xs
xsm
sm
md
lg

‘ข้าวไต้หวัน’ส่งออกไปญี่ปุ่นและจีนแผ่นดินใหญ่

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwan rice farmers set for export boom
By Jens Kastner
06/08/2012

ข้าวไต้หวันกำลังทำท่าจะเป็นสินค้าส่งออกขายดิบขายดี ในเมื่อความต้องการของญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้น ภายหลังประเทศนี้ต้องประสบภัยพิบัติทางนิวเคลียร์สืบเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันยอดขายในจีนแผ่นดินใหญ่ก็กำลังได้รับการสนับสนุนส่งเสริม ดังนั้น ชาวนาของเกาะไต้หวันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุกันทั้งนั้น จึงต้องเร่งรีบฉวยคว้าโอกาสที่ลอยมาถึงในขณะที่พวกเขายังสามารถที่จะกระทำได้

เมื่อเร็วๆ นี้เอง ประตูเข้าไปสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดญี่ปุ่น ได้เปิดถ่างอ้าซ่าให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวในไต้หวัน ในญี่ปุ่นนั้น ความหวาดกลัวเกี่ยวกับการปนเปื้อนรังสีนิวเคลียร์ กำลังทำให้พวกผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือฉาวในเรื่องความจู้จี้ความช่างเลือก เกิดความปรารถนาที่จะซื้อหาข้าวสารต่างประเทศ ในเวลาเดียวกัน ข้ามช่องแคบไต้หวันไปในจีนแผ่นดินใหญ่ ข้าวไต้หวันก็กำลังเริ่มเข้ายึดครองชั้นวางตามซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลในทางการเมืองหลายอย่างหลายประการ

ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา เมื่อไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (WTO) และดังนั้นจึงต้องกระทำการที่เท่ากับการใช้อุตสาหกรรมการเกษตรภายในไต้หวันเป็นเครื่องเซ่นสังเวย เพื่อแลกเปลี่ยนกับความเจริญรุ่งเรืองของพวกอุตสาหกรรมไฮเทค ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ดูเหมือนว่าบรรดาผู้ผลิตข้าวของเกาะแห่งนี้ จะยืนอยู่ในข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์

จากการที่ภัยพิบัติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Dai-ichi) บังเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญพื้นที่หนึ่งของญี่ปุ่น จึงไม่น่าประหลาดใจที่บรรดาแม่บ้านชาวญี่ปุ่นเริ่มต้นรู้สึกว่าเป็นการปลอดภัยกว่ากันมาก ถ้าหากซื้อข้าวสารที่ปลูกในต่างประเทศมาหุงหาให้ครอบครัวของพวกเธอรับประทานกัน แต่ก่อนโตเกียวมักขึ้นชื่อลือฉาวในความเป็นนักลัทธิกีดกันการค้าเสมอมาเมื่อมาถึงเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรจากต่างประเทศ ทว่าเมื่อความชื่นชอบของพวกผู้บริโภคในท้องถิ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ก็เป็นแรงกดดันทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องผ่อนปรนท่าทีของตนลงไปบ้าง

ถึงแม้ว่าในจำนวนข้าว 9 ล้านตันที่ขายกันในญี่ปุ่นในรอบปี 2011 ยังมีเพียง 440 ตันเท่านั้นที่นำเข้าจากไต้หวัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 298,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตัวเลขนี้ก็กลายเป็นการทำลายสถิติเดิมแล้ว ยิ่งกว่านั้น ตามข้อมูลของสภาการเกษตรแห่งไต้หวัน (Taiwanese Council of Agriculture) เฉพาะช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ พ่อค้าข้าวชาวญี่ปุ่นได้จัดซื้อข้าวจากแถบตอนกลางและตอนใต้ของไต้หวันไปแล้วเป็นจำนวน 1,500 ถึง 2,000 ตัน

ทำไมคนญี่ปุ่นจึงนิยมข้าวไต้หวันมากกว่าข้าวสายพันธุ์จีนและข้าวสายพันธุ์ไทย เรื่องนี้มีคำตอบ

หู เซิงเฉิง (Hu Sheng-Cheng) นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน อะคาเดเมีย ซินิคา (Academia Sinica) สถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของไต้หวัน บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “ข้าวออร์แกนิกมูลค่าสูงของไต้หวัน มีคุณภาพดีตามมาตรฐานของญี่ปุ่น นอกจากนั้น ความน่าเคี้ยวของตัวเนื้อข้าว ที่เรียกกันว่า คิวคิว อิเฟกต์ (QQ-effect) ก็เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวญี่ปุ่นมากกว่า”

ถ้าหากโตเกียวยอมเปิดประตูต้อนรับตลาดข้าวนำเข้าจากต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก ก็ย่อมเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับชาวนาไต้หวัน โดยที่ตามความเห็นของ หู แล้ว “บริเวณที่ปนเปื้อนรังสีรอบๆ ฟูกูชิมะ มีขนาดใหญ่โตมากทีเดียว ดังนั้นจึงน่าจะมีความต้องการซื้อหาข้าวออร์แกนิกคุณภาพสูงของไต้หวัน”

ขณะที่ยังน่าสงสัยอยู่ไม่ใช่น้อยว่า ในที่สุดแล้วกลุ่มล็อบบี้ด้านการเกษตรของญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลบารมีอย่างสูงลิ่ว จะยินยอมปล่อยให้ข้าวไต้หวันสามารถส่งไปยังญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากๆ จริงล่ะหรึอ แต่สำหรับในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว สิ่งต่างๆ กลับได้รับการจัดเตรียมให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นคล่องตัว

ในปี 2011 ข้าวไต้หวันที่ขายได้ในจีนแผ่นดินใหญ่มีมูลค่าเพียงแค่ 77,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ทว่าเรื่องราวดูเหมือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่โตมโหฬารตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เมื่อ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้อำนวยการของสำนักงานกิจการไต้หวัน (Taiwan Affairs Office) ของฝ่ายแผ่นดินใหญ่ ประกาศว่า จีนจะอนุญาตให้นำเข้าข้าวไต้หวัน โดยที่เรื่องนี้เป็นหนึ่งในท่าทีต่างๆ จำนวนมากซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ชาวไต้หวันเกิดความซาบซึ้งใจต่อแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น

หลังจากนั้นพวกเจ้าหน้าที่จีนก็สาละวนกับการหาทางผ่อนปรนระเบียบวิธีในการกักกันโรคพืช ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการนำเข้าข้าวไต้หวัน รวมทั้งยังได้กำหนดให้เก็บภาษีนำเข้าในอัตราเพียงแค่ 1% เท่านั้น ต่อมา บรรษัทไชน่า เนชั่นแนล ซีเรียลส์, ออยล์, แอนด์ ฟู้ดสตัฟส์ คอร์เปอเรชั่น (China National Cereals, Oils and Foodstuffs Corporation หรือ COFCO) และ บริษัทเซี่ยเหมิน ซีชายน์ ฟู้ด ดีเวลอปเมนต์ คอมพานี ลิมิเต็ด (Xiamen Seashine Food Development Co Ltd.) ซึ่งต่างเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนกันทั้งคู่ ก็ได้ออร์เดอร์ข้าวไต้หวัน และอีกเพียง 1 เดือนให้หลัง ข้าว “ไถเคน 9” (Taiken 9) จากอำเภอจางหวา (Changhua) ของไต้หวัน ก็ได้รับการลำเลียงเข้าสู่ตลาดแผ่นดินใหญ่ ในการขนส่งทางเรือข้ามช่องแคบไต้หวันรวม 2 เที่ยวที่ต้องถือว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีข้าวไต้หวันอีก 80 ตันซึ่งมีกำหนดขนส่งกันตอนปลายเดือนนี้หรือไม่ก็ในช่วงต้นเดือนกันยายน

ตั้งแต่นั้นมาก็มีรายงานว่า พบเห็นข้าวไถเคน 9 ขนาดบรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม วางจำหน่ายกันตามซูเปอร์มาร์เก็ตในแผ่นดินใหญ่ เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้รับคำบอกเล่าว่าราคาขายที่ติดไว้ไม่ได้ถึงกับโดดเด่นอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของพวกคู่แข่งภายในแผ่นดินใหญ่ และตามคำพูดของ ตู้ อี๋ว์ (Du Yu) แห่ง ทีมเฉพาะกิจเฉิน-หลี่ เพื่อการปฏิรูปทางการเกษตร (Chen-Li task force for Agricultural Reform) ของไต้หวัน เสียงตอบรับจากผู้บริโภคบนแผ่นดินใหญ่เท่าที่ได้รับทราบมาจนถึงเวลานี้ ก็ถือว่า “ไม่เลว” เลย

ตู้ อี๋ว์ ชี้ว่า พวกสมาคมชาวนาไต้หวันต่างมีความดีอกดีใจเป็นพิเศษที่เห็นโอกาสในการบุกเข้าสู่ตลาดจีนอันใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ แต่สำหรับตัวเขาเองนั้นเขาก็เห็นอันตรายบางประการด้วยเหมือนกัน

“ถ้าหากต้องพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่มากเกินไปแล้ว ก็จะเป็นการลดทอนแรงจูงใจของชาวนาไต้หวัน ในการยกระดับเทคโนโลยีและวิธีการทางการตลาด” ตู้ อี๋ว์ เตือน “ดังนั้นในระยะยาวและในบริบทระดับทั่วโลกแล้ว นี่ไม่สามารถถือเป็นเรื่องดีได้หรอก”

เขาแจกแจงต่อไปว่า ปัญหาท้าทายสำคัญๆ ที่กำลังเผชิญภาคการเกษตรของไต้หวันอยู่ในเวลานี้ ได้แก่ การที่ชาวนาไต้หวันในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงมาก (คือ 61 ปี ซึ่งเท่ากับราวๆ 2 เท่าตัวของอายุเฉลี่ยของคนที่กำลังทำงานในอาชีพอื่นๆ), ขนาดที่ดินที่ใช้เพาะปลูกเล็กมาก (เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.1 เฮกตาร์ หรือประมาณ 6.88 ไร่ โดยที่มีไม่ถึง 10% ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 10 เฮกตาร์ หรือประมาณ 62.5 ไร่), ขณะที่สภาพดินก็ไม่ได้ดีเด่อะไร ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดกันถึงปัจจัยอย่างอื่นๆ อีก แต่จากการที่การทำธุรกิจในแผ่นดินใหญ่มีความสะดวกง่ายดายเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ความพยายามในการเอาชนะปัญหาท้าทายเหล่านี้กลายเป็นเรื่องถูกเมินโดยถือเป็นเรื่องรองลงไป

นอกจากนั้น ตามคำบอกเล่าของ ตู้ อี๋ว์ พวกตัวแทนจัดซื้อของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเที่ยวตระเวนไปตามที่ต่างๆ บนเกาะไต้หวันนั้น เบื้องต้นทีเดียวตั้งเป้าหมายที่จะซื้อผลผลิตที่มีปริมาณล้นเกินเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่า ข้าวไต้หวันที่พวกเขาสนใจซื้อ เป็นผลิตภัณฑ์ “เกรดธรรมดา” แทนที่จะเป็นระดับ “บูติก” พิเศษและมีน้อย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลไต้หวันกำลังส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวนาผลิตออกมา

ถ้าหากในตอนนี้จีนตัดสินใจที่จะซื้อข้าวไต้หวันกันเป็นประจำ แทนที่จะซื้อหลังจากมีปริมาณล้นเกินแล้ว ผลผลิตเกรดธรรมดาๆ ก็ยังจะต้องได้รับการปรับปรุงยกระดับให้ดีขึ้น ซึ่งย่อมต้องใช้ทั้งเวลาและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ตู้ อี๋ว์ ระบุ

“ถ้าจะต้องมีการใช้ความพยายาม (เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ความต้องการเฉพาะเจาะจงของชาวจีนแผ่นดินใหญ่) ผู้วางนโยบายของไต้หวันก็จะต้องขบคิดพิจารณาด้วยว่า หากแบบแผนการจัดซื้อของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันแล้ว มันก็จะส่งผลกระทบกระเทือนอันร้ายแรงขึ้นในภาคการเกษตรของเกาะแห่งนี้ได้”

นักเศรษฐศาสตร์ หู เซิงเฉิง ก็กล่าวเตือนในทำนองเดียวกันว่า ถ้าหากปักกิ่งเพิ่มโควตานำเข้าข้าวไต้หวันขึ้นไปมากๆ แล้ว ก็สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า ความเฟื่องฟูของการส่งออกข้าวไปแผ่นดินใหญ่นี้จะมีอายุสั้น

“ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดลางสังหรณ์ขึ้นมาว่า ทันทีที่ข้าวออร์แกนิกมูลค่าสูงของไต้หวัน เกิดติดตลาดขึ้นมาในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว พวกนักธุรกิจไต้หวันที่ไปตั้งฐานอยู่ในแผ่นดินใหญ่ก็จะพากันก็อปปี้พันธุ์ข้าว แล้วขายข้าวที่พวกเขาผลิตเลียนแบบได้ในราคาต่ำกว่า ด้วยเหตุนี้ สำหรับชาวนาไต้หวันแล้ว ก็คงจะเก็บดอกผลอย่างเป็นกอบเป็นกำกันได้เพียงชั่วระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ก็คงยากที่จะทำกำไรเพิ่มได้อีก”

เยนส์ คัสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น