xs
xsm
sm
md
lg

‘อวตาร’และ‘ขงจื๊อ’ชี้วิธีที่ต่างกันในการรับมือความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Different takes on coping with change
By Francesco Sisci
10/03/2010

นักดูหนังชาวจีนพากันหลั่งไหลข้าชม “อวตาร” ภาพยนตร์อเมริกันว่าด้วยเรื่องราวโลกอนาคตซึ่งสามารถทำรายได้ได้อย่างถล่มทลาย และปล่อยให้ “ขงจื๊อ” ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่ได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาลของพวกเขาต้องนอนสลบซบเซา ภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้กำลังสะท้อนให้เราเห็นว่า วัฒนธรรมซึ่งแตกต่างกันมีวิธีตอบโต้รับมือที่ผิดแผกกันอย่างไรในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร

ปักกิ่ง – บนจอภาพยนตร์ของจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดการต่อสู้เผชิญหน้ากัน ระหว่างเรื่อง “อวตาร” หนังจากสหรัฐฯที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายรางวัล กับเรื่อง “ขงจื๊อ” ซึ่งผลิตขึ้นในแดนมังกรเอง ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ต่างตั้งชื่อเรื่องสั้นๆ และใช้เงินทุนในการสร้างเป็นจำนวนมหาศาล ทว่า (โดยที่ไม่พิจารณาประเมินคุณค่าในทางศิลปะของแต่ละเรื่อง) มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเสนอเรื่องราวการคาดการณ์เกี่ยวกับสังคมที่ผิดแผกกันเป็นอย่างยิ่ง

หนังของฝ่ายอเมริกันมุ่งมองไปยังอนาคต โดยแสดงให้เห็นโลกอันล้ำเกินจินตนาการตามปกติของเรา ที่ซึ่งพวกยักษ์สีฟ้าขี่นกรูปร่างเหมือนสัตว์เลื้อยคลานบินได้ ตลอดจนม้าที่มี 6 ขา ขณะที่ “ขงจื๊อ” พาผู้ชมของตนเดินทางย้อนกลับไปสู่ยุคอดีตอันไกลโพ้น เป็นยุคทองซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพบเห็น ไม่ว่าบรรดาท่านนักปรัชญาทั้งหลาย หรือลูกธนูที่ยิงกันเป็นห่าฝน ก็ล้วนแต่ดูขรึมขลังไปทั้งสิ้น ปรากฏว่าคนจีนพากันหลั่งไหลไปชม “อวตาร” และไม่ใยดีกับ “ขงจื๊อ” ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐเอาเสียเลย

เมื่อมองผ่านแท่งแก้วปริซึมของ “อวตาร” สหรัฐฯดูจะกำลังเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแบบนักปฏิวัติ ถึงแม้แนวความคิดในหนังเรื่องนี้สามารถสืบสาวไปหารากเหง้าไปอดีตกาลก็ตามที อเมริกาดำรงคงอยู่โดยมิได้มีความปั่นป่วนผันผวนทางสังคมขนาดมหึมาใดๆ มาเป็นเวลา 200 ปีแล้ว และก็ไม่ได้มีสงครามเกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขามาประมาณ 150 ปีแล้วด้วย ตรงกันข้าม แท่งแก้วปริซึมของ “ขงจื๊อ” สะท้อนแยกแยะภาพของจีนซึ่งดูเหมือนกับว่า จนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้เอง ก็ยังต้องดำรงชีวิตผ่านศตวรรษแห่งสงครามและการปฏิวัติอันนองเลือด จึงมากล้นไปด้วยความปรารถนาในสันติภาพและเสถียรภาพ ท่ามกลางช่วงระยะแห่งการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยอันยิ่งใหญ่มโหฬาร

อเมริกาก็สร้างภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ออกมาอย่างมากมายเช่นกัน เป็นการเชื่อมโยงชาวอิตาเลียนในนิวยอร์ก ให้เข้ากับราเหง้าทางวัฒนธรรมของพวกเขาในยุคโรมโบราณ หรือเป็นการย้อนรอยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแชมเปี้ยนอเมริกันฟุตบอลที่สวมเกราะทำด้วยพลาสติก กับพวกนักสู้กลาดิเอเตอร์ ผู้เป็นบรรพชนสวมเกราะเหล็กของพวกเขา

เป็นเรื่องที่น่างงงวยพิศวงทีเดียวที่ในยุคสมัยแห่งวิกฤตทางเศรษฐกิจและทางโครงสร้างอันร้ายแรงล้ำลึกที่สุดในรอบ 80 ปีเฉกเช่นปัจจุบันนี้ สหรัฐฯซึ่งตกอยู่ตรงศูนย์กลางของพายุหฤโหดลูกนี้ กลับกำลังมุ่งมองไปยังอนาคต ขณะที่จีน ซึ่งจวบจนถึงบัดนี้ยังสามารถป้องกันตนเองจากความเลวร้ายอย่างที่สุดของปัญหาเศรษฐกิจระลอกนี้ได้ กลับเขม้นสนใจเสียงของอดีตกาล

ช่างเป็นความแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งในทัศนคติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤต

ถึงแม้อเมริกากำลังเต็มไปด้วยปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะคนว่างงาน, ความยากลำบากในการผลักดันการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพ, ความเสื่อมถอยของคะแนนนิยมในทางระหว่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วยังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกในต่างแดนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าจะหาทางคลี่คลายให้จบลงได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิรัก, อัฟกานิสถาน, หรือเกาหลีเหนือ แต่กระนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ยังกำลังพิจารณาใคร่ครวญว่าจะเข้าไปแทรกแซงในอิหร่านดีหรือไม่, ยังต้องการดึงลากปากีสถานออกมายังแนวหน้าให้มากขึ้น, และยังคงตรึกตรองถึงวิธีที่จะยื่นมือเข้าไปในเยเมน

มีสัญญาณอันชัดเจนหลายอย่างหลายประการบ่งบอกให้ทราบว่า อเมริกากำลังเข้าไปพัวพันกับปัญหาต่างๆ จนมากเกินกว่ากำลังความสามารถของตนเองแล้ว สหรัฐฯไม่ได้มีจุดโฟกัสในด้านเศรษฐกิจ, การทหาร, และการเมือง ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน แต่ก็เหมือนกับในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ กัปตันหัวโล้นของซูเปอร์ยานอวกาศ “สตาร เทร็ก” ของเรา ยังคงถือเป็นภาระหน้าที่ของเขาที่จะต้องยิงทำลายลูกอุกาบาตทั้งหมดที่เฉียดใกล้เข้ามา ขณะเดียวกัน สังคมอเมริกันก็ยังกำลังเอนเอียงไปทางด้านอนุรักษนิยมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในประเทศจีน ช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปี ประชาชนเกือบๆ 1,000 ล้านคนจะต้องโยกย้ายจากเขตชนบทมาพำนักอาศัยตามเมืองใหญ่ๆ และประชาชน 1,500 ล้านคนจะต้องเฉือนทิ้งขนบประเพณีแบบตะวันออกที่หล่อหลอมให้พวกเขาเติบใหญ่ ออกไปเป็นบางส่วน เพื่อรับเอาความคิดจิตใจแบบสมัยใหม่และแบบชุมชนเมืองเข้ามาแทนที่

คนจีนมองเห็นชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬารยิ่งภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี จากที่เคยอยู่ในบ้านพักอาศัยชั้นเดียวอันสมถะและมืดๆ, ต้องใช้ห้องส้วมแบบรวมหมู่, น้ำร้อนคือสิ่งของฟุ่มเฟือยที่หายาก, อาหารอยู่ในสภาพขาดแคลนไม่เพียงพอ, เสื้อผ้ามีแต่สีทึมๆ ไร้ความสดใส, และการคมนาคมขนส่งก็คือขี่จักรยานหรือเบียดขึ้นรถโดยสารที่แน่นขนัดเกินพิกัด เวลานี้กลับกลายเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในดงตึกคอนกรีตระฟ้าที่ตกแต่งแบบสมัยใหม่ และตามท้องถนนก็ส่องสว่างด้วยแสงนีออน, อาหารมีเหลือเฟือจนสามารถกินทิ้งกินขว้าง, และเสื้อผ้าหรือรถยนต์ก็มาจากอีกมุมหนึ่งของดลก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนจีนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทุกสิ่งทุกอย่างเพียงแต่ยังไม่มีการนองเลือด

ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างสุดๆ เหล่านี้ ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ได้รับความอุปภัมภ์จากรัฐบาลหลายต่อหลายชิ้น พยายามที่จะโยงยึดเอาความเป็นสมัยใหม่นี้เข้ากับอดีตกาล และชะลอฝีก้าวความเปลี่ยนแปลงระดับติดเทอร์โบให้ช้าลงไปบ้าง ขณะที่เรือลำนี้กำลังโคลงเคลงอย่างหนักทั้งจากปัญหาภายในประเทศและภายนอกประเทศ ปักกิ่งจึงพยายามที่จะทำให้มันมั่นคงมีเสถียรภาพขึ้นมา นี่ไม่ใช่การหยุดเรือให้จอดนิ่ง แต่พยายามทำให้มั่นใจว่ามันจะไม่พลิกคว่ำ

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีน ตลอดจนความหิวกระหายในการค้า, วัตถุดิบ, และพลังงานของแดนมังกร กำลังทำให้ทุกๆ ประเทศที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงกันอยู่แล้ว ปักกิ่งจึงมีความปรารถนาที่จะจำกัดการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นๆ ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยตรง

ลองพิจารณาเอาอิหร่านเป็นตัวอย่าง การที่ปักกิ่งซื้อก๊าซและน้ำมันของอิหร่าน ก็คือการให้เงินทุนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเตหะรานในรูปของเครือข่ายระบบรถไฟใต้ดิน นอกจากนั้นเงินท่องจากจีนยังกำลังทำให้เกิดท่าเรือ, โรงงาน, ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทัศนะของปักกิ่ง นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกินพอแล้ว

ในความรับรู้ความเข้าใจของฝ่ายจีน ในอิหร่านกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากเกินไปแล้ว ดังนั้นจีนจึงไม่ต้องการที่จะนำเอาเสียงโห่ร้องประกาศศึกของฝ่ายตะวันตกเพื่อนำ “ประชาธิปไตย” เข้าไปในอิหร่าน มาเพิ่มเติมภาระแก่เตหะรานให้หนักหน่วงขึ้นอีก แนวความคิดเช่นนี้ยังสอดคล้องกับอุดมคติของจักรวรรดิแบบเก่า ในเรื่องการมุ่งมาตรปรารถนาที่จะสงวนรักษาเสถียรภาพเอาไว้

จากการแห่ไปชมภาพยนตร์เรื่อง “อวตาร” พวกนักดูหนังชาวจีนอาจจะมองเห็นอะไรได้ชัดเจนยิ่งกว่ารัฐบาลของพวกเขา นั่นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในระดับเสมือนเป็นพายุอันปั่นป่วนรุนแรง เอาเข้าจริงแล้วเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมจัดการได้ มีแต่จะต้องยืดหยัดอดทนให้มันผ่านไปเท่านั้น ความแตกต่างของสองสิ่งนี้ได้รับการสรุปเอาไว้อย่างคร่าวๆ โดยนักเศรษฐศาสตร์ โจเซฟ อะลอยส์ ชุมปีเตอร์ (Joseph Alois Schumpeter) ผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1883-1950) โดยเขาเรียกว่าเป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ในระบบทุนนิยม

ชุมปีเตอร์เกิดในดินแดนซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐเช็ก และเป็นผู้ที่อุทิศตนเล่าเรียนผลงานลัทธิมาร์กซ์อย่างจริงจัง หลังจากติดตามศึกษาระบบทุนนิยมที่มีการวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลาร้อยปี ชุมปีเตอร์ก็เสนอความคิดว่า วิกฤตทั้งหลายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ไม่ได้เป็นวิกฤตของระบบทุนนิยมแต่อย่างใด แต่เป็นส่วนที่ขาดเสียมิได้ของระบบนี้ต่างหาก วัฏจักรของระบบทุนนิยมที่มีการขึ้นการลงอย่างฉับพลันครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนว่าการปฏิวัติอย่างครบเครื่องกำลังใกล้จะมาถึงแล้ว หากแต่เป็นส่วนพื้นฐานสำคัญของระบบ และจากวิกฤตเหล่านี้เอง ทุนนิยมก็จะได้กำลังเพิ่มเติมเข้ามา หาใช่อ่อนแอลงไม่

มองในแง่หนึ่ง นิยายวิทยาศาสตร์ (ซึ่งแทบจะเป็นแนวความคิดเรื่องการทำลายอย่างสร้างสรรค์ของชุมปีเตอร์ในเวอร์ชั่นวรรณกรรม) ก็คือส่วนหนึ่งของปัจจุบัน ดังที่ “อวตาร” และประสบการณ์รายวันในประเทศจีนกำลังพิสูจน์ให้เห็น

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชีย ของ ลา สตัมปา (La Stampa) หนังสือพิมพ์ในประเทศอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น