xs
xsm
sm
md
lg

เสียงวิจารณ์ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ภูมิใจในกองทัพ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน พี โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US criticism stirs China’s military pride
By Brendan P O'Reilly
10/05/2013

รายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯว่าด้วยการพัฒนาทางการทหารของจีนฉบับล่าสุด ได้กล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาว่าภาครัฐของแดนมังกรกำลังทำการจารกรรมสืบความลับของอเมริกาผ่านทางไซเปอร์สเปซ แต่ขณะที่จีนออกมาตอบโต้การยั่วยุเช่นนี้โดยประณามว่าเป็นท่าทีมุ่งท้าตีท้าต่อยและแสดงอาการหวาดผวาจนเกินงาม รัฐบาลแดนมังกรก็ดูเหมือนรู้สึกภาคภูมิใจอยู่เหมือนกันที่ตนเองกำลังได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากอเมริกาในฐานะของการเป็นคู่ต่อสู้แข่งขัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

รายงานฉบับหนึ่งที่มีเนื้อหาว่าด้วยสถานะและสภาพลักษณะของการทหารของจีน ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) นำออกมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ฝ่ายข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯกำลังกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลจีนมีบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันกับการทำจารกรรมทางไซเปอร์สเปซอย่างกว้างขวาง เพื่อสืบหาความลับเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการทหารและระบบทางทหารต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน

ในรายงานฉบับนี้ยังได้บรรยายรายละเอียดในเรื่องที่จีนกำลังทำการลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพความสามารถอันเหมาะเจาะเป็นพิเศษ ในการนำมาใช้ตอบโต้ทัดทานฐานะครอบงำในภูมิภาคของอเมริกา ขณะที่สหรัฐฯกำลังปรับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังทางทหารอันเกรียงไกรของตนให้เข้ามาเน้นหนักในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่นี้ เพนตากอนก็ได้ใช้รายงานฉบับนี้มาตอกย้ำถึงความสนใจในเชิงยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจทั้งสองราย ตลอดจนการที่จีนกำลังลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการสร้างสมรรถนะความสามารถบางอย่างบางประการซึ่งอาจจะเป็นเครื่องท้าทายอันเชื่อถือได้ ในการต่อกรรับมือกับแสนยานุภาพทางทหารตามแบบแผน (นั่นคือ แสนยานุภาพทางทหารที่ไม่ใช่กำลังอาวุธนิวเคลียร์) ของอเมริกา ที่ยังคงมีความเหนือชั้นกว่าของจีนเป็นอย่างมาก

รายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดของรายงานที่รัฐสภาสหรัฐฯกำหนดให้กระทรวงกลาโหมต้องจัดทำขึ้นมาเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และใช้ชื่อเรื่องว่า “Annual Report to Congress: Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China, 2013” (รายงานประจำปีเสนอต่อรัฐสภา: พัฒนาการทางการทหารและทางด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำปี 2013) ได้กล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาว่า ภาครัฐของจีนทำการจารกรรมสืบหาความลับของสหรัฐฯผ่านทางไซเบอร์สเปซ โดยเขียนเอาไว้ดังนี้:

“ในปี 2012 ระบบคอมพิวเตอร์ในทั่วโลกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้ก็มีที่เป็นของรัฐบาลสหรัฐฯด้วย ยังคงตกเป็นเป้าหมายของการบุกรุกล่วงล้ำ โดยที่การบุกรุกล่วงล้ำดังกล่าว มีบางส่วนดูเหมือนจะสามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้โดยตรงถึงรัฐบาลจีนและฝ่ายทหารของจีน”

อันที่จริงแล้ว ช่วงไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ สื่อมวลชนอเมริกันก็อุดมไปด้วยเรื่องราวรายงานข่าวเกี่ยวกับแฮกเกอร์ชาวจีนพยายามเจาะระบบด้วยความมุ่งหมายที่จะโจรกรรมความลับทางทหารต่างๆ ของฝ่ายสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การเตือนภัยเหล่านั้นยังคงมาจากพวกบริษัทความปลอดภัยภาคเอกชนตลอดจนสื่อมวลชน เนื่องจากรายงานฉบับนี้เป็นรายงานอย่างเป็นทางการของเพนตากอน การกล่าวหาที่ปรากฏในรายงานจึงต้องถือว่ามีความสำคัญมากกว่าและก่อให้เกิดความฮือฮายิ่งกว่า

ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฉบับนี้ การทำจารกรรมทางไซเบอร์ของจีนมีจุดโฟกัสรวมศูนย์อยู่ที่การเจาะเข้าสู่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ทางการทหาร ถึงแม้พวกเครือข่ายทางการทูตและทางเศรษฐกิจก็ตกเป็นเป้าหมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนกำลังใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางทหารระดับล้ำหน้านำสมัยของสหรัฐฯ ด้วยความหวังที่จะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างระบบอาวุธเหล่านี้ขึ้นภายในแดนมังกรเอง

ทั้งนี้สืบเนื่องจากวอชิงตันประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 1990 ปักกิ่งจึงถูกจำกัดกีดกันในการซื้อหาอาวุธจากสหรัฐฯโดยตรง โปรแกรมพัฒนาการทหารให้ทันสมัยอย่างใหญ่โตกว้างขวางของจีนที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการจัดซื้อระบบเทคโนโลยีอันก้าวหน้าจากรัสเซียเป็นสำคัญ ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนนั้นกำลังใช้สมรรถนะทางไซเบอร์เพื่อให้สามารถเข้าสู่แหล่งความรู้ ซึ่งจะทำให้แหล่งที่มาของเทคโนโลยีทางทหารของตนมีความกระจายตัวมากขึ้น

**จุดยืนในภูมิภาคของปักกิ่ง**

รายงานของเพนตากอนฉบับนี้ยืนยันว่า สภาพลักษณะทางการทหารของจีนในปัจจุบัน จุดมุ่งหมายอันดับแรกสุดยังคงเล็งไปที่ไต้หวัน เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในปีก่อนๆ อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต รายงานเขียนเอาไว้เช่นนี้:

“สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงสืบต่อเดินหน้าโปรแกรมปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยอย่างรอบด้านและคำนึงถึงผลระยะยาว ซึ่งเป็นโครงการที่วางแผนจัดทำขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะปรับปรุงยกระดับสมรรถนะของกองทัพต่างๆ ของตน เพื่อให้สามารถทำการสู้รบและเอาชนะข้าศึกในความขัดแย้งทางทหารระดับภูมิภาคอันดุเดือดเข้มข้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้การเตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นมาในช่องแคบไต้หวัน ดูเหมือนยังคงเป็นจุดรวมศูนย์สำคัญที่สุดและเป็นพลังขับดันอันดับแรกในการลงทุนทางทหารของจีน”

ปักกิ่งนั้นแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามมานานแล้วว่าจะใช้กำลัง ถ้าหากไทเปหาทางที่จะประกาศตนเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี การประกาศเอกราชดังกล่าวนี้ เกือบจะแน่นอนทีเดียวว่าจะไม่เกิดขึ้นจากรัฐบาลพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งเป็นผู้ปกครองไต้หวันอยู่ในปัจจุบัน

แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันในเวลานี้ เป็นแนวโน้มของความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และการผูกพันทางการเมืองอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไทเปกับปักกิ่งต่างชื่นชอบมีความสุขกับความสัมพันธ์อันกระชับแน่นยิ่งขึ้นในขณะนี้ ยิ่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันในระยะเวลาใดๆ ในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น รายงานของเพนตากอนจึงดูเหมือนกับกำลังบอกกล่าวว่า สภาพลักษณะทางการทหารของปักกิ่งในปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายอันดับแรกอยู่ที่การสู้รบในสงครามซึ่งแทบแน่นอนแล้วว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาเลย อย่างน้อยที่สุดก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นในระยะเวลาหลายสิบปีต่อจากนี้ไป ถ้าหากไม่ใช่ตลอดไป

นอกเหนือจากเอ่ยถึงเรื่องที่ปักกิ่งให้ความเอาใจใส่มากที่สุดให้ความสนใจสูงที่สุดต่อไต้หวันแล้ว รายงานฉบับล่าสุดของเพนตากอนนี้ยังได้เน้นน้ำหนักให้ความสำคัญกับเรื่องการทะเลาะวิวาทช่วงชิงดินแดนที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์, เวียดนาม, และญี่ปุ่น ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจีนกับพวกประเทศที่เป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคของอเมริกาเหล่านี้ แน่นอนทีเดียวว่าเป็นความสนใจห่วงใยอันสำคัญประการหนึ่งสำหรับพวกผู้วางนโยบายในวอชิงตัน อย่างไรก็ดี หลังจากเอ่ยถึง “จุดร้อนระอุ” เหล่านี้แล้ว รายงานก็ได้แสดงให้เห็นว่า มีความเข้าอกเข้าใจอย่างเฉียบแหลมลึกซึ้ง เกี่ยวกับทัศนะมุมมองในปัจจุบันของฝ่ายจีน โดยรายงานระบุเอาไว้ดังนี้:

“จากคำแถลงอย่างเป็นทางการและจากสื่อมวลชนของทางการจีน ซึ่งปรากฏออกมาในระหว่างที่เกิดสถานการณ์เหล่านี้ บ่งบอกให้ทราบว่า จีนนั้นมองว่าตนเองกำลังตอบโต้ต่อสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์แห่งชาติของตน หรือกำลังตอบโต้ต่อสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็นการยั่วยุของพวกตัวแสดงภายนอก นอกจากนั้น การที่จีนไม่มีความโปร่งใสทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับสมรรถนะทางทหารซึ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของตน และทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ เหล่านี้ก็ทำให้ภายในภูมิภาคเกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเช่นกันเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของจีน”

การที่รายงานของเพนตากอนฉบับนี้ แสดงความรับรู้แสดงความเข้าใจถึงทัศนะมุมมองต่อภูมิภาคของฝ่ายจีนเช่นนี้ (ถึงแม้ยังคงตามมาอย่างรวดเร็วด้วยการกล่าวประณามอันซ้ำๆ ซากๆ เกี่ยวกับ “การไม่มีความโปร่งใส” ก็ตามที) เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายอเมริกันมีความเข้าอกเข้าใจอย่างสุกงอมเต็มที่ต่อประเทศจีน คู่ต่อสู้แข่งขันผู้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นศัตรูของตน

ความเข้าอกเข้าใจอย่างสุกงอมเต็มที่ทำนองเดียวกันนี้ ยังได้รับการเน้นย้ำให้เห็นอีกคำรบหนึ่ง ด้วยการที่รายงานฉบับนี้แสดงการรับรู้รับทราบถึงความหวั่นกลัวที่ฝ่ายจีนมีต่อบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายอเมริกา โดยรายงานเขียนเอาไว้ดังนี้:

“จีนยังคงมองสหรัฐฯว่าเป็นตัวแสดงที่มีฐานะครอบงำทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เป็นตัวแสดงที่มีศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งสามารถให้ความสนับสนุนการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน และก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่จะก่อกวนขัดขวางการก้าวผงาดดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังคงมีความกังวลห่วงใยด้วยว่า ถ้าหากพวกรัฐในภูมิภาคจะหันมามีทัศนะว่าจีนเป็นภัยคุกคามแล้ว รัฐเหล่านี้ก็อาจจะหาทางถ่วงดุลจีน ด้วยการปรับปรุงยกระดับการทหารของตนเองให้ทันสมัยแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือไม่ก็ด้วยการหาทางจับมือสร้างพันธมิตร โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการจับมือกับสหรัฐฯ พวกเจ้าหน้าที่จีนจำนวนมากตลอดจนสาธารณชนชาวจีนด้วย มองการที่สหรัฐฯหวนกลับมาดำเนินการปรับสมดุลใหม่ (rebalancing) ในเอเชีย ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “แนวความคิดในยุคสงครามเย็น” และมองว่ามันเป็นวิธีการที่มุ่งจะจำกัดมุ่งจะปิดล้อมการก้าวผงาดของจีน”

เมื่ออ่านเนื้อหาระหว่างบรรทัดของถ้อยคำเหล่านี้ เราย่อมที่จะรู้สึกได้ว่า รายงานของเพนตากอนชิ้นนี้กำลังวาดภาพจีนในฐานะประเทศซึ่งกำลังพยายามปรับเปลี่ยนดัดแปลงการทหารของตนเอง โดยที่การทหารดังกล่าวยังคงมีสภาพลักษณะมุ่งไปที่เรื่องการป้องกันตัวเป็นสำคัญ ขณะที่เราย่อมสามารถทำความเข้าใจในเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างไม่ยากเย็น ว่าทำไม ฮานอย, มะนิลา, ไทเป, และโตเกียว จึงดูเหมือนมองจีนว่าปํนประเทศที่อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามได้ ทว่าสำหรับปักกิ่งแล้วกลับกำลังมองข้ามเลยไปจากพวกคู่แข่งขันที่ค่อนข้างเล็กเหล่านี้ และไปให้ความสนใจยังด้านที่ไกลโพ้นออกไปของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ซึ่งแดนมังกรมองเห็นว่า สหรัฐฯซึ่งเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมของมนุษย์ มีความตั้งใจที่จะหยุดยั้งไม่ให้ปักกิ่งผงาดก้าวเข้าสู่ตำแหน่งแห่งที่อันชอบธรรมของตน ซึ่งก็คือ ณ จุดศูนย์กลางของโลก ทั้งนี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของรายงานประจำปีฉบับนี้ ในส่วนที่พูดถึงระบบอาวุธต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง ก็ยิ่งวาดภาพอันชัดเจนเพิ่มมากขึ้นไปอีก เกี่ยวกับหลักคิดทางการทหาร (military doctrine) ของจีนในปัจจุบัน ว่าโดยสาระสำคัญแล้วยังคงมีลักษณะอนุรักษนิยมโดยที่รายงานเขียนเอาไว้ดังนี้:

“เพื่อสนับสนุนกองทัพปลดแอกประชาชนจีนให้สามารถแสดงบทบาทและสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับการเพิ่มขยายออกไปอย่างขนานใหญ่ ในปี 2012 เหล่าผู้นำของจีนจึงได้ทำการลงทุนอย่างยาวไกล ทั้งในเรื่องขีปนาวุธนำวิถีติดหัวรบธรรมดาแบบพิสัยใกล้และแบบพิสัยกลางอันก้าวหน้าทันสมัย, จรวดร่อนเพื่อการโจมตีภาคพื้นดินและเพื่อการต่อต้านเรือผิวน้ำ, อาวุธเพื่อการตอบโต้ทางอวกาศ, และสมรรถนะด้านไซเบอร์สเปซทางการทหาร ซึ่งดูเหมือนออกแบบขึ้นมาเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในด้านการต่อต้านการเข้าถึง/การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial ใช้อักษรย่อว่า A2/AD) อันเป็นสิ่งที่พวกนักยุทธศาสตร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเรียกขานอ้างอิงว่าเป็น ‘การปฏิบัติการต่อต้านการแทรกแซง’ (counter-intervention operations)”

จีนนั้นไม่ได้มีความตั้งใจเป็นพิเศษอะไรที่จะทำการตระเตรียมตัวเพื่อเข้าทำสงครามกับพวกเพื่อนบ้านที่ทรงอำนาจน้อยกว่า อย่างเช่น เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจีนกลับกำลังเน้นหนักในเรื่องการพัฒนาระบบอาวุธซึ่งเบื้องต้นเลยสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องป้องปรามอันไว้วางใจได้ ในการต่อกรกับระบบอาวุธตามแบบแผนที่มีความเหนือชั้นกว่าอย่างมากมายของอเมริกา พวกเทคโนโลยีอาวุธเพื่อ “การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่” หรือที่ทางฝ่ายจีนเองอ้างอิงเรียกขานอย่างชัดเจนว่า เพื่อ “การต่อต้านการแทรกแซง” นั้น ได้รับการออกแบบอย่างเป็นพิเศษเพื่อปกป้องคุ้มครองแนวชายฝั่งของจีน ในกรณีที่เกิดสงครามในไต้หวันและรอบๆ เกาะไต้หวัน (ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยเอามากๆ) อย่างไรก็ตาม แน่นอนทีเดียวว่า ระบบอาวุธเหล่านี้ยังสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการป้องปรามหรือเพื่อการต่อต้านการเข้าแทรกแซงของฝ่ายอเมริกัน ถ้าหากมีการปะทะต่อสู้กันปะทุขึ้นในดินแดนซึ่งกำลังมีการพิพาทช่วงชิงกันอยู่ในเขตทะเลจีนใต้

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น