xs
xsm
sm
md
lg

ยาเสพติด‘ส่งออก’จาก‘พม่า’ทดสอบสายสัมพันธ์‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คาร์

((เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Myanmar's drug 'exports' to China test ties
By Marwaan Macan-Markar
03/01/2011

ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในพม่าเมื่อปลายปีที่แล้ว มีอยู่ 6 คนเป็นพวกที่ต้องสงสัยว่าคือตัวการใหญ่ในเรื่องยาเสพติด และก็เป็นผู้ที่มีเส้นสายโยงใยกับคณะทหารผู้ปกครองพม่าอีกด้วย เรื่องเช่นนี้อาจจะสร้างความตึงเครียดให้แก่ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับปักกิ่ง เนื่องจากพม่านั้นเป็นแหล่งที่มาของยาเสพติดผิดกฎหมายส่วนใหญ่ ซึ่งใช้เสพกันอยู่ในชาติเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ของตนรายนี้

กรุงเทพฯ - ขณะที่คณะทหารผู้ปกครองประเทศพม่า กำลังเตรียมตัวใกล้ที่จะเผยโฉมร่างทรงทางการเมืองร่างใหม่ของตนในเวลาอีกไม่นานเกินรอ สถานการณ์กลับทำท่าจะกลายเป็นว่า แสงสปอตไลต์อาจถูกฉายสาดจับจ้องไปที่สายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นหนึบหนับระหว่างคณะทหารกับเหล่านายใหญ่ค้ายาเสพติดผู้โด่งดังฉาวโฉ่ของแดนหม่องไปเสียฉิบ

ในหมู่ผู้สมัครที่เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2010 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ ปรากฏว่ามีอยู่ 6 คนเป็นพวกที่ต้องสงสัยว่าเป็นนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ พวกเขาต่างก็เป็นผู้สมัครของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) องค์กรบังหน้าทางการเมืองของคณะทหารผู้ปกครองพม่า ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างสะดวกสบายในการหย่อนบัตรลงคะแนนคราวนี้

บุรุษสวมแว่นตาผู้มีนามว่า จ่อ มิ้นต์ (Kyaw Myint) เป็นผู้ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในบรรดา 6 ผู้ต้องสงสัยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งต่างก็เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง (อันปกคลุมไปด้วยม่านหมอกหนาทึบแห่งข้อกังขาเกี่ยวกับการทุจริตฉ้อฉล) ที่เป็นการชิงชัยเก้าอี้รวม 1,163 ที่นั่งในรัฐสภาระดับชาติ และสภานิติบัญญัติของระดับภูมิภาค

สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคที่ได้รับเลือกตั้งในคราวนี้ มีกำหนดเริ่มต้นแสดงบทบาทใหม่ของพวกเขาในพม่าภายในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์นี้ การเปิดประชุมรัฐสภาใหม่ภายในเวลา 90 วันหลังจากการเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นขั้นตอนที่ 6 ในโรดแมปทางการเมือง 6 ขั้นตอนของคณะทหารผู้ปกครองประเทศ ที่อวดอ้างว่าเป็นแผนที่ชี้ทางไปสู่การสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่เฟื่องฟูและมีระเบียบวินัย” ขึ้นในพม่า

ก่อนหน้าที่จะไหลลื่นเข้าไปรับบทบาทเป็นสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติคราวนี้ จ่อ มิ้นต์ ผู้อยู่ในวัย 51 ปี เป็นที่รู้จักกันดีมากกว่าในบทบาทฐานะของหัวหน้ากองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่สนับสนุนคณะผู้ปกครองทหาร รวมทั้ง “มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในหมู่ประชาชนคนท้องถิ่นในฐานะนักค้ายาเสพติดในเมืองน้ำคำ (Namkham) ของเขตรัฐฉานตอนเหนือ (Shan State North)” ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของสำนักข่าว ฉาน เฮรัลด์ เอเจนซี ฟอร์ นิวส์ (Shan Herald Agency for News ใช้อักษรย่อว่า SHAN) อันเป็นองค์กรสื่อซึ่งดำเนินงานโดยเหล่านักหนังสือพิมพ์ที่เป็นชนชาติไทใหญ่ (ฉาน) ชนชาติส่วนน้อยที่ส่วนใหญ่พำนักอยู่ในรัฐฉานของพม่า

“ท่าเรือข้ามฟากจำนวนมากตามลำแม่น้ำยุ่ยลี่ (Ruli River) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งแยกระหว่างจีนกับพม่านั้น คุ้มครองดูแลรักษาการณ์โดย จ่อ เตว่ (Kyaw Htwe) ผู้เป็นที่รู้จักกันด้วยในชื่อภาษาจีนว่า หลี่เหยงผิง (Li Yongping) เขาเป็นน้องชายของ จ่อ มิ้นต์” สำนักข่าว SHAN รายงานเพิ่มเติม

ทว่าใบรับรองทางการเมืองใหม่เอี่ยมของ จ่อ มิ้นต์ ซึ่งได้รับการประทับตราด้วยความชื่นชมจากคณะทหารผู้ปกครองพม่า กำลังจะกลายเป็นเครื่องทดสอบความผูกพันเหนียวแน่นทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างประเทศพม่ากับประเทศจีนที่เป็นเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตน ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยพวกเจ้าหน้าที่พม่านั้น ในปีที่ผ่านมาจีนได้อัดฉีดเม็ดเงินในรูปของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) เป็นจำนวนกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขอเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของพม่า

การลงทุนเหล่านี้ซึ่งเป็นการลงเม็ดเงินของพวกบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนทั้งในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ, ไฟฟ้าพลังน้ำ, และเหมืองแร่ ได้ทำให้ยอดการลงทุนของแดนมังกรในแดนหม่องพุ่งทะยานขึ้นอย่างมหาศาล จากที่เพียงเมื่อ 5 ปีก่อนยังอยู่ระดับแค่ 194 ล้านดอลลาร์

“พม่ากับจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเพิ่มขึ้นมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และปักกิ่งกำลังจวนเจียนที่จะเข้าแทนที่ประเทศไทยในฐานะเป็นชาติที่ทำการลงทุนมากที่สุดในพม่าอยู่แล้ว” นักการทูตของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่งกล่าวตั้งข้อสังเกต บนเงื่อนไขที่ขอไม่ให้เปิดเผยนาม

ทว่ามี “สินค้าออก” ของพม่าไปยังจีนรายการหนึ่ง ซึ่งปักกิ่งรู้สึกกังวลมาก นักการทูตผู้นี้แจกแจงต่อ “ปักกิ่งกำลังวิตกมากจากการที่มียาเสพติดจำนวนเพิ่มขึ้นทะลักจากพม่าเข้าสู่มณฑลหยุนหนันที่เป็นมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตน”

พวกเจ้าหน้าที่สหประชาชาติหลายรายก็ยืนยันเรื่องนี้ “ใช่เลย พวกเขา (ทางการปักกิ่ง) กำลังกังวลใจ ไม่เพียงในเรื่องของ ATS (amphetamine-type stimulants สารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีน ที่ในเมืองไทยนิยมเรียกรวมๆ ว่า “ยาบ้า”) เท่านั้น หากแต่ยังในเรื่องเฮโรอีนอีกด้วย” แกรี ลิวอิส (Gary Lewis) ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime หรือ UNODC) ระบุ

ยาเม็ดเมทแอมเฟทามีน (methamphetamine) ที่ถูกยึดได้ในจีนเมื่อปี 2009 ปรากฏว่ามีจำนวนพุ่งทะยานขึ้นสูงลิ่ว จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำยืนยันให้เกิดความวิตกกังวลดังกล่าว “ในปี 2009 จีนรายงานว่าสามารถยึดยาเม็ดชนิดนี้ได้มากกว่า 40 ล้านเม็ด นี่เท่ากับเพิ่มขึ้นมาร่วมๆ 6 เท่าตัวจากที่เคยยึดได้ 6.25 ล้านเม็ดในปี 2008” สำนักงาน UNDOC ระบุเอาไว้ในรายงานเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ซึ่งกล่าวถึงการค้า ATS ในพม่า โดยที่ต้องไม่ลืมว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนหม่องนั้น ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ของโลก

“รัฐบาลจีนกำลังรายงานว่า มีการลักลอบขนยาเสพติดเพิ่มขึ้นลิบลิ่วจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเข้าสู่จีน โดยใช้วิธีการเปลี่ยนเส้นทางและกลเม็ดในการลักลอบขนไปเรื่อยๆ” รายงานที่ใช้ชื่อว่า “พม่า-การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยสารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีน” (Myanmar - Situation Assessment on Amphetamine-Type Stimulants) และมีความหนา 45 หน้าฉบับนี้ระบุ พร้อมกับบอกอีกว่า “รายงานต่างๆ บ่งบอกให้เห็นว่าพวกแก๊งยาเสพติดข้ามชาติกำลังพยายามที่จะจำหน่ายยาที่ผลิตเก็บซุกซ่อนเอาไว้ จึงส่งผลให้การลักลอบขนยาเสพติดเข้าสู่จีนเพิ่มขึ้นอย่างลิบลิ่ว”

“การยึดเฮโรอีนเป็นจำนวน 3.2 ตัน และเมทแอมเฟตามีนในปริมาณใกล้เคียงกัน ในเขตมณฑลหยุนหนัน เท่ากับราวๆ ครึ่งหนึ่งของปริมาณยาเสพติดผิดกฎหมายที่ยึดได้ในทั่วทั้งประเทศจีนในปี 2009” รายงานฉบับนี้กล่าวต่อไป พร้อมกับชี้ว่า “มีเขตบริหารปกครองตนเองในพม่า 3 เขตที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนติดต่อกับมณฑลหยุนหนัน ยาเม็ดเมทแอมเฟตามีนซึ่งถูกยึดในมณฑลหยุนหนันนั้น (อย่างน้อยที่สุด) ก็ต้องถูกลักลอบลำเลียงผ่านเขตพิเศษเหล่านี้”

การที่พม่ากำลังโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นศูนย์การผลิตแห่งใหญ่แห่งหนึ่งของยาเม็ดเมทแอมเฟตามีน โดยที่มีโรงงานผลิตหลายแห่งตั้งอยู่ในรัฐฉานซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ กลายเป็นการเพิ่มเติมความฉาวโฉ่แต่เดิมของแดนหม่องในฐานะที่เป็นซัปพลายเออร์ยาเสพติดประเภทฝิ่นและเฮโรอีน

การปรากฏตัวในฐานะเป็นผู้ผลิต ATS ของพม่า บังเกิดขึ้นภายหลังที่คณะทหารผู้ปกครองแดนหม่องตัดสินใจเริ่มแผนงานระยะ 15 ปีในการกำจัดกวาดล้างยาเสพติดในปี 1999 แผนงานที่ใช้ชื่อว่า “แผนการกำจัดกวาดล้างยาเสพติด” (Drug Elimination Plan หรือ DEP) นี้ พุ่งเป้าหมายไปยังไร่ฝิ่นในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งประมาณการกันว่ามีที่ดินซึ่งถูกใช้เพื่อการปลูกฝิ่นรวมแล้วเป็นจำนวนถึง 163,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1.02 ล้านไร่) ในช่วงประมาณกลางทศวรรษ 1990

ก่อนหน้าที่จะมีแผนการ DEP พม่าขึ้นชื่อลือชาในฐานะเป็นผู้ผลิตฝิ่นผิดกฎหมายรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการผลิต “ประมาณ 700 ตันต่อปี ระหว่างปี 1981 ถึง 1987” รายงานของ UNDOC ระบุ “(ตัวเลขพื้นที่ปลูกฝิ่นดังกล่าวได้ลดลงมา) เหลือเพียง 21,600 เฮกตาร์ในปี 2006 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา”

อย่างไรก็ตาม การปลูกฝิ่นที่ลดลงมาถึง 83% เมื่อมีการดำเนินแผนการ DEP นี้ ไม่ได้พิจารณาถึงการทะยานขึ้นลิ่วในการค้า ATS ข้ามชายแดน ซึ่งมีการลักลอบลำเลียงขนส่งโดยใช้เส้นทางเดิมๆ ที่ครั้งหนึ่งกองคาราวานยาเสพติดเคยใช้อยู่บ่อยๆ ในการเคลื่อนย้ายเฮโรอีนจากพม่าเข้าสู่จีน

“แนวชายแดนตรงนั้นเต็มไปด้วยรูโหว่มากมาย แล้วก็ไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่จะบอกได้ว่าตรงไหนที่เขตแดนของพม่าสิ้นสุดลง และตรงไหนที่เขตแดนของจีนเริ่มต้น” เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของไทย ให้ข้อมูล “เป็นเรื่องง่ายมากที่จะขนยาเสพติดจากรัฐฉานของพม่าเข้าสู่มณฑลหยุนหนันของจีน โดยผ่านพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ซึ่งไม่มีการตั้งด่านตรวจ”

“กองคาราวานขนยาจะเดินทางในตอนกลางคืน พวกเขาสามารถบรรจุยาเอาไว้ในเป้หลังได้” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ UPS) ในเงื่อนไขที่ขอมิให้ระบุนาม “รัฐบาลจีนกำลังเผชิญกับปัญหา เนื่องจากว่าตลาดภายในประเทศของจีนนั้นมีขนาดใหญ่มาก”

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น