xs
xsm
sm
md
lg

ฤาเรากำลังก้าวไปสู่สงครามเกาหลีครั้งใหม่? (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: บรูโน เฮลเลนดอร์ฟฟ์ และ เธียร์รี เคลล์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Towards a new Korean war?
By Bruno Hellendorff and Thierry Kellner
09/04/2013

การดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชของเกาหลีเหนือ เพื่อทำให้วิกฤตการณ์ในปัจจุบันแลดูแตกต่างออกไปจากความจนตรอกครั้งก่อนๆ บ่งบอกให้เราเห็นว่ามันคือการตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ประดาถ้อยคำโวหารและพฤติกรรมแบบชวนทะเลาะวิวาทไม่เลิกรา ต่างก็เป็นการวางแผนเตรียมการเอาไว้เพื่อมุ่งส่งเสริมยกระดับฐานะของระบอบปกครองคิม จองอึน ในแวดวงนานาชาติ และค้ำประกันให้การรวมศูนย์ผนึกอำนาจภายในประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แล้วในเมื่อการแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด กำลังทำให้ คิม แลดูมีรัศมีบารมีแห่งความเป็นผู้นำที่ชนะสงครามขึ้นมา จึงดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ของเขากำลังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทีเดียว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 เป็นต้นมา ที่เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการยิงจรวดแบบ 3 ท่อน (ซึ่งในด้านการออกแบบ มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับขีปนาวุธพิสัยไกลแบบ แตโปดอง 2 TaepoDong 2 ที่เกาหลีเหนือกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา) คิม จองอึน ก็ได้กระโจนเข้าสู่วังวนแห่งการข่มขู่คุกคามต่อโซลและวอชิงตันอย่างต่อเนื่องไม่ยอมหยุดยอมหย่อน โดยที่มีการกระทำอันชวนให้วิตกกังวลบางอย่างบางประการเป็นเครื่องสนับสนุนด้วย ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือ 3 สัปดาห์พอดิบพอดีภายหลังจากที่โสมแดงตกเป็นเป้าของมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรอบใหม่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เกาหลีเหนือก็ยังคงเดินหน้าดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินเป็นครั้งที่ 3 ของตน

จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 นี้เอง ทำให้เกาหลีเหนือได้โอกาสที่จะคุยใหญ่คุยโตว่า เวลานี้ตนมีความรอบรู้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองเทคโนโลยีสำคัญทั้งในเรื่องการย่อขนาดของอาวุธนิวเคลียร์ และในเรื่องการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมเพื่อให้มีสมรรถนะถึงระดับใช้ทำ “นุก” ได้แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า โสมแดงมีความสามารถที่จะนำเอาหัวรบนิวเคลียร์เข้าไปติดตั้งในขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป รวมทั้งยังทำให้ประดาเจ้านายใหญ่ในเปียงยางมีเส้นทางเลือกลับๆ อีกเส้นทางหนึ่งในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ นอกเหนือจากเส้นทางเดิมที่พึ่งพาอาศัยพลูโตเนียม

ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม กองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองทัพประชาชนเกาหลี (Korean People Army ใช้อักษรย่อว่า KPA) ได้ประกาศให้ข้อตกลงหยุดยิงในสงครามเกาหลีปี 1953 เป็นโมฆะ โดยที่ข้อตกลงฉบับนี้นี่เองที่เป็นการหย่าศึกสงครามครั้งนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ไม่เพียงเท่านั้น ในวันต่อๆ มา ทางการโสมแดงยังเดินหน้าต่อโดยไปไกลถึงขั้นข่มขู่ที่จะเปิดฉากทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐฯอย่างเปิดเผย อีกทั้งสาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความดื้อดึงไม่ค่อยจะยอมรับฟังการทัดทานของจีน พันธมิตรที่เป็นชาติขนาดใหญ่เพียงรายเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ของเกาหลีเหนือ

**ตัวเลขข้อมูลใหม่ในสมการเก่า**

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือคุกคามพวกเพื่อนบ้านของตนว่าจะจุดไฟทางทหารก่อเพลิงสงครามครั้งใหญ่ และก็ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่โสมแดงเล่นกับมหาอัคคีนิวเคลียร์ กระนั้นก็ตามที มีองค์ประกอบหลายๆ ประการซึ่งทำให้สถานการณ์ปัจจุบันผิดแผกแตกต่างไปจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ ในอดีต อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทุตัวและแกว่งไกวเอาแน่เอานอนไม่ได้ยิ่งกว่าในอดีต องค์ประกอบดังกล่าวนี้ประการหนึ่ง ได้แก่ถ้อยคำโวหารซึ่งไต่ระดับความรุนแรงขึ้นปรู๊ดปร๊าดถึงระดับที่ไม่เคยพบเห็นกันเลยนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง องค์ประกอบอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่คำพูดแข็งกร้าวเหล่านี้ประสบความล้มเหลวไม่สามารถข่มขวัญโซลและวอชิงตันได้ ประเทศทั้งสองนี้กลับแสดงปฏิกิริยาตอบโต้การคุกคามด้วยความหนักแน่นมั่นคง แถมยังแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาที่จะดำเนินการป้องปราม “อย่างกระฉับกระเฉง” นี่หมายความว่าทั้งสหรัฐฯและเกาหลีใต้เวลานี้เตรียมตัวพร้อมแล้วที่จะลงมือเล่นงานเกาหลีเหนือ แม้กระทั่งการเป็นฝ่ายลงมือโจมตีก่อน ถ้าหากเปียงยางขืนก้าวข้ามขอบเขตที่พวกเขาถือเป็นแนวเส้นสีแดงที่ห้ามรุกล้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ความดึงดันดื้อรั้นของคิม จองอึน ยังดูเหมือนกำลังสร้างความไม่พอใจให้แก่ปักกิ่ง และอาจจะกัดกร่อนบั่นทอนความมุ่งมั่นตั้งใจของฝ่ายจีนในการให้ความสนับสนุนแก่พันธมิตรเกาหลีเหนือผู้มีแต่สร้างความยุ่งยากให้ไม่หยุดหย่อนรายนี้

แล้วถึงอย่างไรเราก็ต้องไม่ลืมว่า เกาหลีเหนือนั้นไม่ได้มีความสนใจหรือมีความตั้งใจที่จะเปิดศึกสงครามขึ้นมาจริงๆ กองทัพโสมแดงนั้นมีอาวุธยุทโธปกรณ์และขีดความสามารถในการปฏิบัติการด้อยกว่านัก หากต้องรับมือกับกองทัพเกาหลีใต้และกองทัพอเมริกัน สมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือล่ะ อย่างเก่งที่สุดก็อยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น ขณะที่ขีปนาวุธของโสมแดงถือว่าอ่อนเปราะเมื่อเผชิญกับสมรรถนะทางด้านการต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ นอกเหนือไปจากสิ่งเหล่านี้แล้ว เศรษฐกิจของเกาหลีเหนืออยู่ในสภาพอ่อนแอย่ำแย่ในระดับที่ต้องคอยให้น้ำเกลือ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าที่จะดำเนินการสู้รบทำสงครามอะไรไปได้อย่างยืดเยื้อ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง “สงครามแบบเบ็ดเสร็จเต็มขั้น” ประเภทใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำถาม
จึงมีอยู่ว่า คิม จองอึน กำลังต้องการอะไรกันแน่ ? ทำไมเขาจึงมีความโน้มเอียงที่จะแสดงท่าทีแบบท้าทายพร้อมเสี่ยงภัยเข้าไปใกล้จุดวิกฤตให้ได้มากที่สุด? และทำไมเขาจึงต้องแสดงในตอนนี้? การทดลองตั้งสมมุติฐานบางข้อบางประการ สามารถที่จะให้เหตุผลอธิบายการกระทำต่างๆ ของเกาหลีเหนือได้ สิ่งที่แลดูเหมือนกับขัดแย้งกันก็คือ สมมุติฐานเหล่านี้เองอาจจะทำให้เกิดความหวังใหม่ๆ ว่าจะสามารถธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ได้

**สถานการณ์ภายในประเทศที่จมอยู่ในความวิบัติหายนะ**

ระบอบปกครองเกาหลีเหนือในวันนี้ มีความโน้มเอียงที่มุ่งเสาะแสวงหาทางเอาชีวิตรอดยิ่งเสียกว่าในอดีตที่ผ่านๆ มา ถึงแม้ คิม จองอึน กำลังนั่งอยู่บนยอดสุดของรัฐแห่งนี้ แต่เขาก็ไม่ได้นั่งอยู่เพียงคนเดียว การเปลี่ยนถ่ายอำนาจอาจจะไม่ได้กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่นเหมือนกับที่มักชอบคาดคิดกัน เปรียบเทียบกันแล้ว แม้กระทั่งตัว คิม จองอิล ผู้เป็นบิดาของคิม จองอึน ยังต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 25 ปีในการรับการอบรมฝึกฝนและค่อยๆ บูรณาการเข้าไปในสถาบันต่างๆ ของรัฐ เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการรับสืบทอดอำนาจต่อจาก คิม อิลซุง บิดาของเขา ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจคราวล่าสุดนี้ยังคงเกิดความปั่นป่วนขึ้นมา เพียงแต่ว่าพลวัตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในเกาหลีเหนือ ถูกปกปิดด้วยผ้าคลุมแห่งการรักษาความลับและการโฆษณาชวนเชื่อ กระนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่ามันจะต้องมีส่วนส่งผลทำให้เกิดการเผชิญหน้าบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ขึ้นมา

ความเป็นไปได้อย่างแรกก็คือ ความขาดไร้ประสบการณ์ของหนุ่มคิม จองอึน มีบทบาทในการทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัว ขณะที่ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าและทั้งมีความน่าสนใจยิ่งกว่าในเชิงการวิเคราะห์ ก็คือผู้นำเกาหลีเหนือผู้นี้ รวมทั้งเหล่านายพลที่อยู่ในกลุ่มของเขา ตลอดจนพวกผู้กุมกลไกพรรคซึ่งยืนอยู่เบื้องหลังเขา ต่างกำลังแสวงหาทางเพิ่มพูนยกระดับชื่อเสียงเกียรติภูมิและฐานะของพวกเขาภายในประเทศของพวกเขาเอง

แท้ที่จริงแล้ว ระบอบปกครองคิม จองอึน กำลังเผชิญหน้าความท้าทายภายในประเทศอันใหญ่โตมโหฬารอยู่หลายๆ ประการ ประเทศนี้อาจจะไม่สามารถหลบเลี่ยงหลีกหนีการดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งได้อีกต่อไปแล้ว เหตุผลสำคัญคงไม่ใช่เนื่องจากคำขวัญและวัตถุประสงค์ของประเทศชาติตามที่มีการโฆษณาเอ่ยอ้างกันบ่อยครั้งว่าเกาหลีเหนือจะต้องบรรลุถึงขีดขั้นที่มีความมั่งคั่งรุ่งเรืองกันทั่วทั้งประเทศภายในปี 2015 หากแต่อยู่ที่ความยากลำบากในการควบคุมประชากรซึ่งกำลังพึ่งพาอาศัย “ตลาดสีเทา” (grey markets) เพื่อความอยู่รอดของพวกเขาเองกันเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ ทว่าปัญหามีอยู่ว่าการปฏิรูปเหล่านี้เต็มไปด้วยอันตราย เนื่องจากเหตุผลความชอบธรรมในการขึ้นครองอำนาจของคิม จองอึนนั้น เป็นเหตุผลความชอบธรรมในเชิงอุดมการณ์ยิ่งกว่าด้านอื่นๆ กล่าวคือ เฉกเช่นเดียวกับบิดาของเขาที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศก่อนหน้าเขา คิม จองอึน ถูกวาดภาพว่าเป็นคลังเก็บสะสมรวบรวมสติปัญญาของ คิม อิลซุง และ (ตามระบบคิดเช่นนี้) จึงเป็นผู้ที่ทรงความสามารถที่สุดในการตีความอุดมการณ์ “จูเช่” (Juche) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยปู่ของเขา ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จูเช่ ที่เป็นอุดมการณ์แบบนักชาตินิยม ได้รับการสถาปนาอย่างหนักแน่นมั่นคงให้กลายเป็นรากฐานทางทฤษฎีและรากฐานทางกฎหมายสูงสุดของรัฐเกาหลีเหนือไปแล้ว ถ้าหากมีการนำเอาการปฏิรูปต่างๆ “ตามแบบจีน” มาใช้ มันก็น่าที่จะบ่อนทำลายฐานะดังกล่าวนี้

ถ้าหากเกาหลีเหนือหันเหรวมศูนย์ความสนใจของประชากร ตลอดจนมุ่งโฟกัสการบริหารปกครองไปที่การปฏิรูปต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น คิม จองอึน ก็อาจจะแลดูไม่เหมือนกับเป็นผู้นำพาประเทศชาติระดับไร้เทียมทาน หรือเป็นผู้ปกป้องรักษาหลักการความคิดทฤษฎี “จูเช่” อย่างเคร่งครัดยอดเยี่ยมอีกต่อไป แต่จะเป็นเพียงนักบริหารผู้มีทักษะและความน่าเชื่อถือระดับย่ำแย่ ในเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น สภาวการณ์เช่นนั้นเมื่อบวกกับปัจจัยอื่นๆ ก็อาจนำไปสู่การเปิดประตูเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการแข่งขันท้าทายคิม จองอึน ขึ้นมา

ประเทศจีนนั้นเคยค้นพบว่าสงครามชายแดนที่ตนเอง “สั่งสอน” เวียดนามในปี 1979 ได้กลายเป็นวาระและโอกาสอันงดงามสำหรับการปลุกระดมประชากรของตนให้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามกับการปฏิรูปต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของเติ้ง เสี่ยวผิง อีกทั้งเบี่ยงเบนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาจากวาระแบบมุ่งเน้นผลในทางปฏิบัติของผู้นำผู้นี้ บางทีเกาหลีเหนืออาจจะกำลังพยายามใช้นโยบายทำนองเดียวกัน โดยหันเหแรงบีบคั้นกดดันภายในประเทศให้เบนไปสู่โลกภายนอก ด้วยการก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ดูราวกับว่า โสมแดงจะต้องรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อสู้ต้านทานกับประเทศอื่นๆ ทั้งหมด การที่ พัค พองจู (Pak Pong-ju) นักการเมืองผู้มีเกียรติประวัติในเรื่องความพยายามที่จะดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ทางเศรษฐกิจ (ถึงแม้จะเป็นการปฏิรูปที่ดูเต็มไปด้วยความกระดากและขี้กลัว แต่ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในแนวทางนี้อยู่ดี) ได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของเกาหลีเหนืออีกวาระหนึ่ง เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่สมมุติฐานความเป็นไปได้ข้อนี้ เช่นเดียวกับคำปราศรัยของคิม จองอึน ที่กล่าวต่อหน้าพวกสมาชิกพรรค ซึ่งเขาเรียกร้องให้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ “บนฐานของความสามารถในการป้องปรามนิวเคลียร์อันแข็งแกร่ง”

บรูโน เฮลเลนดอร์ฟฟ์ เป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันวิจัยบริหารรัฐกิจแห่งเยอรมนี (German Research Institute for Public Administration ใช้อักษรย่อว่า GRIP) และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Université catholique de Louvain วิทยาเขต Louvain-la-Neuve ประเทศเบลเยียม ส่วน เธียร์รี เคลล์เนอร์ เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ ของ ULB (Université libre de Bruxelles) วิทยาเขตบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และเป็นสมาชิกของศูนย์การวิจัยและการสอนการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ULB (Center of Research and Teaching in International Politics ใช้อักษรย่อว่า REPI-ULB)

บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น