เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รายงานล่าสุดที่มีการเผยแพร่ในวันจันทร์ (3) ยืนยันว่า จีน อินเดีย และปากีสถาน สามชาติมหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ยังคงทำการเพิ่มจำนวนหัวรบในครอบครองของตนอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในรายงานประจำปีของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI)
ในขณะนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนมีหัวรบนิวเคลียร์เป็น 250 หัวรบ เพิ่มจาก 240 หัวในปี 2012 ส่วนทางด้านปากีสถานได้เพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของตนเป็นระหว่าง 100-120 หัวรบ ส่วนจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในความครอบครองของอินเดียล่าสุดมีระหว่าง 90-110 หัวรบ
SIPRI ชี้ว่า การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสันติภาพอันเปราะบางของเอเชียจากความตึงเครียดนับตั้งแต่ปี 2008 ระหว่างอินเดียและปากีสถาน จีนกับญี่ปุ่น ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมถึง ข้อพิพาทระหว่างชาติในเอเชียอื่นๆ
การเพิ่มพูนจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีน อินเดีย และปากีสถาน สวนทางกับความพยายามของรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ยังคงเดินหน้าลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของตนลง โดยรัสเซียทำการลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของตนจาก 10,000เหลือ 8,500 หัวรบ ขณะที่สหรัฐฯ ปรับลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองของตนลงจาก 8,000 เหลือ 7,700
ขณะที่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในความควบคุมของฝรั่งเศสยังคงที่อยู่ที่จำนวน 300 หัว ส่วนของสหราชอาณาจักรยังคงมี 225 หัวรบตามเดิม และของอิสราเอล 80 หัวรบ
อย่างไรก็ดี รายงานของ SIPRI ยังคงไม่ได้นับรวมเกาหลีเหนือและอิหร่านในฐานะของชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ โดยให้เหตุผลว่าโครงการนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ประเทศยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น
ขณะเดียวกัน รายงานของ SIPRI ยังระบุว่า ความพยายามในการลดจำนวนและควบคุมหัวรบสำหรับติดอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพของนานาชาติดูจะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า โดยทั้งสหรัฐฯและรัสเซียต่างมิได้ทำลายหัวรบอาวุธเคมีของตนตามที่เคยให้คำมั่นไว้ในปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ซึ่งมีอาวุธประเภทดังกล่าวในครอบครองก็ตกเป็นข่าวว่ากำลังเตรียมนำอาวุธร้ายแรงชนิดนี้ออกมาใช้หากถูกรุกรานจากกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ
รายงานฉบับนี้ยังพบว่า ตัวเลขของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกได้ลดจำนวนลงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทยอยถอนกำลังทหารของหลายประเทศออกจากอัฟกานิสถาน
ทั้งนี้ รายงานประจำปีของ SIPRI ยังพบว่า ยอดการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลกในปี 2012 ได้ปรับตัวลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ขณะที่จีนขยับแซงหน้าสหราชอาณาจักรขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลกได้สำเร็จ ตามหลังสหรัฐฯ รัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส