ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ระหว่างเดือน ก.ย.2553 จนถึงวันที่ 13 ม.ค.2554 นี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันทำลายไร่ฝิ่นได้ 10,117.6 เอเคอร์ (เกือบ 25,600 ไร่) ทั้งหมดอยู่ในเขต 15 เมืองของรัฐชานเหนือ ใต้ และตะวันตก รวมทั้งเขตเมืองเชียงตุง กับอีกจำนวนหนึ่งเขตผลิตพลอยคุณภาพดีที่สุดของโลกใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์
แต่ตัวเลขของทางการ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงมากในฤดูปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
โมกก (Mogok) เป็นแหล่งผลิตพลอยคุณภาพดีที่สุดของโลก ชนชาติส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเขาห่างไกลออกไป ยังนิยมปลูกฝิ่นในฤดูหนาว แม้จะอ้างว่าปลูกเป็นธรรมเนียมเพื่อใช้ทำยารักษาโรค แต่ก็มีการลักลอบส่งจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตยาเสพติดด้วย
ปีนี้เขตโมกก มีไร่ฝิ่นถูกทำลายไป 97 เอเคอร์ (245 ไร่) หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์กล่าว
เมื่อต้นปีที่แล้วสื่อของทางการ รายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ร่วมกันทำลายไร่ฝิ่นได้ 13,319.09 เอเคอร์ (เกือบ 33,700 ไร่) เกือบทั้งหมด กระจายอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับปีนี้ การปฏิบัติการที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ดำเนินไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.2553
ขณะเดียวกัน ในลาว แม้จะยังลักลอบปลูกน้อยกว่าในพม่า แต่ตัวเลขของสำนักงานเพื่อยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ระบุว่า ในปลายปี 2553 พบในภาคเหนือของลาวมีการปลูกฝิ่นประมาณ 3,000 เฮกตาร์ (กว่า 17,700 ไร่) แต่คิดเป็นอัตราเพิ่มถึง 58% เมื่อเทียบกับเพียง 1,900 เอเคอร์ (11,875 ไร่) ในปี 2552
ลาวจึงมีอัตราการลักลอบปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ UNODC กล่าว
เมื่อดูภาพรวมทั่วทั้งภูมิภาคปี 2553 มีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นกว่า 20% รวมทั้งในประเทศไทยด้วย UNODC อ้างสถิติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของไทย
หน่วยงานของสหประชาชาติแถลงเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ในกลางเดือน ธ.ค.2553 จึงยังไม่ได้นับรวมพื้นที่ปลูกอีกจำนวนหนึ่ง ที่มักจะทำกันในช่วงต้นถัดมา
การสำรวจของ UNODC ประมาณว่า ฝิ่นที่ผลิตจากย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่ารวมกันประมาณ 219 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 100 ล้านดอลลาร์จากปี 2552 คิดเป็นอัตราเพิ่ม 82%
รายงานของ UNODC กล่าวว่า แม้พื้นที่ปลูกฝิ่นในภูมิภาคนี้จะลดลงอย่างมาก หากเทียบกับช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ที่เคยสูงถึง 160,000 เฮกตาร์ หรือ 1 ล้านไร่ แต่ปี 2549 เป็นต้นมา พื้นที่ปลูกเริ่มขยับขยายออกไปอีก
UNODC ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้การช่วยเหลือประเทศต่างๆ เหล่านี้ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่ากับลาว เพื่อลดพื้นที่ปลูกฝิ่นอันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเฮโรอีนลง รวมทั้งใช้มาตรการป้องกัน ส่งเสริมในราษฎรในพื้นที่ห่างไกลปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น.