xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายจำนำข้าวของไทยทำให้ตลาดโลกปั่นป่วน

เผยแพร่:   โดย: มาร์วาน มาแคน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Thai rice policy stirs market
By Marwaan Macan-Markar
04/10/2011

รัฐบาลไทยกำลังดำเนินนโยบายซึ่งระบุว่าจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชาวไทยได้รับราคาที่ดีขึ้นสำหรับผลผลิตของพวกเขา แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจทำให้พวกผู้บริโภคระหว่างประเทศต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของไทย หรือไม่ก็เปลี่ยนไปหาชาติผู้ปลูกข้าวรายอื่นๆ ในตลาดเวลานี้ที่มีผู้ขายอยู่มากหน้าหลายตา แถมผู้ผลิตชาวอินเดียก็กำลังกลับเข้ามาร่วมวงด้วยอีกคำรบหนึ่ง

กรุงเทพฯ – ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเพื่อทำให้ตลาดข้าวระหว่างประเทศเกิดความปั่นป่วน ด้วยการดำเนินการตามนโยบายใหม่ที่ระบุว่าจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชาวไทยได้รับผลตอบแทนที่ดีเป็นกอบเป็นกำขึ้น ทว่าในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ราคาข้าวไทยพุ่งสูงจนกระทั่งไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

“ประเทศไทยจะมีโอกาสอันดีทีเดียวในการทดสอบความจงรักภักดีของผู้บริโภค ในทันทีที่นโยบายใหม่ในเรื่องข้าวของไทยส่งผลกระทบต่อตลาดโลก” ซามาเรนดู โมหันตี (Samarendu Mohanty) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute ใช้อักษรย่อว่า IRRI) บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS)

“ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงมากขึ้นสำหรับซื้อข้าวหอมมะลิ ตลอดจนข้าวชนิดอื่นๆ ของไทย” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสผู้นี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานของสถาบัน IRRI “อันที่จริงตลาดก็ได้เริ่มต้นแสดงปฏิกิริยากันออกมาแล้ว ด้วยการที่ราคาข้าวกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม”

ประเทศไทยที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ในฐานะชาติผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น นอกเหนือจากผลิตข้าวหอมมะลิที่มีเม็ดยาวเรียวแล้ว ยังปลูกข้าวขาวธรรมดาๆ ปริมาณมากมาย โมหันตีให้ความเห็นว่า ลงท้ายแล้ว ข้าวไทยที่มีราคาแพงขึ้นมากเช่นนี้ จะขายได้เพียงใด “เรื่องของรสนิยม” จะกลายเป็นตัวตัดสิน

ข้าวไทยส่งออกในระดับราคาใหม่จะถูกทดสอบในทั่วทั้ง 4 ทวีปทีเดียว พวกชาติแอฟริกาอย่างเช่น ไนจีเรีย, โกตดิวัวร์, และแอฟริกาใต้ ต่างเป็นผู้ซื้อข้าวไทยรายใหญ่ทั้งนั้น สำหรับในเอเชีย ฟิลิปปินส์ ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก และอินโดนีเซีย คือชาติที่อยู่ในลำดับหัวแถว ขณะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็กำลังกลายเป็นตลาดในโลกพัฒนาแล้วที่ขยายตัวได้อย่างสม่ำเสมอสำหรับข้าวไทย

การที่ราคาข้าวไทยน่าจะขยับสูงขึ้นไปอีกมากนั้น สืบเนื่องจากคณะรัฐบาลอายุ 3 เดือนของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินหน้าดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง นั่นคือการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรของประเทศที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้วยระดับราคาสูงกว่าระดับในตลาดปัจจุบันถึงเกือบ 50%

ภายใต้นโยบายใหม่ในเรื่องข้าวดังกล่าวนี้ รัฐบาลให้สัญญาที่จะจ่ายเงินแก่เกษตรกรโดยตรงในราคาตันละ 15,000 บาท (517 ดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับข้าวขาวที่อยู่ในรูปข้าวเปลือก และตันละ 20,000 บาทสำหรับข้าวหอมมะลิ ระดับราคาดังกล่าวนี้ถือว่าสูงขึ้นมากจากราคาเฉลี่ยในรอบ 10 ปีของข้าวขาวไทยที่ขายกันในตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งตกตันละ 400 ดอลลาร์เท่านั้น ทั้งนี้ข้าวขาวถือเป็นมาตรวัดระดับราคาข้าวไทยโดยรวม

ตามตัวเลขประมาณการของพวกเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของไทย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวราว 4 ล้านคนได้จดทะเบียนเข้าร่วมในโครงการใหม่นี้ ทั้งนี้มาตรการเอื้อประโยชน์ทางการเงินอย่างงดงามเช่นนี้ ถูกนำออกมาใช้ในจังหวะเวลาที่เกษตรกรกำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทั้งปุ๋ย, ยาปราบวัชพืช, และน้ำมัน ล้วนแต่มีราคาแพง

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แถลงว่า ราคาข้าวไทยในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นไปจนถึงระดับตันละ 800 ดอลลาร์ทีเดียวในช่วงต่อไปของปีนี้ เปรียบเทียบกับเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ตันละ 629 ดอลลาร์แล้ว ก็นับว่าทะยานขึ้นไปอย่างน่าตระหนก ทั้งๆ ที่ราคาเดือนกันยายนที่อ้างอิงถึงนี้ ถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2009 เป็นต้นมาอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมจึงเตือนว่า สภาพเช่นนี้จัดว่ามีความเสี่ยงอย่างสูง

“รัฐบาลกำลังทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นถึง 50% ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน เรื่องนี้จะทำให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกไม่ไหว” นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา “การที่รัฐบาลกำลังใช้จ่ายเงินเป็นแสนๆ ล้านบาทเพื่อแทรกแซงตลาดข้าวเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยดูเหมือนจะไม่ย่นระย่อและยังคงเดินหน้าต่อไป นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ แถลงว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะเข้าร่วมกับคณะผู้แทนไทยในการทำโรดโชว์ระหว่างประเทศ เพื่ออธิบายให้ชาติต่างๆ เข้าใจนโยบายใหม่ที่มุ่งช่วยเหลือคนยากจนของรัฐบาลไทย “เราต้องการช่วยเกษตรกรของเรา” นายกิตติรัตน์กล่าวกับสื่อท้องถิ่น

นโยบายข้าวของคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งสามารถชนะใจได้คะแนนเสียงจากผู้คนในชนบทจนกระทั่งชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอยในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะเริ่มต้นขึ้นในจังหวะเวลาที่ตลาดโลกไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลนข้าว ถึงแม้ประเทศไทยซึ่งส่งออกข้าวปีละเกือบๆ 10 ล้านตัน เป็นผู้ส่งออกข้าวประมาณ 30% ของทั่วโลก

ชาติที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งปีที่แล้วส่งออกข้าวเป็นจำนวน 6.7 ล้านตัน เท่ากับ 22% ของยอดส่งออกข้าวในตลาดทั่วโลก ผู้ส่งออกชั้นนำรายอื่นๆ ยังมี ปากีสถาน, จีน, และสหรัฐอเมริกา

การใช้นโยบายใหม่ในเรื่องข้าวของไทย ยังอยู่ในช่วงเวลาที่อินเดียหวนกลับเข้ามายังตลาดข้าวระหว่างประเทศอีกคำรบหนึ่ง ภายหลังยุติคำสั่งห้ามส่งออกข้าวที่มิใช่ข้าวบัสมาตี ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลา 4 ปี ปัจจุบันพวกพ่อค้าข้าวชาวอินเดียได้รับใบอนุญาตให้ส่งออกได้คิดเป็นปริมาณข้าว 2 ล้านตันแล้ว

“ธรรมดาแล้วถ้าหากเพลเยอร์ระดับประเทศไทย ดำเนินการโครงการทำนองนี้ คุณก็ควรคาดหมายเอาไว้ว่าราคาในตลาดโลกจะต้องพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว” โมหันตี แห่งสถาบัน IRRI ตั้งข้อสังเกต “แต่จากซัปพลายที่มีอยู่แล้วในตลาด ตลอดจนข้าวที่ออกมาจากพวกประเทศซัปพลายเออร์ข้าวซึ่งกำลังก้าวผงาดกันขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พม่า, กัมพูชา, หรือบราซิล ดังนั้นเราจึงจะไม่เห็นวิกฤตเกิดขึ้นซ้ำรอยวิกฤตข้าวในปี 2008 หรอก”

ในปี 2008 นั้น ราคาข้าวโลดลิ่วไปจนอยู่ในระดับเกินกว่าตันละ 1,000 ดอลลาร์ ส่งผลกระทบกระเทือนปากท้องของคนยากจนที่สุดของโลก โดยที่สองในสามของผู้คนดังกล่าว หรือตกราวๆ 600 ล้านคน เป็นพวกที่พำนักอยู่ในเอเชีย ทั้งนี้สาเหตุของวิกฤตในปีนั้น ประเด็นเรื่องสต็อกข้าวของโลกอยู่ในระดับต่ำคือสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างกันมากที่สุด โดยที่มีข้อเท็จจริงด้วยว่า ในเวลานั้นพวกชาติผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเวียดนามและจีน ต่างประกาศใช้มาตรการจำกัดควบคุมการส่งออก เพื่อรับมือกับภาวะความไม่มั่นคงด้านอาหารภายในประเทศของตัวเอง

อย่างไรก็ดี นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย พยายามมองอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเขาบอกว่า “จำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรไทยเพื่อทำให้พวกเขายังคงปลูกข้าวต่อไป” และ “รัฐบาลสัญญาที่จะให้ราคาสูงๆ ก็เพื่อทำให้เกษตรผู้ปลูกข้าวไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ได้ราคาดีขึ้น อย่างเช่น มันสำปะหลัง และยางพารา” นายชาญชัยกล่าว

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น