xs
xsm
sm
md
lg

ความลับคับกระเป๋าของไกธ์เนอร์

เผยแพร่:   โดย: เอฟ. วิลเลียม เองดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Geithner's dirty little secret
By F William Engdahl
02/04/2009

รมว.คลังแห่งสหรัฐอเมริกา นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ กล่าวอ้างว่าตนมิได้“พยุงธนาคารอ่อนแอบนต้นทุนที่จ่ายโดยธนาคารเข้มแข็ง” กระนั้นก็ตาม แบงก์ผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ทั้งห้าราย นำโดย เจพีมอร์แกน เชส และแบงก์ ออฟ อเมริกา คือแบงก์อ่อนแอที่สุด และเป็นผู้กุมสิทธิ์ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ของสหรัฐฯ อยู่ในมือเป็นสัดส่วนมหาศาลถึง 96% โดยเกือบทั้งหมดเป็นการแบกความเสี่ยงจากการผูกอยู่กับสินเชื่อ ที่สำคัญเหนืออื่นใด พวกนี้กำลังบงการนโยบายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

รมว.คลังแห่งสหรัฐอเมริกา นายทิม ไกธ์เนอร์ ในที่สุดก็ทำการเปิดตัวแผนกอบกู้ระบบการเงินการธนาคารสหรัฐฯ ให้เข้าที่เข้าทาง แต่ท่านรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะเล่าถึงความลับซ่อนเร้นแห่งวิกฤตการเงินปัจจุบัน เพราะมันเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของพวกธนาคารพาณิชย์อเมริกัน ซึ่งในทางเป็นจริงนั้น ได้ตกอยู่ในสถานะล้มละลายไปแล้ว อีกทั้งยังพร้อมจะลากระบบของโลกทั้งมวลให้จมแผ่นดินไปด้วยกันภายในช่วงแห่งการล้างผลาญความมั่งคั่งของโลก ซึ่งในรอบใหม่นี้ จะมีพลังหายนะร้ายกาจกว่าเมื่อรอบแรกๆ มากมายนัก

ข้อเสนอของไกธ์เนอร์ มีฉายาว่าโครงการพีพีพีไอพี หรือโครงการการลงทุนแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership Investment Program - PPPIP) โครงการถูกออกแบบเพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูระบบการกู้ยืมให้กลับมาดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในบทบาทการเป็นช่องทางผ่องถ่ายสินเชื่อไปสู่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น โครงการนี้กลับเป็นเพียงอีกหนึ่งแผนการซับซ้อนที่จะสาดเทเงินอีกหลายแสนล้านดอลลาร์ตรงสู่บรรดาแบงก์ชั้นนำ ตลอดจนลงสู่บริษัทชื่อดังของวอลล์สตรีทซึ่งแท้จริงแล้วควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความเหลวแหลกในตลาดสินเชื่อโลกปัจจุบัน เนื้อแท้ของโครงการจึงเป็นการอัดฉีดให้โดยที่ไม่ได้เรียกร้องพวกขาใหญ่โลกการเงินเหล่านี้เปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจกันเลย

เอาเถิด บางคนอาจกล่าวว่า วิธีนี้มิใช่หรือที่จะช่วยกอบกู้ให้แบงก์กลับสู่ฐานะอันแข็งแรง

แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่รัฐบาลบารัค โอบามา ลั่นวาจาว่าจะดำเนินการ ทั้งนี้ ตอนที่ไกธ์เนอร์ออกมาพูดเพื่อปกป้องแผนของตนทางโทรทัศน์อเมริกันเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านรัฐมนตรี (ผู้ถูกปะยี่ห้อว่าเด็กสร้างของเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อีกทั้งเป็นอดีตประธานแบงก์ชาติสหรัฐฯ สำนักนิวยอร์ก - นิวยอร์กเฟด) โต้ว่าความตั้งใจของตน “มิใช่เพื่อพยุงธนาคารอ่อนแอบนต้นทุนที่จ่ายโดยธนาคารเข้มแข็ง” กระนั้นก็ตาม นี้กลับเป็นสิ่งที่โครงการพีพีพีไอพีทำอยู่อย่างแท้จริง ในเมื่อเหล่าแบงก์ใหญ่สุดทั้ง 5 แห่ง ล้วนเป็นแบงก์อ่อนแออยู่ในระบบขณะนี้

“ความลับซ่อนเร้น”ที่ไกธ์เนอร์ทำให้เป็นที่หลงหูหลงตาของสาธารณชนในขณะนี้นั้นนับเป็นอะไรที่โจ่งแจ้งทีเดียว กล่าวก็คือ มันคงมีอยู่อย่างมากที่สุดก็แค่ 5 แบงก์ของสหรัฐฯ ที่เป็นต้นตอแห่งพิษร้ายที่ทำเอาระบบการเงินโลกรวนกันไปหมด สิ่งที่ไกธ์เนอร์พยายามปกป้องอย่างยอมตายถวายชีวิต ก็คือเจ้าความจริงนี้นั่นเอง เพราะอันที่จริงแล้วประเด็นว่าด้วยการขาดทุนจากการปล่อยกู้ที่เคยเป็นต้นเหตุของปัญหาวิกฤตแบงก์รุ่นก่อนๆ มิใช่ตัวการแท้จริงของมหันตภัยตลาดการเงินเที่ยวนี้ หากแต่ว่า หัวใจสำคัญของปัญหาในปัจจุบันก็คือเจ้าตราสารอนุพันธ์การเงินที่สร้างสรรค์กันขึ้นมาสารพัดประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกตราสารประกันความเสี่ยงจำพวกสวอปหนี้เสีย (Credit Default Swaps - CDS)

ความเป็นมาของปัญหาตั้งต้นในยุคของรัฐบาลบิล คลินตัน โดยตอนปี 2000 รมว.คลังของสหรัฐฯ คือแลร์รี่ ซัมเมอร์ส ซึ่งเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากเบอร์สองรองจากโรเบิร์ต รูบิน (อดีตนายใหญ่ค่ายโกลด์แมน แซคส์) ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งหลังรูบินโบกมือลาวอชิงตัน แล้วไปกินตำแหน่งบิ๊กในซิตี้กรุ๊ป เรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของผมที่จะเปิดตัวในฤดูร้อนนี้ ในชื่อเรื่องว่า Power of Money: The Rise and Fall of the American Century (พลังแห่งเงิน: การผงาดขึ้นและร่วงดิ่งของศตวรรษแห่งอเมริกา) ในการนี้ ซัมเมอร์สได้กล่อมให้ประธานาธิบดีคลินตันลงนามแก่ร่างกฎหมายหลายฉบับของฝ่ายรีพับลิกันที่เปิดประตูกั้นเขื่อนให้แบงก์สามารถดำเนินงานที่ลุแก่อำนาจได้อย่างสุดๆ ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกตัวเอ้ๆ แห่งวอลล์สตรีทควักกระเป๋าไปราว 5,000 ล้านดอลลาร์เพื่อการล็อบบี้ให้แก่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับจากปี 1998 นั้น ดูว่าจะไม่ใช่การจ่ายให้แก่คลินตัน

กฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งคือการยกเลิกกฎหมายแกลส-สตีกัลที่ออกกันมาในปี 1933 ซึ่งอยู่ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Great Depression ปี 1929 จรดถึงต้นทศวรรษ 1940) กฎหมายนี้ห้ามการผนวกกิจการระหว่างแบงก์พาณิชย์ บริษัทประกัน และบริษัทนายหน้าเช่น เมอร์ริล ลินช์ หรือโกลด์แมน แซคส์

ส่วนอีกฉบับหนึ่งที่อยู่ในการสนับสนุนของรมว.ซัมเมอร์สในรุ่นเดียวกัน โดยเป็นกรณีที่คลุมเครือ แต่ร้ายกาจอย่างยิ่ง คือ พ.ร.บ.สร้างความทันสมัยแก่ตลาดฟิวเจอร์สสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ แห่งปี 2000 (Commodity Futures Modernization Act of 2000 หรือ กฎหมาย CFMA law) กฎหมายนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่กำกับดูแลตลาดฟิวเจอร์สสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ คือ Commodity Futures Trading Corporation (CFTC) ไม่ให้เข้าไปกำกับดูแลการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ทางการเงินใดๆ เท่ากับว่าเจ้ากฎหมายใหม่ CFMA law นี้ได้กำหนดว่า ตราสารอนุพันธ์ที่เรียกกันในวงการว่าตราสาร OTC (over-the-counter) อาทิ ตราสารประกันความเสี่ยงสวอปหนี้เสีย หรือ CDS เป็นตราสารกลุ่มที่ปลอดจากการกำกับดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้ ตราสารเหล่านี้เป็นตราสารอันตรายที่จอมเซียนตลาดนักลงทุนคือ เจ้าพ่อวอร์เรน บัฟเฟต์ ขนานนามว่า“ศาสตราวุธ แห่งการทำลายล้างมหาวินาศทางการเงิน”

ในตอนที่ซัมเมอร์ส กำลังง่วนอยู่กับการเปิดประตูกั้นเขื่อนเปิดทางให้แก่พวกวอลล์สตรีฉลุยกับการสร้างความเสียหายในตลาดการเงินนั้น ผู้ช่วยของเขามิใช่ใครอื่นเลย คนคุ้นๆ หน้าที่มีชื่อว่า ทิม ไกธ์เนอร์ ที่เป็นรมว.คลังในปัจจุบันคนนี้นี่เอง โดยที่ว่านายเก่าของไกธ์เนอร์ ขณะนี้ก็ไม่ได้หายหน้าไปไหน หากแต่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา ด้วยตำแหน่งใหญ่โตระดับประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ถ้าจะว่าไป การแต่งตั้งให้ไกธ์เนอร์และซัมเมอร์ส รับผิดชอบการกวาดล้างทำความสะอาดสภาวะโสโครกกระเจิดกระเจิงของตลาดการเงิน ช่างไม่ต่างจากคำพังเพยที่ว่า ส่งสุนัขจิ้งจอกไปพิทักษ์กรงไก่

สิ่งที่ไกธ์เนอร์ไม่ต้องการให้สาธารณชนได้เข้าใจ(ในความลับดำมืดมิดเร้นของตน) ก็คือว่าการยกเลิกกฎหมายแกลส-สตีกัลและการผ่าน พ.ร.บ.สร้างความทันสมัยแก่ตลาดฟิวเจอร์สสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ แห่งปี 2000 หรือก็คือกฎหมาย CFMA นั้น เปิดโอกาสให้มีการสร้างกลุ่มแบงก์กลุ่มเล็กๆ จำนวนเพียงหนึ่งหยิบมือ ที่สามารถผูกขาดกล่องดวงใจของตลาดธุรกรรมนอกงบดุล หรือก็คือการออกตราสารอนุพันธ์โอทีซี

ปัจจุบันนี้ แบงก์อเมริกันแค่ 5 ราย กุมสิทธิ์ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ของสหรัฐฯ อยู่ในมือเป็นสัดส่วนมหาศาลถึง 96% และในกรณีที่เกิดสถานการณ์ล้มละลายขึ้นมา จอมยักษ์กลุ่มนี้แบกความเสี่ยงจากตราสารที่ผูกกับสินเชื่ออยู่ 81% ทั้งนี้ เป็นรายละเอียดตามข้อมูลที่เพิ่งเปิดเผยในรายงานประจำไตรมาสว่าด้วยการเทรดของแบงก์และกิจกรรมเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นผลงานของสำนักตรวจเงินแผ่นดิน

จอมยักษ์เบอร์ 1-3 ของกลุ่มจอมยักษ์นักเสี่ยงโชคจากการเก็งกำไรตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ เจพี มอร์แกน เชส ซึ่งถือตราสารอนุพันธ์ไว้มหาศาลน่าตกใจถึง 88 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยแบงก์ ออฟ อเมริกา ถืออยู่ 38 ล้านล้านดอลลาร์ และซิตี้แบงก์ถืออยู่ 32ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากกลุ่มท็อปทรี ได้แก่ เบอร์ 4 คือ โกลด์แมน แซคส์ ถืออยู่ 30 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยเบอร์ 5 และเบอร์ 6 คือ เวลล์ส ฟาร์โก-วาโชเวีย แบงก์ ซึ่งถือน้อยฮวบลงไปอย่างสะบั้นหั่นแหลก เหลืออยู่ 5 ล้านล้านดอลลาร์ กับ เอชเอสบีซี แบงก์ ยูเอสเอ อันมีฐานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ถืออยู่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์

มาในวันนี้ เจ้าพันธะอนุพันธ์แห่งธุรกรรมนอกงบดุลที่ปลอดการกำกับดูแลก็แผลงฤทธิ์เดชแห่งทำลายล้างเอากับเหล่าแบงก์ยักษ์กลุ่มนี้ที่ถือพวกมันไว้แบบที่ว่าไม่ต่างกับการเสี่ยงแบกไดนาไมต์มหาศาลติดตัว มูลค่าของพวกมันที่อยู่ในมือของแบงก์ยักษ์เหล่านี้ดิ่งสู่ก้นเหวอย่างอลหม่านโกลาหล ดังนั้น การสาดเทเงินของภาษีของประชาชนให้แก่ 5 แบงก์ยักษ์เหล่านี้โดยไม่เปลี่ยนระบบการดำเนินงานของแบงก์พวกนี้ ย่อมไม่ต่างจากการรักษาคนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังด้วยการป้อนเหล้าฟรีไม่มีจำกัด

การที่รัฐบาลอุ้มกลุ่มธุรกิจเอไอจีรวมเป็นมูลค่ามากกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์แล้วนั้น ส่วนใหญ่ไหลไปจ่ายภาระหนี้ตราสารประกันความเสี่ยงการสวอปหนี้เสีย (Credit Default Swaps - CDS) ให้แก่หุ้นส่วนการพนันตลาดการเงิน ได้แก่ โกลด์แมน แซคส์, ซิตี้แบงก์, เจพี มอร์แกน เชส, และแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งล้วนเป็นแบงก์ที่เชื่อกันว่า “ใหญ่โตเกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม” และมาถึงปัจจุบัน พวกแบงก์เหล่านี้คิดเตลิดไปถึงระดับว่า พวกตนใหญ่โตมโหฬารมากกระทั่งสามารถสั่งนโยบายไปยังรัฐบาลโอบามาได้ด้วย บางคนเรียกรูปการณ์ที่เห็นนี้ว่า การรัฐประหารโดยพวกแบงก์เกอร์ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องดีต่อระบบแน่นอน

ไกธ์เนอร์และวอลล์สตรีทสู้ขาดใจที่จะซ่อนความเร้นลับสกปรกนี้ เพราะหากเรื่องนี้เปิดเผยออกมา มันจะพาให้ประชาชนเจ้าของคะแนนเสียงเลือกตั้งหันมาเรียกร้องการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นจริงเป็นจัง ในการนี้ ทางการสหรัฐฯ มีกฎหมายอยู่ในมือมานานแล้วในอันที่จะจัดการกับพวกแบงก์ล้มละลาย ขั้นตอนคือ หน่วยงานที่มีชื่อว่าบรรษัทประกันเงินฝากแห่งรัฐบาลกลาง (FDIC) จะจัดวางแบงก์ล้มละลายไว้ในสถานภาพผู้รอรับความช่วยเหลือ แล้วสินทรัพย์กับหนี้ของแบงก์จะถูกผู้สอบบัญชีอิสระทำการจัดชั้นคุณภาพ ในการนี้ การบริหารที่ไร้ความรับผิดชอบจะถูกล้างออกไป ผู้ถือหุ้นรับรู้ความสูญเสีย แล้วในที่สุดแบงก์ที่ได้รับการชำระล้างเรียบร้อยจะถูกแยกส่วนเป็นยูนิตเล็กๆ โดยเมื่อยูนิตเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูจนมีฐานะที่เข้มแข็ง ก็จึงนำออกขายแก่สาธารณชน ด้วยวิธีการดังกล่าว อำนาจของเมกกะแบงก์ทั้ง 5 ในการหักคอปล้นความมั่งคั่งของประเทศทั้งประเทศ จะถูกลดทอนลง

นี่แหละที่วอลล์สตรีทและไกธ์เนอร์พยามยามวิ่งเต้นหัวฟูที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่อันที่จริงแล้ว ในเมื่อแกนกลางของปัญหานั้นรวมศูนย์อยู่ใน 5 แบงก์ยักษ์ มันก็น่าที่จะใช้วิธีปล่อยเกาะเจ้าเนื้อร้ายของตลาดการเงินเพื่อจำกัดวงพื้นที่ความเสียหาย และปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

มันน่าที่จะเป็นการจัดวางแบงก์พวกนี้ไว้ในสถานภาพผู้ล้มละลายที่รอรับความช่วยเหลือ หรือก็คือรอการปรับโครงสร้างเข้าเป็นสมบัติของชาติ แต่ละชั่วโมงที่รัฐบาลโอบามาเลื่อนเวลาจัดการกับเรื่องนี้ และปฏิเสธที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายตรวจบัญชีของภาครัฐที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ได้เข้าไปตรวจสอบ 5 เมกกะแบงก์กลุ่มนี้ และทำการแยกแยะส่วนที่เจ๊งแล้ว ออกจากส่วนที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั้น แต่ละชั่วโมงเหล่านี้จะหมายถึงการพอกพูนความเสียหายที่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และระบบเศรษฐกิจของโลกต้องแบกรับ ณ วันที่ความเสียหายจากอนุพันธ์ไม่สามารถปิดซ่อนไว้ได้และต้องระเบิดตัวสร้างความวิบัติให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันที่จริง มันคือหายนะที่แสดงตัวออกมาทีละภาคส่วน โดยความเสียหายของแต่ละภาคส่วนจะไปจุดระเบิดเข้าใส่ภาคส่วนอื่นๆ ต่อเนื่องเป็นสาย กล่าวคือ เมื่อภาวะเศรษฐกิจหดตัวทวีความระส่ำรุนแรง การล้มละลายของภาคธุรกิจจะปะทุ ส่งผลให้การเบี้ยวหนี้ในสินเชื่อจดจำนองที่อยู่อาศัยระเบิดตัว ขณะที่อัตราการว่างงานก็จะพุ่งทะยานฟ้า แล้วส่งผลกระทบความเสียหายไปสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกรอบหนึ่ง

นี้เป็นสถานการณ์ที่ถูกจงใจปล่อยให้บานปลายโดยรมว.คลังไกธ์เนอร์, ซัมเมอร์ส และตัวประธานาธิบดีเอง

ทันทีที่แบงก์เจ้าปัญหาทั้ง 5 ถูกปล่อยเกาะโดย FDIC และกระทรวงการคลัง ทางฝ่ายของรัฐบาลก็จะต้องนำกฎหมายที่จะยกเลิกกฎหมายเปิดเสรีธนาคารที่แลร์รี่ ซัมเมอร์สทิ้งไว้เป็นมรดกเลือดโดยทันที รวมทั้งนำกฎหมายแกลส-สตีกัลกลับมาใช้ พร้อมกับยกเลิกกฎหมายสร้างความทันสมัยแก่ตลาดฟิวเจอร์สสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ แห่งปี 2000 (กฎหมาย CFMA law) ที่เป็นตัวการปล่อยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการกำกับดูแลตนเองของภาคธนาคาร กลับกลายเป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้แบงก์สามารถลุแก่ความโลภ สร้างอาชญากรรมทางการเงินขึ้นมาอย่างมหาศาลในปัจจุบัน

หลังจากนั้น การปฏิรูปภาคการเงินอย่างจริงจังจะได้เริ่มต้นการหารือกัน โดยเริ่มด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่จะทำให้ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (เฟด) มีความเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง พร้อมกับดึงอำนาจทางการเงินออกจากมือของแบงก์ยักษ์ไม่กี่รายที่มีชื่อว่า เจพี มอร์แกน เชส, ซิตี้แบงก์ หรือกระทั่ง โกลด์แมน แซคส์

เอฟ.วิลเลียม เองดาห์ล เป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order กับหนังสือชื่อ Seeds of Destruction: The Hidden Agenda of Genetic Manipulation ดูรายละเอียดได้ใน www.globalresearch.ca ผลงานเล่มใหม่สุดของเขาคือ Full Spectrum Dominance: Totalitarian Democracy in the New World Order (Third Millennium Press) มีกำหนดวางแผงราวปลายเดือนเมษายน อาจติดต่อเขาได้ผ่านเว็บไซต์ของเขาคือ www.engdahl.oilgeopolitics.net
กำลังโหลดความคิดเห็น