xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ กำลังสูญเสียที่มั่นในย่านแคสเปียน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US standing in Caspian drips away
By M K Bhadrakumar
10/10/2008

ที่มั่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียกลางกำลังซวนเซหดหายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเป็นจริงใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรากฏออกมาภายหลังสงครามจอร์เจีย-รัสเซีย ความพยายามของสหรัฐฯที่จะเกี้ยวพาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคซึ่งมีท่อส่งน้ำมันสายสำคัญๆ พาดผ่านแห่งนี้ กำลังถูกบอกปัดอย่างไม่ใยดี เมื่อรัสเซียที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาต่างหากซึ่งถูกมองว่าคือพันธมิตรรายหลักทางด้านพลังงาน ยิ่งกว่านั้น บทบาทของมอสโกในการกอบกู้ช่วยเหลือทางการเงินแก่ไอซ์แลนด์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็ยังเป็นการส่งสารอันมีความหมายมายังเขตทุ่งหญ้าสเตปส์แห่งนี้อีกด้วย

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เมื่อวันอาทิตย์(5) ขณะกำลังเดินทางไปยังกรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน ภายหลัง “การเยี่ยมเยียนอินเดียที่น่ารักมากๆ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ บอกกับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ติดตามเธอว่า “ดิฉันอยากให้ตัวเองสามารถอยู่ในอินเดียได้นานกว่านี้จังเลย” นิวเดลีต้องเป็นหนึ่งในเมืองหลวงเพียงจำนวนหยิบมือหนึ่งซึ่งพวกเจ้าหน้าที่จากคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะได้รับการต้อนรับในระดับที่สมควรแก่การคาดหมาย และสัญญาณเตือนภัยวันโลกาวินาศที่ส่งกระพริบแรงออกมาจากนิวยอร์กและวอชิงตัน ดูจะไม่เป็นที่สนใจใยดีอะไร

ทว่ายังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไรซ์เกิดความกังวลใจ ขณะที่เครื่องบินโดยสารไอพ่นของเธอเคลื่อนเข้าใกล้กรุงอัสตานา นั่นคือ อิทธิพลและเกียรติภูมิของสหรัฐฯในเอเชียกลางและย่านทะเลสาบแคสเปียน กำลังตกต่ำทรุดหนักอีกคำรบหนึ่งเสียแล้ว ไรซ์ตระหนักแก่ใจเป็นอันดีว่าแทบไม่มีเวลาเหลือแล้วที่จะกอบกู้พื้นที่ซึ่งได้สูญเสียไป และมรดกในย่านแคสเปียนตลอดจนเอเชียกลางซึ่งคณะรัฐบาลบิล คลินตัน ทิ้งเอาไว้ให้ก็ถูกใช้ถูกผลาญไปเสียส่วนใหญ่แล้ว แกนกลางของเรื่องนี้ก็คือความล้มเหลวของคณะรัฐบาลบุชในการจัดการความสัมพันธ์ที่มีกับรัสเซีย การประเมินสถานการณ์กันเสียใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

สองอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศฯสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ และ จอร์จ ชูลซ์ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวันพุธ(8) โดยตำหนิคณะรัฐบาลบุชที่ “ปล่อยตัวระหกระเหินไปสู่การประจันหน้ากับรัสเซีย” พร้อมกับชี้ว่า “การโดดเดี่ยวรัสเซียนั้นไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืนเมื่อคำนึงถึงผลยาวไกล” ทั้งคู่บอกว่าหลายๆ ประเทศในยุโรปรู้สึก “ไม่สบายใจ” เป้าหมายในบทความของอดีตรัฐมนตรีทั้งสองนี้ก็คือไรซ์ ผู้ตั้งตัวเป็น “นักโซเวียตวิทยา” ตลอดจนการที่เธอใช้ถ้อยคำแสบสันต์เผ็ดร้อนอย่างชนิดให้อภัยกันไม่ได้ ไปโจมตีวังเครมลิมระหว่างที่กล่าวสุนทรพจน์ต่อมูลนิธิมาร์แชลล์แห่งเยอรมนี ณ กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 18 กันยายน

**การทูตแบบมุ่งประจันหน้า**

คิสซิงเจอร์กับชูลต์ซ กล่าวเตือนคณะรัฐบาลบุชอย่างเจาะจงเป็นพิเศษ ในเรื่องไม่ควรไปส่งเสริมให้เพื่อนบ้านของแดนหมีขาวดำเนินนโยบายการทูตแบบมุ่งประจันหน้ากับรัสเซีย เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดผลลบติดตามมา สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ได้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรงในทางลบจากภูมิภาคดังกล่าวนี้แล้ว อาเซอร์ไบจาน ซึ่งครั้งหนึ่งคณะรัฐบาลบุชถือว่าเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิดตนในภูมิภาคแถบนี้ กลับแสดงความไม่ใยดีต่อรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ของสหรัฐฯ ระหว่างที่เขาไปเยือนเมืองหลวงบากู เมื่อเดือนที่แล้ว กรุงวอชิงตันแสร้างทำเป็นมองไม่เห็นปฏิกิริยาเช่นนี้ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่งไปยังกรุงบากูในสัปดาห์ที่แล้ว นั่นคือ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ จอห์น เนโกรปอนเต ผู้ซึ่งเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯบรรยายว่าเป็น “ตัวตนที่สามารถทดแทนได้” ของไรซ์ทีเดียว

เมื่อเดินทางมาถึงกรุงบากูในวันที่ 2 ตุลาคม เนโกรปอนเตพูดทันทีโดยไม่รีรอว่า เขานำเอา “ข้อความง่ายๆ ธรรมดาๆ” มาแจ้งให้ทราบ ข้อความดังกล่าวก็คือ สหรัฐฯมี “ผลประโยชน์อันลึกซึ้งและมั่นคงถาวร”ในอาเซอร์ไบจาน อีกทั้งมันยังเป็น “ผลประโยชน์อันสำคัญ” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับความมั่นคงปลอดภัยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศด้วย เขาแสดงท่าทีเป็นนัยว่า วอชิงตันไม่ได้กำลังจะเลิกราม้วนเสื่อหรือยอมเปิดทางให้แก่มอสโก ในการแข่งขันชิงอิทธิพลในดินแดนแถบคอเคซัสใต้นี้เลย

หากพิจารณาเอาสงครามในคอเคซัส (ระหว่างจอร์เจียกับรัสเซีย) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นฉากหลังแล้ว ก็ย่อมมองเห็นได้ชัดเจนว่าดินแดนริมทะเลสาบแคสเปียนกำลังกลายเป็นจุดที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่ง สภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แกนกลางของเรื่องทั้งหมดได้แก่การที่วอชิงตันตกลงใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้รัสเซียเข้ามีส่วนร่วมในสายโซ่อุปทานด้านพลังงาน (energy supply chain) ของยุโรป ดังที่จะขอหยิบยกข้อเขียนของ เอเรียล โคเฮน แห่ง เฮอริเทจ ฟาวน์เดชั่น ที่เป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ
ซึ่งกล่าวไว้ว่า “นับแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา นักการทูตสหรัฐฯต่างต้องสาละวนอยู่กับความพยายามเพื่อค้ำยันที่มั่นทางภูมิรัฐศาสตร์รอบๆ บริเวณแคสเปียนของวอชิงตัน ไม่ว่าจะเป็นที่บากู, อาชคาบัต (เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน), หรืออัสตานา”

รัสเซียกำลังประสบชัยชนะกลายเป็นฝ่ายที่มีฐานะเหนือกว่าแล้วในภูมิภาคแถบนี้ ถึงแม้สหรัฐฯดำเนินงานทางการทูตอันเข้มแข็งมากต่อกรุงอาชคาบัต โดยที่มีคณะผู้แทนอเมริกันถึงกว่า 15 คณะไปเยือนที่นั่นในรอบปีที่ผ่านมา ทว่าเติร์กเมนิสถานซึ่งส่งออกแก๊สของตนประมาณ 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรผ่านทางรัสเซียอยู่แล้ว ก็ตอบรับด้วยดีต่อการทาบทามของมอสโก ประเทศนี้ตัดสินใจที่จะยึดมั่นกับเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงเดือนเมษายน 2003 ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วก็เสมือนกับปล่อยให้รัสเซียเป็นผู้ดำเนินการส่งออกแก๊สทั้งหมดของตน “ไปจนถึงปี 2025” และแก๊สเติร์นเมนที่ส่งออกไปยังรัสเซียนั้น คาดหมายกันว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60,000 – 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2009 จึงแทบไม่มีอะไรเหลือไว้ให้สำหรับพวกบริษัทตะวันตก อาชคาบัตยังให้คำมั่นผูกพันสนับสนุนโครงการก่อสร้างสายท่อส่งแก๊สไปยังรัสเซีย โดยผ่านคาซัคสถานเลียบไปทางชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลสาบแคสเปียน

ปัจจัยที่กลายเป็นตัวชี้ขาดก็คือข้อเสนอของรัสเซียที่จะซื้อแก๊สเติร์นเมนใน “ราคายุโรป” อันเป็นแนวทางเดียวกับที่มอสโกนำมาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมการส่งออกแก๊สของคาซัคสถานและอุซเบกิสถานมาแล้ว นับแต่นั้นมารัสเซียยังได้ยื่นข้อเสนอทำนองเดียวกับต่ออาเซอร์ไบจานอีกด้วย ซึ่งทางการบากูก็กำลังพิจารณาอยู่ อันที่จริงแล้ว อาเซอร์ไบจานเคยเป็นตัวอย่างเรื่องราวความสำเร็จอย่างแท้จริงของนโยบายการทูตด้านน้ำมันของสหรัฐฯในยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประธานาธิบดีคลินตันของสหรัฐฯในเวลานั้นเรียกได้ว่าคว้าเอาประเทศนี้ออกมาจากวงโคจรของรัสเซียในทศวรรษ 1990 ด้วยการผลักดันผ่านโครงการท่อส่งน้ำมันสายบากู-ทบิลิซี-เซย์ฮาน (บีทีซี) ทั้งๆ ที่เห็นกันว่าโอกาสความเป็นไปได้แทบจะเป็นศูนย์ทีเดียว ทว่าเวลานี้อาเซอร์ไบจานกำลังค่อยๆ หวนกลับไปหามอสโกอีกคำรบหนึ่ง

อาเซอร์ไบจานกำลังเจรจากับรัสเซียในเรื่องการเพิ่มศักยภาพปริมาณลำเลียงต่อปีของท่อส่งน้ำมันสายบากู-โนโวรอสซิอิสก์ ประเทศนี้ยังกำลังลดระดับปริมาณน้ำมันที่สัญญาจะลำเลียงผ่านท่อส่งสาย บากู-ซัปซา ที่สหรัฐฯสนับสนุนอยู่ ตลอดจนสายบีทีซี ซึ่งอันที่จริงแล้วมีศักยภาพระดับมหึมาถึง 60 ล้านตันต่อปี จึงสามารถจัดการกับน้ำมันส่งออกของอาเซอร์ไบจานได้ทั้งหมดอย่างสบายอยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็ต้องถือเป็นความสำเร็จในระดับฟันฝ่าผ่าทางตันของรัสเซียทีเดียว

จุดยืนอันเด็ดเดี่ยวของรัสเซียในคอเคซัส เป็นสิ่งที่จับใจทางการบากูมาก บากูเข้าใจดีว่ารัสเซียกำลังก้าวผงาดขึ้นมาอีกครั้งในพื้นที่แถบคอเคซัสใต้ แถมประธานาธิบดี อิลฮัม อาลิเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน ยังไม่ชอบบุคลิกภาพแบบเปลี่ยนแปลงไวเหมือนปรอทของประธานาธิบดี มิเคอิล ซาคัชวิลิ แห่งจอร์เจียอีกด้วย อาเซอร์ไบจานอาจจะต้องสูญเสียรายได้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว สืบเนื่องจากมีการระงับการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อสายบากู-ซัปซา และ บากู-ทบิลิซี-เซย์อาน เมื่อเดือนสิงหาคมเพราะการสู้รบระหว่างจอร์เจียกับรัสเซีย และการที่บากูกลับมาสนใจท่อส่งของฝ่ายรัสเซียอีกครั้งหนึ่งนั้น มีต้นตอสาเหตุจากความปรารถนาที่จะพิทักษ์รักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมอสโกนั่นเอง

ความหมายโดยนัยจากการเปลี่ยนแปลงของอาเซอร์ไบจาน ถือเป็นเรื่องร้ายแรงสาหัสทีเดียวสำหรับวอชิงตัน การลดการส่งออกน้ำมันอาเซอร์ไบจานผ่านท่อส่งสายบีทีซี อาจส่งผลกระทบถึงความคุ้มทุนของท่อส่งสายนี้ ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนเสาหลักเสาหนึ่งในนโยบายการทูตด้านน้ำมันของสหรัฐฯในย่านแคสเปียน ด้วยความสามารถที่จะลำเลียงน้ำมันปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต้นๆ ต่อวันจากอาเซอร์ไบจานไปจนถึงชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียมของตุรกี แล้วต่อจากนั้นน้ำมันส่วนใหญ่ก็จะถูกขนลงเรือไปยังยุโรป ท่อส่งสายบีทีซีเวลานี้ยังดูมีความมั่นคง ทว่ากำลังอยู่ใต้การเฝ้าจับจ้องมากขึ้นเรื่อยๆ ของรัสเซีย

นอกจากนั้นแล้ว มันยังเป็นการเพิ่มเครื่องหมายคำถามให้แก่อนาคตของโครงการสร้างท่อส่งแก๊สสายนาบุคโค โครงการนี้หากก่อสร้างกันได้สำเร็จ ก็จะสามารถลำเลียงแก๊สแคสเปียนจากอาเซอร์ไบจาน ผ่านจอร์เจียและตุรกี ไปยังตลาดทางยุโรป โดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านดินแดนของรัสเซียเลย จะเกิดอะไรขึ้นต่อโครงการนี้ ถ้าอาเซอร์ไบจานยอมรับข้อเสนอของรัสเซียที่จะซื้อแก๊สใน “ราคายุโรป” สงครามคอเคซัสในเดือนสิงหาคมกลายเป็นปัจจัยทำให้โอกาสลู่ทางของนาบุคโคถึงขั้นดับสูญไปเลยหรืออย่างไร

**รัสเซียก้าวขึ้นไปเป็นฝ่ายได้เปรียบ**

อันที่จริงแล้ว ภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคแถบนี้กำลังอยู่ในสภาพกำกวมไม่ชัดเจนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศทางยุโรปตะวันตก ไปจนถึงชาติในย่านยูเรเชีย จนกระทั่งประเทศจีน ต่างก็กำลังอยู่ในอาการดูดซับความรู้ความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในคอเคซัสในเดือนสิงหาคม และต่างกำลังประเมินเดิมพันผลประโยชน์ของพวกตนในสภาพที่รัสเซียกำลังผงาดโดดเด่นขึ้นมาหลังศึกคราวนั้น ประเทศเหล่านี้ต่างมุ่งหาทางปรับตัวให้เข้ากับรัสเซีย และมอสโกก็กำลังก้าวขึ้นไปเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างมาก

สงครามในจอร์เจียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปมืดมัวลงในระดับหนึ่ง ปฏิญญาที่ประกาศออกมาภายหลังการประชุมระดับผู้นำของอียูเมื่อวันที่ 1 กันยายน มีการตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะลดทอนการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว หนทางเลือกต่างๆ ของอียูเองก็มีอยู่จำกัด ยุโรปได้ให้ความหวังไว้มากกับโครงการนาบุคโค ทว่ามันจะสามารถดำเนินการได้ต่อเมื่อทางรัสเซียเข้าร่วมด้วย โคลด มานดิล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ พูดไว้เมื่อเร็วๆ นี้ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวัน “คอมเมอร์ซันต์” ของรัสเซียว่า “ในเอเชียกลางยังมีน้ำมันและแก๊สอีกมากมาย ทว่ายังมีน้อยกว่าที่มีอยู่ในรัสเซียหรืออิหร่าน”

มานดิล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสในประเด็นปัญหาด้านพลังงาน ได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่สหรัฐฯกดดันยุโรปให้ทำการโดดเดี่ยวรัสเซีย โดยเรียกความพยายามในเรื่องนี้ว่า เป็นสิ่งที่ “ก่อให้เกิดผลในทางลบ” เขาบอกว่า “อียูโดยลำพังเท่านั้นควรที่จะเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน สหรัฐฯเองยังต้องพึ่งพาอย่างมากต่อน้ำมันนำเข้าจากเวเนซุเอลา แต่ไม่เห็นมีสมาชิกอียูรายไหนเลยที่บอกกับวอชิงตันว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาต้องจัดการกับปัญหานั้น”

ทางด้านจีนก็กำลังแสดงความยอมรับการรวมศูนย์อำนาจของรัสเซียในภูมิภาคแคสเปียน-เอเชียกลาง บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้าเมื่อต้นเดือนกันยายน ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายการทูตในเอเชียกลางของรัสเซีย “ได้รับการประดับมงกุฎด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” บทวิจารณ์ชิ้นนี้ชี้ว่าการที่พวกผู้นำรัสเซียไปเยือนเมืองหลวงต่างๆ ของเอเชียกลางในเดือนสิงหาคม ได้ช่วย “รวมศูนย์กำลังและเพิ่มพูนความแข็งแกร่ง” ให้แก่สายสัมพันธ์ที่มีต่อภูมิภาคแถบนี้ อีกทั้งบรรลุ “ผลลัพธ์อันเป็นจริงเป็นจัง” ในเรื่องความร่วมมือกันทางด้านพลังงาน

บทวิจารณ์ของจีนชิ้นนี้สรุปว่า “โดยที่มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกปรากฏบนฉากหลังในระดับโลก นโยบายการทูตแบบวิ่งรอกในระดับสูงของเหล่าผู้นำรัสเซีย กำลังยิ่งส่งเสริมฐานะทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียในเอเชียกลาง, เพิ่มความแข็งแกร่งในการควบคุมทรัพยากรน้ำมันและแก๊ส อีกทั้งช่วยประสานจุดยืนของรัสเซียกับชาติเอเชียกลางเหล่านี้ในประเด็นปัญหาอันเกี่ยวข้องกับทั่วทั้งภูมิภาคคอเคซัส” เห็นชัดเจนว่าปักกิ่งได้ทำการประเมินตามความเป็นจริงต่อหนทางเลือกต่างๆ ของตนเองในเอเชียกลางแล้ว

อันที่จริง ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเยือนกรุงทาชเคนต์ เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน อุซเบกิสถานกับรัสเซียได้เห็นพ้องกันที่จะสร้างท่อส่งแก๊สสายใหม่ที่มีศักยภาพ 26,000 – 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อลำเลียงแก๊สของอุสเบกิสถานและเติร์กเมนิสถานไปยังยุโรป ท่อส่งดังกล่าวนี้ย่อมจะบ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯในการพัฒนาเส้นทางขนส่งพลังงานจากย่านแคสเปียนสู่ยุโรป โดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านดินแดนรัสเซีย นอกจากนั้นแล้ว บริษัทน้ำมันลุคออยล์ของรัสเซีย ยังประกาศแผนการที่จะผลิตแก๊สจำนวน 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากแหล่งแก๊สคันดีม และแหล่งแก๊สกกิสซาร์ ของอุซเบกิสถานอีกด้วย

เอ็ม เค ภัทรกุมาร ทำงานเป็นนักการทูตอาชีพ อยู่ในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย มายาวนานกว่า 29 ปี เขาเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ อาทิ เอกอัครราชทูตประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-98) และ ประจำตุรกี (1998-2001)

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • สหรัฐฯกำลังสูญเสียที่มั่นในย่านแคสเปียน (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น