ตามประเพณีจีน วันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติ อันเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกหลังผ่านพ้นตรุษจีน เรียกว่าวัน “หยวนเซียว” ครอบครัวชาวจีนจะชวนมารับประทานขนมบัวลอย และออกไปเดินชมโคมไฟสวยงามที่ประดับตามอาคารบ้านเรือน จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节-เติง เจี๋ย) เพื่อความสว่างไสวของชีวิตและเป็นความหวังกำลังใจในการเผชิญอุปสรรคการงาน โดยในปีนี้ วันหยวนเซียวตรงกับวันนี้พอดี วันพฤหัสบดีที่ 17 ก.พ.
จุดเริ่มต้นของเทศกาลหยวนเซียว (元-หยวน คือ แรกเริ่ม ส่วน宵-เซียว คือ กลางคืน) ตามประวัติมีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25) ส่วนประเพณีการชมโคมไฟนั้น เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดไฟเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวังจุดไฟเพื่อเคารพต่อพุทธศาสนา และนั่นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟ
มาถึงราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ที่มีการบันทึกว่ามีความสูงถึง 20 จั้ง (ราว 66 เมตร) และมีการประดับประดาด้วยโคมไฟถึง 50,000 ดวง ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน
เรื่อยมาจนในราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ.960-1279 ) ที่ยิ่งให้ความสำคัญกับประเพณีนี้ และกิจกรรมดังกล่าวก็ยิ่งคึกคัก และมีติดต่อกัน 5 วัน รวมถึงรูปแบบของโคมไฟก็ยิ่งหลากหลาย ส่วนในราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) ประเพณีการชมโคมไฟยาวนานถึง 10 วัน และเป็นการชมโคมที่ยาวที่สุดของจีน ในขณะที่เมื่อมาถึงราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616-1911) ประเพณีดังกล่าวก็ได้หดลงเหลือเพียง 3 วัน แต่ความยิ่งใหญ่ตระการตากลับไม่ได้ลดลงเลย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ถึงค่ำคืนเทศกาลหยวนเซียว ผู้คนก็จะเดินกันไปตามท้องถนนเพื่อชมโคมไฟที่มีรูปทรงต่างๆ ทายปัญหาเชาวน์ที่ซ่อนอยู่ในโคมไฟ เล่นดอกไม้ไฟ จุดประทัด แห่สิงโต ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมบันเทิงใจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากโคมไฟกระดาษแล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็น ก็ยังมีโคมไฟน้ำแข็งด้วย และกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นอกจากการชมโคมไฟแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทาน "บัวลอย" ในคืนหยวนเซียว โดยปัจจุบันจึงมีการเรียกบัวลอยว่า หยวนเซียวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำว่าหยวนเซียวจึงพัฒนาจนมี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อเทศกาล สอง หมายถึงบัวลอยนั่นเอง บัวลอยที่รับประทานนี้ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า 浮圆子-ฝูหยวนจื่อ (浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团-ทังถวน(汤-น้ำแกง 团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆-ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึง "การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว" อันเป็นเรื่องที่คนจีนในอดีตผู้ผ่านพบความทุกข์สูญเสียและจากพรากทั้งจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน และจากพิบัติภัยธรรมชาติมาตลอดประวัติศาสตร์ ต่างมีความเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ในความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าในครอบครัว
- เรียบเรียงจากหนังสือ 'จงกั๋วเหวินฮว่า' มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง(北京语言文化大学)
ชมภาพชุดโคมไฟ และกิจกรรมในเทศกาลหยวนเซียว ตามสถานที่ต่างๆ