xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธการยึด “มาร์จาห์” มุ่งดึงประชามติคนอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Marjah push aimed to shape US opinion
By Gareth Porter
24/02/2010

ไม่เป็นไรหรอก ถึง “มาร์จาห์” จะเป็นแค่ตำบลเล็กเมืองน้อย ที่แม้รวมเอาพวกหมู่บ้านรายรอบเข้ามาด้วยแล้ว ก็ยังมีประชากรไม่ถึง 50,000 คน อีกทั้งแทบไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสงครามที่กลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯกำลังดำเนินอยู่ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุประสงค์ใหญ่ของยุทธการรุกหนักเพื่อยึดมาร์จาห์ ดูจะเป็นเพียงการมุ่งทำให้ประชามติภายในประเทศสหรัฐฯเกิดความรับรู้ความเข้าใจว่า สงครามอันยืดเยื้อยาวนานคราวนี้ได้เริ่มต้นก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” แล้ว

วอชิงตัน – ยุทธการใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ในอัฟกานิสถานเวลานี้ มีการใช้ทหารสหรัฐฯ-อังกฤษเป็นจำนวนมาก บุกเข้ายึดเมือง มาร์จาห์ (Marjah) การที่พวกนายทหารระดับสูงตัดสินใจให้ลงมือปฏิบัติการคราวนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การมุ่งสร้างอิทธิพลโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชนภายในสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับสงครามอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวันจันทร์(22 ก.พ.)

ข่าวของวอชิงตันโพสต์ชิ้นนี้ เขียนโดย เกร็ก แจฟฟ์ (Greg Jaffe) และ เคร็ก วิตล็อก (Craig Whitlock) ซึ่งต่างก็เป็นผู้สื่อข่าวที่ติดตามรายงานข่าวกิจการทางทหาร รายงานของพวกเขาชิ้นนี้ระบุว่า เมืองมาร์จาห์ ในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) แห่งนี้จะไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯหรอก ถ้าหากหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกสรรคือ เรื่องคุณค่าความสำคัญทางการทหาร แทนที่จะเป็นเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อมติมหาชนภายในสหรัฐฯเอง

พวกเขาเขียนต่อไปว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของการรุกโจมตีครั้งใหญ่คราวนี้ คือ “การทำให้ชาวอเมริกันเกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาว่า สงครามอันยาวนานยืดเยื้อมาถึง 8 ปีแล้วนี้ ได้มาถึงยุคใหม่แล้ว” พวกนายทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน “หวังว่าชัยชนะครั้งใหญ่และครั้งโด่งดังในมาร์จาห์ จะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันเกิดความมั่นใจขึ้นมาว่า ควรที่จะให้เวลาเพิ่มเติมแก่พวกเขา ในการสาธิตให้เห็นว่า เมื่อได้รับกำลังทหารเพิ่มเติมและมีการใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ ก็จะสามารถสร้างผลงานที่ดีขึ้นในสมรภูมิแห่งนี้” แจฟฟ์ กับ วิตล็อก กล่าวเอาไว้เช่นนี้

นอกจากนั้นยังมีการระบุด้วยว่า จุดมุ่งหมายประการที่สองของยุทธการคราวนี้ ได้แก่การสาธิตให้ชาวอัฟกานิสถานทั้งหลายได้เห็นว่า กองทัพสหรัฐฯสามารถที่จะพิทักษ์คุ้มครองพวกเขาจากพวกตอลิบานได้

ถึงแม้รายงานข่าวนี้จะมีความหมายทางการเมืองอย่างกว้างไกล แต่วอชิงตันโพสต์ก็กลับตีพิมพ์หลบๆ เอาไว้ในหน้า A9 ซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่าพวกบรรณาธิการไม่ได้มองว่ามันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สลักสำคัญอะไรนักหนา

แจฟฟ์ และ วิตล็อก ไม่ได้อ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางการคนใดเลยในรายงานข่าวชิ้นนี้ แต่ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสรุปสำคัญที่สุดของรายงานข่าว มาจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ป้อนให้โดยแหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน เรื่องนี้บ่งชี้ว่าพวกเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเหล่านี้มาโดยตั้งเงื่อนไขว่า จะต้องไม่ระบุว่ามาจากแหล่งข่าวทางการใดๆ เลย

ตามรายงานข่าวของ แจฟฟ์ และ วิตล็อก ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว พวกที่ปรึกษาบางคนของ พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสทัล (Stanley McChrystal) ผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯ และกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force หรือ ISAF ซึ่งก็คือกองทหารนานาชาติที่นำโดยองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ -ผู้แปล) ได้บอกกับ พล.อ.แมคคริสทัลว่า นครกันดาฮาร์ (Kandahar) นั้นมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ยิ่งกว่ามาร์จาห์นักหนา

ตามข้อมูลของ เจฟฟรีย์ เดรสส์เลอร์ (Jeffrey Dressler) แห่งสถาบันเพื่อการศึกษาเรื่องสงคราม (Institute for the Study of War) ในกรุงวอชิงตัน มาร์จาห์เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรน้อยกว่า 50,000 คน แม้กระทั่งเมื่อรวมเอาผู้คนที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รายรอบเข้ามาแล้ว นั่นหมายความว่าเมืองนี้มีจำนวนประชากรเพียงแค่ราวหนึ่งในสิบของเมืองกันดาฮาร์ นอกจากนั้น ดังที่เดรสส์เลอร์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในงานการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับจังหวัดนี้ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยทางสถาบันของเขาตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มาร์จาห์เป็นเพียง 1 ในศูนย์ส่งกำลังบำรุงหลายๆ แห่งของพวกตอลิบานในจังหวัดเฮลมันด์

ในทางตรงกันข้าม กันดาฮาร์กลับได้รับการยอมรับกันว่าทรงความสำคัญมากในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากมันเป็นสถานที่แรกซึ่งพวกตอลิบานสามารถก้าวขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น และก็เป็นทำเลที่ตั้งขององค์กรต่างๆ ของคณะผู้นำตอลิบาน แม้กระทั่งในช่วงที่พวกเขากลายเป็นผู้ปกครองประเทศแล้ว

กระนั้นก็ตามที ในการเปิดยุทธการสำคัญยุทธการแรกภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของคณะรัฐบาลบารัค โอบามา แมคคริสทัลกลับตัดสินใจที่จะส่งกำลังทหารสหรัฐฯและทหารอัฟกานิสถานจำนวนรวม 15,000 คน เพื่อทำการยึดครองมาร์จาห์

การตัดสินใจเช่นนี้สร้างความงงงวยให้แก่ผู้สนับสนุนสงครามคราวนี้เป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า สตีฟ คอลล์ (Steve Coll) นักเขียนเจ้าของผลงานเรื่องประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายต่ออัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ซึ่งมีความสมบูรณ์น่าเชื่อถือยิ่ง อีกทั้งเวลานี้ก็เป็นกรรมการบริหารของ มูลนิธิอเมริกาใหม่ (New America Foundation) คอลล์เขียนลงในนิตยสาร “นิวยอร์กเกอร์” ฉบับเผยแพร่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ว่า เขาไม่เข้าใจเลยว่า “ทำไมกองทหารสหรัฐฯที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างพุ่งพรวด (surge) ขึ้นมาแล้วนี้ จึงยังคงทุ่มเทความพยายามรวมทั้งทุ่มเทจำนวนกันอย่างมากมายไปในเฮลมันด์เช่นนี้”

คอลล์ยังชี้ให้เห็นว่า กันดาฮาร์มีความสำคัญกว่ามาร์จาห์อย่างมากมายมหาศาลนัก เมื่อมองในภาพกว้างเชิงยุทธศาสตร์

ตามรายงานข่าวของ แจฟฟ์ และ วิตล็อก เหตุผลแท้จริงของการตัดสินใจบุกโจมตีมาร์จาห์ ไม่ใช่เพราะมันมีความสำคัญอย่างที่บ่งบอกเอาไว้ในวัตถุประสงค์ของยุทธการหรอก หากแต่เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การปฏิบัติการทางทหารเพื่อเข้ายึดครองเมืองนี้ สามารถที่จะ “สร้างชัยชนะทางการเมืองและทางการทหารอันรวดเร็วฉับไวให้แก่แมคคริสทัล”

ถ้าหากเลือกันดาฮาร์เป็นเป้าหมายของยุทธการใหญ่ยุทธการแรกภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ ย่อมหมายความว่าจะต้องใช้เวลาอีกเป็นอันมากเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มปรปักษ์ทางการเมืองต่างๆ ในจังหวัดดังกล่าว รายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ชิ้นนี้แจกแจง

ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนอยู่หลายครั้ง รวมทั้งที่เป็นคำพูดชัดๆ ของ พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (David Petraeus) ผู้บัญชาการ กองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (US Central Command ซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมทั้งอัฟกานิสถานและอิรัก -ผู้แปล) ความคิดเห็นเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการวางกรอบโครงของเรื่องราว ซึ่งอาจจะถูกใช้เพื่อบอกเล่าป่าวร้องเกี่ยวกับยุทธการในมาร์จาห์ ตลอดจนการรุกโจมตีครั้งต่อๆ ไปที่อาจจะเป็นการบุกเข้ากันดาฮาร์ ในช่วงเวลาต่อไปของปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) ได้มี “นายทหารอาวุโส” ที่ไม่มีการระบุชื่อ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์ใหม่” และกล่าวด้วยว่า “นี่คือการระดมยิงซัลโวชุดแรกของเรา”

มาถึงวันอาทิตย์ (21 ก.พ.) เพเทรอัสได้ปรากฏตัวในรายการ “มีตเดอะเพรส” (Meet the Press) ของเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี โดยเขาบอกว่า การเดินทางเข้าสู่อัฟกานิสถานของทหารใหม่ๆ จำนวน 30,000 คน ตามคำสั่งโอบามาเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังเริ่มต้นสร้าง “ผลผลิต” ออกมาแล้ว มาร์จาห์เป็น “เพียงยุทธการขั้นต้นของสิ่งที่จะเป็นการรณรงค์ที่จะใช้เวลาระหว่าง 12 ถึง 18 เดือน” เขากล่าว และได้เรียกการบุกมาร์จาห์ว่าเป็น “การระดมยิงซัลโวขั้นต้น”

เพเทรอัสยังได้พูดชี้ชวนให้เห็นไปว่า พวกตอลิบานได้ทำการต่อต้านการรุกคืบในมาร์จาห์อย่างดุเดือดเข้มข้น เหมือนกับเขาตั้งใจที่ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของมาร์จาห์ในแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายตอลิบาน “เมื่อเราเปิดการโจมตีไปเรื่อยๆ”เพเทรอัสบอก “เมื่อเรายึดเอาที่พักพิงและแหล่งหลบภัยไปจากพวกตอลิบานและพวกหัวรุนแรงอื่นๆ พวกเขาก็จะต้องสู้รบตอบโต้”

อันที่จริงแล้ว พวกนักรบตอลิบานส่วนใหญ่ซึ่งเคยอยู่ในมาร์จาห์ก่อนยุทธการเริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนจะพากันเคลื่อนย้ายออกจากเมืองไปก่อนที่การสู้รบจะเปิดฉากขึ้นแล้ว

เพเทรอัสดูจะกำลังพยายามปูพื้นให้แก่การเสนอเรื่องราวที่ว่า มาร์จาห์เป็นสมรภูมิสำคัญมาก ตลอดจนเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จสำหรับยุทธการทำนองเดียวกันที่จะติดตามมาอีก

รายงานข่าวในวอชิงตันโพสต์ชิ้นนี้ บ่งบอกเป็นนัยว่าทั้งเพเทรอัส และแมคคริสทัล ต่างรู้สึกกังวลที่คณะรัฐบาลโอบามา กำลังผลักดันให้มีการถอนกำลังทหารสหรัฐฯออกมาอย่างรวดเร็วภายหลังผ่านพ้นช่วงกลางปี 2011 ตามรายงานของ แจฟฟ์ และ วิตล็อก ฝ่ายทหารเชื่อว่าถ้าหากสาธารณชนเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาว่า กองทัพสหรัฐฯประสบชัยชนะ “ก็แทบจะแน่นอนเลยว่าจะหมายถึงการได้ชะลอการถอนทหารออกไปด้วย”

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรักในช่วงปี 2007-2008 เพเทรอัสได้สร้างโมเดลใหม่ของการทำให้สาธารณชนกลับมาสนับสนุนสงครามอีกครั้งหลังจากที่แรงหนุนดังกล่าวได้ลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ เขากับทีมงานอาศัยการบรรยายสรุปสถานการณ์ให้พวกนักหนังสือพิมพ์และพวกผู้แทนฝ่ายรัฐสภาฟังอย่างไม่หยุดไม่หย่อน เพื่อทำให้เหล่าชนชั้นนำทางการเมืองและมติมหาชนเกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาว่า แผนการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของเขา คือสิ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการลดกิจกรรมของพวกผู้ก่อความไม่สงบ ในระหว่างที่เขาเป็นผู้บัญชาการอยู่ในอิรัก

อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากพวกแหล่งข่าวไม่เป็นทางการต่างๆ กลับบ่งชี้ว่า ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งแตกแยกทางนิกายศาสนาระหว่างสุหนี่กับชิอะห์ ตลอดจนการเมืองภายในหมู่ชาวชิอะห์ต่างหาก คือปัจจัยที่ทรงความสำคัญกว่าการปฏิบัติการของทหารสหรัฐฯนักหนา ในการสร้างผลลัพธ์ดังกล่าวขึ้นมา

ตัวแมคคริสทัลเองในระหว่างที่กล่าวให้ความเห็น ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อตอนที่ยุทธการคราวนี้กำลังจะเริ่มขึ้น ก็ดูเหมือนเขาจะกำลังพูดเป็นนัยๆ ว่า การเปิดการรุกที่มาร์จาห์ มีความสำคัญในแง่ที่จะสร้างผลกระทบต่อการเมืองว่าด้วยสงครามภายในสหรัฐฯเอง

“ทั้งหมดแล้วมันก็คือสงครามแห่งการสร้างความความรับรู้ความเข้าใจ” แมคคริสทัลบอก “นี่ไม่ได้เป็นสงครามทางกายภาพในแง่ที่ว่ามีคนจำนวนเท่าใดที่คุณสังหารได้ หรือมีพื้นที่มากน้อยแค่ไหนที่คุณยึดเอาไว้ได้ มีสะพานกี่สะพานที่คุณระเบิดทิ้งได้สำเร็จ แต่ทั้งหมดแล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายในความคิดภายในจิตใจของพวกที่เข้าร่วมสงครามทั้งหลาย”

การตัดสินใจเปิดการรณรงค์ทางทหาร โดยที่จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือการสร้างอิทธิพลต่อมติมหาชนอเมริกันนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การทหารของสหรัฐฯ

เมื่อตอนที่ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และ เฮนรี คิสซิงเกอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา เปิดการรณรงค์ทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ต่อเมืองหลวงของเวียดนามเหนือในปลายเดือนธันวาคม 1972 พวกเขากำลังมุ่งหาทางสร้างอิทธิพลต่อมติมหาชนอย่างจงใจ เพื่อทำให้ชาวอเมริกันมีความคิดเห็นว่า พวกเขากำลังดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้นมากในช่วงสุดท้ายของการเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพกับทางการฮานอย

สภาพความเสียหายหนักหน่วงของกรุงอานอย เมื่อบวกกับการตีฆ้องร้องป่าวอย่างหนักหน่วงของคณะรัฐบาลนิกสันในเรื่องที่ว่าพวกเขากำลังพยายามกดดันทางทหารต่อเวียดนามเหนือ นับว่ามีบทบาทมากทีเดียวในการทำให้เกิดการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาว่า คิสซิงเจอร์สามารถได้ข้อตกลงซึ่งได้เปรียบเพิ่มขึ้น จากการไปเจรจาสันติภาพในกรุงปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ 1973

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คิสซิงเจอร์ได้ยินยอมอ่อนข้อในทุกๆ ประเด็นที่เขาได้เรียกร้องเอาไว้ก่อนที่การรณรงค์ทิ้งระเบิดจะเริ่มต้นขึ้นมา ทว่าสำหรับทำเนียบขาวในยุคนิกสัน ความรับรู้ความเข้าใจของสาธารณชน ย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์ และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น