลังสั่งสมกันอยู่ในเวลานี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสองจำเป็นจักต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และนี่กลับยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะระดมรวบรวมขึ้นมา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ปักกิ่ง – ขณะที่ผู้นำของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่ง และหมายเลขสองของโลก ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เจรจาหารือกันในกรุงวอชิงตันในวันอังคาร (18) ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประเทศและดินแดนอื่นๆ ของโลกจะต้องเฝ้าจับจ้องติดตามอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะการประชุมซัมมิตคราวนี้จะส่งผลกระทบไปถึงทุกคนทุกฝ่าย ก็เหมือนอย่างที่นักวิเคราะห์จำนวนมาก [1] ได้ชี้ออกมาให้เห็นกันแล้ว ความสำเร็จของกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่มีอเมริกันเป็นผู้นำ ได้ทำให้ต้องมีการกำหนดคำนิยามกันใหม่ ในเรื่องที่ว่าจุดไหนที่ใดบ้างซึ่งเป็นศูนย์แห่งอำนาจอิทธิพลและความมั่งคั่งร่ำรวยของพื้นพิภพในเวลานี้

น้ำหนักอำนาจบารมีโดยเปรียบเทียบของพวกศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเก่าๆ อย่างเช่น ยุโรป, ญี่ปุ่น, และมสหรัฐฯ กำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลงโดยเปรียบเทียบ ขณะที่พวกศูนย์กลางใหม่ๆ ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่นั้น กำลังเข้ามาเบียดยึดเวทีตรงกลางในระบบเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากจีนแล้ว ประเทศเฉกเช่นอินเดีย, บราซิล, แอฟริกาใต้, และซาอุดีอาระเบีย ต่างก็กำลังมีอิทธิพลเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ หากนำเอาปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product หรือ GDP) ของพวกเขามารวมกัน แล้วคำนวณว่าเป็นร้อยละเท่าใดของจีดีพีทั่วทั้งโลกแล้ว เชื่อได้ว่าภายในเวลาที่อาจสั้นเพียงแค่ 10 ปี พวกเขาก็จะสามารถแซงหน้าร้อยละของจีดีพีทั่วโลกที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ยังมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของพื้นพิภพแห่งนี้อยู่เลย

นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิสหภาพโซเวียตเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน สหรัฐฯได้เป็นผู้นำในการปลดปล่อยกระแสคลื่นแห่งนวัตกรรมอันแรงกล้าอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในทางด้านเทคโนโลยี, การเงิน, และการค้า และมันก็ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกไปอย่างมโหฬารมหาศาล การปฏิวัติอินเทอร์เน็ต, พรมแดนใหม่ๆ ของการสื่อสารไร้สาย และเครื่องมือทางการเงิน, ตลอดจนความก้าวหน้าในทางการค้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผสมผสานกัน ก็ได้ทำให้ความมั่งคั่งร่ำรวยกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จากที่ครั้งหนึ่งเคยรวมศูนย์อยู่แต่ในสหรัฐฯและพวกประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อีกเพียงไม่กี่ราย

ทั้งหมดเหล่านี้ ก่อนอื่นเลย ได้ทำให้เกิดทรัพย์สมบัติอย่างมหาศาลชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนขึ้นในวอลล์สตรีต ที่เป็นหัวใจทางด้านการเงินของอเมริกา อย่างไรก็ดี จากการที่แสนยานุภาพทางเศรษฐกิจกระจายตัวไปสู่พวกประเทศซึ่งในอดีตเคยมีฐานะเป็นเพียงคนแคระในทางการเมือง ก็กำลังเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจในโลกใบนี้ไปด้วย อเมริกาไม่สามารถที่จะผูกขาดความยิ่งใหญ่สูงสุด ซึ่งเป็นฐานะที่ประเทศนี้เคยครอบครองอยู่เมื่อตอนที่เป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของโลก ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายพ่ายแพ้อย่างยับเยินไปในปี 1989 ปัจจุบันนี้ อเมริกากลับพบว่าอิทธิพลบารมีของตนกำลังตกอยู่ในวงล้อมของบรรดาประเทศซึ่งเมื่อก่อนเคยแต่ทำการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะในท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น ทว่าด้วยอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของสหรัฐฯในกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง ได้ทำให้ชาติเหล่านี้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลก เวลานี้ประเทศพวกนี้กำลังเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในศูนย์กลางการผลิตทางเศรษฐกิจต่างๆ อันค่อนข้างเป็นอิสระ มิได้ถูกตอกตรึงอย่างเต็มเหนี่ยวเอาไว้กับการควบคุมของอเมริกันอีกต่อไปแล้ว มันเป็นเวลาของระเบียบโลกอย่างใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการออกแบบวางแปลนทั่วทั้งระบบในระดับโลกกันใหม่ และเป็นระเบียบโลกที่ควรต้องขบคิดพิจารณาถึงสถานการณ์ไม่เพียงแค่ของวันนี้ หากแต่คำนึงด้วยว่ามันจะต้องเกิดการปรับเปลี่ยนไปอย่างไรอีกบ้างในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า หรือกระทั่งในอีกหลายๆ ทศวรรษข้างหน้า

ตัวอย่างเช่น ไนจีเรีย เวลานี้เป็นประเทศซึ่งมีผู้คนราว 160 ล้านคน โดยที่ประมาณ 42% ของจำนวนประชาชนเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ทว่าด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ ภายในเวลาเพียงทศวรรษเดียว ประเทศนี้สามารถที่จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาจนแซงหน้าสหรัฐฯได้ ลูกระเบิดทางประชากรลูกนี้ตั้งอยู่บนแหล่งน้ำมันสำรองที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดความร้าวฉานทางการเมืองมากที่สุดของโลก และอีกไม่นานก็จะกลายเป็นหนึ่งในจุดยุ่งยากใหญ่ที่สุดของพื้นพิภพ

หรือในกรณีของอิหร่าน ในปัจจุบันดูเหมือนเหล่ามุลลาห์นักการศาสนาผู้คลั่งไคล้สุดโต่งของประเทศนี้อาจมุ่งมาตรปรารถนาเหลือเกินที่จะได้อาวุธนิวเคลียร์มาไว้ในครอบครอง แต่อิหร่านในอนาคตไม่ว่าจะมีหรือไม่มีหัวรบนิวเคลียร์ก็ตามที ย่อมมีความต้องการที่จะฟื้นคืนฐานะความเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคของตน ทว่านั่นย่อมอาจจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเกิดการเสียดสีบดบี้กับซาอุดีอาระเบีย ราชอาณาจักรที่ยังคงปักหลักติดอยู่ในกาลเวลาแห่งยุคกลาง (middle age) หรือไม่ก็เอาจจะเกิดการปะทะเสียดสีบดบี้กับตุรกี หนึ่งในประเทศประชาธิปไตยอันมีชีวิตชีวาเพียงไม่กี่รายในโลกมุสลิม ประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่นานนักหรอกก็อาจขยายตัวกลายเป็นเรื่องระดับโลกขึ้นมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต่างนั่งอยู่บนแหล่งสำรองน้ำมันอันละเอียดอ่อนไหว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดราคาพลังงาน โดยที่น้ำมันย่อมเป็นพื้นฐานของการค้าในโลก

เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯเพียงลำพังประเทศเดียว จะสามารถตะล่อมควบคุมประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ให้อยู่ในร่องในรอยได้ แม้กระทั่งในขณะนี้เองก็มองเห็นกันอยู่แล้วว่าเกินกำลังของอเมริกาไปเสียแล้ว ในทางเป็นจริงนั้น สหรัฐฯต้องประสบกับความยุ่งยากยุ่งเหยิงอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของศตวรรษนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่มองกันว่าอเมริกากำลังมีอำนาจอิทธิพลและความร่ำรวยมั่งคั่งอยู่ในระดับขีดสูงสุดด้วยซ้ำ สืบเนื่องจากการตัดสินใจกระโจนเข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วต้องถือเป็นสงครามที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ จึงไม่น่าเป็นไปได้อย่างที่สุดที่ในอนาคตข้างหน้า สหรัฐฯจะยังพยายามแก้ไขจัดการปัญหาต่างๆ อันเกิดขึ้นจากอิหร่านหรือไนจีเรีย ด้วยหนทางแห่งสงครามอีก ประเทศพวกนี้ใหญ่โตยิ่งกว่าและเป็นประเด็นปัญหาซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าอิรักหรืออัฟกานิสถานมากทีเดียว

สิ่งท้าทายที่กำลังเผชิญประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯอยู่ในขณะนี้ ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าที่เขาจะพบปะเจรจากับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีนในกรุงวอชิงตัน มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องจะใช้วิธีการใดมารับมือกับอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างแดนมังกรเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรมาเริ่มต้นรับมือกับโลกซึ่งกำลังปรากฏศูนย์กลางแห่งอำนาจมากแห่งเกินไปแล้ว

มันเป็นโลกชนิดที่หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในประเทศจีนเมื่อปี 2003 ระบุเอาไว้ (หนังสือเรื่อง Xin Zhan Guo Shidai เขียนโดย Li Xiaoning, Qiao Liang, Wang Xiangsui, และ Wang Jian สำนักพิมพ์ Xinhua Publishing House) นั่นคือ มีรัฐจำนวนมากมายที่ออกมาแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ อำนาจถูกตัดแบ่งเป็นส่วนๆ กระจัดกระจายไปทั่วโลก ขณะที่การกำหนดวาระและการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ ของบรรดารัฐทั้งหลายก็มีความแตกต่างผิดแผกกัน แถมยังผสมโรงด้วยการผงาดขึ้นมาของพวกสุดโต่งแบบใหม่ในรูปลักษณ์ของอิสลามแบบรุนแรง ดังนั้นมันจึงสามารถที่จะเกิดความขัดแย้งในระดับโลกขึ้นมา หรืออย่างน้อยก็เป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่ๆ ที่มีความหมายความสำคัญในระดับทั่วโลก อีกทั้งยังจะเกิดขึ้นในหลายๆ ภูมิภาคของพื้นพิภพด้วย

สงครามระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน หรือสงครามระหว่างไนจีเรียกับเพื่อนบ้านบางราย หาใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสงครามซึ่งเกี่ยวพันแวดล้อมจีนกับอินเดีย ขณะเดียวกัน ปากีสถานก็กำลังกลายสภาพเป็นรัฐซึ่งแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ในทางพฤตินัยมากขึ้นทุกวันๆ

*หมายเหตุ* [1] ดูเรื่อง The United States, China and the New Global Geometry. Remarks at the Hopkins-Nanjing Center โดย Chas W Freeman Jr, November 10, 2010, Middle East Policy Council.

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียของ ลา สตัมปา (La Stampa) หนังสือพิมพ์ในอิตาลี ที่อยู่อีเมล์ของเขาคือ fsisci@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น