xs
xsm
sm
md
lg

‘ความไว้วางใจกัน’คือสิ่งที่ต้องมีใน‘การประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-จีน’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Trust is a must for superpower summit
By Francesco Sisci
12/01/2011

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ พบปะเจรจากับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในวันอังคาร (18 ม.ค.) ที่กรุงวอชิงตัน สิ่งท้าทายที่กำลังเผชิญหน้าผู้นำทำเนียบขาวอยู่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องจะใช้วิธีการใดมารับมือกับอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างแดนมังกรเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรมาเริ่มต้นรับมือกับโลกซึ่งกำลังปรากฏศูนย์กลางแห่งอำนาจมากแห่งเกินไปแล้ว ในอนาคตข้างหน้า สหรัฐฯกับจีนจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำในการถอดชนวนความตึงเครียดแทบทุกเรื่องที่กำลังสั่งสมกันอยู่ในเวลานี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสองจำเป็นจักต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และนี่กลับยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะระดมรวบรวมขึ้นมา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในสถานการณ์ดังกล่าวมาเช่นนี้ บางทีอเมริกาอาจจะต้องพยายามดำเนินภารกิจที่สำคัญมาก 2 ประการให้ประสบความสำเร็จ อันได้แก่การรักษาตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตในปัจจุบัน และการรักษาโลกให้อยู่รอดปลอดภัยจากความขัดแย้งใหญ่ๆ ทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญมากที่สหรัฐฯควรต้องรักษาตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย และธำรงรักษาบทบาทความเป็นผู้นำในโลกนี้เอาไว้ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีประเทศอื่นใดเลยไม่ว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรมาวัดก็ตามที ที่มีความพรักพร้อมจะเข้ากุมบังเหียนสืบทอดความเป็นผู้นำเช่นนี้

จีนซึ่งแม้ปัจจุบันมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหมายเลขสองของโลก แต่ก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะเข้าครอบครองบทบาทความเป็นผู้นำระดับโลก พร้อมกับแบกรับความรับผิดชอบทั้งมวลที่บทบาทดังกล่าวนี้นำมาให้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทางด้านญี่ปุ่นหรือประเทศยุโรปไม่ว่ารายไหนก็เช่นเดียวกัน มิได้ต้องการแบกรับภาระเช่นนี้ แถมพวกเขาทั้งหมดยังต่างก็กำลังมุ่งเน้นความสนใจไปที่ปัญหาต่างๆ ภายในตัวพวกเขาเองด้วยซ้ำไป อาจจะมีข้อยกเว้นเพียง วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีทั้งความทะเยอทะยานตลอดจนภาวะความคิดจิตใจที่จะเป็นผู้นำโลก อย่างไรก็ตาม มีสักกี่ประเทศกันเชียวที่ปรารถนาจะให้รัสเซียเข้ารับบทบาทการนำเช่นนี้

เมื่อวิกฤตการณ์ในเวลานี้ของอเมริกันยุติสิ้นสุดลงไป แน่นอนทีเดียวว่าอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างค่อนข้างสำคัญทีเดียว กล่าวคือ ขนาดจีดีพีของสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับของทั่วโลกจะหดเล็กลงกว่าที่เคยเป็นมาในตอนเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ในปี 2008 แต่ไม่ว่าน้ำหนักอิทธิพลทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบของอเมริกาจะหดเล็กเหลือแค่ไหนก็ตามที ประเทศนี้ก็ยังสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมและสติปัญญาในโลกอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นผู้จัดวางมาตรฐาน, เป็นจุดสำหรับการอ้างอิง, และเป็นผู้วางแนวทางดำเนินการเชิงศีลธรรม เพื่อให้คนอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงก้าวเดินตาม

ศักยภาพความสามารถอันโดดเด่นเหล่านี้ทั้งหมดของสหรัฐฯ บังเกิดขึ้นมาได้ก็เนื่องจากอเมริกามีความได้เปรียบคนอื่นๆ อย่างมากมายมหาศาล จากการเป็นประเทศของผู้อพยพลี้ภัย กล่าวคือ อเมริกาสามารถนำเอาผู้มีความรู้ความสามารถชั้นเลิศทั้งมวลในโลกนี้ เข้าไปยังประเทศของตน แล้วใช้ความพยายามตลอดจนหาหนทางแก้ไขปัญหา อเมริกาทำเช่นนี้ได้โดยต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางสังคมค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพวกประเทศที่มีความเป็นเอกภาพ “ทางเชื้อชาติ” อย่างมากมายยิ่งกว่า อเมริกาจำเป็นที่จะต้องนำเข้าชาวต่างชาติที่มีความฉลาดเฉียบแหลมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยก่อนอื่นใดคือพวกนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันทั้งหลาย จากนั้นก็วางแผนการอันเป็นไปได้ในการนำเข้าผู้มีความคิดฉลาดหลักแหลมที่สุดจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจีน, อินเดีย, บราซิล, หรือแอฟริกาใต้ ผู้คนฉลาดหลักแหลมที่สุดเหล่านี้ทันทีที่มาอยู่ในอเมริกา ในด้านหนึ่งก็สามารถช่วยเหลือการเจริญเติบโตของอเมริกันได้ แล้วในอีกด้านหนึ่งยังสามารถช่วยเหลือเชื่อมต่อโยงใยการพัฒนาของคนอเมริกัน กับการพัฒนาของภูมิลำเนาดั้งเดิมของพวกเขา ตลอดจนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เหล่านี้

เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้ การที่คนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ๆ จำนวนเป็นล้านๆ เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯเพื่อทำการศึกษา นอกจากจะเป็นการสร้างคุณูปการให้แก่การเจริญเติบโตขึ้นสู่ระดับโลกของอเมริกันแล้ว ยังสามารถที่จะก่อให้เกิดแบบแผนแห่งกระบวนการปรับเข้าสู่เสถียรภาพอันคึกคัก ในสายสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับรัฐอื่นๆ เหล่านี้อีกด้วย ระลอกคลื่นของนักเรียนนักศึกษานานาชาติดังกล่าวนี้ สามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โครงสร้างทางสังคมของเมริกาได้อย่างมากมายมหาศาล

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทั้งอเมริกาและโลกต่างก็อาจจะได้มองเห็นหนทางแห่งการอยู่รอดปลอดภัยในภายภาคหน้า ยิ่งกว่านั้น การออกแบบวางแปลนสถาบันระดับโลกทั้งหลายทั้งปวงก็อาจจะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับประเด็นปัญหาระดับโลกในเรื่องค่านิยมต่างๆ นานา อาจถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ กระบวนการในระดับโลกซึ่งมุ่งหมายให้ประเทศหลักๆ ทั้งหลายก้าวเดินไปสู่ความโปร่งใสทางการเมืองและก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อาจจะยังได้รับการรักษาได้รับการประคับประคองเอาไว้ได้ โดยปราศจากความคิดอคติอย่างเหมารวมเอาไว้ล่วงหน้าแบบเก่าๆ

ชาวจีนเองก็กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง โดยที่ในช่วงระยะเวลาราว 30 ปีที่ผ่านมาพวกเขาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองชนิดที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลกทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชาวจีนจำนวนมากก็มีความระแวงคลางแคลงเกี่ยวกับระบบ “ประชาธิปไตย” ในพวกประเทศอย่างเช่นอินเดียหรือญี่ปุ่น ชาวจีนมองว่าในอินเดียนั้น แท้ที่จริงแล้วตระกูลเนห์รู/คานธี คือผุ้ควบคุมการเมืองระดับชาติเอาไว้ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในญี่ปุ่น พวกซามูไรกลุ่มเดียวกันกับที่เป็นผู้ผลักดันให้มีการเริ่มต้นการปฏิรูปยุคเมจิ (Meiji reformation) เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 นั่นเอง คือผู้ที่ครองอำนาจอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยตลอดช่วงเวลา 150 ปีมานี้ ขณะที่ในจีนนั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ทว่าพวกผู้นำระดับสูงสุดกลับไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการคัดสรรจากประดาสมาชิกของครอบครัวปฏิวัติจำนวนน้อย

การที่พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า ไม่ควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมและเผยแพร่เรื่องประชาธิปไตยให้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในประเทศจีน หรือว่าประชาธิปไตยของอินเดีย ตลอดจนประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ไม่ได้มีตัวอย่างดีๆ ด้านบวกให้ติดตามศึกษาเอาเลย อย่างไรก็ดี สำหรับชาวจีนซึ่งเป็นพวกที่มักคำนึงถึงผลในทางปฏิบัติเป็นสำคัญแล้ว พวกเขาเห็นว่าไม่ควรที่จะขบคิดพิจารณา “ประชาธิปไตย” โดยถือว่ามันเป็นค่านิยมอันสูงสุด หากควรมองประชาธิปไตยในแง่ที่มันเป็นเครื่องมืออุปกรณ์อย่างหนึ่งมากกว่า นอกจากนั้นชาวจีนยังอาจโต้แย้งได้ด้วยว่า สถาบันที่เก่าแก่ที่สุดและมีเสถียรภาพมากที่สุดในโลกตะวันตก ซึ่งก็คือ สถาบันสันตะปาปา ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ในหนทางดังกล่าวมานี้ มีความจำเป็นที่เราจะต้องพรักพร้อมทำการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดความเชื่อของเราเองเป็นอันมาก อเมริกานั้นเพิ่งดำเนินการอันมีลักษณะปฏิวัติอย่างสูง ด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวดำคนแรกของตน ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์ย่อมหมายถึงบุตรหลานของผู้ที่เคยเป็นอดีตทาสของตนนั่นเอง ดังนั้นพวกเขาจึงมีศักยภาพที่จะประกอบภารกิจในการผ่าทางตันและชี้หนทางให้แก่มหาอำนาจผู้เพิ่งก้าวผงาดขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นประเทศจีนของหู จิ่นเทา บางทีสิ่งที่เราพึงคาดหวังจากการประชุมซัมมิตคราวนี้ หรือช่วงเวลาอีกไม่นานหลังจากนั้น น่าจะได้แก่แนวความคิดแบบปฏิวัติเปลี่ยนแปลงใหญ่สำหรับโลกที่ได้ผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงใหญ่ไปแล้ว ถึงแม้การแข่งขันช่วงชิงอำนาจยังอาจจะเพิ่มทวีขึ้น แต่เราก็ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคที่รัฐต่างๆ จำนวนมากเปิดศึกทำสงครามช่วงชิงความเป็นใหญ่กันครั้งใหม่

กระนั้นก็ตามที เราจะต้องมีความตระหนักอย่างแรงกล้ายิ่งว่า สิ่งนี้เป็นอนาคตที่สามารถกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ สหรัฐฯกับจีนต้องแสดงตัวเป็นผู้นำในการถอดชนวนความตึงเครียดทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้แทบหมดสิ้นไป และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้นมา ถึงแม้ความเชื่อใจกันดังกล่าวนี้ดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากลำบากมาก เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่บังเกิดขึ้นระหว่างประเทศทั้งสองในรอบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ควรจะต้องเป็นคนก้าวเดินก้าวถัดไป น่าที่จะเป็นฝ่ายจีน เนื่องจากแดนมังกรกำลังส่งสัญญาณออกมาหลายอย่างหลายประการที่ดูสับสนขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะในระหว่างที่รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ของสหรัฐฯ เยือนประเทศจีนเมื่อต้นเดือนนี้ ปรากฏว่าจีนได้ทำการบินทดสอบเครื่องบินขับไล่ใช้เทคโนโลยี “ล่องหน” (stealth) รุ่นใหม่ล่าสุดของตน ตามรายงานหลายกระแสของฝ่ายอเมริกันระบุว่า คณะผู้นำพลเรือนสูงสุดของจีนไม่ได้ตระหนักรับทราบเลยเกี่ยวกับการทดสอบคราวนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกตส์กำลังเข้าพบเจรจาอยู่กับประธานาธิบดีหูพอดิบพอดี

กรณีอาจก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยขึ้นมาจำนวนมากทีเดียว กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังรุกคืบเข้าไปยึดครองการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของแดนมังกรกระนั้นหรือ? หรือว่าจีนกำลังเจตนาวางแผนที่จะทำการแข่งขันด้านอาวุธกับสหรัฐฯถึงแม้โดยทางการแล้วจะประกาศนโยบายเน้นการพัฒนาอย่างสันติ? หรือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความสับสนอันสืบเนื่องจากมีหน่วยงานและฝ่ายต่างๆ ในประเทศจีนจำนวนมากมายเหลือเกินเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ? (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง Too many cooks spoil foreign-policy stew, Asia Times Online, January 7, 2011) แต่ไม่ว่าเหตุผลแท้จริงจะเป็นอย่างไร สัญญาณนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลยิ่ง และจำเป็นคณะผู้นำสูงสุดของจีนจะต้องทำการพิจารณาทบทวนกันครั้งใหญ่

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียของ ลา สตัมปา (La Stampa) หนังสือพิมพ์ในอิตาลี ที่อยู่อีเมล์ของเขาคือ fsisci@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น