xs
xsm
sm
md
lg

เสียงวิจารณ์ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ภูมิใจในกองทัพ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน พี โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US criticism stirs China’s military pride
By Brendan P O'Reilly
10/05/2013

รายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯว่าด้วยการพัฒนาทางการทหารของจีนฉบับล่าสุด ได้กล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาว่าภาครัฐของแดนมังกรกำลังทำการจารกรรมสืบความลับของอเมริกาผ่านทางไซเปอร์สเปซ แต่ขณะที่จีนออกมาตอบโต้การยั่วยุเช่นนี้โดยประณามว่าเป็นท่าทีมุ่งท้าตีท้าต่อยและแสดงอาการหวาดผวาจนเกินงาม รัฐบาลแดนมังกรก็ดูเหมือนรู้สึกภาคภูมิใจอยู่เหมือนกันที่ตนเองกำลังได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากอเมริกาในฐานะของการเป็นคู่ต่อสู้แข่งขัน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ปฏิกิริยาจากฝ่ายจีน**

ปฏิกิริยาของฝ่ายจีนที่มีต่อรายงานของเพนตากอนฉบับล่าสุดนั้น ในหลายๆ แง่มุมย่อมเป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ประการแรกทีเดียว ข้อกล่าวหาเรื่องการทำจารกรรมทางไซเบอร์ ได้ถูกปฏิเสธอย่างเจาะจงจาก หวา ชุนอิง (Hua Chunying) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยเธอเตือนว่า “การกล่าวหาและการโหมประโคมแบบไร้มูลความจริงเช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่ความพยายามของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อบรรยากาศสำหรับการพูดจาหารือกัน” [1]

ประการที่สอง มีการประณามน้ำเสียงโดยองค์รวมของรายงานฉบับนี้ โดยโฆษกหวา แถลงว่า เพนตากอน “ออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่รับผิดชอบ ในเรื่องที่เป็นการเสริมกำลังป้องกันประเทศอย่างปกติธรรมดาและอย่างมีเหตุผลความชอบธรรมของประเทศจีน รวมทั้งยังป่าวร้องเกินเลยความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ภัยคุกคามทางทหารของประเทศจีน”

นอกเหนือจากการเกทับบลัฟกลับชนิดที่ควรจะคาดหมายเอาไว้ได้ล่วงหน้าเหล่านี้แล้ว ยังมีสื่อมวลชนของภาครัฐของจีนที่ได้ตอบโต้รายงานเพนตากอนฉบับนี้ในบางลักษณะซึ่งค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เป็นต้นว่า เว็บไซต์ภาษาจีนของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ (China Daily) เสนอรายงานข่าวเด่นชิ้นหนึ่ง ซึ่งให้ชื่อหัวข้อข่าวว่า “สหรัฐฯเผยแพร่รายงานแสนยานุภาพทางทหารของจีน แสดงความวิตกเกี่ยวกับพัฒนาการของสมรรถนะด้านการป้องกันชายฝั่ง” [2] เนื้อหาของรายงานข่าวชิ้นนี้ นอกเหนือจากมีการประณามท่าทีแบบแสดงอาการหวาดผวาจนเกินเหตุซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแล้ว ยังได้แสดงความภาคภูมิใจในระดับหนึ่งต่อการที่อเมริกาแสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องที่แดนมังกรสามารถพัฒนาเครื่องบินรบติดตั้งเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (stealth) ตลอดจนมีพัฒนาการในเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบิน

นอกจากนั้น ไชน่าเดลี่ฉบับตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ก็ได้ลงรายงานข่าวที่ให้รายละเอียดเรื่องที่ฝ่ายอเมริกันเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศเพิ่มสายสัมพันธ์แบบทหารกับทหารให้มากขึ้นอีก รายงานข่าวชิ้นนี้ได้อ้างคำพูดของ เดวิด เฮลวีย์ (David Helvey) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายเอเชียตะวันออก ซึ่งกล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานประจำปีฉบับนี้ ดังนี้:

“บนเส้นทางเดินของปี 2012 กองทัพของสหรัฐฯและกองทัพของจีนได้มีความก้าวหน้าในเรื่องการสร้างโมเมนตัมทางบวกในการติดต่อและในการแลกเปลี่ยนทางด้านกลาโหมของพวกเขา ... จริงๆ แล้ว การมีความสัมพันธ์ในรูปแบบชนิดนี้ คือส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของเราที่จะปรับสมดุลใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” [3]

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนมีความสับสนและมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่บ้าง ในเรื่องที่ว่าจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อรายงานฉบับล่าสุดของเพนตากอนนี้ ขณะที่กำลังประณามทัศนะมุมมองแบบมุ่งท้าตีท้าต่อยและแสดงอาการหวาดผวาจนเกินงามของฝ่ายทหารสหรัฐฯนั้นเอง รัฐบาลแดนมังกรก็ดูเหมือนรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ระดับหนึ่งจากที่ตนเองกำลังได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากอเมริกาในฐานะของการเป็นคู่ต่อสู้แข่งขัน

สำหรับประเด็นเรื่อง “การไม่มีความโปร่งใส” ก็นับว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษทีเดียวในบรรยากาศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟกในปัจจุบันนี้ สหรัฐฯนั้นเรียกร้องจีนเรื่อยมาให้แสดงความโปร่งใสทางการทหารให้มากขึ้น โดยประเด็นนี้ปรากฎอยู่ในรายงานประจำปีทุกๆ ฉบับนับตั้งแต่ฉบับแรกสุดในปี 2000 ในเวลาเดียวกันนั้น วอชิงตันก็กำลังกล่าวหารัฐบาลปักกิ่งด้วยว่า กำลังใช้จ่ายด้านการทหารอย่างมากมายมหาศาลกว่าสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

จีนนั้นได้ประโยชน์อย่างชัดเจนในการปกปิดซุกซ่อนสมรรถนะทางการทหารของตน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลอันสำคัญอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ปักกิ่งไม่ต้องการทำให้พวกเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าของตนเกิดความตื่นกล้วจนเกินเหตุ แล้วเป็นชนวนทำให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคซึ่งทั้งสิ้นค่าใช้จ่ายสูงและก่อให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นมาอีกด้วย ประการที่สอง จีนต้องการที่จะซุกซ่อนพวกเทคโนโลยีบางอย่างซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบโต้ทัดทานแสนยานุภาพทางทหารตามแบบแผนของอเมริกันซึ่งมีความเหนือชั้นกว่าจีนเป็นอย่างมาก ถ้าหากแดนมังกรเกิดต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง (ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่าเป็นกรณีที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างที่สุด) จีนก็ย่อมหวังว่าฝ่ายทหารของอเมริกันจะยังไม่รู้กระจ่างไปจนหมดไส้หมดพุงว่าจีนมีสมรรถนะทางทหารอะไรบ้าง

ความคลุมเครือไม่โปร่งใสของฝ่ายจีน และการทำจารกรรมทางไซเบอร์ของแดนมังกร ดูเหมือนมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสถานการณ์อุดมคติในทางยุทธศาสตร์สำหรับการทหารของจีน หลักคิดทางการทหารสมัยใหม่ของแดนมังกรนั้น ยังคงพึ่งพาอาศัยคำชี้แนะจาก “ตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อ (ซุนวู)” อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ซุนจื่อ บอกว่า:

“หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด
ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่
หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย
ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล”

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของซุนจื่อส่วนที่ให้คำแนะนำถึงวิธีในการทำสงคราม ซึ่งน่าจะมีความเหมาะสมสอดคล้องที่สุดสำหรับคณะผู้นำจีนในปัจจุบัน ก็คือ ส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า ในเบื้องต้นเลยควรที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม ซุนจื่อ บอกดังนี้:

“เพราะฉะนั้น การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้
แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึ่งถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง
ดังนั้น วิธีการใช้ทหารชั้นเลิศคือหักศัตรูด้วยกโลบาย
รองลงมาคือหักเอาด้วยวิธีการทูต
รองลงมาอีกขั้นหนึ่งคือหักด้วยกำลังทหาร
เลวที่สุดนั้นคือการล้อมตีค่ายคู หอรบ ของศัตรู”

(หมายเหตุผู้แปล – ข้อเขียนในตำราพิชัยสงครามซุนวูในที่นี้ อาศัยคำแปลในฉบับแปลเป็นภาษาไทยของ เสถียร วีรกุล)

การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีน และการจัดหาตลอดจนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการ “ต่อต้านการแทรกแซง” ของแดนมังกร มีจุดมุ่งหมายอันละเอียดลึกซึ้งที่จะขัดขวาง แผน “กโลบาย” ทางการทหารในระดับภูมิภาคของอเมริกานั่นเอง กระนั้นก็ตาม ปักกิ่งควรที่จะมองให้ชัดเจนด้วยว่า ซุนจื่อยังได้แนะนำให้ทำการต่อต้านตอบโต้การรวมตัวเป็นพันธมิตรของข้าศึก --ไม่ใช่ต่อต้านตอบโต้พวกพันธมิตรของข้าศึก

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับจีนในการดำเนินการเรื่องนี้ก็คือ การพัฒนาสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการเมืองพวกหุ้นส่วนในภูมิภาคแถบนี้ของอเมริกาให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกับที่เน้นย้ำสร้างความมั่นใจให้แก่พวกเขาเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศจีน เรื่องการทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับดินแดนให้เอะอะตึงตังมากขึ้นนั้น สามารถเอื้อประโยชน์สำหรับการเรียกระดมเพิ่มความสนับสนุนทางการเมืองภายในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ก็จริงอยู่ แต่การกระทำเช่นนั้นกลับสร้างผลร้ายให้แก่การปรับปรุงยกระดับพลังอำนาจในระดับภูมิภาค รัฐบาลจีนควรที่จะตระหนักให้ถ่องแท้ว่า ในขณะที่พวกเขาเองหวาดกลัวการปักหลักหยั่งรากทางหทารเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ของวอชิงตัน พวกเพื่อนบ้านของจีนก็มีความวิตกกังวลในทำนองเดียวกันต่อสมรรถนะทางทหารที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของปักกิ่ง

ในขณะที่ประณามความเคลือบคลุมและความทะเยอทะยานในเรื่องดินแดนของฝ่ายจีน เพนตากอนก็ได้แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจทางยุทธศาสตร์ในระดับที่มากพอดูทีเดียว เกี่ยวกับสภาพลักษณะทางการทหารในปัจจุบันของแดนมังกร ในอนาคตอันใกล้นี้ สหรัฐฯกับจีนยังน่าที่จะแสดงท่าทีทางการทหารและทำจารกรรมอย่างแข็งกร้าวใส่กันต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทั้งปักกิ่งและวอชิงตันสามารถที่จะยอมรับและให้ความเคารพสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของกันและกันได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายก็จะบรรลุสู่ชัยชนะในรูปแบบหนึ่ง เป็นชัยชนะจากการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหลีกเลี่ยงการสู้รบขัดแย้งกัน ซึ่งดูจะมีแต่สร้างความวิบัติเสียหายและถึงที่สุดแล้วก็ปราศจากดอกผลอันใด

หมายเหตุ

[1] ดูเรื่อง "Pentagon accusation rejected", China Daily, May 8, 2013.

[2] ดูเรื่อง (ภาษาจีน) "US releasing the Chinese Military Power Report; worries about the development of offshore defense capabilities", China Daily, May 7, 2013.

[3] ดูเรื่อง "Pentagon touts US-China defense relations", China Daily, May 7, 2013.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
กำลังโหลดความคิดเห็น