xs
xsm
sm
md
lg

คลอด “ข้อตกลงปกป้องประโยชน์นักลงทุนไต้หวัน-จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเจียง ปิ่งคุน ประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวัน (SEF) ของไต้หวัน(ขวา) และนายเฉิน อวิ๋นหลิน แห่งสมาคมความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน (Arats) ของแผ่นดินใหญ่(ซ้าย) เป็นผู้แทนของสองฝ่ายในการลงนามข้อตกลงฯ 9 ส.ค. (ภาพเอเอฟพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ / เอเอฟพี - จีนและไต้หวันจรดหมึกลงนามในข้อตกลงด้านการลงทุนในวันพฤหัส (9 ส.ค.) ขณะที่ผู้ประท้วงส่งเสียงต่อต้านอยู่เต็มถนนกรุงไทเป ไม่เห็นด้วยที่ไต้หวันจะใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่

นายเจียง ปิ่งคุน ประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวัน (SEF) ของไต้หวัน และนายเฉิน อวิ๋นหลิน แห่งสมาคมความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน (Arats) ของแผ่นดินใหญ่ เป็นผู้แทนของสองฝ่ายในการลงนามข้อตกลงฯ ในรอบล่าสุดนี้ ซึ่งการเจรจาแต่ละรอบจะมีการจัดทุก ๆ 6 เดือน นับแต่เดือนมิ.ย. 2551 เป็นต้นมา ทั้งนี้องค์กรสองฝั่งช่องแคบฯ เป็นองค์กรหลักที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายในการเจรจาและทำธุรกรรมทั้งปวง

เจียงกล่าวว่า “ข้อตกลงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักธุรกิจทั้งหมด และจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนให้ดีขึ้น ทั้งยังฟื้นฟูศักยภาพในการแข่งขันให้กับทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีความร่วมมือในระดับภูมิภาคนับไม่ถ้วน”

ข้อตกลงปกป้องการลงทุนระหว่างช่องแคบไต้หวัน เป็นที่โหยหามายาวนานของนักธุรกิจไต้หวัน ซึ่งก็คลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วในการเจรจาระดับสูงรอบที่ 8 นี้ โดยมีข้อกำหนดเพื่อช่วยนักลงทุนที่ประสบปัญหาเวนคืนสถานประกอบการ และปัญหาทางด้านกฎหมายกับรัฐบาลท้องถิ่นทั้งปวง

นอกจากนั้นเฉิน และเจียงยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกระบวนการทางภาษี เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นโดยไร้อุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงต่อต้านการลงนามประมาณ 700 คน เดินขบวนบนท้องถนนกรุงไทเป ในนั้นมีสมาชิกลัทธิฝ่าหลุนกงด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,300 คน ออกมายืนคุมบริเวณโดยรอบสถานที่ลงนาม ซึ่งเป็นโรงแรมที่ตีนเขากรุงปักกิ่ง เจ้าหน้าที่ฯ ใช้ลวดหนาม และรถบรรทุกขนาดเล็กล้อมบริเวณอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าไป

เฉิน เช่อ ผู้ประท้วงรายหนึ่งเผยว่า “ฉันต่อต้านการลงนาม เพราะจีนกำลังพยายามคุมเศรษฐกิจไต้หวัน การลงนามมีเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งก็คือการรวมชาติในอนาคต ฉันกลัวว่าอนาคตไต้หวันต้องตกอยู่ในเงื้อมมือจีน หากปราศจากประชาธิปไตย พวกเราคงไม่เหลืออะไร”
กลุ่มผู้ประท้วงไม่เห็นด้วยกับลงนามข้อตกลงช่วยนักลงทุนชาวไต้หวัน 9 ส.ค. (ภาพเอเอฟพี)
แผนปกป้องการลงทุน

ข้อตกลงปกป้องการลงทุน อันเป็นประโยชน์แก่บรรดาประชากรนักธุรกิจ ตลอดจนผู้อาศัยการทำธุกิจและสมาคมต่าง ๆ สัญชาติไต้หวันที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ข้อตกลงฯ นี้มีความสำคัญสูงสุดนับแต่ 2 ฝ่ายลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA) ในเดือนมิ.ย. 2553 ซึ่งข้อตกลง ECFA เป็นข้อตกลงทางการค้ามีรายละเอียดให้ลดกำแพงภาษี เพิ่มการเข้าถึงทางตลาด

ก่อนหน้านี้ เจียง และเฉิน มักจะพบปะกันในการประชุมเดือนมิ.ย.สำหรับการเจรจาในแต่รอบ ทว่าครั้งที่ผ่านมาจำต้องเลื่อนมาจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจาก 2 ฝ่ายไม่สามารถแก้ปัญหาพิพาทด้านการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไต้หวันและจีนใหญ่ได้

ไต้หวันเริ่มเจรจาต่อรองข้อตกลงการลงทุนกับแผ่นดินใหญ่ในช่วง 6 เดือนหลังจากข้อตกลง ECFA มีผลบังคับในเดือนต.ค. 2553 เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิของนักธุรกิจไต้หวันบนแผ่นดินใหญ่ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ล้มเหลวไม่สามารถบรรลุการลงนามข้อตกลงได้ใน 2 รอบการเจรจาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อตกลงปกป้องการลงทุนไม่เพียงจะจัดระบบเพื่อสนับสนุนการป้องกันผลประโยชน์นักลงทุนจากสองฝ่าย แต่ยังคงสร้างสิ่งแวดล้อมการลงทุนให้น่าพิศมัยมากขึ้น ตลอดจนช่วยตอกย้ำสิทธิของนักลงทุนไต้หวันบนแผ่นดินใหญ่ด้วย

หน่วยธุรกิจของไต้หวันมีเสียงบ่นมานานแสนนานเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนกลไกจัดการข้อพิพาททางธุรกิจบนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าแผ่นดินใหญ่มีกฎหมายช่วยปกป้องสิทธิของนักลงทุนไต้หวันอยู่ฉบับหนึ่ง แต่กฎหมายนั้นมักจะไม่มีตัวบทที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้อย่างเพียงพอ อาทิ ปัญหาพิพาททางธุรกิจที่นำมาสู่การยึดหุ้นส่วน หรือสินทรัพย์การลงทุนอื่น ที่นักลงทุนชาวจีนใหญ่มักกระทำต่อบริษัทไต้หวันที่ตนมีหุ้นส่วน

กรณีศึกษา ศึกพิพาทการค้าบริษัทไต้หวันในจีน

ขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ของไต้หวันที่มีส่วนขัดแย้งกับคู่ค้าจีนไม่น้อย ล่าสุดกรณีของ ฟาร์อินเทิร์นกรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าชื่อ แปซิฟิก โซโก ทั้งในไต้หวันและแผ่นดินใหญ่

ระหว่างการประชุมที่กรุงไทเปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ฟาร์อิสเทิร์นฯ ระเบิดอารมณ์ใส่คู่ค้าแผ่นดินใหญ่ กรณีห้างสรรพสินค้าสาขาเฉิงตู และต้าเหลียน ว่า มีการแทรกแซงการทำงานโดยตัดไฟฟ้า แถมยังขึ้นค่าเช่าโดยพลการถึง 5 เท่า ฝ่ายไต้หวันเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลท้องถิ่นฯ กลับไม่ได้รับการแยแสแต่อย่างใด

“แม้จะมีกฎหมายในจีนที่พิทักษ์ผลประโยชน์นักธุรกิจไต้หวัน แต่พวกเขาก็มักจะตกเป็นเหยื่อของคู่ค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ละเมิดเจตนารมณ์ของข้อตกลง และบีบบังคับเอาสิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยกำลัง” โซเฟีย หวง ประธานหญิงของแปซิฟิก โซโกฯ กล่าวในกรุงไทเป

นอกจากนั้นยังมีอีกกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมา ชินกง มิทซูโคสึ หรือ ซินกวงซานเย่ว์ ซึ่งเป็นบริษัทก่อตั้งระหว่างกลุ่มชินกวงของไต้หวัน และอิเซตัน มิทซูโคสึ โฮวดิ้งส์ ของญี่ปุ่น ขายหุ้นส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งที่สองฝ่ายไปลงทุนที่ปักกิ่งให้แก่คู่ค้าแผ่นดินใหญ่นาม เป่ยจิง หวาเหลียน กรุ๊ป นอกจากนั้นความขัดแย่งเก่า ในปี 2550 กลายเป็นตัวเร่งให้ซินกวงกรุ๊ปพยายามจะแบ่งแยกข้อผูกมัดด้านการจัดการในการลงทุนออกจากกัน

อู่ ซินต๋า ผู้จัดการทั่วไปของซินกวง มิทซูโคสึในกรุงปักกิ่งถูกตำรวจแผ่นดินใหญ่จับตัวไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมในปี 2550 ในข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีส่วนพัวพันกับเจ้าหน้าที่ชาวไต้หวันคนอื่น ๆ อีกด้วย

ตำรวจเข้าจับกุมขณะที่เขาเกือบจะบินกลับมายังไต้หวัน สื่อไต้หวัน รายงานว่า เป่ยจิงฮวาเหลียนไล่ผู้บริหารชาวไต้หวันของซินกวงเพลสออกกว่า 10 คน กล่าวหาว่าเป็นพวกรับสินบน และมีความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างโครงการหนึ่ง

หลังมีการรายงานข่าวการจับกุม และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกิจการไต้หวันของคณะมุขมนตรีจีนยื่นมือเข้ามาแทรกแซง จึงได้มีการปล่อยตัวอู๋ และต่อมาเขาเดินทางกลับไต้หวัน

วันที่ 12 ก.ย. 2550 ซินกวง มิทซูโคสึ และเป่ยจิง หวาเหลียน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุว่า ข้อขัดแย้งเกิดจาความแตกต่างต้านหลักการปฏิบัติงานและการจัดการ และเป่ยจิง หวาเหลียนพิจารณาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก และขอโทษ

“ทำธุรกิจในจีนเสี่ยงมาก ไม่เพียงแต่คู่ค้าชาวจีนจะพยายามกลืนธุรกิจที่มาทำในจีน แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังไปให้การสนับสนุนคู่ค้าชาวจีนอีก” วิลเลียม เกา ประธานสมาคมเหยื่อนักลงทุนในจีนเผย
กำลังโหลดความคิดเห็น