(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Towards a new Korean war?
By Bruno Hellendorff and Thierry Kellner
09/04/2013
การดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชของเกาหลีเหนือ เพื่อทำให้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันแลดูแตกต่างออกไปจากความจนตรอกครั้งก่อนๆ บ่งบอกให้เราเห็นว่ามันคือการตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ประดาถ้อยคำโวหารและพฤติกรรมแบบชวนทะเลาะวิวาทไม่เลิกรา ต่างก็เป็นการวางแผนเตรียมการเอาไว้เพื่อมุ่งส่งเสริมยกระดับฐานะของระบอบปกครองคิม จองอึน ในแวดวงนานาชาติ และค้ำประกันให้การรวมศูนย์ผนึกอำนาจภายในประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แล้วในเมื่อการแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด กำลังทำให้ คิม แลดูมีรัศมีบารมีแห่งความเป็นผู้นำที่ชนะสงครามขึ้นมา จึงดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ของเขากำลังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทีเดียว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**ภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ไม่มีความแน่นอน**
ไม่เพียงความท้าทายภายในประเทศ บริบทในทางระหว่างประเทศก็สร้างความยากลำบากให้แก่เกาหลีเหนือในทุกวันนี้เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำในบรรดาชาติเพื่อนบ้านทั้งหมดมีผลสรุปออกมาว่า ฝ่ายการเมืองที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นและมีแนวคิดแบบสายเหยี่ยว พากันผงาดขึ้นครองอำนาจในประเทศเหล่านี้กันเป็นแถว (โดยที่สำคัญที่สุดก็คือในเกาหลีใต้และในญี่ปุ่น) ในสหรัฐฯ จากการที่บารัค โอบามา ได้รับเลือกตั้งกลับมาครองตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง ย่อมหมายความว่าศัตรูรายสำคัญที่สุดของเปียงยางเฉกเช่นสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันเจตนารมณ์ของตนที่จะมีส่วนมีเสียงในการกำหนดทิศทางกิจการต่างๆ ของเอเชียให้มากขึ้น ภายใต้การประกาศป่าวร้องถึง “ศตวรรษแห่งแปซิฟิก” วอชิงตันกระทั่งทำท่าจะพยายามสร้างสมรวบรวมความสำเร็จทางการทูตในประเทศแถบนี้ให้มากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นในพม่า, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, และอื่นๆ
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ความสนอกสนใจของพวกมหาอำนาจใหญ่ๆ ที่มีต่อเกาหลีเหนือผู้กระจ้อยร่อย ดูเหมือนกับว่าจะจืดจางไปมาก ในเวลาเดียวกับที่พวกเขาเพิ่มโฟกัสไปยังสิ่งที่เรียกขานกันว่าเป็นยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” (pivot) ในเอเชียของอเมริกัน ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดในการซ้อมรบร่วมทางทหารประจำปีระหว่างกองทหารเกาหลีใต้กับกองทหารสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “โฟล อีเกิล” (Foal Eagle) ปี 2013 นี้ ได้มีการนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ทั้งแบบ บี-52 และแบบ บี-2 ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์อันล้ำยุค (สเตลธ์ stealth) ตลอดจนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-22 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ในรุ่น 5 (fifth-generation) ล่าสุดและมีเทคโนโลยีสเตลธ์เช่นกัน เข้ามาบินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือคาบสมุทรเกาหลี ความเคลื่อนไหวที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เป็นอย่างยิ่งเช่นนี้ ปรากฏว่าปักกิ่งแทบไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อะไร ทั้งนี้การนำเอาเครื่องบินทหารเหล่านี้เข้ามา ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือนั้น มีส่วนอย่างมากทีเดียวในการเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นอีก เพราะเสมือนกับยืนยันสิ่งที่เปียงยางหวั่นเกรง อีกทั้งเน้นย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจของสหรัฐฯด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุรูปธรรม
เพื่อตอบโต้ต่อความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันเหล่านี้ เปียงยางอาจจะพยายามใช้เครื่องมือทางการทูตและกลไกแห่งการบีบคั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ด้วยการอาศัยยุทธวิธีคลาสสิกของตนซึ่งบัดนี้เป็นที่เข้าใจซาบซึ้งของฝ่ายอื่นๆ เป็นอันดี ยุทธวิธีดังกล่าวก็คือ “ยั่วยุแล้วเจรจา” (provoke-then-negotiate) ซึ่งโสมแดงรู้สึกว่าตนเองงัดเอาออกมาใช้ทีไรก็มักได้ผลไปเสียทุกครั้ง เป็นต้นว่า เกาหลีเหนือมองว่าการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวข่มขู่คุกคามเมื่อปี 1993 นั้น ได้รับการตอบรับจากสหรัฐฯด้วยการที่วอชิงตันยินยอมให้การค้ำประกันด้านความมั่นคง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและพลังงานในปีถัดมา (ตามข้อตกลงแม่บทระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ Agreed Framework between the United States of America and the Democratic People's Republic of Korea และการจัดตั้งองค์การพัฒนาพลังงานคาบสมุทรเกาหลี Korean Peninsula Energy Development Organization หรือ KEDO) ช่วงตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2008 โสมแดงก็ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ นานา จาก “นโยบายอาทิตย์สาดแสง” (Sunshine policy) ของ 2 ประธานาธิบดีหัวเอียงซ้ายของเกาหลีใต้ คิม แดงจุง (Kim Dae-jung) และ โรห์ มูเฮียน (Roh Moo-hyun)
จากการตกลงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลี (inter-Korea summit) ในปี 2000 เป็นที่เข้าใจกันว่า เกาหลีเหนือได้รับ “สินบน” มหาศาลจากโซลทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อโสมแดงจุดชนวนวิกฤตครั้งต่างๆ ไม่ว่าจะในปี 2003 (การลาออกจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์), ปี 2005 (การข่มขู่ที่จะถอนตัวจาก “การเจรจา 6 ฝ่าย”), ปี 2006 (การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรก), ปี 2008 (การขับไล่พวกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศออกไปจากเกาหลีเหนือ), และปี 2009 (การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 2) ปรากฏว่าเกาหลีเหนือก็ได้รับรางวัลตอบแทนเช่นเดียวกัน กล่าวคือ สหรัฐฯกับเกาหลีใต้ตกลงยินยอมอย่างเป็นระบบที่จะให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนยินยอมอ่อนข้อในประการต่างๆ เพื่องอนง้อให้เปียงยางยอมกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา ในปี 2010 ทั้งโซลและวอชิงตันต่างเลือกใช้วิธีเอาอกเอาใจ ในการตอบโต้กรณีเกาหลีเหนือยิงเรือรบ “โชนัน” (Cheonan) จมทะเล (ซึ่งทำให้ทหารเรือเกาหลีใต้เสียชีวิตไป 46 คน) และกรณีโสมแดงยิงถล่มเกาะยอนพะยอง (Yeonpyeong Island) ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งถึงเวลานี้ การใช้นโยบายยั่วยุนับว่าเป็นประโยชน์แก่เปียงยางเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ มันยังจะถูกงัดขึ้นมาใช้อีกในวันนี้
**ยุทธศาสตร์ที่มีความเสี่ยง**
เกาหลีเหนือไม่ได้ทำอะไรอย่างแข็งตัวทื่อมะลื่อ และก็ไม่ใช่ทำอะไรอย่างไร้เหตุผลไม่มีที่มาที่ไป เราสามารถโต้แย้งได้ด้วยซ้ำว่า การที่เกาหลีเหนือแสดงให้เห็นศักยภาพในการสร้างอันตรายด้วยความเสมอต้นเสมอปลายดังที่กล่าวมาข้างต้น คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้องมีแผนการอยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของโสมแดงน่าที่จะมุ่งต่อภายในประเทศมากกว่าต่อภายนอกประเทศ เกาหลีเหนือนั้นไม่ได้เป็น “อาณาจักรแห่งฤาษี” (Hermit kingdom) อย่างที่ถูกตั้งฉายากล่าวขานถึงอะไรนักหรอก หากแต่เป็นประเทศที่กำลังพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเล่นไพ่ใบท้ายๆ ที่ตนเองยังเหลืออยู่ในเวทีระดับโลก
การที่โสมแดงเคลื่อนไหวอนุมัติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อรับรองฐานะความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ตามที่เกาหลีเหนือประกาศอ้างเอาเองนั้น สิ่งที่ประเทศนี้กำลังพยายามกระทำก็คือสาธิตให้เห็นว่าตนจะเพิ่มพูนขยายความสามารถในการป้องปรามทางด้านนิวเคลียร์ นอกจากนั้น นี่ยังอาจเป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้นในการแข่งขันกับพวกปรปักษ์ของตน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันจะช่วยหนุนส่งสนับสนุนความพยายามของเปียงยางในการหาจุดยืนที่เป็นฝ่ายได้เปรียบมากยิ่งขึ้นเมื่อถึงเวลาที่เผชิญกับสหรัฐฯบนโต๊ะเจรจาต่อรอง เช่นเดียวกันการที่โสมแดงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมชวนทะเลาะเบาะแว้งไม่หยุดหย่อน เบื้องลึกลงไปก็คือประเทศนี้กำลังทำให้ฐานะระหว่างประเทศของตนเข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้ตนเองกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศอันสำคัญสำหรับพวกมหาอำนาจทั้งหลาย ตลอดจนทำให้ตนเองอยู่ในฐานะของการเป็นคู่เจรจาต่อรองที่ขาดหายไปไม่ได้ จากการสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้ขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ต่อภายในเกาหลีเหนือเอง ระบอบปกครองคิม จองอึน ก็สามารถอ้างเครดิตในเรื่องการวางตนสมฐานะเป็นประเทศเอกราชและทรงอำนาจ โดยที่มีความซื่อสัตย์มั่นคงต่อมรดกแห่งการปฏิวัติของคิม อิลซุง
เกาหลีเหนืออาจจะแบไต๋ออกมาให้เห็นแล้ว เมื่อตอนที่ประกาศยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงปี 1953 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะนอกเหนือจากเป็นพฤติการณ์ที่หมายถึงการเลือกจะทำสงครามเกาหลีต่อไปแล้ว การตัดสินใจคราวนี้ยังอาจจะตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะเริ่มต้นทำการเจรจากับวอชิงตันและโซลอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพอันถาวรระหว่างกัน โดยที่วอชิงตันกับโซลจะต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ตามที่เปียงยางประสงค์ เกาหลีเหนือกำลังดิ้นรนหนักเหลือเกินเพื่อที่จะทำให้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันนี้แลดูแตกต่างออกไปจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ ความพยายามอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าจนตรอกเช่นนี้ ทำให้ยากยิ่งที่จะไม่ทำให้เราหวนกลับไปคิดว่า การออกมายั่วยุต่างๆ ของโสมแดงในระลอกนี้ แท้ที่จริงแล้วอาจจะเป็นการตะเกียกตะกายเพื่อเอาชีวิตรอด –เป็นการเล่นพนันโดยนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีราคาของตนซึ่งยังเหลืออยู่ มาวางเป็นเดิมพัน
ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะได้ผล ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ข้อแรก พวกศัตรูของเกาหลีเหนือต้องเห็นการข่มขู่คุกคามของโสมแดงเป็นเรื่องที่สาหัสจริงจัง ข้อที่สอง ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยโดยที่โซลกับวอชิงตันเลือกใช้วิธีเอาอกเอาใจมารับมือกับการคุกคามของเกาหลีเหนือ ถ้าหากประสบความสำเร็จได้รับข้อตกลงความมั่นคงฉบับใหม่จากการยั่วยุอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชดังกล่าวแล้ว มันก็จะทำให้คิม จองอึน มีรัศมีบารมีแห่งผู้นำที่ประสบชัยชนะในสงครามขึ้นมาในดินแดนของเขาเอง และกลายเป็นการที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรองโดยพฤตินัยต่ออำนาจและความชอบธรรมของเขา นอกจากนั้นมันยังจะเปิดที่ทางและเปิดโอกาสให้แก่การดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ภายในประเทศอีกด้วย แต่ไม่ว่าเปียงยางจะมีการคาดคำนวณไปอย่างไรก็ตามที นโยบายต่างๆ ที่เดินออกมาก็ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยง และนี่แหละคือด้านที่แย่ๆ ของการแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากก้าวไปไกลเกินไปสักก้าวหนึ่ง หรือก้าวเบี่ยงออกไปสักก้าวหนึ่ง มันก็อาจจะนำไปสู่การพังพินาศ หรือสงครามได้ทีเดียว
บรูโน เฮลเลนดอร์ฟฟ์ เป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันวิจัยบริหารรัฐกิจแห่งเยอรมนี (German Research Institute for Public Administration ใช้อักษรย่อว่า GRIP) และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Université catholique de Louvain วิทยาเขต Louvain-la-Neuve ประเทศเบลเยียม ส่วน เธียร์รี เคลล์เนอร์ เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ ของ ULB (Université libre de Bruxelles) วิทยาเขตบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และเป็นสมาชิกของศูนย์การวิจัยและการสอนการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ULB (Center of Research and Teaching in International Politics ใช้อักษรย่อว่า REPI-ULB)
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ
Towards a new Korean war?
By Bruno Hellendorff and Thierry Kellner
09/04/2013
การดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชของเกาหลีเหนือ เพื่อทำให้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันแลดูแตกต่างออกไปจากความจนตรอกครั้งก่อนๆ บ่งบอกให้เราเห็นว่ามันคือการตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ประดาถ้อยคำโวหารและพฤติกรรมแบบชวนทะเลาะวิวาทไม่เลิกรา ต่างก็เป็นการวางแผนเตรียมการเอาไว้เพื่อมุ่งส่งเสริมยกระดับฐานะของระบอบปกครองคิม จองอึน ในแวดวงนานาชาติ และค้ำประกันให้การรวมศูนย์ผนึกอำนาจภายในประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แล้วในเมื่อการแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด กำลังทำให้ คิม แลดูมีรัศมีบารมีแห่งความเป็นผู้นำที่ชนะสงครามขึ้นมา จึงดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ของเขากำลังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทีเดียว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**ภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ไม่มีความแน่นอน**
ไม่เพียงความท้าทายภายในประเทศ บริบทในทางระหว่างประเทศก็สร้างความยากลำบากให้แก่เกาหลีเหนือในทุกวันนี้เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำในบรรดาชาติเพื่อนบ้านทั้งหมดมีผลสรุปออกมาว่า ฝ่ายการเมืองที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นและมีแนวคิดแบบสายเหยี่ยว พากันผงาดขึ้นครองอำนาจในประเทศเหล่านี้กันเป็นแถว (โดยที่สำคัญที่สุดก็คือในเกาหลีใต้และในญี่ปุ่น) ในสหรัฐฯ จากการที่บารัค โอบามา ได้รับเลือกตั้งกลับมาครองตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง ย่อมหมายความว่าศัตรูรายสำคัญที่สุดของเปียงยางเฉกเช่นสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันเจตนารมณ์ของตนที่จะมีส่วนมีเสียงในการกำหนดทิศทางกิจการต่างๆ ของเอเชียให้มากขึ้น ภายใต้การประกาศป่าวร้องถึง “ศตวรรษแห่งแปซิฟิก” วอชิงตันกระทั่งทำท่าจะพยายามสร้างสมรวบรวมความสำเร็จทางการทูตในประเทศแถบนี้ให้มากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นในพม่า, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, และอื่นๆ
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ความสนอกสนใจของพวกมหาอำนาจใหญ่ๆ ที่มีต่อเกาหลีเหนือผู้กระจ้อยร่อย ดูเหมือนกับว่าจะจืดจางไปมาก ในเวลาเดียวกับที่พวกเขาเพิ่มโฟกัสไปยังสิ่งที่เรียกขานกันว่าเป็นยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” (pivot) ในเอเชียของอเมริกัน ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดในการซ้อมรบร่วมทางทหารประจำปีระหว่างกองทหารเกาหลีใต้กับกองทหารสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “โฟล อีเกิล” (Foal Eagle) ปี 2013 นี้ ได้มีการนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ทั้งแบบ บี-52 และแบบ บี-2 ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์อันล้ำยุค (สเตลธ์ stealth) ตลอดจนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-22 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ในรุ่น 5 (fifth-generation) ล่าสุดและมีเทคโนโลยีสเตลธ์เช่นกัน เข้ามาบินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือคาบสมุทรเกาหลี ความเคลื่อนไหวที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เป็นอย่างยิ่งเช่นนี้ ปรากฏว่าปักกิ่งแทบไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อะไร ทั้งนี้การนำเอาเครื่องบินทหารเหล่านี้เข้ามา ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือนั้น มีส่วนอย่างมากทีเดียวในการเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นอีก เพราะเสมือนกับยืนยันสิ่งที่เปียงยางหวั่นเกรง อีกทั้งเน้นย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจของสหรัฐฯด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุรูปธรรม
เพื่อตอบโต้ต่อความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันเหล่านี้ เปียงยางอาจจะพยายามใช้เครื่องมือทางการทูตและกลไกแห่งการบีบคั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ด้วยการอาศัยยุทธวิธีคลาสสิกของตนซึ่งบัดนี้เป็นที่เข้าใจซาบซึ้งของฝ่ายอื่นๆ เป็นอันดี ยุทธวิธีดังกล่าวก็คือ “ยั่วยุแล้วเจรจา” (provoke-then-negotiate) ซึ่งโสมแดงรู้สึกว่าตนเองงัดเอาออกมาใช้ทีไรก็มักได้ผลไปเสียทุกครั้ง เป็นต้นว่า เกาหลีเหนือมองว่าการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวข่มขู่คุกคามเมื่อปี 1993 นั้น ได้รับการตอบรับจากสหรัฐฯด้วยการที่วอชิงตันยินยอมให้การค้ำประกันด้านความมั่นคง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและพลังงานในปีถัดมา (ตามข้อตกลงแม่บทระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ Agreed Framework between the United States of America and the Democratic People's Republic of Korea และการจัดตั้งองค์การพัฒนาพลังงานคาบสมุทรเกาหลี Korean Peninsula Energy Development Organization หรือ KEDO) ช่วงตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2008 โสมแดงก็ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ นานา จาก “นโยบายอาทิตย์สาดแสง” (Sunshine policy) ของ 2 ประธานาธิบดีหัวเอียงซ้ายของเกาหลีใต้ คิม แดงจุง (Kim Dae-jung) และ โรห์ มูเฮียน (Roh Moo-hyun)
จากการตกลงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลี (inter-Korea summit) ในปี 2000 เป็นที่เข้าใจกันว่า เกาหลีเหนือได้รับ “สินบน” มหาศาลจากโซลทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อโสมแดงจุดชนวนวิกฤตครั้งต่างๆ ไม่ว่าจะในปี 2003 (การลาออกจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์), ปี 2005 (การข่มขู่ที่จะถอนตัวจาก “การเจรจา 6 ฝ่าย”), ปี 2006 (การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรก), ปี 2008 (การขับไล่พวกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศออกไปจากเกาหลีเหนือ), และปี 2009 (การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 2) ปรากฏว่าเกาหลีเหนือก็ได้รับรางวัลตอบแทนเช่นเดียวกัน กล่าวคือ สหรัฐฯกับเกาหลีใต้ตกลงยินยอมอย่างเป็นระบบที่จะให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนยินยอมอ่อนข้อในประการต่างๆ เพื่องอนง้อให้เปียงยางยอมกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา ในปี 2010 ทั้งโซลและวอชิงตันต่างเลือกใช้วิธีเอาอกเอาใจ ในการตอบโต้กรณีเกาหลีเหนือยิงเรือรบ “โชนัน” (Cheonan) จมทะเล (ซึ่งทำให้ทหารเรือเกาหลีใต้เสียชีวิตไป 46 คน) และกรณีโสมแดงยิงถล่มเกาะยอนพะยอง (Yeonpyeong Island) ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งถึงเวลานี้ การใช้นโยบายยั่วยุนับว่าเป็นประโยชน์แก่เปียงยางเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ มันยังจะถูกงัดขึ้นมาใช้อีกในวันนี้
**ยุทธศาสตร์ที่มีความเสี่ยง**
เกาหลีเหนือไม่ได้ทำอะไรอย่างแข็งตัวทื่อมะลื่อ และก็ไม่ใช่ทำอะไรอย่างไร้เหตุผลไม่มีที่มาที่ไป เราสามารถโต้แย้งได้ด้วยซ้ำว่า การที่เกาหลีเหนือแสดงให้เห็นศักยภาพในการสร้างอันตรายด้วยความเสมอต้นเสมอปลายดังที่กล่าวมาข้างต้น คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้องมีแผนการอยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของโสมแดงน่าที่จะมุ่งต่อภายในประเทศมากกว่าต่อภายนอกประเทศ เกาหลีเหนือนั้นไม่ได้เป็น “อาณาจักรแห่งฤาษี” (Hermit kingdom) อย่างที่ถูกตั้งฉายากล่าวขานถึงอะไรนักหรอก หากแต่เป็นประเทศที่กำลังพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเล่นไพ่ใบท้ายๆ ที่ตนเองยังเหลืออยู่ในเวทีระดับโลก
การที่โสมแดงเคลื่อนไหวอนุมัติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อรับรองฐานะความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ตามที่เกาหลีเหนือประกาศอ้างเอาเองนั้น สิ่งที่ประเทศนี้กำลังพยายามกระทำก็คือสาธิตให้เห็นว่าตนจะเพิ่มพูนขยายความสามารถในการป้องปรามทางด้านนิวเคลียร์ นอกจากนั้น นี่ยังอาจเป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้นในการแข่งขันกับพวกปรปักษ์ของตน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันจะช่วยหนุนส่งสนับสนุนความพยายามของเปียงยางในการหาจุดยืนที่เป็นฝ่ายได้เปรียบมากยิ่งขึ้นเมื่อถึงเวลาที่เผชิญกับสหรัฐฯบนโต๊ะเจรจาต่อรอง เช่นเดียวกันการที่โสมแดงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมชวนทะเลาะเบาะแว้งไม่หยุดหย่อน เบื้องลึกลงไปก็คือประเทศนี้กำลังทำให้ฐานะระหว่างประเทศของตนเข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้ตนเองกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศอันสำคัญสำหรับพวกมหาอำนาจทั้งหลาย ตลอดจนทำให้ตนเองอยู่ในฐานะของการเป็นคู่เจรจาต่อรองที่ขาดหายไปไม่ได้ จากการสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้ขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ต่อภายในเกาหลีเหนือเอง ระบอบปกครองคิม จองอึน ก็สามารถอ้างเครดิตในเรื่องการวางตนสมฐานะเป็นประเทศเอกราชและทรงอำนาจ โดยที่มีความซื่อสัตย์มั่นคงต่อมรดกแห่งการปฏิวัติของคิม อิลซุง
เกาหลีเหนืออาจจะแบไต๋ออกมาให้เห็นแล้ว เมื่อตอนที่ประกาศยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงปี 1953 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะนอกเหนือจากเป็นพฤติการณ์ที่หมายถึงการเลือกจะทำสงครามเกาหลีต่อไปแล้ว การตัดสินใจคราวนี้ยังอาจจะตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะเริ่มต้นทำการเจรจากับวอชิงตันและโซลอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพอันถาวรระหว่างกัน โดยที่วอชิงตันกับโซลจะต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ตามที่เปียงยางประสงค์ เกาหลีเหนือกำลังดิ้นรนหนักเหลือเกินเพื่อที่จะทำให้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันนี้แลดูแตกต่างออกไปจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ ความพยายามอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าจนตรอกเช่นนี้ ทำให้ยากยิ่งที่จะไม่ทำให้เราหวนกลับไปคิดว่า การออกมายั่วยุต่างๆ ของโสมแดงในระลอกนี้ แท้ที่จริงแล้วอาจจะเป็นการตะเกียกตะกายเพื่อเอาชีวิตรอด –เป็นการเล่นพนันโดยนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีราคาของตนซึ่งยังเหลืออยู่ มาวางเป็นเดิมพัน
ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะได้ผล ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ข้อแรก พวกศัตรูของเกาหลีเหนือต้องเห็นการข่มขู่คุกคามของโสมแดงเป็นเรื่องที่สาหัสจริงจัง ข้อที่สอง ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยโดยที่โซลกับวอชิงตันเลือกใช้วิธีเอาอกเอาใจมารับมือกับการคุกคามของเกาหลีเหนือ ถ้าหากประสบความสำเร็จได้รับข้อตกลงความมั่นคงฉบับใหม่จากการยั่วยุอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชดังกล่าวแล้ว มันก็จะทำให้คิม จองอึน มีรัศมีบารมีแห่งผู้นำที่ประสบชัยชนะในสงครามขึ้นมาในดินแดนของเขาเอง และกลายเป็นการที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรองโดยพฤตินัยต่ออำนาจและความชอบธรรมของเขา นอกจากนั้นมันยังจะเปิดที่ทางและเปิดโอกาสให้แก่การดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ภายในประเทศอีกด้วย แต่ไม่ว่าเปียงยางจะมีการคาดคำนวณไปอย่างไรก็ตามที นโยบายต่างๆ ที่เดินออกมาก็ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยง และนี่แหละคือด้านที่แย่ๆ ของการแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากก้าวไปไกลเกินไปสักก้าวหนึ่ง หรือก้าวเบี่ยงออกไปสักก้าวหนึ่ง มันก็อาจจะนำไปสู่การพังพินาศ หรือสงครามได้ทีเดียว
บรูโน เฮลเลนดอร์ฟฟ์ เป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันวิจัยบริหารรัฐกิจแห่งเยอรมนี (German Research Institute for Public Administration ใช้อักษรย่อว่า GRIP) และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Université catholique de Louvain วิทยาเขต Louvain-la-Neuve ประเทศเบลเยียม ส่วน เธียร์รี เคลล์เนอร์ เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ ของ ULB (Université libre de Bruxelles) วิทยาเขตบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และเป็นสมาชิกของศูนย์การวิจัยและการสอนการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ULB (Center of Research and Teaching in International Politics ใช้อักษรย่อว่า REPI-ULB)
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ