xs
xsm
sm
md
lg

กำเนิดเกาหลีเหนือ “รัฐปีศาจ”!?! ผู้นำตระกูลคิม-ผลผลิตโซเวียต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งที่เตะตาเป็นอย่างยิ่งประการหนึ่งของโสมแดง ก็คือ ลัทธิบูชาบุคคล ดังภาพนี้ซึ่งเป็นบรรยากาศการประชุมรัฐสภาของเกาหลีเหนือ ที่กรุงเปียงยางเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะเห็นบรรยากาศของการสร้าง “ลัทธิบูชาบุคคล” ขึ้นมายกย่องเทิดทูนบรรดาผู้นำตระกูลคิม ทั้ง คิม อิลซุง และ คิม จองอิล ที่ปรากฏบนภาพขนาดใหญ่บนฉากหลัง และ คิม จองอึน ผู้นำโสมแดงคนปัจจุบัน ซึ่งนั่งอยู่บนเวที
บีบีซีนิวส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยที่มีความ “กร่าง” และ “เกรียน” ของโสมแดงเป็นจุดเด่นเตะตา ทำให้ประเทศที่โดดเดี่ยวอย่างที่สุดแห่งนี้กลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ ทั้งนี้กล่าวได้ว่า นับแต่ถือกำเนิดจากการชิงไหวชิงพริบระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมในช่วงสงครามเย็น ยังไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่เกาหลีเหนือสามารถข้ามผ่านความขัดแย้งสู่ความสงบสุขแม้แต่คราเดียว และพวกผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตกหลายรายตราหน้าว่า โสมแดงถือกำเนิดขึ้นมาในแบบฉบับของ “รัฐปีศาจ”!!

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เกาหลีได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองอยู่นานหลายทศวรรษของญี่ปุ่น และเตรียมพร้อมรับอิสรภาพอีกครั้ง โดยมีพันธมิตรจากสงครามทั้งอเมริกา จีน อังกฤษ สหภาพโซเวียต ให้การสนับสนุนพร้อมพรั่ง

กองทัพโซเวียตและกองทัพอเมริกันยึดครองเกาหลีคนละด้าน ในระยะแห่งการเปลี่ยนผ่านก่อนหน้าที่จะมีการการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย โดยที่ลุงแซมนั้นยังคงรักษาอยู่ทางด้านใต้ ส่วนหมีขาวปักหลักดูแลซีกเหนือ

แต่เมื่อความร่วมมือระหว่างโซเวียตกับอเมริกาในสมัยสงครามเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นตรงข้ามในยุคแห่งสันติภาพ คาบสมุทรเกาหลีจึงบังเกิดสองประเทศที่ต่างกันสุดขั้ว คือ สาธารณรัฐเกาหลีทางใต้ที่ได้รับการหนุนหลังจากแดนอินทรี กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีทางเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ และมีคิม อิลซุง ที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะจากกองทัพแดงของโซเวียต เป็นผู้นำ

จอห์น เอเวอราร์ด อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเกาหลีเหนือเชื่อว่า “เกาหลีเหนือเกิดมาเพื่อเป็นปีศาจ” เพราะก่อตั้งขึ้นมาด้วยน้ำมือของพวกนายทหารกองทัพโซเวียตที่ดูเหมือนแทบไม่มีไอเดียอะไรในเรื่องของการสร้างประเทศ

“(พวกเขา)ปลุกปั้นคิม อิล-ซุงขึ้นมาให้เป็นผู้นำ แต่เมื่อพวกเขาพบว่า คิมไม่ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนมากเพียงพอ พวกเขาก็หันไปสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลสไตล์สตาลินขึ้นมารอบๆ ตัวคิม เพื่อให้เกาหลีเหนือจบลงที่ถูกปกครองโดยบุคคลที่เปรียบเสมือนเทวราชา ซึ่งค่อนข้างคล้ายๆ กับกษัตริย์หลายพระองค์ของเกาหลี (ก่อนที่จะถูกญี่ปุ่นยึดครอง)”

ในปี 1950 เกาหลีใต้ประกาศเอกราช เกาหลีเหนือที่มีโซเวียตและจีนหนุนหลัง ได้ยกทัพบุกฝ่ายใต้ไม่รอช้า กลายเป็นสงครามเกาหลีที่ยืดเยื้ออยู่ 3 ปี

โรเบิร์ต เคลลี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน ในเกาหลีใต้ ชี้ว่า สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงร่วมทำสงครามเกาหลี ด้วยความกลัวว่า หากปล่อยให้ยึดเกาหลีใต้ได้แล้ว ระบอบคอมมิวนิสต์อาจกินรวบประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯจะยอมเสี่ยงให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด

แต่หลังจากการสู้รบมาถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างกินกันไม่ลง และอยู่ในภาวะคุมเชิงกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยนั้นคือ แฮร์รี เอส. ทรูแมน แล้วตามด้วย ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ จึงงัดระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาขู่ ด้วยความหวังว่าจะสามารถยุติสงครามลงได้

ทว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทรูแมนไม่ต้องการให้ความขัดแย้งลุกลามหรือบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ด้วยเหตุนี้เองเมื่อปี 1951 พลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯ ในตะวันออกไกล จึงถูกปลดกลางอากาศ ด้วยข้อหากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ภายหลังเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เข้าโจมตีจีนที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนเกาหลีเหนืออยู่

ครั้นแล้วในปี 1953 ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามกันข้อตกลงหยุดยิง ข้อตกลงนี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราว โดยที่มีการเห็นพ้องให้จัดตั้งเขตปลอดทหารขึ้นตามแนวเส้นขนานที่ 38 แต่แล้วก็ไม่เคยมีการดำเนินการขั้นตอนต่อไป นั่นคือการจัดทำและลงนามในข้อตกลงสันติภาพถาวรกันขึ้นมา ดังนั้นในทางเทคนิคแล้วเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จึงยังคงเป็นคู่สงครามกัน และความตึงเครียดระหว่างบ้านพี่เมืองน้องก็ปะทุขึ้นเนืองๆ นับจากนั้นมา

ในช่วงปีแรกๆ ภายหลังสงครามเกาหลียุติลง เกาหลีเหนือคือฝ่ายที่มั่งคั่งรุ่งเรือง ด้วยความสนับสนุนอุ้มชูจากทั้งจีนและสหภาพโซเวียต

แต่แล้วเมื่อช่วงถัดๆ มา เกาหลีใต้กลับเป็นฝ่ายที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความตึงเครียดตรงบริเวณชายแดนสองเกาหลีก็เพิ่มมากขึ้น

เคลลีอธิบายว่า “เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยไปอย่างแท้จริงในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะที่เกาหลีเหนือยังคงกลายเป็นตัวอย่างแบบฉบับของการใช้นโยบายแบบสตาลิน นั่นคือประเทศนี้ทำท่าจะไปได้ดีเพียงแค่สักพักเดียวครั้นแล้วก็เริ่มต้นสะดุดโซซัดโซเซ”
ยิ่งเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศมากเท่าไร เกาหลีเหนือซึ่งอยู่ในสภาพหยุดชะงักมาหลายสิบปีก็ยิ่งวิตก และความตึงเครียดระหว่างสองเกาหลีก็บังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ในภาพนี้ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักข่าวของทางการเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 6 เมษายนนี้ แสดงให้เห็นการฝึกซ้อมยิงปืนของกองทหารโสมแดง ซึ่งปรากฏว่าเป้าที่ใช้ทำเป็นภาพของรัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ คิม กวานจิน (ซ้าย) และทหารอเมริกันคนหนึ่ง (ด้านหลังทางขวา)
ยิ่งเมื่อทศวรรษ 1980 ผ่านพ้นไปด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตด้วยแล้ว การที่เปียงยางสูญเสียความช่วยเหลือจากโซเวียตไปเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายอันหนักหน่วงทีเดียว ครั้นแล้วจีนยังไปให้การรับรองเกาหลีใต้ในปี 1992 เกาหลีเหนือจึงยิ่งรู้สึกว่าตนเองถูกทรยศหักหลังและอยู่ในภาวะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที

พอล เฟรนช์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ชี้ว่าตั้งแต่ที่ค่ายสหภาพโซเวียตล้มหายตายจากไป เศรษฐกิจของโสมแดงก็ดำดิ่งแบบยั้งไม่อยู่

“เศรษฐกิจ (ของเกาหลีเหนือ) เพลี่ยงพล้ำล้มเหลว อุตสาหกรรมสั่นสะท้านโงนเงนเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ตลาดส่งออกในกลุ่มยุโรปตะวันออกพังครืนไปหมด” เฟรนช์แจกแจง “เกษตรกรรมของเกาหลีเหนือก็ล่มสลาย และประเทศก็เคลื่อนเข้าสู่ภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารในช่วงกลางทศวรรษ 1990”

เอเวอราร์ด อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษสำทับว่า โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งอาจจะเริ่มต้นขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 แล้ว ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในภาวะเช่นนี้ เพราะเมื่อนานาชาติหันหลังให้ ผู้นำเปียงยางจึงมองว่า โครงการนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องรับประกันให้ตนเองดำรงคงอยู่ในฐานะเป็นรัฐอิสระต่อไปได้

เฟรนช์กล่าวเสริมว่า คิม อิลซุง “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่” ติดตามด้วยบุตรชาย คิม จองอิล “ผู้นำที่เป็นที่รัก” และหลานชาย คิม จองอึน "ผู้นำสูงสุด” ล้วนใช้ไม้ตายเดียวกัน นั่นคือ ใช้โครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือต่อรองกับนานาชาติ

ทว่า โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็กลายเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดความตึงเครียดกับฝ่ายตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับอเมริกาและเกาหลีใต้ ใกล้จุดแตกหักหลายต่อหลายครั้ง

ตัวอย่างเช่นในปี 1994 คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เกือบเปิดศึกกับเปียงยางอยู่รอมร่อแล้ว เนื่องจากฝ่ายหลังละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์

ในปี 2002 สถานการณ์ระอุขึ้นอีกหน เมื่อเกาหลีเหนือสั่งขับคณะผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์นานาชาติ ท่ามกลางข้อกังวลซึ่งได้รับการยืนยันในภายหลังว่า เปียงยางกำลังซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

เฟรนช์บอกว่า สงครามเกาหลียังไม่ได้ยุติลงอย่างแท้จริง ความเป็นปฏิปักษ์กันยังคงอยู่ อย่างน้อยในสายตาเปียงยาง ขณะที่โซลสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจและกลายเป็นชาติประชาธิปไตยที่มั่งคั่งรุ่งเรือง

“เกาเหลีเหนือกลับเหมือนยังคงตรึงแน่นอยู่ที่เก่านับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา และพยายามพร่ำพรรณาว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ เพียงแต่ว่าในเวลานี้ด้วยสมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์ จึงหมายความว่าทุกๆ ประเทศต่างต้องให้ความสนใจ” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้สรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น