xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ‘พรรคหนุนไต้หวันเป็นเอกราช’ผูกสัมพันธ์‘ปักกิ่ง’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

DPP swallows pride, hooks up with CCP
By Jens Kastner
10/10/2010

แฟรงก์ เซี่ย ฉางถิง ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ได้เดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งพรรคซึ่งเอนเอียงไปทางข้างเรียกร้องต้องการให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชพรรคนี้ ยังยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างสายสัมพันธ์กับปักกิ่งให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันสายกลางจำนวนมากต้องการที่จะเห็น อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรค DPP แล้ว ดอกผลทางการเมืองที่ได้มาจากการวางตัวออกห่างจากขบวนการเรียกร้องเอกราช อาจต้องแลกกับการสูญเสียฐานสนับสนุนดั้งเดิมของตนเอง ซึ่งกำลังหันไปหาพรรคที่มีแนวทางแข็งกร้าวกันมากขึ้นๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ไทเป - แฟรงก์ เซี่ย ฉางถิง (Frank Hsieh Chang-ting ) อดีตนายกรัฐมนตรีไต้หวันและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) กำลังแสดงบทบาทเป็นเสมือน “เครื่องละลายน้ำแข็ง” เพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับพรรคการเมืองที่มีแนวทางต่อต้านการรวมไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่พรรคนี้ ได้บังเกิดความอบอุ่นสบายอกสบายใจกันขึ้นมาบ้าง หลังจากในอดีตที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความเย็นชาและความหงุดหงิดหุนหันพลันแล่นเข้าใส่กัน เซี่ย เดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเวลา 5 วันเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ตัวเขาเองประกาศออกไปว่ามันเป็นการเยือนที่ “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” แต่การที่เขากลายเป็นบุคคลระดับสูงที่สุดในพรรค DPP เท่าที่เคยเดินทางข้ามช่องแคบไต้หวัน ทำให้การเยือนของเขากลายเป็นข่าวใหญ่โตเอิกเกริกได้รับความสนอกสนใจอย่างกว้างขวาง

เรื่องที่ เซี่ย ได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูสุราอาหารจากบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอะไร เนื่องจากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเขา จะต้องเอื้ออำนวยให้ประโยชน์อันลึกซึ้งแก่บุคคลทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่ในขณะที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ยังจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในแดนมังกรก่อนที่เขาจะเกษียณก้าวลงจากตำแหน่งไปในปีนี้ปีหน้า ตัวเซี่ยเองก็กำลังสามารถทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญยิ่งของไต้หวันชนิดที่แทบจะขาดหายไปจากเวทีไม่ได้เลย

ทว่าสิ่งที่มีความกระจ่างชัดเจนน้อยกว่า ก็คือทางพรรค DPP จะได้อะไรมากน้อยแค่ไหน เพราะในขณะที่การไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ของผู้นำพรรคคนสำคัญอย่างเซี่ย อาจจะทำให้ DPP ได้คะแนนนิยมจากพวกผู้มีสิทธิออกเสียงความคิดกลางๆ ของไต้หวันซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความพออกพอใจมองเห็นคุณค่าและผลประโยชน์จากการมีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อถึงที่สุดแล้ว DPP ยังจะต้องมีการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับความสูญเสียของพรรค จากการที่แสดงท่าทีอันเป็นการหันเหทอดทิ้งพวกผู้สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชอย่างแข็งขัน ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคมาโดยตลอด

**รวมญาติรวมมิตร**

ในระหว่างปี 2000 ถึง 2008 เมื่อ DPP เป็นพรรคกุมอำนาจเข้าปกครองเกาะไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายของสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็คือฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่และฝ่ายไทเป เคยตกอยู่ในสถานการณ์ของการยืนอยู่ตรงขอบๆ เฉียดๆ จวนเจียนจะเกิดการทำสงครามห้ำหั่นกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ ปรากฏว่าพวกเจ้าหน้าที่ของ DPP กำลังทำตัวเหมือนๆ กับพวกคู่แข่งภายในประเทศของตนที่สังกัดอยู่ในพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (KMT) นั่นคือมีการยกโขยงเดินทางไปเยือนแผ่นดินใหญ่กันเป็นที่สนุกสนาน ในเวลาที่ยังอยู่บนเกาะไต้หวัน พวกสมาชิกพรรค DPP ที่มีตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาเมือง, นายกเทศมนตรี, ตลอดจนหัวหน้าผู้บริหารอำเภอและเขตแขวงต่างๆ อาจจะยกเหตุผลโต้แย้งด้วยท่าทางเอะอะตึงตัง เพื่อคัดค้านกระแสการปรองดองรอมชอมระหว่างสองฟากฝั่งของช่องแคบ แต่เมื่ออยู่ในแผ่นดินใหญ่ กล่าวกันว่าพวกเขาต่างสาละวนอยู่แต่กับการดูแลธุรกิจซึ่งสามารถทำรายได้อย่างงดงามของครอบครัวของพวกเขา หรือไม่ก็เที่ยวลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนจัดตั้งบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเฟื่องฟูยิ่ง ทว่าการเดินทางเยือนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมักถูกปะยี่ห้อเพื่อให้ฟังดูชอบด้วยเหตุผลว่า เป็นการเดินทาง “เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง” ของพวกนักการเมืองไต้หวันเหล่านี้ ไม่มีครั้งใดเลยที่สามารถดึงดูดความตื่นเต้นสนใจของสื่อมวลชน ได้อย่างมากมายใกล้เคียงกับการข้ามช่องแคบไต้หวันไปเยือนแผ่นดินใหญ่ของ เซี่ย เมื่อต้นเดือนนี้

ในเที่ยวการเดินทางเป็นเวลารวม 5 วันซึ่งนำเขาไปที่เมืองเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝู่เจี้ยน ที่อยู่คนละฝั่งช่องแคบกับเกาะไต้หวัน ตลอดจนไปยังกรุงปักกิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไปคราวนี้ เซี่ยและคณะผู้ติดตามของเขาได้มีโอกาสไปเคารพเซ่นไหว้หลุมศพบรรพบุรุษของเขา และพบปะพูดคุยกับพวกนักวิจัยของสถาบันคลังสมองชั้นนำ ตลอดจนข้าราชการระดับท็อป และเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในบัญชีรายชื่อเจ้าภาพที่ให้การต้อนรับเซี่ย ปรากฏนามของเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการผู้ทรงอิทธิพลหลายต่อหลายคน เป็นต้นว่า ไต้ ปิงกว๋อ (Dai Bingguo) มุขมนตรีแห่งรัฐ (State Councilor ตำแหน่งนี้ในประเทศจีนถือว่าเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี), เฉิน หยุนหลิน (Chen Yunlin) นายกสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน (Association for Relations across the Taiwan Straits) และ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (State Council Taiwan Affairs Office)

“การที่พี่ฉางถิงเดินทางมาเยี่ยมในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการแก้ไขคลี่คลายความผิดแผกแตกต่างกันที่มีอยู่ในระหว่างสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวัน” อี๋ว์ เข่อลี่ (Yu Keli) ผู้อำนวยการสถาบันไต้หวันศึกษา (Institute of Taiwan Studies) แห่งบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิจัยชั้นสูงของแดนมังกร กล่าวต้อนรับเซี่ยและคณะ “และเรายังมีความยินดีที่ได้ต้อนรับสมาชิกคนอื่นๆ ของพรรค DPP ที่เดินทางมาถึงแผ่นดินใหญ่ เพื่อการแลกเปลี่ยนกันในฐานะส่วนตัว”

สาเหตุที่ทางฝ่ายแผ่นดินใหญ่คลี่พรมแดงออกมาต้อนรับเซี่ยอย่างกระตือรือร้นเป็นพิเศษเช่นนี้ สืบเนื่องจากจุดยืนทางการเมืองของเขา ซึ่งมีความเป็นมิตรกับปักกิ่งอย่างผิดธรรมดาเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่ของพรรค DPP ด้วยกัน นโยบายอย่างเป็นทางการของ DPP นั้นถือว่าสาธารรัฐจีน (Republic of China) เป็นระบอบปกครองต่างชาติที่ถูกนำมาครอบให้แก่ไต้หวันโดยกองทหารก๊กมิ่นตั๋งที่กำลังถอยหนีออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ภายหลังประสบความพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองของจีน แต่ เซี่ย มีความเห็นที่เบี่ยงเบนออกไป โดยเขาเรียกร้องให้พรรค DPP ยอมรับรองความชอบธรรมของสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการ และดังนั้นจึงเท่ากับเป็นการยอมรับโดยอ้อมๆ ด้วยว่าแท้ที่จริงแล้วไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติครั้งท้ายสุดของไต้หวันเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งแล้วครั้งเล่าบ่งบอกออกมาอย่างดื้อรั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเลยว่า ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว เจ้าของตำแหน่งที่เป็นผู้สมัครของพรรค KMT และ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ผู้ที่พรรค DPP ส่งเข้าประกวดและถือเป็นคู่แข่งขันคนสำคัญที่สุดของ หม่า นั้น กำลังมีคะแนนนิยมเสมอกันอยู่ จวบจนกระทั่งยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงของหม่า มีการปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหัน โดยหันมาบอกชาวไต้หวันว่า ถ้าหากพรรค DPP เป็นฝ่ายชนะ มันก็จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งไต้หวัน ซึ่งก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจด้วย ปรากฏว่าจากนั้นเป็นต้นมา หม่า ก็สามารถแซงหน้า ไช่ และเอาชนะเธอไปได้อย่างงดงาม ภายหลังความปราชัยในการเลือกตั้งคราวนั้น พรรค DPP ได้ดำเนินกระบวนการสรุปบทเรียนและค้นหาหลักนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมของตนอยู่เป็นเวลายาวนาน ซึ่งคำตอบที่ได้ออกมาเป็นสิ่งที่แทบทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันหมด นั่นก็คือ ไช่พ่ายแพ้เพราะประสบความล้มเหลวไม่สามารถแสดงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงมองเห็นได้ว่า มีการเปิดช่องทางติดต่อสื่อสารอย่างจริงจังระหว่างพรรค DPP และพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาแล้ว การเดินทางเยือนจีนแผ่นดินใหญ่เที่ยวนี้ของเซี่ย ก็มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะแก้ไขความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้องนั่นเอง

พวกผู้สังเกตการณ์ต่างเห็นด้วยว่า DPP จำเป็นที่จะต้องใช้กลเม็ดเช่นนี้ ถ้าหากพรรคต้องการกลับขึ้นมาครองอำนาจอีก กระนั้นก็ตาม สมาชิกพรรคคนสำคัญที่สุด 2 คน ซึ่งต่างก็มีความทะเยอทะยานที่จะได้เป็นผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016 อันได้แก่ สือ เจิงฉาง (Su Tseng-chang) ประธานพรรค DPP คนปัจจุบัน และ ไช่ อิงเหวิน ผู้เป็นประธานพรรคคนก่อนหน้า ต่างจับตามองการเดินหมากคราวนี้ของเซี่ยด้วยความหวาดระแวง

“ทั้ง สือ และ ไช่ ต่างไม่ชอบเลย แต่ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งเขาได้ ทั้งคู่ต่างก็ต้องการที่จะปรองดองรอมชอมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นกัน แต่ไม่รู้ว่าควรจะเดินหมากอย่างไรและเมื่อใด” เฉิน อินชิน (Chen In-chin) อาจารย์ของสถาบันบัณฑิตนิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ (Graduate Institute of Law and Government) แห่ง มหาวิทยาลัยส่วนกลางแห่งชาติ (National Central University) ของไต้หวัน วิเคราะห์ให้เอเชียไทมส์ออนไลน์ฟัง “ขณะที่เซี่ยเป็นคนสำคัญคนหนึ่งภายในพรรค DPP อยู่แล้ว มาในตอนนี้เขาก็ยิ่งกลายเป็นคนสำคัญมากขึ้นไปอีก สืบเนื่องจากการเดินทางเที่ยวนี้”

เฉินแสดงความคิดเห็นต่อไปว่า เวลานี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า เซี่ย นั้นต้องการที่จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้เข้มแข็งเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค หรือว่าเขาพึงพอใจแล้วบทบาทของการเป็นผู้อยู่หลังฉากในการกำหนดตัวบุคคลที่จะก้าวขึ้นเป็นประมุขของประเทศ แต่ถ้าหากเขาตัดสินใจที่จะแสดงบทบาทอย่างหลังแล้ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะกลายเป็นประโยชน์แก่ ไช่ “เนื่องจากเธอสามารถเสนอผลประโยชน์อะไรดีๆ ให้เขาได้มากกว่า” อาจารย์เฉินบอก

เยนส์ คัสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น