xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ‘พรรคหนุนไต้หวันเป็นเอกราช’ผูกสัมพันธ์‘ปักกิ่ง’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

DPP swallows pride, hooks up with CCP
By Jens Kastner
10/10/2010

แฟรงก์ เซี่ย ฉางถิง ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ได้เดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งพรรคซึ่งเอนเอียงไปทางข้างเรียกร้องต้องการให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชพรรคนี้ ยังยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างสายสัมพันธ์กับปักกิ่งให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันสายกลางจำนวนมากต้องการที่จะเห็น อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรค DPP แล้ว ดอกผลทางการเมืองที่ได้มาจากการวางตัวออกห่างจากขบวนการเรียกร้องเอกราช อาจต้องแลกกับการสูญเสียฐานสนับสนุนดั้งเดิมของตนเอง ซึ่งกำลังหันไปหาพรรคที่มีแนวทางแข็งกร้าวกันมากขึ้นๆ

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2*

(ต่อจากตอนแรก)

**ผลงานทิ้งทวนของหู**

หู จิ่นเทา นั้นมีกำหนดที่จะปลดเกษียณจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนของเขา ในสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในตอนต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ในการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนของจีน (รัฐสภาจีน) ตอนต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นไปอย่างที่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือเขายังจะนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission หรือ CMC) ของพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปอีกอย่างน้อยที่สุด 2 ปีแล้ว เขาและกลุ่มที่สนับสนุนเขาก็จะยังต้องดำเนินการเจรจาต่อรองอีกมากมายทีเดียวกับผู้คนที่อยู่แวดล้อม สี จิ้นผิง ผู้ได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งต่างๆ ต่อจากเขา การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันในปักกิ่งนั้น สามารถที่จะกลายเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายขึ้นมาอย่างง่ายดายทีเดียว ดังมีตัวอย่างสาธิตให้เห็นอย่างชัดแจ้งอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการตกลงสู่อำนาจที่กลายเป็นข่าวเอะอะเกรียวกราวของ ป๋อ ซีไหล ผู้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในกรณีของหู ผู้นำที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคผู้นี้ มีเหตุผลมากมายที่จะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมาว่า เหล่าผู้นำตลอดจนประชาชนชนรุ่นหลังในอนาคต จะทบทวนประเมินคุณค่ามรดกทางการเมืองของเขาไปในทางไหน ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ภายในการนำของเขา เศรษฐกิจของจีนสามารถสร้างความก้าวหน้าได้อย่างโดดเด่นก็จริงอยู่ ทว่าปัญหาสาหัสหนักหน่วงจำนวนมากก็ได้กลับกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ, ความอยุติธรรมในสังคม, ช่องว่างทางด้านความมั่งคั่งร่ำรวยที่กำลังถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ, และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สมเหตุสมผล กระทั่งตั้งแต่ก่อนที่เขาจะปลดเกษียณเสียอีก การที่เขาล้มเหลวไม่ได้เข้าแก้ไขบรรเทาปัญหาเหล่านี้ ก็กำลังก่อให้เกิดการถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์กันภายในแดนมังกร ทั้งอย่างเปิดเผยและอย่างเป็นการส่วนตัว

อาจจะมีผู้คนจำนวนมากทีเดียวมองว่า วิธีการใช้ “ไม้อ่อน” ต่อไต้หวันของเขา กลายเป็นวิธีการชั้นเยี่ยมที่ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่สามารถเข้าถึงและเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกๆ ส่วนของสังคมไต้หวันอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน และได้ทำให้สายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบปรับปรุงดีขึ้นอย่างน่าตื่นใจในระยะหลังๆ นี้ เรื่องนี้แหละควรได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในความสำเร็จอันสำคัญของ หู ที่ควรแก่การจดจำของคนรุ่นหลัง กระนั้นก็มีบางคนบางฝ่ายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มย่อยอันทรงอำนาจทรงอิทธิพลของ เจียง เจ๋อหมิน ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธการใหญ่พรรคและประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนหน้า หู กลับมีทัศนะที่ว่า วิธีการที่หูนับมาใช้จัดการกับประเด็นเรื่องไต้หวันนั้น เป็นวิธีที่เชื่องช้าเกินไปในการสร้างผลลัพธ์ เนื่องจากจนถึงเวลานี้ยังมองไม่เห็นวี่แววเลยว่า การรวมชาติระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันจะมีโอกาสมีลู่ทางบังเกิดขึ้นมาได้ในที่สุด

“หู สามารถพูดได้ว่า นโยบายของเขาดีกว่าของ เจียง มาก (นโยบายของเจียงนั้นที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1990 ก็คือการให้ความสำคัญแก่การข่มขู่คุกคามด้วยกำลังทหาร) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรค DPP กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการกระเตื้องดีขึ้นมาก” อาจารย์เฉินกล่าว และชี้ว่า “สายสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้นเท่าใด ปักกิ่งก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นที่จะส่งอิทธิพลต่อการเมืองภายในของไต้หวัน”

นอกจากนั้น ถ้าหากพิจารณาจากความเป็นจริงในเวลานี้ที่ว่า สไตล์การบริหารการปกครองของประธานาธิบดีหม่า อยู่ในลักษณะค่อนข้างเงอะงะงุ่มง่ามจนอาจจะทำให้พรรค KMT กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งคราวหน้า เมื่อมองด้วยจุดยืนและแง่มุมของทางปักกิ่งแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างชัดเจนที่จะต้องหาตัวเลือกอื่นเผื่อเอาไว้เพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยง หม่า ซึ่งคะแนนการยอมรับผลงานจากประชาชนกำลังยืนอยู่ในระดับเพียงแค่ 17% มีการเดินหมากที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงครั้งแล้วครั้งเล่า โดยครั้งหลังสุดก็คือตอนปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อ หวัง อี้ฉี (Wang Yu-chi) ผู้เพิ่งได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีสภากิจการแผ่นดินใหญ่ (Mainland Affairs Council Minister) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่รับผิดชอบเรื่องความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน และก็เป็นคนที่ หม่า คัดเลือกมาเองกับมือ ได้ถูกพวกสมาชิกรัฐสภาของพรรค DPP เล่นงานจนเสียมวย โดยในจำนวนภาพภ่ายของสมาชิกทั้ง 9 คนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันเป็นคณะบุคคลผู้ทรงอำนาจและทรงความสำคัญสูงสุดในพรรคนั้น หวัง สามารถระบุชื่อได้อย่างถูกต้องเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

ในเที่ยวเดินทางที่ถือเป็นการสร้างหลักหมายใหม่ของเขาในคราวนี้ เซี่ยได้เตรียมของขวัญชิ้นเล็กๆ สำหรับมอบให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและบรรดาสถาบันทางวิชาการที่อยู่ในเครือของพรรค โดยที่ของขวัญนี้อยู่ในรูปลักษณ์ของคำขวัญเตะตาว่า “ฉันทามติตามรัฐธรรมนูญ” (constitutional consensus) ทั้งนี้ อุปสรรคข้อขัดข้องสำคัญที่คอยขัดขวางการแลกเปลี่ยนต่างๆ ระหว่างสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวัน มักเป็นเรื่องที่ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับรองการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเป็นทางการ โดยที่เรายังไม่ต้องพูดไปถึงขั้นการรับรองความถูกต้องชอบธรรมที่จะดำรงคงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เนื่องจากปักกิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีการอ่อนข้อให้แม้แต่น้อยนิดเด็ดขาดในเรื่องนี้ มันจึงตกเป็นภาระของชนชั้นนำทางการเมืองของฝ่ายไต้หวัน ที่จะประดิษฐ์คิดสร้างแนวคิดใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ปักกิ่งรู้สึกว่า มันสามารถแผ้วถางทางไปสู่การรวมชาติได้ ทว่าสำหรับผู้คนชาวไต้หวันส่วนข้างมากซึ่งโดยทั่วไปมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งในเรื่องที่จะเกิดการรวมชาติขึ้นมา ความหมายอันแท้จริงของพวกแนวคิดที่ฟังดูหรูๆ เหล่านี้ กลับออกมาในทางตรงกันข้าม

มีตัวอย่างอยู่มากมายเหลือเกิน ในเรื่องคำขวัญที่แสนจะกำกวมจนแม้กระทั่งคนไต้หวันที่เชี่ยวชาญในเรื่องการประดิษฐ์ถ้อยคำทางการเมืองได้อย่างคมคายชัดเจน ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามันมีความหมายจริงๆ ว่าอย่างไรกันแน่ เป็นต้นว่า “ฉันทามติปี 1992” ("1992 consensus"), “การเห็นพ้องร่วมกันในการที่จะไม่เห็นพ้อง” ("agreeing to disagree"), “หนึ่งประเทศ สองพื้นที่” ("one country, two areas"), “หนึ่งประเทศ สองนคร” ("one country, two cities"), “หนึ่งจีนตามรัฐธรรมนูญ” ("constitutional one China"), “หนึ่งรัฐธรรมนูญ สองการตีความ” ("one constitution, two interpretations"), และ “ฉันทามติตามรัฐธรรมนูญ” ("constitutional consensus") ทั้งนี้คำขวัญ 4 อันหลังสุดนั้นปรากฏว่าออกมาจากมันสมองของ เซี่ย นี่เอง เบื้องหลังของคำขวัญทั้งหมดเหล่านี้คือแนวความคิดที่ว่าไต้หวันแท้ที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแนวความคิดที่จวบจนถึงเวลานี้ ประชากรชาวไต้หวันส่วนที่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่ง รวมทั้งพรรค DPP ด้วย ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับ

เนื่องจากเซี่ยไปเยือนแผ่นดินใหญ่ในนามส่วนตัวเขาเอง เขาจึงไม่ได้พูดในฐานะเป็นตัวแทนของพรรค DPP แต่ถ้าหากผลจากการเยือนของเขาเกิดทำให้พรรค DPP เกิดเห็นดีเห็นงามที่จะเดินไปในทิศทางที่เขาเสนอแนะแล้ว ชาวไต้หวันส่วนที่ถึงอย่างไรก็ไม่ต้องการเห็นการรวมชาติ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนมนามสาหัสแค่ไหน และไม่ว่าภายใต้สภาพการณ์เช่นไรก็ตามที พวกเขาเหล่านี้ก็คงจะหันหลังให้พรรค DPP แล้วใครเล่าคือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนั้น เรื่องนี้ก็มองเห็นได้อย่างชัดเจน

“ถ้าหาก DPP ยอมทิ้งเรื่องการประกาศเอกราชของไต้หวัน มันก็จะเป็นผลบวกสำหรับสหภาพสามัคคีไต้หวัน (Taiwan Solidarity Union หรือ TSU) เนื่องจากท่าทีทางการเมืองของประชาชนจำนวนมากๆ นั้น ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ” อาจารย์เฉิน กล่าวอธิบาย และแจกแจงต่อไปว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้มองเห็นได้อย่างชัดเจนมากในการเลือกตังครั้งหลังสุด เมื่อพรรคการเมืองนอกกระแสหลักที่มีนโยบายต่อต้านปักกิ่งอย่างเหนียวแน่นอย่าง TSU สามารถวางตัวทำคะแนนได้ดีอย่างผิดคาด จนกระทั่งกลายผู้เล่นที่น่าเชื่อถือลำดับที่ 3 ในรัฐบาลไต้หวัน

“ผู้ออกเสียงที่ต้องการให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชนั้น จำนวนมากทีเดียวไม่ได้ไว้เนื้อเชื่อใจ ไช่ อิงเหวิน และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมพรรค TSUจึงสามารถคว้าคะแนนเสียงมาได้มากอย่างน่าแปลกใจ นั่นคือได้มา 9% ทีเดียวในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติคราวนี้” เฉินกล่าว

เยนส์ คัสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น