เอเอฟพี - เมื่อใดที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เสิ่นอี้ชิง จะต้องหันไปปรึกษาหมอดูเสมอ ตั้งแต่เรื่องคู่ครอง, เวลาแต่งงาน ไปจนถึงการตั้งชื่อลูก
“ที่ทำไปก็เพื่อความเป็นสิริมลคลและเพื่อความสบายใจค่ะ ฉันขอปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าเสียใจทีหลัง” เสิ่น อาจารย์ชาวไต้หวันวัย 38 ปี กล่าว แม้แต่ชื่อภาษาจีนของเธอ พ่อแม่ก็ยังไปขอให้หมอดูเป็นผู้ตั้งให้
แม้ทุกภูมิภาคในเอเชียจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว แต่พิธีกรรมและความเชื่อท้องถิ่นก็ยังคงได้รับการเชื่อถือปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกระดับและทุกช่วงวัย
ในชุมชนชาวจีนและดินแดนที่ความเชื่อแบบจีนยังทรงอิทธิพล เช่น เกาหลีใต้ และไทย ผู้คนจำนวนมากยังเคารพในศาสตร์ “ฮวงจุ้ย” เมื่อจะต้องก่อสร้างบ้านเรือน, สำนักงาน หรือแม้แต่ สุสาน
ตึกระฟ้าหลายแห่งบนเกาะฮ่องกง สร้างอย่างถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ขณะที่ชิงช้าสวรรค์สูงที่สุดในโลก “สิงคโปร์ ฟลายเออร์” ต้องถูกหันเหทิศทาง เมื่อมีหมอดูเตือนว่า มันจะทำลายโชคลาภที่มาเยือนเกาะสิงคโปร์
“คนที่ทำการสิ่งใดไม่เจริญก็ต้องการขจัดปัดเป่าโชคร้ายออกไป ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็อยากจะรักษาโชคลาภนั้นไว้” เดฟ ฮัม จากบริษัทที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยในสิงคโปร์ กล่าว
บางครั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็อาจรุนแรงมาก เช่น กรณีของ นีน่า หวัง มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ชาวฮ่องกง ที่ยอมจ่ายเงินค่าพิธีฮวงจุ้ยหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อรักษามะเร็งระยะสุดท้าย
ต้นเดือนที่ผ่านมา ศาลฮ่องกงปฏิเสธไม่รับคำฟ้องของอดีตบริกรที่ผันตัวมาเป็นหมอดู ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินมูลค่าราว 13,000 ล้านดอลลาร์ของ หวัง
ชาวจีนบางคนยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้หมายเลขโทรศัพท์หรือทะเบียนรถยนต์ที่มีเลข 8 เพราะมีเสียงในภาษาจีนกลางและจีนกวางตุ้งที่พ้องกับคำว่า “โชคดี”
ในทางตรงข้าม ชาวจีนจะหลีกเลี่ยงหมายเลข 4 เนื่องจากมีเสียงพ้องกับคำว่า “ตาย” ในภาษาจีน
สายการบิน เสฉวน แอร์ไลน์ส เคยจ่ายเงินถึง 280,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อหมายเลขโทรศัพท์ 8888-8888 ขณะที่บ่อนกาสิโน มารินา เบย์ แซนด์ส และ รีสอร์ตส เวิลด์ เซ็นโตซา ในสิงคโปร์ ล้วนเปิดให้บริการในวันและเวลาที่ลงท้ายด้วยเลข 8 พอดี
ระบบจักรราศีของจีนโบราณยังมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการตัดสินใจของผู้คน
อัตราการเกิดในไต้หวันลดลงอย่างฮวบฮาบในปีเสือ เพราะเชื่อกันว่าเด็กที่เกิดในปีเสือจะโชคไม่ดี และมีนิสัยกราดเกรี้ยวเหมือนเสือ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
เช่นเดียวกับที่ชาวจีนถือฤกษ์ตามปฏิทินจันทรคติของตน ชาวชวาในอินโดนีเซียก็จะต้องดูฤกษ์ผานาทีจากปฏิทินโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสุลต่านแห่งมะตะรัม ราวคริสตศตวรรษที่ 17 ก่อนตัดสินใจทำเรื่องสำคัญ
อิหม่ามเซียเฟย์ ผู้รับเหมาก่อสร้างวัย 35 ปี เล่าว่า เขามักถือศีลอดในวันเกิดของตนเพื่อป้องกันโชคร้าย และดูฤกษ์ยามที่เป็นมงคลจากปฏิทินชวาก่อนเริ่มโครงการใหม่ๆ
“ถ้าเริ่มต้นดีแล้ว สิ่งดีๆ ก็จะตามมาครับ” เขาอธิบาย
กลุ่มบริษัทต่างๆ ในอินโดนีเซียมักส่งตัวแทนไปทำพิธีเซ่นสรวงบูชาที่ภูเขาคาวี ในจังหวัดชวาตะวันออก เพื่อขอให้ทำมาค้าขึ้น
ชาวอินเดียเป็นอีกชนชาติหนึ่งซึ่งนำความเชื่อทางโหราศาสตร์และตัวเลขมาใช้กับทุกกิจการ ตั้งแต่ทำสัญญาธุรกิจ ไปจนถึงตั้งชื่อภาพยนตร์ “บอลลีวูด”
ซานเจย์ จูมานี หมอดูตัวเลขในนครมุมไบ เล่าว่า เขาถูกจ้างให้ตั้งชื่อภาพยนตร์ดังหลายเรื่องในปี 2010 รวมถึงเรื่อง “Once Upon a Time in Mumbaai” ซึ่งเขาได้เพิ่มตัวอักษร a เข้าไปอีก 1 ตัวในคำว่า มุมไบ (Mumbai)
หมอผียังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย ขณะที่นักบวชชินโตในญี่ปุ่นได้รับเชิญให้ไป “เจิม” รถไฟหัวกระสุนอยู่บ่อยครั้ง นักธุรกิจแดนปลาดิบจำนวนไม่น้อยก็ยังขอคำปรึกษาจากหมอดูลายมือและดวงดาว
ทว่า ดูเหมือนจะไม่มีชาติใดที่เชื่อถือศาสตร์แห่งดวงดาวมากไปกว่าศรีลังกา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเปลี่ยนนามเป็น “ชรีลังกา” (Shri Lanka) ในสมัยประธานาธิบดี รานาซิงเก ปรีมาดาซา หลังหมอดูทำนายว่า ตัวสะกดแบบเดิมเป็นลางอุบาทว์สำหรับท่าน
มีรายงานว่า กองทัพศรีลังกาและทหารเสือทมิฬ ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้ปรึกษาหมอดูก่อนที่จะเริ่มปะทะกันอย่างรุนแรงในปี 2009
“คนเราไม่ได้มีอำนาจแก้ปัญหาได้เสมอไป พวกเขาจึงหาทางออกด้วยการพึ่งไสยศาสตร์” จุฑามณี บาสเน็ต นักสังคมวิทยาในเนปาล อธิบาย
จูมานี หมอดูชาวอินเดีย ยังเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาความรุนแรงในแคชเมียร์ ดังนี้
“พวกเขาควรเปลี่ยนชื่อมันเป็น แคชมีอาร์ (Kashmiar) ในเมื่อที่ผ่านมายังไม่มีวิธีไหนได้ผล ทำไมไม่ลองดูสักตั้งล่ะ?”