xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจนำศพ “เพื่อนโกโบริ” กลับบ้าน 70 ปี ผ่านพ้นญี่ปุ่นยังไม่ยอมถอดใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ละความพยายามในการค้นหาศพทหารที่สูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้กาลเวลาจะผ่านมานานถึง 70 ปีแล้วก็ตาม
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เฮอิทาโร มัตสึโมโตะ ไม่อาจซ่อนน้ำตาได้ เมื่อเอ่ยถึงลุงที่เสียชีวิตบนเกาะกวมเมื่อครั้งเป็นทหารและยังคงต่อสู้อย่างสิ้นหวังในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2

ร่างของโกโร มัตสึโมโตะ ในวัย 20 กลางๆ ขณะเสียชีวิต สาบสูญไปเช่นเดียวกับร่างของทหารญี่ปุ่นอีก 18,000 นายที่เสียชีวิตบนเกาะดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเขตร้อนที่เป็นที่นิยมของชาวแดนอาทิตย์อุทัย

“คนมากมายอุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อประเทศชาติ แต่ร่างของพวกเขากลับถูกทอดทิ้ง” มัตสึโมโตะ นักธุรกิจวัย 72 ปีที่เข้าร่วมโครงการจิตอาสานำทหารญี่ปุ่นกลับบ้าน กล่าวและว่า “เราคงไม่สามารถปิดฉากสงครามคราวนี้ได้ ถ้าไม่นำร่างของทหารหาญกลับมา”

ผ่านไปเกือบ 7 ทศวรรษหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 ญี่ปุ่นยังคงพยายามตามหาศพทหารเพื่อแสดงความเคารพในการสละชีพของบุคคลเหล่านั้น แม้ประสบความสำเร็จค่อนข้างจำกัดก็ตาม

ในประเทศไทย ด้วยอิทธิพลของนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง เวลาพูดถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นในใจคนไทยจึงอาจจะเป็น “โกโบริ” อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารญี่ปุ่น “เพื่อนโกโบริ” เสียชีวิตไปทั้งสิ้นราว 2.4 ล้านคน โดยเกือบครึ่งคือ 1.13 ล้านศพยังถูกฝังอยู่ในอาณาบริเวณสมรภูมิอันกว้างขวางตั้งแต่รัสเซียลงมาจนถึงหมู่เกาะในแปซิฟิกตอนใต้ สะท้อนให้เห็นถึง “การรุกราน” และ “การล่าอาณานิคม” ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น

ความพยายามดังกล่าวของญี่ปุ่นต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากสงครามนองเลือดครั้งนั้นยังคงเป็นความทรงจำที่ชัดเจนในเอเชียตะวันออก และความหฤโหดสยดสยองจากน้ำมือของทหาร “ลูกพระอาทิตย์” ในการล่าอาณานิคม ผสมผสานกับความตึงเครียดจากกระแสชาตินิยมในประเทศเอเชียที่เคยตกเป็นเหยื่อ ยังคงส่งผลกระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างโตเกียวกับปักกิ่งและโซล

นอกจากนี้ ภารกิจในการค้นหาศพทหารญี่ปุ่นยังกลายเป็นงานที่ยากเย็นมาก พูดง่ายๆ ก็คือ ร่างของพวกเขาถูกทอดทิ้งเอาไว้นานเกินไป ทั้งนี้ด้วยสาเหตุนานัปการ เป็นต้นว่า เนื่องจากช่วง 7 ปีแรกหลังสงคราม ญี่ปุ่นอยู่ใต้การยึดครองของอเมริกา และไม่สามารถส่งทหารออกไปปฏิบัติภารกิจนอกประเทศได้

เช่นเดียวกัน ความที่ไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนจนกระทั่งถึงปี 1972 ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าไปค้นหาร่างทหารนับหมื่นที่เชื่อว่า เน่าเปื่อยอยู่ภายในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่

ญี่ปุ่นยังประเมินว่า มีทหารราว 300,000 นายเสียชีวิตในมหาสมุทรระหว่างเดินทาง และในป่าทึบแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลำบากอย่างยิ่งต่อการค้นหา

พวกนักการเมืองของทุกพรรคต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งสามารถค้นพบซากกระดูกทหารหลายร้อยจนถึงหลักพันต้นๆ อยู่ทุกปี โดยส่วนหนึ่งได้แรงผลักดันจากภาพยนตร์หลายเรื่องที่บอกเล่าความเจ็บปวดของผู้ที่รอคอยจะได้ประกอบพิธีศพให้แก่ทหารที่พลัดพรากจากไป

เจ้าหน้าที่กระทรวงสวัสดิการสังคมคนหนึ่งบอกว่า ขณะนี้โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ไม่มีระยะเวลาจำกัดและเป็นนโยบายแห่งชาติ

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 2010 เมื่อเนาโตะ คัง นายกรัฐมนตรีที่เอนเอียงนิยมฝ่ายซ้าย เปิดตัวโครงการระยะ 3 ปีในการค้นหาซากศพทหารบนเกาะอิโวโตะ หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ อิโวจิมะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมรภูมินองเลือดที่สุดในช่วงท้ายๆ ของสงคราม

นายกฯ คังจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ปีละกว่า 1,000 ล้านเยน จากที่เคยตั้งงบประมาณตามปกติซึ่งอยู่ในระดับ 200-300 ล้านเยนเท่านั้น

“เป็นหน้าที่ของประเทศในการตามหาร่างผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อญี่ปุ่น” คังกล่าวและแสดงความหวังว่า ปฏิบัติการค้นหาบนเกาะอิโวโตะจะเป็นพื้นฐานสำหรับการออกไปค้นหานอกประเทศต่อไป

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ญี่ปุ่นควรยุติโครงการนี้ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นภารกิจที่เกือบเป็นไปไม่ได้

ทว่า นักวิจารณ์อีกหลายคนเห็นว่า ความสัมพันธ์ซับซ้อนที่ญี่ปุ่นมีต่อประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม ทำให้การจัดการกับอดีตเปนสิ่งสำคัญ

ผู้นำญี่ปุ่นบางคนในช่วงที่กองทัพอาทิตย์อุทัยยาตราทัพสู่เอเชียถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงคราม ในการพิจารณาคดีโดยศาลซึ่งดำเนินการโดยกองทัพอเมริกันที่เข้ายึดครองหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน

ฮารูโอะ โทมัตสึ อาจารย์มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของญี่ปุ่น ชี้ว่า ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตเหล่านี้อยู่ในฐานะเป็นผู้รุกรานที่พ่ายแพ้ ดังนั้นในช่วงหลายๆ ปีจวบจนกระทั่งถึงปี 1945 จึงไม่มีบันทึกเหตุการณ์หรือมีความตกลงกันในสังคมที่ระบุถึงทหารคนไหนว่าเป็นวีรบุรุษ

ตรงกันข้าม ญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม พยายามมุ่งมั่นเล่าเรื่องการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่และการเป็นพันธมิตรของอเมริกันในระเบียบโลกใหม่แทน

“อาจพูดได้ว่าญี่ปุ่นถูกตราหน้าเป็นรัฐอาชญากรที่ก่อกวนโลก จึงยากที่ญี่ปุ่นจะยกย่องผู้ที่ต่อสู้และเสียชีวิตในสงคราม นอกจากนี้ การค้นหาศพอาจถูกตีความว่า เป็นการยกย่องทหารเหล่านั้นโดยปราศจากการไตร่ตรองถึงอดีตที่น่ากระอักกระอ่วนของประเทศ” โทมัตสึอธิบาย

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะกลายเป็นภารกิจซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากเวลาล่วงเลยมาเกือบ 70 ปี ทว่า สำหรับญาติมิตรที่เข้าสู่วัยชราในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุสานบรรพบุรุษนั้น คงเป็นไปได้ยากที่จะล้มเลิกความหวังว่า วันหนึ่งร่างของบุคคลอันเป็นที่รักจะได้คืนกลับสู่แผ่นดินแม่

มัตสึโมโตะเล่าว่า เขาเคยเห็นโครงกระดูกทหารที่ยังสวมบู๊ตและกำระเบิดแน่นในมือ ซึ่งขุดพบบนเกาะกวม

“เรารู้ว่าพวกเขาอยู่ที่นั่น เราต้องทำภารกิจนี้เพื่อให้ความทรงจำถึงสงครามหฤโหดไม่มีวันเลือนลางหายไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น